Skip to main content
sharethis

สื่อเกาหลีระบุจำนวนคนไทยในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นจาก 5 หมื่นกว่าคนเป็น 9 หมื่นกว่าคนในปี 2014 ในจำนวนนี้อยู่โดยไม่มีวีซ่าถูกต้องถึง 4 หมื่นกว่าคน พบปัญหาแรงงานไทยไปทำงานอย่างถูกกฎหมายไม่ได้เพราะไม่ผ่านทดสอบภาษาเกาหลี จึงพึ่งนายหน้าเถื่อน

 

 

 

24 ก.พ. 2015 สื่อเกาหลีเปิดเผยว่าปัจจุบันเกาหลีใต้มีแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายประมาณ 208,778 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากจำนวน 183,106 คนในปี 2013 ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 44,283 คน

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2015 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ Korea Times รายงานว่าจนถึงเมื่อสิ้นปีที่แล้ว (2014) มีคนไทยที่อยู่ในเกาหลีใต้ทั้งสิ้น 94,314 คน จำนวนนี้อยู่โดยไม่มีวีซ่าถูกต้องถึง 44,283 คน เพิ่มขึ้นจาก 23,618 คน ในปี 2013โดยจำนวนคนไทยที่อยู่ในเกาหลีใต้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจาก 45,634 คนในปี 2011 เป็น 45,945 ในปี 2012 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 55,110 คนในปี 2013 และเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 93,314 คนในปี 2014 ที่ผ่านมา

ในปี 2013 เกาหลีใต้มีคนงานต่างชาติผิดกฎหมายรายใหม่ถึง 25,672 คน ซึ่งกว่าร้อยละ 90 หรือจำนวน 23,618 คนนั้นมาจากประเทศไทย ส่วนปีที่แล้ว (2014) กว่าร้อยละ 60 ของคนไทยที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้โดยไม่ใช้วีซ่าทั้งหมด 67,482 คน หรือคิดเป็นจำนวน 40,928 คน กลายเป็นคนงานต่างชาติผิดกฎหมาย ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้ระบุว่าเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่ส่งคนเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายกำลังอาศัยประโยชน์จากโครงการละเว้นวีซ่าของเกาหลีใต้

ด้านกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ระบุว่าปรากฏการณ์นี้เกิดจากการอาศัยประโยชน์จากการที่คนไทยได้รับอนุญาตให้พำนักในเกาหลีใต้ได้ 90 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า ส่วนเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระบุว่ากำลังเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะเข้ามาทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย แต่การบังคับใช้คำสั่งห้ามคนไทยเข้าเมืองกับพวกเขาเป็นเรื่องยาก เพราะการปฎิเสธคนเข้าเมืองโดยอาศัยเพียงความสงสัยนั้นอาจนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศได้ กอปรกับชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางมาประเทศไทยก็มีมากกว่าคนไทยที่มาเยือนเกาหลีใต้อีก จึงต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย

 

ทดสอบภาษาเกาหลี ปัญหาใหญ่แรงงานไทยไปเกาหลี

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2014 นายชอน แจ มัน (H.E. Mr. Jeon Jae Man) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยได้เข้าพบปลัดกระทรวงแรงงาน ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไทยในขณะนั้น พร้อมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านแรงงานในประเด็นความสัมพันธ์ด้านทวิภาคีระหว่างไทย – เกาหลี (ด้านเศรษฐกิจ) การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีโดยผ่านระบบ Employment Permit System (EPS) ประกอบด้วยสถานภาพการทำงานของแรงงานไทย การฝึกและการทดสอบภาษาเกาหลี การทดสอบภาษาเกาหลีก่อนไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี การลดจำนวนแรงงานไทยที่พำนักในเกาหลีอย่างผิดกฎหมายหลังจากหมดสัญญาการจ้างงาน รวมถึงกระบวนการรับรองความถูกต้องของอาชีพมัคคุเทศก์ (Legalization of Korean Tour guide) เป็นต้น

โดยเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยระบุว่าปัญหาที่เห็นได้ชัดของแรงงานไทยคือไม่ผ่านการทดสอบภาษาเกาหลี เพราะไม่มีการเตรียมตัวอย่างเหมาะสมก่อนเข้ารับการทดสอบ ทั้งนี้ขอให้กระทรวงแรงงานของไทยสนับสนุนด้านการเรียนการสอนภาษาเกาหลีก่อนไปเข้ารับการทดสอบด้านภาษา ซึ่งสถานทูตเกาหลีจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่สำรับแรงงานไทยที่มีความสนใจหรือมีความสามารถที่จะไปทำงานที่เกาหลี รวมถึงการสนับสนุนการอบรมโปรแกรมก่อนหน้าที่จะเดินทางไปทำงานในเกาหลี อาทิ การอบรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกาหลี และวิธีการทำงานในเกาหลี

 

การหลอกแรงงานไทยไปทำงานที่เกาหลี

นอกจากนี้จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานระบุว่าการหลอกแรงงานไทยไปทำงานอย่างผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยสถิติในเดือนสิงหาคม 2014 เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานที่ด่านสุวรรณภูมิได้ระงับการเดินทางของผู้โดยสารที่จะไปเกาหลีใต้จำนวนถึง 233 คน และจากสถิติที่ผ่านมามีการระงับการเดินทางถึงเดือนละเฉลี่ย 100-200 คน เลยทีเดียว

ข้อมูลจากกองตรวจและคุ้มครองคนหางานกรมการจัดหางานระบุว่าจากการสอบถามข้อมูลจากคนหางานเหล่านี้พบว่าคนงานเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 80,000-150,000 บาท ผ่านกระบวนการจัดหางานของนายหน้าผิดกฎหมาย โดยในการเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้จะมีการเดินทางผ่านทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นหลัก โดยทำทีเป็นนักท่องเที่ยวที่แฝงตัวไป ซึ่งคนไทยหากต้องการเดินทางเข้าเกาหลีใต้ไม่ต้องขอวีซ่าก็พำนักอยู่ได้ถึง 90 วัน โดยต้องใช้พาสปอร์ตที่มีอายุเกิน 6 เดือน

สำหรับบทลงโทษนั้น เกาหลีใต้มีกฎหมายลงโทษนายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมายจะถูกห้ามไม่ให้จ้างแรงงานต่างชาติอีกและรับโทษตามกฎหมาย ส่วนแรงงานต่างชาติจะไม่สามารถเดินทางเข้าเกาหลีใต้ได้อีกและต้องเสียค่าปรับตามระยะเวลาที่เกินกำหนด 90 วัน คือ กรณีผิดกฎหมาย 1 เดือน ปรับ 100,000 วอน (3,333 บาท) 1-3 เดือน ปรับ 1,500,000 วอน (50,000บาท) 3-6 เดือนปรับ 2,000,000 วอน (66,666 บาท) และ 6 เดือน ถึง 1 ปี ปรับ 4,000,000 วอน (133,333 บาท)

ทั้งนี้คนงานที่ถูกหลอกลวงให้ไปทำงานที่เกาหลีใต้บางส่วนเมื่อเดินทางไปถึงแล้วกลับพบว่าไม่มีงานทำ จึงขอเดินทางกลับ แต่มีปัญหาคือนายหน้าไม่ยอมคืนเงินให้อีกด้วย.

        

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net