Skip to main content
sharethis

เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีการโต้ตอบกันด้วยลูกโป่งข้ามแดนมาเป็นเวลานานแล้ว โดยที่ทางเกาหลีใต้มักจะส่งการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านเผด็จการเกาหลีเหนือและวัฒนธรรมสมัยนิยมไปทางฝั่งเกาหลีเหนือ ทำให้เกาหลีเหนือส่งขยะโต้ตอบ ฝ่ายความมั่นคงเกาหลีใต้ประเมินสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้วว่าเกาหลีเหนือดูเหมือนจะเพิ่มการใช้ขยะโต้ตอบ

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ เกาหลีเหนือ ได้ทำการส่งลูกโป่งติดขยะหลายร้อยลูกข้ามแดนไปยังเกาหลีใต้ จุดชนวนให้เกิดการโต้ตอบกันอีกครั้ง หลังจากที่กลุ่มนักกิจกรรมเกาหลีใต้เคยส่งลูกโป่งพัสดุที่บรรจุแท่งเก็บข้อมูลยูเอสบีซึ่งประกอบด้วยเพลง K-pop และซีรีส์ K-Drama ไปทางฝั่งเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นการโต้ตอบที่เกาหลีเหนือก็เคยส่งขยะมาให้ก่อนหน้านี้

คณะเสนาธิการทหารร่วมของเกาหลีใต้ หรือ JCS แถลงว่า กรณีล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา เมื่อเกาหลีเหนือส่งลูกโป่งราว 330 ลูก ที่ลำเลียงถุงขยะ โดยมีราว 80 ลูก ที่ตกลงที่ฝั่งเกาหลีใต้ JCS ระบุว่าถุงขยะจากเกาหลีเหนือมีขยะกระดาษและขยะพลาสติก โดยที่ไม่ได้มีวัตถุอันตรายติดมาด้วย

สื่อซีเอ็นเอ็นสำรวจพบว่า นับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. เป็นต้นมาก็มีลูกโป่งประมาณ 1,060 ลูก ที่ถูกส่งจากเกาหลีเหนือเข้าสู่เขตแดนเกาหลีใต้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้ได้จัดประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมาเพื่อหารือเรื่องการโต้ตอบสถานการณ์หลังจากที่มีการส่งลูกโป่งเข้ามาที่เกาหลีใต้รอบล่าสุด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คิมคังอิล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของเกาหลีเหนืออ้างว่าได้ส่งลูกโป่งรวม 3,500 ลูกที่ลำเลียงขยะรวม 15 ตัน ไปสู่เกาหลีใต้

กองทัพเกาหลีใต้โต้ตอบเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมาด้วยการเปิดเครื่องขยายเสียงเพื่อกระจายเสียงไปในทางเกาหลีเหนือ

ก่อนหน้านี้กองทัพเกาหลีใต้เคยสนับสนุนการโฆษณาชวนเชื่อผ่านทางเครื่องขยายเสียงในฐานะส่วนหนึ่งของสงครามจิตวิทยาต่อเกาหลีเหนือ จนกระทั่งมีการถอนเครื่องขยายเสียงออกหลังจากที่มีการประชุมซัมมิทกับเกาหลีเหนือเมื่อปี 2561

JCS ระบุว่า การกระจายเสียงจากเกาหลีใต้นั้น เป็นการส่งสารให้ทหารและพลเรือนเกาหลีเหนือรับรู้ถึง "ความเป็นจริงของเกาหลีเหนือ" เรื่องการพัฒนาเกาหลีใต้ และวัฒนธรรมเกาหลี โดยเสริมว่าพวกเขา "มีประสิทธิภาพที่จะปฏิบัติภารกิจโดยทันทีภายในไม่กี่ชั่วโมงถ้าจำเป็น"

JCS ระบุว่าเกาหลีเหนือนั้นเป็นผู้ที่ต้อง "รับผิดชอบโดยทั้งหมด" ที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ในปัจจุบัน  และเรียกร้องให้เกาหลีเหนือ "หยุดการกระทำเลวร้ายแบบนี้อย่างการส่งลูกโป่งขยะ" อีกทั้งยังเตือนว่า กองทัพเกาหลีใต้จะเปิดเครื่องขยายเสียงอีกครั้งหรือไม่นั้น "ขึ้นอยู่กับการกระทำของเกาหลีเหนือทั้งสิ้น"

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือ คิมโยจอง น้องสาวของ คิมจองอึน กล่าวว่าการที่เกาหลีใต้กลับมาใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อกระจายเสียงเข้าสู่เกาหลีเหนืออีกครั้งนั้นถือเป็น "จุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่สถานการณ์ที่อันตราย"

ในคำแถลงของคิมโยจองที่เผยแพร่ในสื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือ KCNA ระบุว่าการส่งลูกโป่งข้ามแดนไปยังเกาหลีใต้เมื่อไม่นานนี้เป็นเรื่องที่ "ชอบธรรม"

นับตั้งแต่ที่มีสนธิสัญญาสงบศึกสงครามเกาหลีปี 2496 เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ก็ตัดขาดออกจากกัน โดยที่ในสถานะทางกฎหมายแล้วทั้งสองประเทศยังคงถือว่าอยู่ในภาวะสงคราม และการโต้ตอบกันด้วยการส่งลูกโป่งหรือบอลลูนข้ามแดนไปมานี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายสิบปีแล้ว

กลุ่มนักกิจกรรมในเกาหลีใต้ที่ชื่อ "นักสู้เพื่อการปลดปล่อยเกาหลีเหนือ" เป็นกลุ่มที่ส่งลูกโป่งที่ติดสิ่งของต่างๆ ให้กับเกาหลีเหนือมานานแล้ว ซึ่งสิ่งของที่พวกเขาส่งไปเป็นสิ่งของต้องห้ามในประเทศเกาหลีเหนือที่เป็นประเทศเผด็จการเบ็ดเสร็จแยกตัวเองออกจากโลก เช่น อาหาร, ยา, วิทยุ, ใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อ และ สื่อของเกาหลีใต้

ในเดือน พ.ค. เกาหลีเหนือได้โต้ตอบด้วยการส่งลูกโป่งยักษ์ของตัวเองไปให้เกาหลีใต้ โดยมีการติดขยะ, ดินโคลน, เศษกระดาษ, พลาสติก และอะไรอย่างอื่นที่ทางการเกาหลีใต้บอกว่าเป็น "สิ่งปฏิกูล"

คิมโยจองบอกว่าลูกโป่งเหล่านี้เป็น "เพียงปฏิบัติการโต้ตอบ" การที่เกาหลีใต้ส่งลูกโป่งใส่ใบปลิวต่อต้านเกาหลีเหนือมาอีกฟากหนึ่งเป็นเวลานานหลายปีแล้ว

ทางฝั่งเกาหลีใต้ก็มีนักกิจกรรมส่งลูกโป่งไปทางเกาหลีเหนือ เป็นลูกโป่งที่ลำเลียงใบปลิวหลายแสนแผ่นมีเนื้อหาประณามผู้นำคิมจองอึนของเกาหลีเหนือ และยังมีลูกโป่งที่ส่งแท่งข้อมูลยูเอสบี 5,000 แท่งซึ่งบรรจุเพลง K-Pop และซีรีส์ K-Drama ไปฝั่งเกาหลีเหนือด้วย

JCS ระบุเมื่อคืนวันที่ 8 มิ.ย. ว่าเกาหลีเหนือเพิ่มการใช้ลูกโป่งขยะมากขึ้น และเตือนว่าทิศทางลมอาจจะทำให้ลูกโป่งปลิวมาทางใต้ได้ง่ายขึ้นจึงขอให้ประชาชนระวังวัตถุตกพื้นและขอให้อย่าจับต้องลูกโป่งที่ตกพื้นแล้ว อีกทั้งยังขอความร่วมมือให้รายงานการพบเห็นลูกโป่งเหล่านี้ให้ตำรวจหรือฐานทัพที่อยู่ใกล้เคียงทราบ

 

เรียบเรียงจาก:

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net