พนักงาน บ.จอร์จี้ ยังไม่ได้เงิน ม.75 ลาม ‘นิคมลำพูน-ภาคตะวันออก’

พนักงาน บ.จอร์จี้ ยังไม่ได้เงิน ม.75 หลังบริษัทฯ อุทธรณ์คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอ้างรอแก้ปัญหาทางการเงินได้ก่อน พบ ม.75 ลามนิคมลำพูน 4 แห่ง ส่วนภาคตะวันออกหลายสิบโรงงานแล้ว

25 ก.ค. 2558 สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์แจ้งข่าวว่าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ทำหนังสือแจ้งกับพนักงานว่าตามที่พนักงาน 76 คน ได้ยื่นคำร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2558 ว่าบริษัท จอร์จี้ แอนด์ลู จำกัด จ่ายค่าจ้างและเงินระหว่างหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ถูกต้องและตามกำหนดเวลาตามข้อตกลงและข้อกฎหมาย โดยไม่จ่ายเงินระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. ถึงวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ในงวดการจ่ายค่าจ้างวันที่ 30 มิ.ย. 2558 แก่ลูกจ้างจำนวน 76 คนนั้น

สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้พนักงานตรวจแรงงาน ตรวจแรงงานตามคำร้องเรียนดังกล่าวแล้ว นายจ้างยอมรับว่ายังไม่ได้จ่ายเงินระหว่างหยุดกิจการแก่ลูกจ้างจำนวน 76 คนจริง พนักงานตรวจแรงงานจึงได้มีคำสั่งที่ 79/2558 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2558 สั่งให้บริษัทฯ จ่ายเงินระหว่างหยุดกิจการแก่ลูกจ้างจำนวน 76 คน ให้ถูกต้องภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง แต่ปรากฏว่าวันที่ 21 ก.ค. 2558 บริษัท จอร์จี้ แอนด์ลู จำกัด ได้มีหนังสืออุทธรณ์คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานออกไปอีกจนกว่าบริษัทฯ จะแก้ปัญหาทางการเงินได้ ซึ่งสำนักงานสวัสดิการฯ จะได้พิจารณาคำอุทธรณ์โดยเร็วต่อไป

 

ม.75 ลามนิคมลำพูนแล้ว

ด้าน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่านายพรเทพ ภูริพัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในขณะนี้พบความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน 4 โรงงาน เริ่มเลิกจ้างพนักงาน โดยให้ลาออกโดยสมัครใจ และใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ที่ให้พนักงานหยุดงาน แต่ยังคงจ่ายค่าจ้างในอัตรา 75% ของเงินเดือน และมีกำหนดระยะเวลาการหยุดงานจนกว่าจะมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา จึงให้พนักงานกลับมาทำงานตามปกติ เท่าที่สำรวจเบื้องต้นมีเพียง 4 บริษัทที่ใช้มาตรา 75 เลิกจ้างพนักงานบางส่วน ด้วยเหตุผลคำสั่งซื้อสินค้ามีปริมาณลดลง ส่วนบริษัทอื่น ๆ ยังไม่มี

ด้านนายทรงศักดิ์ ชื่นตา นายช่าง 7 สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน กล่าวในทำนองเดียวกันว่าโรงงาน 4 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน ที่เริ่มมีการเลิกจ้างพนักงานและใช้มาตรา 75 ได้แก่ บริษัท ลำพูนซิงเดนเก็น จำกัด โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของนักลงทุนญี่ปุ่น มีพนักงานรวม 813 คน ได้ยุบแผนก Power Supply โดยประกาศให้พนักงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจโดยสมัครใจ ซึ่งมีพนักงานเข้าร่วมโครงการลาออกโดยได้รับค่าตอบแทน 165 คน เมื่อ 23 มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา และล่าสุดเดือน ก.ค.นี้ได้เลิกจ้างพนักงานในแผนกนี้ที่เหลืออีก 85 คน รวมพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 250 คน

ขณะที่ บจ.โฮย่า กลาสดิสต์ (ประเทศไทย) ซึ่งผลิตเลนส์กล้อง-ฮาร์ดดิสก์ของกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น มีพนักงาน 4,400 คน ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 ตั้งแต่ 25 พ.ค.-31 ก.ค. 2558 โดยให้พนักงานฝ่ายผลิตหยุดงาน 400 คน โดยจ่ายเงินค่าจ้างให้ 75% ของเงินค่าจ้างที่เคยได้รับ เพราะออร์เดอร์หรือคำสั่งซื้อสินค้าลดลง หรือยังไม่มีเข้ามาเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ มี บจ.ทีเอสพีที (TSPT) และ บจ.เคอีซี (KEC) ซึ่งเป็นกลุ่มทุนเกาหลี ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดย บจ.ทีเอสพีทีฯ มีพนักงานราว 160 คน ขอใช้มาตรา 75 ใน 2 ช่วง คือวันที่ 11 ก.ค. 2558 และ 27-30 ก.ค. 2558 โดยให้พนักงานในฝ่ายผลิตหยุดงาน 54 คน จ่ายค่าจ้างในอัตรา 75% เช่นเดียวกับ บจ.เคอีซีที่มีพนักงานรวม 545 คน ช่วงแรกเดือน มิ.ย.ให้พนักงาน 545 คน หยุดงาน 7 วัน และช่วงที่สองให้หยุดระหว่าง 1 ก.ค.-4 ต.ค. 2558

นายทรงศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือฯ อยู่ในช่วงออกตรวจเยี่ยมโรงงานในนิคมฯภาคเหนือ ลำพูน พบว่าโรงงานอื่น ๆ ยังดำเนินกิจการตามปกติ และพบบางโรงงานกำลังขยายกิจการเพิ่มเติมด้วย โดยพื้นที่นิคมมีทั้งหมด 1,788 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 แปลง มีโรงงาน 66 โรง ส่วนใหญ่ 90% เป็นการลงทุนกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของทุนญี่ปุ่น มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 46,000 คน

 

ภาคตะวันออกประกาศใช้ ม. 75 หลายสิบโรงงานแล้ว

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก เปิดเผยกับประชาไทว่าในส่วนของบริษัทในภาคตะวันออกในพื้นที่ของกลุ่มแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก นายจ้างก็การใช้ ม.75 บ้างแล้ว โดยมีเทคนิคต่าง ๆ เช่น ประกาศใช้ ม.75 กับพนักงานบางส่วน บางแผนก รวมทั้งมีการนำแรงงานซับคอนแทรคมาทำงานแทนพนักงานประจำที่ประกาศใช้ ม.75 เป็นต้น ทั้งนี้บุญยืนระบุว่าเท่าที่ประเมินดูเบื้องต้นในส่วนของบริษัทในภาคตะวันออกในพื้นที่ของกลุ่มแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก ที่ประกาศใช้ ม. 75 ก็มีประมาณ 40-50 โรงงานแล้ว

ส่วนประเด็นการไม่ยอมจ่ายเงินตาม ม. 75 นั้นบุญยืนระบุว่าในพื้นที่พบมีบริษัทนายจ้างชาวจีนบางแห่งที่ประกาศใช้ ม.75 แต่ก็ไม่จ่ายเงินให้กับพนักงานเช่นเดียวกับที่พนักงาน บ.จอร์จี้ ที่ จ.เชียงใหม่ โดยบุญยืนให้ความเห็นว่าหน้าที่การฟ้องร้องดำเนินคดีต้องเป็นของพนักงานตรวจแรงงานหากนายจ้างละเมิดกฎหมาย ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้หากข้าราชการไม่รีบแก้ไขปัญหาให้คนงานก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมคนงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บ.จอร์จี้ ยังไม่จ่ายเงินตาม ม.75 ให้พนักงาน หลังครบ 15 วัน

สหภาพร้อง สนง.คุ้มครองแรงงานเชียงใหม่ หลัง บ.จอร์จี้ ไม่จ่ายค่าจ้างตาม ม.75

สหภาพเผย บ.จอร์จี้ ใช้ ม.75 ต่อ ล่าสุดให้เงินจูงใจลาออก-ให้ไปทำงานที่แม่สอด

บ.จอร์จี้ ใช้ ม.75 สหภาพรุดถกหวั่นปิดโรงงานหนี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท