'มารา ปาตานี' องค์กรร่มของผู้เห็นต่าง 3 จังหวัดใต้ แถลงสื่อเป็นทางการครั้งแรก

27 ส.ค. 58 มาร่า ปาตานี องค์กรร่มของฝ่ายขบวนการปลดแอกเอกราชปาตานี พูดคุยอย่างเปิดใจกับสื่อไทยและมาเลเซียเป็นครั้งแรก ย้ำความสำคัญของการทำให้กระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ วิจารณ์รัฐบาลทหารยังไม่จริงจังกับกระบวนการสันติภาพ 
 
เจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียกล่าวว่า การพบปะกับสื่อครั้งนี้เป็นความต้องการและร้องขอของมาร่า ปาตานี (Majlis Syura Patani: MARA Patani) โดยมีมาเลเซียเป็นผู้จัดการและสนับสนุน ให้เกิดการพบปะและการแถลงข่าวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย การพบสื่อแบ่งเป็นสองช่วง คือ ช่วงเช้าเป็นการพบกับแกนนำมาร่าเจ็ดคน โดยห้ามการบันทึกเสียงและภาพ ส่วนช่วงบ่ายเป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ อนึ่งการพบปะในช่วงเช้าใช้ภาษาไทย อังกฤษ และมาเลย์ ส่วนการแถลงข่าวช่วงบ่ายใช้ภาษามาเลย์และอังกฤษ
 
การแถลงข่าวเปิดตัว มาร่า ปาตานี อย่างเป็นทางการในช่วงบ่าย
 
ในช่วงเช้านั้น ตัวแทนของ มาร่า ปาตานี ซึ่งมาร่วมพบปะสื่อได้แก่ อาวัง จาบัด, อาหมัด ชูโว และ ซุกรี ฮารีย์ จากบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional) อารีฟ มุกตาร์ จากพูโล Patani Liberation Organization (PULO), อาบู อากิม บิน ฮัสซัน จาก Pertubuhan Pembebasan Patani Bersatu (PULO-DSPP) อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม จาก Barisan Islam Perbersasan Patani (BIPP) และ อาบู ยาซีน จาก Gerekan Mujahidin Islami Patani (GMIP)
 
การพบปะสื่อเริ่มด้วยการแนะนำตัวของตัวแทนมาร่าเจ็ดคน และสื่อทั้งไทยและมาเลย์แนะนำตัวเองพร้อมองค์กรที่สังกัด ตามด้วยการแนะนำองค์กรมาร่า ซึ่งมีอาวัง จาบัด เป็นประธาน และซุกรี ฮารีย์ เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของมาร่า 
 
อาวัง จาบัด กล่าวกับสื่อว่า จุดมุ่งหมายของการพบปะกับสื่อในครั้งนี้คือ การให้สื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาร่า และอยากให้สื่อเชื่อมั่นว่า พวกเขามีเจตนาที่ดีที่อยากให้มีสันติภาพที่ปาตานี หากสื่อคนใดมองพวกเขาในแง่ลบ ก็ขอให้วางอคติตรงนั้นลงเสียก่อน และหวังว่านักข่าวทุกคนจะกลับไปนำเสนอข่าวอย่างมีความรับผิดชอบ และตรงไปตรงมา 
 
ต่อมาจึงเป็นพรีเซนต์เทชั่น แนะนำองค์กรมาร่า โดยอาบูฮาฟิซ ในพรีเซนต์เทชั่นและเอกสารซึ่งกลุ่มมาร่าแจกให้สื่อมวลชน เขียนว่า วิสัยทัศน์ขององค์กรคือ (แปลจากภาษาอังกฤษอย่างไม่เป็นทางการ) "การบริหารจัดการปาตานี ดารุสซาราม (Administration of Patani Darussalam)" ซึ่งมีพันธกิจคือ "การหาทางออกทางการเมืองที่ยุติธรรม รอบด้าน และยั่งยืนร่วมกัน" โดยมีหน้าที่และบทบาทคือ "การเป็นแพลตฟอร์มให้คำปรึกษา สำหรับองค์กรปลดแอกปาตานีทั้งหมด รวมถึงภาคประชาสังคม นักการเมืองท้องถิ่น นักวิชาการ และอื่นๆ" 
 
จุดมุ่งหมายขององค์กรคือ 
"1. การสร้างเสริมความเป็นเอกภาพ และการร่วมกันมีความรับผิดชอบต่อประชาชนชาวปาตานี เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง (right to self-determination) 
2. การรักษาไว้ซึ่งการต่อสู้ทางการเมืองที่ต่อเนื่อง และมีความก้าวหน้า 
3. การเปิดพื้นที่และโอกาสของกลุ่มปลดแอกเอกราชปาตานีทุกกลุ่ม ภาคประชาสังคม และอื่นๆ เพื่อให้พวกเขาได้แสดงความเห็นและคำแนะนำ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการตัดสินทิศทางอนาคตทางการเมืองบนโต๊ะเจรจา 
4. การเปิดพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ ในการให้คำปรึกษา ความเห็น การถกเถียงและข้อมูล เพื่อให้ทีมเจรจานำไปใช้ในการพูดคุยบนโต๊ะเจรจา 
5. เพื่อได้รับความเชื่อมั่นใจประชาคมนานาชาติ การช่วยเหลือและการสนับสนุนสำหรับการต่อสู้ของประชาชนชาวปาตานี" 
 
เมื่อถามว่า "การบริหารจัดการปาตานี ดารุสซาราม" มีความหมายว่าอย่างไร อาบูฮาฟิซ ตอบในฐานะตัวแทนของมาร่าว่า จริงๆ แล้วทางกลุ่มอยากใช้คำว่า เอกราช (merdeka) มากกว่า แต่คำนี้เป็นคำที่รัฐไทยไม่ชอบ "เป้าหมายสูงสุดของเรายังคงเป็นเอกราช มันยังไม่เปลี่ยน แต่เราก็มองเห็นทางเลือกในการเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพเพื่อจะบรรลุเป้าหมาย" การจะไปถึงเอกราชได้ไหม ขึ้นกับบนโต๊ะพูดคุย ซึ่งจะต้องร่วมตัดสินใจ
 
เมื่อถูกถามว่า มาร่าเป็นตัวแทนของคนปาตานีจริงๆ หรือ เพราะขณะที่การเจรจาดำเนินไป ยังคงมีป้ายผ้าและการพ่นสีแสดงความไม่พอใจ และไม่เห็นด้วยกับการเจรจา มาร่ากล่าวว่า มาร่าเป็นองค์กรที่เปิดกว้าง และไม่ได้ปิดกั้นแค่พวกเขาหกกลุ่มเท่านั้น แต่มีแผนที่จะหาแนวร่วมจากประชาชนด้วย  โดยอาบูฮาฟิซขยายความถึงการหาแนวร่วมกับมาร่าว่า พวกเขาจะทำกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับประชาชนและสื่อ โดยวันนี้ซึ่งมาร่ามาพบกับสื่อ ก็เป็นการพยายามให้คนนอกมามีส่วนร่วมเป็นครั้งแรก "เราจะทั้งกลุ่มคนไทยพุทธ กลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้นำศาสนา และอื่นๆ มามีส่วนร่วม เราจะชวนพวกเขามาเข้าร่วมกลุ่มเรา" นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งของการยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไทยคุ้มครองให้สมาชิกทีมเจรจาทั้งหมด 15 คนได้รอดพ้นจากพ้นจากภาระรับผิดชอบ (immunity) เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าไปในพื้นที่ปาตานีเพื่อพูดคุยกับคนในพื้นที่ในอนาคต เพื่อรับฟังเสียงจากคนในพื้นที่และได้รับการยอมรับมากขึ้น อาบูฮาฟิซกล่าวติดตลกกับนักข่าวด้วยว่า "เราจะส่งฟอร์มใบสมัคร (เข้ากลุ่มมาร่า) ให้ พวกคุณจะได้มาร่วมกับเรา" ส่วนบีอาร์เอ็นกล่าวกับนักข่าวในช่วงบ่ายว่า มีนักรบของบีอาร์เอ็นอยู่ในปาตานีประมาณ 9,000 คน
 
เมื่อถามถึงความก้าวหน้าของการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งผ่านไปแล้วสามครั้งด้วยกัน ในครั้งสุดคือเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ซุกรี ฮารีย์ กล่าวว่า ข้อเสนอทั้งสามข้อของมาร่า อันได้แก่ 1 การทำให้การเจรจาสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ 2 การยกเว้นภาระการรับผิดให้ทีมเจรจา และ 3 การยอมรับมาร่าอย่างเป็นทางการ ได้รับการตอบรับหรือไม่ ซุกรีตอบว่า ยังไม่มีคำตอบจากฝ่ายไทย ซึ่งหากรัฐบาลไทยตอบรับข้อเสนอทั้งสามข้อแล้ว การเจรจาจึงจะถือว่าเป็นทางการและนำไปสู่การตกลงประเด็นสำคัญๆ ต่อไป
 
เมื่อถามว่า ตัวแทนของบีอาร์เอ็นที่มาร่วมทีมเจรจาในนามมาร่าเป็นตัวแทนจากบีอาร์เอ็นจริงๆ หรือไม่ ตัวแทนจากบีอาร์เอ็นทั้งสามคน ปฏิเสธที่จะตอบ โดยบอกว่า แนวทางการทำงานของบีอาร์เอ็นคือการทำแบบปิดลับ เป็นแบบใต้ดิน จึงตอบไม่ได้ แต่บอกได้ว่า การส่งตัวแทนมาพูดคุยบนโต๊ะเจรจานั้นเป็นส่วนหนึ่งของบีอาร์เอ็นแน่นอน
 
เมื่อถามว่า มีสมาชิกขบวนการที่ไม่อยากให้มีการพูดคุยกับรัฐบาลไทยบ้างหรือไม่ อาวัง จาบัด กล่าวว่า มันต้องมีอยู่แล้วที่จะมีคนที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่สนับสนุน ทั้งจากฝ่ายรัฐไทย และฝ่ายขบวนการ แต่เราให้ความสำคัญกับประชาชนปาตานีมากกว่าว่า สนับสนุนการพูดคุยหรือไม่ 
 
เมื่อถามว่า เพราะเหตุใด การเป็นวาระแห่งชาติจึงเป็นข้อเรียกร้องสำคัญของมาร่า อาบูฮาฟิซ กล่าวว่า สามข้อนี้ไม่ใช่เงื่อนไข แต่เป็นข้อที่จำเป็น เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล กระบวนการสันติภาพจะได้ดำเนินต่อไป โดยต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับรอง ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การบวนการสันติภาพเดินไปได้ระยะนึงแล้ว แต่พอมีรัฐประหาร การเจรจาก็ต้องมานับหนึ่งใหม่ เพราะรัฐบาลทหารไม่ยอมรับการพูดคุยที่ผ่านมา รัฐบาลทหารบอกว่า ให้นับเอาวันที่ 1 ธ.ค. 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาพบกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายนาจิบ ราซะก์ เป็นการเริ่มต้นของ การพูดคุยครั้งที่สอง (Dialogue 2) ฝ่ายไทยได้อ้างคำสั่งของนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 230 ที่พูดถึงการให้ความสำคัญกับกระบวนการสันติภาพ แต่นี่ก็ยังไม่ใช่หลักประกันว่า ในรัฐบาลต่อไป กระบวนการนี้จะได้รับการสานต่อ "ขอให้สื่อเป็นตัวเร่งให้กระบวนการสันติภาพกลายเป็นวาระแห่งชาติ นี่ไม่ใช่สำหรับพวกเรา แต่เพื่อสันติภาพของปาตานี" อาบูฮาฟิซกล่าวต่อว่า "ขนาดน้ำท่วมยังเป็นวาระแห่งชาติได้เลย นายกประยุทธ์มีมาตรา 44 อยู่ในมือ ถ้าเขาอยากทำ เขาก็ทำได้"
 
เมื่อถามว่า การยอมรับมาร่านั้นสำคัญอย่างไร อาบูฮาฟิซกล่าวว่า จนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยยังคงเรียกมาร่าว่า ปาร์ตี้บี (Party B) อยู่ และมีคำขยายความว่า ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ มาร่าอยากให้รัฐบาลไทยเจาะจงไปว่า ปาร์ตี้บีคือมาร่าในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุย "อย่างตอนนี้ ประยุทธ์เองยังไม่ยอมเรียกเราว่ามาร่าเลย" 
 
เมื่อถามว่า ถ้าสามข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย จะเป็นอุปสรรคสำหรับการพูดคุยสันติภาพต่อไปหรือไม่ อาบูฮาฟิซกล่าวว่า พวกเราเชื่อว่า ถ้าสามข้อนี้ยังไม่บรรลุ การพูดคุยก็จะถูกถือว่า ไม่เป็นทางการต่อไปเรื่อยๆ คือจะคุยต่อไปก็ได้ แต่ก็จะไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องสำคัญ ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความวางใจต่อไปเรื่อยๆ เท่านั้น 
 
เมื่อถามว่า มาร่าเห็นอย่างไรกับข้อเสนอของรัฐบาลไทยสามข้อซึ่งเพิ่งถูกเสนอเมื่อการพบกันวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา อันได้แก่ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของทุกฝ่าย อาบูฮาฟิซกล่าวว่า มาร่าก็รับไว้พิจารณา แต่ก็ยังตอบอะไรไม่ได้ เพราะต้องให้รัฐบาลไทยรับรองสามข้อของมาร่าก่อน ให้การพูดคุยกลายเป็นการเจรจาอย่างเป็นทางการก่อน จึงจะตกลงอะไรกันได้ 
 
เมื่อถามว่า มาร่ามีกรอบเวลาสำหรับรัฐบาลไทยในการตอบรับข้อเสนอสามข้อหรือไม่ อาบูฮาฟิซกล่าวว่า "ยิ่งเร็วยิ่งดี" และในระหว่างที่ยังไม่มีการตอบรับนั้น มาร่าก็จะสื่อสารกับคนในพื้นที่ได้อย่างลำบาก และทำได้ช้ากว่า เพราะคงต้องขอให้คนจาปาตานีเดินทางมาพบพวกเขาแทน 
 
อาบูฮาฟิซกล่าวว่า เมื่อการพบกันครั้งล่าสุด ผู้ประสานงานซึ่งคือรัฐบาลมาเลเซียได้ให้ฉบับตัวอย่างของ Terms of Reference (TOR) จำนวนหลายหน้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องนำไปศึกษาเพื่อปรับให้เข้ากับที่ตัวเองต้องการ 
 
เมื่อถามว่า มาร่าคิดว่า รัฐบาลทหารจริงใจในการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้หรือไม่ อาบูฮาฟิซกล่าวว่า "ความจริงใจนั้นวัดยาก แต่ความจริงจังนั้นเห็นได้ อย่างเรื่องวาระแห่งชาตินี่ทำให้เห็นว่ายังไม่จริงจังเท่าไหร่" เมื่อถามว่า แล้วฝ่ายขบวนการได้แสดงความจริงใจอย่างเป็นรูปธรรมต่อขบวนการสันติภาพหรือไม่ ตัวแทนจากบีอาร์เอ็นกล่าวว่า การลดความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนคือการแสดงความจริงใจอย่างหนึ่ง 
 
เมื่อถามว่า กลุ่ม พูโล P4 นั้นออกจากมาร่าไปแล้วหรือไม่ อาบูฮาฟิซกล่าวว่า กลุ่มพูโล P4 นั้นได้มาร่วมก่อตั้งมาร่าด้วย แต่ต่อมาเกิดความเห็นต่างในบางประเด็น จึงส่งจดหมายขอถอนตัว ต่อมามาร่าได้แก้ไขประเด็นดังกบ่าวแล้ว และได้สื่อสารทำความเข้าใจกันแล้ว อย่างไรก็ตาม พูโล P4 ยังไม่ได้ตอบรับว่า จะกลับมาร่วมกับมาร่าหรือไม่ 
 
เมื่อนักข่าวถามตัวแทนบีอาร์เอ็นว่า มีข่าวว่า ตัวแทนบีอาร์เอ็นได้ชี้แจงไปยังรัฐบาลไทยว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับระเบิดที่ราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 58 เป็นความจริงหรือไม่ ตัวแทนบีอาร์เอ็นไม่ออกความเห็น นอกจากนี้ ตัวแทนบีอาร์เอ็นไม่ขอออกความเห็นเมื่อถูกถามว่า มีความเกี่ยวข้องกับระเบิดที่เกาะสมุย เมื่อเดือนเม.ย. 58 หรือไม่ 
 
เมื่อถามว่า จะมีการแถลงข่าวเช่นนี้ต่อไปในอนาคตหรือไม่ อาบูฮาฟิซกล่าวว่า ฝ่ายเจรจาของไทยชุดนี้ ซึ่งนำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ไม่ค่อยชอบสื่อสารกับสื่อมวลชนเท่าไหร่ ต่างกับทีมเจรจาที่นำโดย พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร ซึ่ง พล.อ.อักษราได้แสดงความกังวลว่า ฝ่ายมาร่าจะพูดอะไรที่เกินเลยแล้วทำให้สื่อเข้าใจผิด และเสนอให้มาร่าทำแถลงการณ์ร่วมกับฝ่ายไทย ซึ่งอาบูฮาฟิซกล่าวว่า จะทำแถลงการณ์ร่วมได้ ต้องให้การเจรจาเป็นการเจรจาอย่างเป็นทางการเสียก่อน 
 
เมื่อถามบีอาร์เอ็นว่ามีนโยบายการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนอย่างไร ซุกรี ฮารีกล่าวว่า บีอาร์เอ็นไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับพลเรือน แต่จะใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียที่เกิดกับฝ่ายพลเรือนนั้นเป็นความไม่ตั้งใจ หรือเหตุบังเอิญ 
 
มาร่ายังย้ำถึงความสำคัญของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดย อาบู อากิม บิน ฮัสซัน กล่าวว่า "ถ้าสื่อรายงานดี กระบวนการสันติภาพก็จะดำเนินการไปได้ แต่ถ้ารายงานไม่ดี กระบวนการก็จะพัง" 
 
"เราอยากขอให้ประชาชนชาวปาตานี มาร่วมกับเราเพื่อหาทางออกร่วมกันในกระบวนการสันติภาพ" อาบูฮาฟิซกล่าว ในการแถลงข่าวช่วงบ่าย
 
ที่ผ่านมาการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยและขบวนการก่อความไม่สงบมีมาเรื่อยๆ ในทางลับ นักวิเคราะห์กล่าวว่า รัฐไทยไม่เคยมีความจริงใจต่อการเจรจาและมองการเจรจาเป็นเพียงโอกาสในการชี้ตัวแกนนำของขบวนการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเจรจาแบบเปิดเผยครั้งแรกก็เกิดขึ้นในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่การพูดคุยก็ดำเนินไปได้ไม่กี่ครั้ง และจบลงหลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เจอการประท้วงขับไล่ ตามมาด้วยการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 57 ภายใต้รัฐบาลทหาร นำโดย พลเอกประยุทธ์ การพูดคุยสันติภาพมีขึ้นอีกครั้ง โดยการพูดคุยกันครั้งแรกภายใต้รัฐบาลทหารเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงต้นเดือน มิ.ย. 58

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท