วงเสวนาต้านคอร์รัปชัน แนะเปิดข้อมูลก่อสร้าง ลดดราม่า ข้อครหาเมกะโปรเจค

ชี้เปิดเผยข้อมูลเปิดโอกาสประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา ป้องกระแสโซเชียลผิดๆ ลดดราม่าความขัดแย้งในสังคม ด้าน “ยูเอ็นดีพี“ ชี้คอร์รัปชันกระทบการพัฒนามนุษย์ ชูเปิดเผยข้อมูลก่อสร้าง ป้องคอร์รัปชันเมกะโปรเจค

12 ก.ค. 2559 ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต กรมบัญชีกลาง ร่วมกับ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และนครโซล ของเกาหลีใต้ ร่วมจัดเสวนาในหัวข้อ “การเปิดเผยข้อมูลการก่อสร้าง: ประสบการณ์ต้านคอร์รัปชันจากเกาหลี สู่ประเทศไทย ” โดยมีผู้เสวนา อาทิ ต่อตระกูล ยมนาค คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ, ไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กนิกส์, ไกลก้อง ไวทยการ รองผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion และ ชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษา กรมบัญชีกลาง ร่วมเสวนา โดยมีผู้รับฟังจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง สมาคมวิชาชีพ และผู้สังเกตการณ์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กว่า 120 คน

โดยในการเสวนานี้ เจ้าหน้าที่จากนครโซล ได้นำเสนอเรื่องการเปิดเผยข้อมูลการก่อสร้างของเกาหลีใต้ว่า เกิดขึ้นจากข้อครหาคอร์รัปชัน และเหตุการณ์สะเทือนขวัญจากการพังถล่มของสะพาน และห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับพัน จึงมีการปฎิรูปด้านการก่อสร้างอย่างจริงจังโดยใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ และเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนสามารถทราบข้อมูลเชิงลึกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะการประมูล ระยะเวลาการดำเนินการ แผนงาน ความคืบหน้าโครงการเมื่อเปรียบเทียบกับตัวงบประมาณที่จ่ายไปแล้ว โดยมีการนำเสนอผ่านเว็บไซต์และโมบายแอปพลิเคชัน ในหลายรูปแบบ อาทิ แผนที่อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อบอกพิกัดโครงการก่อสร้าง พร้อมระบุรายละเอียดทั้งหมด ภาคความคืบหน้าเป็นรายสัปดาห์ ภาพแบบเรียลไทม์ผ่านกล้องซีซีทีวี รวมถึงกระทู้สำหรับร้องเรียน เพื่อให้ประชาชน ติดตามความคืบหน้าพร้อมนำเสนอข้อเสนอแนะ นอกจากนั้นประชาชนยังสามารถลงทะเบียนเพื่อเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้าง

ด้าน ต่อตระกูล ยมนาค ผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า ตนเองได้เดินทางไปดูระบบด้วยตนเองที่ประเทศเกาหลีใต้ และพบว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และสามารถนำมาปรับใช้ได้ทันที โดยเฉพาะส่วนของการแสดงความคืบหน้าผ่านภาพถ่ายและกล้องซีซีทีวี แบบเรียลไทม์ ต่อสาธารณชน ทำให้ประชาชนสามารถเข้ามาช่วยติดตามความคืบหน้าอีกทางหนึ่ง

ต่อตระกูล ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อประชาชนรับทราบข้อมูลการก่อสร้างทั้งหมด รวมถึงความคืบหน้าตลอดเวลา ก็จะทำให้ภาครัฐดำเนินโครงการต่างๆ ง่ายขึ้น เพราะประชาชนมีส่วนร่วม และทราบข้อมูลได้ตลอดเวลา ประชาชนก็สามารถมีช่องทางแสดงความเห็นต่างๆ ได้ และไว้วางใจกันและกันมากขึ้น ความขัดแย้งทางสังคมจึงลดลงไป

ด้านไอรดา เหลืองวิไล กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูลได้กว้างกว่าของทางเกาหลี แต่ข้อมูลของทางเกาหลีนั้นมีความลึกและละเอียด เพราะประชาชนสามารถดูข้อมูลของการก่อสร้างได้แทบทั้งหมด ปัจจุบัน การเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ คือ เรื่องภาษีไปไหน ที่ประชาชนสามารถรับรู้ว่ามีโครงการในพื้นที่ไหน งบประมาณเท่าไหร่ และใครคือผู้ดำเนินการ ซึ่งหากนำมาวิเคราะห์ก็จะพบหลายสิ่งที่น่าสนใจ ทั้งนี้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กำลังดำเนินการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น

ด้านไกรก้อง ไวทยาการ กล่าวว่า ภาคประชาชน และประชาชน โดยเฉพาะในโลกโซเชียล กำลังให้ความสนใจอย่างมากในเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ทั้งนี้ทางสถาบันร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่ออบรมให้ผู้สื่อข่าวหรือประชาชนที่สนใจ นำข้อมูลที่เปิดเผยออกมา มาวิเคราะห์เพื่อจะได้เห็นข้อสงสัยต่างๆ 

ไกรก้อง ยังกล่าวด้วยว่า ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะมีโครงการอะไรเกิดขึ้นก็จะเกิดดราม่า ในเรื่องข้อครหาการทุจริต เพราะไม่มีใครรู้ข้อมูลที่แท้จริง แต่หากมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างประเทศเกาหลี ก็จะทำให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด ทำให้ลดข้อครหาต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว การเปิดเผยข้อมูล ยังช่วยลดความขัดแย้งในการดำเนินการก่อสร้างโครงการต่างๆ เพราะประชาชนจะไว้วางใจ และแสดงความเห็นบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง

ด้าน ชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มดำเนินการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และมีความคืบหน้าอย่างมากในรอบห้าปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลแทบทั้งหมดของการจัดซื้อจัดจ้างถูกบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ และมีข้อบังคับให้นำเสนอต่อสาธารณชนผ่านทางเว็บไซต์ของกรม สำหรับประสบการณ์การเปิดเผยข้อมูลภาคการก่อสร้างของเกาหลีใต้นั้น มีสิ่งที่แตกต่างจากของไทย คือเกาหลีใต้ เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการ และงบประมาณที่จ่ายไปแล้ว รวมถึงเปิดเผยที่มีหลักฐานชัดเจน เช่น ภาพถ่าย หรือกระทั่งกล้องซีซีทีวีแบบเรียลไทม์ ที่ประชาชน สามารถติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

ชุณหจิต ยังกล่าวด้วย การเปิดเผยข้อมูลนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแล้ว ยังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องเช่นกัน เพราะเมื่อเปิดเผยข้อมูลออกมา ข้อสงสัยก็ลดลง และข้าราชการสามารถนำข้อมูลที่เปิดเผยมาอธิบายข้อเท็จจริงได้

ด้าน ลุค สตีเวนส์ ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยและผู้แทนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนามนุษย์ของไทย เพราะส่งผลโดยตรงต่องบประมาณที่จะถูกนำไปใช้ต่อบริการสาธารณะที่จำเป็นต่อการพัฒนามนุษย์ อาทิ ด้านสาธารณสุข การศึกษา และสิ่งแวดล้อม

ลุค ยังกล่าวด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูล คือแนวทางที่จะช่วยป้องกันปัญหาคอร์รัปชัน และยังเป็นการตอกย้ำสิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการของรัฐ โดยการเปิดเผยข้อมูลนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่ยูเอ็นดีพี พยายามผลักดัน และให้การสนับสนุน ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันคอร์รัปชันอื่นๆ เช่น การพัฒนากฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมาตรฐานสากล ที่อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยยูเอ็นดีพี พร้อมจะให้การสนับสนุนรัฐบาลอย่างสุดความสามารถ โดยประเทศไทยนั้น กำลังมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย การเปิดเผยข้อมูลการก่อสร้างจะช่วยป้องกันคอร์รัปชันได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท