เผย กทม. รื้อบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ ผิดข้อตกลงเมื่อวันที่ 3 ก.ย.

เผย ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ รองผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องจำนวนบ้านเรือนที่จะรื้อในชุมชนป้อมมหากาฬเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อตกลงเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ด้านชาวบ้านก็ยังคงยึดหลักอหิงสา เดินหน้าจัดคณะกรรมการพหุภาคีเพื่อแก้ปัญหาต่อ

4 ก.ย. 2559 สืบเนื่องจากกรณีที่กรุงเทพมหานครจะทำการรื้อย้ายบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ เฉพาะบ้านหลังที่เจ้าของยินยอมและขอให้ กทม.ช่วยรื้อย้าย ซึ่งเป็นไปตามแผนต่อจากเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม: หลายฝ่ายจับตา กทม.รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ และ กทม. ลุยรื้อ 'ชุมชนป้อมมหากาฬ' ต่อวันที่ 2)

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งเคลื่อนไหวร่วมกับชุมชนป้อมมหากาฬได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า  ข้อมูลที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องจำนวนบ้านเรือนที่จะรื้อในชุมชนป้อมมหากาฬเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อตกลงเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา ตัวเลขที่ พล.ต.อ.อัศวินให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในการไล่รื้อบ้านเรือนในชุมชนป้อมมหากาฬคือ จำนวน 16 หลัง (พล.ต.อ.อัศวินให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตามแผนเดิมที่มีอยู่จำนวน 13 หลัง รวมถึงจะรื้อย้ายบ้านร้างอีก 3 หลัง ที่ชาวชุมชนขอให้ กทม.ช่วยรื้อย้ายเพิ่มเติม รวมเป็น 16 หลัง อ่านเพิ่มเติมในข่าว: กทม. ลุยรื้อ 'ชุมชนป้อมมหากาฬ' ต่อวันที่ 2)

อินทิราระบุว่าแต่สิ่งที่ชาวบ้านในชุมชนรู้มาตลอดคือเวลาและการเจรจาเมื่อวานคือ 13 หลัง ซึ่งคุยกันว่า มีบ้านโบราณในนั้นอยู่ 1 หลัง ดังนั้นจึงมีการเจรจากันว่าบ้านโบราณจะไม่มีการรื้อถอนและจะไม่มีการแตะต้อง ให้บ้านโบราณคงอยู่แต่ไม่มีการให้อาศัยอยู่ในบ้านโบราณได้ โดยให้บ้านคงสภาพเดิมไว้และให้คนในชุมชนเข้าไปดูแลรักษาความสะอาด และส่วนบ้าน 12 หลังนั้นชาวบ้านก็เคารพกระบวนการ เมื่อมีการเจรจากับ กทม.แล้วและพร้อมที่จะออกก็เป็นไปตามข้อตกลง ชาวบ้านไม่ได้ขัดขวางอะไรแต่อยากได้ความชัดเจนจาก กทม. ว่า 12 หลังนั้น คือ 12 หลังตรงที่ตกลงร่วมกันที่ชาาวบ้านยินยอมให้รื้อถอนได้ ซึ่งต้องตรงกับความเป็นจริงกับบ้านที่รับเงินชดเชยแล้วไม่ใช่ 12 หลังไหนก็ได้

อินทิรา กล่าวต่อว่า เมื่อวานนี้ที่ กทม.เข้ามาเจรจาและได้ทำข้อตกลงนั้น ได้มีข้อสรุปร่วมกัน 1.กทม.ไล่รื้อบ้าน 12 หลังที่ชาวบ้านสมัครใจและยินยอมเท่านั้น ซึ่งมีการดูผังร่วมกันและทำข้อตกลงร่วมกัน 2.บ้านโบราณยังคงอยู่โดยไม่มีผู้ใดอาศัยได้แต่ให้ชุมชนทำหน้าที่ดูแลทำความสะอาด 3.ตั้งคณะกรรมการพหุพาคีร่วมกัน เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับสวนสาธารณะที่ กทม.จะทำตามแผนฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันนี้กลับไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำร่วมกันไว้ในวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา สถานการณ์ที่เกิดขึ้น กทม.เดินหน้ารื้อบ้านที่ไม่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวังกับการกระทำที่ขาดสัจจะของ กทม. ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ กทม.เข้ามารื้อบ้านในวันนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็มีการห้ามและขัดขวางการรื้อถอนและพยายามเจรจากับ กทม.ทางโทรศัพท์ ในการเจรจา กทม.ก็ยังไม่ได้ทางออกกับชุมชนในสิ่งที่เกิดขึ้น

"เวลาเที่ยงกว่า ๆ ขณะที่ชาวบ้านและคนในชุมชนกำลังแจกข้าวกล่อง ซึ่งยังไม่ทันได้แกะกล่องรับประทาน ชาวบ้านก็ตะโกนว่า กทม.รื้อแล้ว โดยรื้อบ้านที่ไม่ใช่ 12 หลังที่ตกลงกัน จึงมีการเดินไปดูเจ้าหน้าที่และยื้อไม่ให้รื้อถอน พี่น้องป้อมมหากาฬก็มีการไปรวมตัวขัดขวางไม่ให้มีการรื้อบ้าน บ้าน 203 ที่รื้อคือไม่ใช่ที่ตกลงไว้ ขณะนั้นเลยยกหูหาคุณอังคณา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเดินทางมาเจรจาเมื่อวานนี้ร่วมกับชาวบ้านป้อมฯด้วย คุณอังคณาจึงยกหูโทรหาคุณ อัศวินที่ กทม. และบอกให้ฟังเรื่องที่เกิดขึ้น และคุณอังคณาก็เดินทางมาที่ป้อมมหากาฬในช่วงบ่าย โดยแจ้งว่าคุณอัศวินไม่รู้เรื่อง โดยอัศวินก็ส่งรองปลัดกทม.มาที่พื้นที่แต่เมื่อมาถึงก็ไม่มีทางออกหรือการยืนยันใด ๆ ให้ชาวบ้านสบายใจนอกจากคำปลอบใจ"

อินทรา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬสูญเสียกำลังใจและไม่สามารถคาดหวังกับคำมั่นสัญญาของ กทม.ที่ทำไว้กับชุมชน ในวันนี้ชาวบ้านชุมชนป้อมฯ จึงยืนยันว่าในวันนี้วันที่ 4 ก.ย.2559 ที่ กทม.เข้ามาไล่รื้อนั้นต้องทำการไล่รื้อให้จบและเสร็จสิ้น และต้องทำตามที่ตกลงไว้คือ 12 หลัง ซึ่งเหลือแค่ 4 หลังเท่านั้น หลังจากที่วานนี้ได้รื้อถอนไปแล้วทั้งหมด 8 หลัง ส่วนหลังที่รื้อโดยไม่ได้ตกลงกันเกินครึ่งหลังในวันนี้ให้คงเอาไว้

"กทม. ไม่ได้รักษาสัจจะที่พูดเอาไว้เลย สัจจะวาจาไม่ได้มีค่าอะไรเลยกับ กทม. เพราะคุณฉีกมันทิ้งอยู่โดยตลอดเวลา ถึงแม้เราจะโดนวิธีการแบบนี้ชาวบ้านก็ยังคงยึดหลักอหิงสา เดินหน้าจัดคณะกรรมการพหุภาคีเพื่อแก้ปัญหาต่อ แม้จะมีเสียงอะไรหลายอย่างจากสื่อที่ กทม.ให้สัมภาษณ์ไม่สอดคล้องกับที่คุยกับชุมชน ซึ่งวันนี้สถานการณ์จบที่ กทม.ยังรื้อ 4 หลังที่เหลือไม่เสร็จและทิ้งขยะและซากกองเอาไว้ในชุมชน สิ่งนี้ทำให้ชุมชนเกิดความหวาดกลัวเพราะไม่มีกรอบเวลาการรื้อให้เสร็จและ กทม.สามารถเข้ามาจัดการรื้อถอนโดยไม่แจ้งให้ทราบเวลาและกรอบการทำงาน ทำให้ชาวบ้านอยู่ในความเสี่ยง ไม่ปลออดภัย ทำให้ชาวบ้านจัดขบวนพี่น้องปิดประตูทางเข้าทางออกเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท