Skip to main content
sharethis

วัส ติงสมิตร ประณามคนร้ายก่อเหตุระเบิดบิ๊กซีปัตตานี ขาดความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 'อังคณา' ซัดไม่มีประเทศใดใช้ชีวิตผู้บริสุทธิ์มาเป็นเครื่องมือต่อรอง 'ฮิวแมนไรท์วอทช์-มูลนิธิผสานวัฒนธรรม'  ชี้อาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

10 พ.ค. 2560 จากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดในห้างบิ๊กซี อ.เมือง จ.ปัตตานี วานนี้ (9 พ.ค.60) ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 50 คน โดยมีผู้บาดเจ็บสาหัส 4 คน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

วันนี้ (10 พ.ค.60) วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ ประณามคนร้ายก่อเหตุดังกล่าว โดยระบุว่า เหตุการดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก แสดงให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุกระทำการเพื่อประสงค์ให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงแบบไม่เลือกเป้าหมาย จึงได้วางระเบิดในบริเวณห้างสรรพสินค้าที่มีผู้คนมากมายทุกเพศทุกวัยไปใช้บริการ

"ขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างอุกอาจและร้ายแรงในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุขาดความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงกระทำการด้วยความโหดร้าย ทารุณ ไร้ซึ่งมนุษยธรรม" วัส แถลง

ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัว และขอส่งความห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชนชาวปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ประธานกรรมการสิทธิฯ แถลงอีกว่า ยังคงยืนยันว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน ควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง” ดังนั้นการใช้ความรุนแรงคุกคามต่อชีวิตและร่างกายเพื่อนมนุษย์นอกจากเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรงแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจยอมรับได้ และขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการนำสันติสุขกลับคืนสู่ชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว

อังคณาซัดไม่มีประเทศใดใช้ชีวิตผู้บริสุทธิ์มาเป็นเครื่องมือต่อรอง

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ดังกล่าว ว่ารู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมากเพราะส่วนตัวเพิ่งเดินทางกลับจาก จ.ปัตตานี อีกทั้งสถานที่เกิดเหตุเป็นเหมือนพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ผู้ก่อเหตุมีความประสงค์ต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก และต้องการทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกหวาดกลัว ไม่เชื่อมั่นในอำนาจรัฐว่ารัฐจะปกป้องประชาชนได้ เพราะฉะนั้นรัฐต้องรีบเร่งสร้างความมั่นใจว่ารัฐจะดูแลความปลอดภัยกับประชาชนได้ ส่วนตัวอยากให้ทุกฝ่ายแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ รวมทั้งอยากให้เจ้าหน้าที่ควรต้องเร่งหาพยานหลักฐาน หาผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรและต่อไปจะปกป้องชีวิตและทรัพย์สินประชาชนอย่างไร
       
“ช่วงนี้คนเริ่มเยอะเพราะกำลังจะเข้าเดือนรอมฎอน ชาวบ้านก็จะออกมาซื้อของกัน ดังนั้นไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นใคร ต้องขอประณาม เหตุการณ์แบบนี้ไม่มีใครรับได้ ไม่ควรใช้ชีวิตผู้บริสุทธิ์มาเป็นเครื่องมือในการต่อรองเจรจาพูดคุยกับรัฐ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม เพราะไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่มีความขัดแย้งแล้วเขาทำกัน” อังคณา กล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้อาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว ว่า การระเบิดสองครั้งในห้างสรรพสินค้าที่มีประชาชนจำนวนมาก แสดงให้เห็นความทารุณและไม่คำนึงถึงชีวิตพลเรือน 
 
“การโจมตีที่ห้างบิ๊กซีเป็นสัญญาณบ่งบอกความรุนแรงสูงสุดของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน เป็นการโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่พลเรือน ซึ่งอาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รัฐบาลควรนำตัวผู้กระทำผิดทุกคนมาลงโทษ”
 
รถกระบะที่ถูกใช้ในการโจมตีครั้งนี้ ได้ถูกแจ้งความว่าหายไปตั้งแต่ช่วงเช้าวันดังกล่าว โดยยังไม่มีการพบตัวเจ้าของรถ และมีความกังวลถึงความปลอดภัยของเขา ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
 
นับแต่มีการโจมตีด้วยอาวุธเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังเดือนมกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบจากกลุ่ม Barisan Revolusi Nasional (BRN) ได้กระทำการที่ละเมิดกฎหมายสงครามหลายครั้ง ในบรรดาผู้เสียชีวิตกว่า 6,800 คนในช่วงที่เกิดการขัดกันด้วยอาวุธอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ประมาณ 90% ของคนเหล่านี้เป็นพลเรือนทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธและชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. BRN ออกแถลงการณ์คัดค้านการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอิทธิพลอะไรแล้วเป็นเครือข่ายหลวม ๆ ของกลุ่มมาราปัตตานี (Majlis Syura Patani) โดยเป็นการเจรจาที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลาง  

กฎหมายสงคราม หรือที่เรียกว่า กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ห้ามการโจมตีต่อพลเรือน หรือการโจมตีที่ไม่แยกแยะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับพลเรือน ข้ออ้างของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ว่า การโจมตีต่อพลเรือนชอบด้วยกฎหมาย เพราะพลเรือนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพุทธไทย หรือเป็นเพราะกฎหมายอิสลามที่พวกเขาตีความ อนุญาตให้กระทำการโจมตีดังกล่าวได้ ข้ออ้างเช่นนี้ไม่ชอบธรรมตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายสงครามยังห้ามการโจมตีเพื่อแก้แค้นและการสังหารแบบรวบรัดต่อพลเรือนและกองกำลังที่ถูกจับกุมตัวได้ ห้ามการทำลายซากศพ และห้ามการโจมตีที่พุ่งเป้าต่ออาคารสถานที่ของพลเรือน รวมทั้งโรงเรียน

อาชญากรรมต่อมนุษยชาติครอบคลุมถึงความผิดอาญาบางประเภท ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “การโจมตีต่อประชากรที่เป็นพลเรือน” กล่าวคือต้องเป็นการโจมตีที่เกิดขึ้นจากการวางแผนหรือการมีนโยบายให้กระทำเช่นนั้นในระดับหนึ่ง การกระทำเช่นนั้นรวมถึงการสังหารและ “การกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมที่มีพฤติการณ์แบบเดียวกัน โดยมุ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างใหญ่หลวง หรือการบาดเจ็บสาหัสต่อร่างกาย หรือต่อสุขภาพทางใจหรือทางกาย” กฎหมายระหว่างประเทศคุ้มครองประชากรที่เป็นพลเรือน “ทุกกลุ่ม” จากการโจมตีเช่นนี้ โดยไม่คำนึงว่าประชากรที่ตกเป็นเหยื่อนั้น จะมีส่วนเชื่อมโยงกับคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการขัดกันด้วยอาวุธหรือไม่ก็ตาม ความรับผิดต่อการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะผู้ซึ่งกระทำการดังกล่าวเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงผู้สั่งการ ช่วยเหลือ หรือมีส่วนร่วมในทางใดทางหนึ่งต่อการกระทำผิดนั้น ตามหลักความรับผิดชอบของการบังคับบัญชา ผู้นำรัฐบาลหรือผู้นำกลุ่มติดอาวุธก็อาจต้องรับผิดทางอาญาต่อการกระทำที่เกิดขึ้นโดยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา กรณีที่ผู้นำเหล่านั้นรู้ หรือควรรู้ว่าจะมีการก่อความผิดดังกล่าวขึ้น แต่กลับไม่ดำเนินมาตรการที่ชอบด้วยเหตุผลเพื่อหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว 

แม้ว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องประสบกับความเสียหายครั้งใหญ่จากการโจมตีกวาดล้างของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่คนกลุ่มนี้ยังคงกระจายอยู่ในหมู่บ้านชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูหลายร้อยแห่ง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักอ้างถึงยุทธวิธีที่มิชอบและรุนแรงของกองกำลังของรัฐบาล เพื่อจูงใจให้มีบุคคลเข้าร่วมกลุ่มของตนเพิ่มขึ้น และเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่รุนแรงของตน

ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังคงกังวลอย่างยิ่งกับการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกฎหมายสงคราม ทั้งของฝ่ายกองกำลังของรัฐบาลไทยและกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ การสังหาร การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการทรมาน ไม่อาจถือว่าเป็นการตอบโต้ที่ชอบธรรมต่อการโจมตีของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ต่อพลเรือนชาวพุทธไทยและต่อกองกำลังของรัฐบาล สถานการณ์นี้เลวร้ายยิ่งขึ้น เนื่องจากวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่หยั่งรากลึก หลังการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัดชายแดนใต้ จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รายใดที่ปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบได้เลย

“รัฐบาลไทยต้องตอบโต้กับการโจมตีที่โหดร้ายนี้ด้วยการยึดมั่นตามหลักนิติธรรม ด้วยการยุติการปฏิบัติมิชอบในบรรดากองกำลังของรัฐบาลเอง และแก้ปัญหาความอึดอัดคับข้องใจที่มีมาอย่างยาวนาน ในบรรดาชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู” อดัมส์กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลยังคงปกป้องไม่ให้กองกำลังของตนต้องรับผิดทางอาญาต่อไป ก็จะยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับความรุนแรงของกลุ่มที่สุดโต่ง 

ผสานวัฒนธรรม ประณาม พร้อมชี้อาจเข้าข่ายอาชญกรรมต่อมนุษยชาติ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์  ประณามระเบิดที่ห้างสรรพสินค้าที่ปัตตานี รักษาความปลอดภัยหละหลวม พร้อมระบุด้วยว่า อาจเข้าข่ายอาชญกรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against humanity) แสดงความเสียใจต่อความสูญเสีย ขอเสนอแนะให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น ยึดมั่นแนวทางสันติ

แถลงการณ์ของ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า แม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์และผู้บาดเจ็บหลายรายสามารถเดินทางกลับบ้านได้  แต่แรงระเบิดอานุภาพสูงทำให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินของห้างฯและของประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาสำคัญสองประการคือการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะที่หละหลวมและขาดมาตรการการคุ้มครองผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและสตรี  อีกประการหนึ่งเหตุรุนแรงดังกล่าวเป็นการกระทำโดยตรงต่อผู้บริสุทธิ์โดยไม่เลือกเป้าหมาย การลอบวางระเบิดในที่สาธารณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเป็นการกระทำความผิดทางอาญาทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศ โดยอาจเป็นความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกด้วย จึงควรถูกประนามจากทุกฝ่าย และหากเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบอาจเข้าข่ายการก่ออาชญกรรมต่อมนุษยชาติที่ต้องรับผิดทางอาญาตามระบบยุติธรรมระหว่างประเทศ   

ทั้งนี้ในกรอบกฎหมายในประเทศรัฐมีหน้าที่ต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีและรับโทษตามกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน  ปัญหาทั้งสองประการต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนเนื่องจากพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธต้องได้รับการคุ้มครองจากการใช้อาวุธไม่ว่าจากฝ่ายใด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และขอประนามผู้ก่อเหตุระเบิดดังกล่าวซึ่งได้ก่อความรุนแรงต่อพลเรือน เด็กและสตรีผู้บริสุทธิ์  โดยขอเรียกร้องให้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องดังนี้

1.         กลุ่มติดอาวุธไม่ว่าฝ่ายใดต้องหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธประหัตประหารและก่อเหตุรุนแรงที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ตลอดจนทรัพย์สินของประชาชนและสาธารณะ

2.         รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อต้องนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามหลักกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน  

3.         รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อต้องช่วยเหลือต่อผู้เสียหายทั้งทรัพย์สินและผู้ได้รับบาดเจ็บ  รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดอย่างเต็มที่ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

4.         รัฐต้องประสานงานภาคประชาสังคมในการปกป้องคุ้มครองพลเรือน ผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะเด็กและสตรี ให้ได้รับการคุ้มครองจากการใช้อาวุธไม่ว่าจากฝ่ายใดทุกฝ่ายต้องมีความอดทนอดกลั้นที่ผู้บริสุทธิ์ และหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net