Skip to main content
sharethis

พรรคประชาชน ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจาพิจารณาการแสดงออกตุลาการศาล รธน. ให้ความเห็นยุบก้าวไกล ไม่เหมาะสม ชี้แก้ที่ต้นตอปัญหาคือรัฐธรรมนูญ เพื่อทบทวนอำนาจและที่มาของศาลฯ และองค์กรอิสระ ย้ำการแก้ รธน.ต้องมาจาก สสร.ประชาชนทั้งหมด

เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายเมื่อ 22 ส.ค. 2567 เสนอญัตติด้วยวาจา ย้ำต้องแก้ รธน.ทบทวนอำนาจ-ที่มาองค์กรอิสระ

22 ส.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคประชาชน รายงานวันนี้ (22 ส.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเสนอญัตติด้วยวาจา โดยสมาชิกจากทั้งพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตุลาการในเวทีสาธารณะ จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายหนึ่งแสดงออกในเวทีสาธารณะที่ จ.สุราษฏร์ธานี พาดพิงถึงคดียุบพรรคก้าวไกล และพาดพิงถึงพรรคประชาชนในทางที่เสียดสีไม่เหมาะสม

สาธารณชนมีสิทธิตั้งคำถาม ศาล รธน. ใช้อคติส่วนตัวในการวินิจฉัยยุบก้าวไกลหรือไม่

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ใช้อำนาจตามข้อบังคับที่ 54 เสนอญัตติด้วยวาจา และอภิปรายถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอญัตติดังกล่าวว่า ผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีการคิดไตร่ตรองอย่างดีว่า การแสดงความเห็นบนเวทีสาธารณะแบบนี้เป็นการแสดงทัศนคติส่วนตัวหรือโดยเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ และเนื่องจากท่านเป็นองค์คณะตุลาการที่พิพากษาประหารชีวิตพรรคการเมือง แล้วยังออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวในเชิงประชดประชัน จึงเป็นความชอบธรรมของสภาผู้แทนราษฎร และประชาชน ที่ควรจะต้องตั้งคำถามต่อองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 2 ว่าด้วยจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อที่ 13 มีบทบัญญัติว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ และในข้อที่ 17 บัญญัติไว้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ทำการใดๆ ให้เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ และการดำรงตำแหน่ง อีกทั้งยังมีประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการข้อที่ 28 บัญญัติว่า ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาฐกถาบรรยาย สอน หรือเข้าร่วมการสัมมนา อภิปรายแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่และเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า คำถามคือการแสดงทัศนคติแบบนี้เป็นการแสดงทัศนคติที่เป็นกลางหรือไม่ สาธารณชนย่อมสามารถตั้งคำถามได้ว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ใช้อคติส่วนตัวในการวินิจฉัยหรือไม่

ณัฐพงษ์ กล่าวว่าอยากเรียกร้องสมาชิกสภาฯ เห็นชอบญัตตินี้ เพื่อส่งข้อสังเกตไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะเรายืนยันว่าเรื่องของมาตรฐานจรรยาบรรณเป็นเรื่องนามธรรม ควรจะต้องให้คนภายในองค์กรนั้นตรวจสอบกันเอง ไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะไปใช้อำนาจล่วงเกินฝ่ายอื่นๆ

หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ อำนาจหน้าที่ ที่มาที่ไป และการถอดถอนองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญว่าจะทำอย่างไร

สร้างฉันทามติ เอามรดก 'จริยธรรม' ของ คสช.ออกไป

รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้อภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาที่ไปจากคณะรัฐประหารที่ตั้งใจสร้างกลไกในการตรวจสอบพรรคการเมือง และนักการเมือง โดยเชื่อว่านักการเมืองคือคนเลว กลไกที่ใช้ในการตรวจสอบนักการเมืองจึงมีจำนวนมากมายหลายมาตรา แต่เมื่อพิจารณาถึงองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ กลไกในการตรวจสอบกลับมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ในกรณีองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจในทางที่เสื่อมเสีย กลับแทบไม่เห็นมาตราหรือกลไกใดที่จะอนุญาตให้สภาฯ หรือองค์กรใด ได้ตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ชอบนี้เลย

โดยธรรมชาติของนักการเมืองถูกต้องแล้วที่จะถูกตรวจสอบ แต่การตรวจสอบต้องมีระดับที่เหมาะสม และเรายังมีความรับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งสุดท้ายประชาชนจะเป็นคนตัดสิน แต่คำถามคือการเอาประมวลจริยธรรมที่ใช้กับศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ซึ่งควรถูกใช้กับองค์กรที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน มาใช้กับนักการเมืองที่กลไกตรวจสอบ และมีประชาชนเป็นผู้ตัดสินอยู่แล้ว ถูกต้องหรือไม่

รังสิมันต์ กล่าวว่า ฝ่ายนิติบัญญัติที่ใช้อำนาจตามที่ประชาชนได้ไว้วางใจมาคือสถาบันสุดท้ายที่กำลังปกป้องอำนาจสูงสุดของประชาชน จริยธรรมคือความรับผิดชอบที่เรามีต่อประชาชน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมีฉันทามติร่วมกันนำเอาประเด็นจริยธรรมที่เป็นมรดกของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ออกไปจากระบบ ไม่ให้นำมาใช้ปะปนกันอีกต่อไป และแม้สภาฯ แห่งนี้ในอนาคตจะตัดสินใจว่าจะเอาจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไปจากรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป. ก็ไม่ได้แปลว่านักการเมืองจะอยู่เหนือการตรวจสอบ เพราะยังต้องผูกพัน ถูกดำเนินการ และต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายต่อต้านทุจริตต่อไป

อดิศร เพียงเกษ หนุนทบทวนอำนาจและที่มาองค์กรอิสระ

ด้าน อดิศร เพียงเกษ สส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนญัตติด้วยวาจามติเร่งด่วนและให้สมาชิกสนับสนุนเห็นด้วยกับญัตติด้วยวาจามติที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชนได้เสนอ เพื่อส่งให้ศาล รธน. และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาดำเนินการต่อไป

"ไม่อยากให้ความยุติธรรมอยู่ต่ำมากกว่านี้ ท่านอยู่สูงแล้วให้ท่านอยู่สูงต่อไปวินิฉัยข้อขัดแย้งของเราเพราะท่านทำหน้าที่ ถ้าท่านอยากอยู่ต่ำมาครับ มาเกลือกกลั้วกับเราผ่านการเลือกตั้ง มีประชาชนตรวจสอบนั้นคือระบบประชาธิปไตย จึงขอเชิญชวนท่านทั้งหลายสนับสนุนส่งความปรารถนาดีให้องค์กรยุติธรรมที่เรียกว่าศาลรัฐธรรมนูญ" 
 

'พริษฐ์' ชี้ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญต้นตอปัญหา และ สสร.ต้องจากประชาชนทั้งหมด

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวอภิปรายสรุปญัตติในส่วนของพรรคประชาชนว่า สาเหตุที่สภาต้องมาพิจารณาญัตติด่วนในวันนี้มาจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง แต่ในมุมหนึ่งพฤติการณ์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกลไก กระบวนการ ขั้นตอน ที่ทำให้บุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวสามารถไปดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ล้วนเป็นผลลัพธ์มาจากระบบการเมืองที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นต้นตอปัญหานี้

พริษฐ์ วัชรสินธุ

พริษฐ์ กล่าวว่า ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นจากระบบการเมืองที่เราอาศัยอยู่ ถ้าไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เราหลีกหนีไม่พ้นความจำเป็นในการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการทบทวนความรู้สึกของสังคมว่า แท้ที่จริงแล้วเรากำลังไม่พอใจเรื่องอะไร ลึกๆ เราจะพบว่าเราไม่ได้ไม่พอใจเพียงตัวบุคคล แต่คือ 3 องค์ประกอบของระบบการเมืองปัจจุบัน คือ

ประการแรก ความไม่พอใจหรือการตั้งคำถามว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังลุแก่อำนาจหรือไม่ ซึ่งแปรมาเป็นโจทย์ในการปฏิรูปขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ขยายขอบเขตอำนาจให้อย่างมหาศาล ทั้งในการยุบพรรคการเมือง ซึ่งจากบริบท จังหวะการยุบพรรค รวมถึงคำบรรยายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวาน ยิ่งตอกย้ำว่ากลไกของการยุบพรรคไม่ได้คำนึงถึงกฎหมาย แต่ถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองมาตลอด

แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพูดในทำนองเยาะเย้ยว่าให้พวกตนต้องขอบคุณท่าน แต่ตนไม่ขอขอบคุณท่าน แต่ตนต้องขอบคุณประชาชนที่ยังไม่หมดหวังกับการเมืองไทยภายใต้ประชาธิปไตยที่บกพร่องทุกวันนี้ การยุบพรรคที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำลายพรรคการเมืองได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการยุบพรรคกำลังทำลายล้างประเทศ ทำให้สังคมตั้งคำถามว่ากฎหมายกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อขัดขวางเจตนารรมณ์ของประชาชนหรือไม่

สส.พรรคประชาชน กล่าวว่า อีกอำนาจที่ถูกขยายออกมา คือนวัตกรรมทางการเมืองที่เรียกว่า ‘มาตรฐานทางจริยธรรม’ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม ถูกนิยามจากต่างคนต่างไม่เหมือนกัน ซึ่งตนต้องยืนยันว่า จริยธรรมเป็นเรื่องที่ถูกตีความและนิยามไม่เหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับนำจริยธรรมไปบรรจุในกฎหมาย และเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ มีอำนาจผูกขาดทั้งการนิยามและการตีความวินิจฉัยชี้ขาด โดยมีโทษที่รุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตทางการเมืองบุคคล

พริษฐ์ กล่าวว่า ประการที่สอง ความไม่พอใจต่ออคติและอาการที่ดูไม่เป็นกลางของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องถูกแปรมาเป็นโจทย์สำคัญในการปฏิรูปกระบวนการในการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ควรต้องมีเกณฑ์และคุณสมบัติ คือมีความหลากหลายทั้งความคิดและความเชี่ยวชาญ ต้องมีความยึดโยงกับประชาชน และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้ ซึ่งกติกาเกี่ยวกับการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ทั้งสามนี้แม้แต่ข้อเดียว

สส.พรรคประชาชน กล่าวว่า ประการที่สาม ความไม่พอใจของประชาชน ที่ไม่มีช่องทางทำอะไรกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมองว่าไม่เหมาะสมได้เลย ซึ่งต้องถูกแปรเป็นโจทย์ในการปฏิรูปกลไกการตรวจสอบและถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอดีตเคยมีกลไกถอดถอนมาก่อน และถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำกลไกถอดถอนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

พริษฐ์ กล่าวว่าเห็นประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ แต่อยากให้เพื่อนสมาชิกตระหนักไว้ว่า แม้เราจะมีความรู้สึกไม่พอใจเหมือนกัน แต่สิ่งที่ผู้แทนราษฎรสามารถทำได้ไม่ใช่แค่การพูดแทนประชาชน แต่คือการแก้ปัญหาที่ต้นตอ คือการแก้รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นบ่อกำเนิดของระบบการเมืองที่บิดเบี้ยวและนำมาซึ่งเหตุการณ์เมื่อวานนี้ (21 ส.ค.)

สส.พรรคประชาชน กล่าวต่อว่า ในมุมหนึ่งต้องเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญบับใหม่นั้นจะสะท้อนเสียงของประชาชนทุกกลุ่มได้ดีที่สุดหากมาจากการร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากประชาชนทั้งหมด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยเวลา ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำโดยทันทีและทำได้ตั้งแต่วันนี้ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งวันนี้พรรคประชาชนพร้อมเสนอและสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งการทบทวนอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ การปฏิรูปกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงการเพิ่มกลไกตรวจสอบถอนถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net