Skip to main content
sharethis
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ระบุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงสั่งการให้ จนท.ใช้กำลังกับกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 51

ที่มา ภาพเฟซบุ๊กแฟนเพจ Banrasdr Photo 

2 ส.ค.2560 Banrasdr Photo รายงานว่า สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อฟังคำตัดสินในคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากการสลายการชุุมนุมของชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าประชุมสภาได้ในเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีก 471 คน

โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งมารอให้กำลังใจ และอีกด้านหนึ่งมีประชาชนและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์มารอฟังคำตัดสินด้วยเช่นกัน

ไทยพีบีเอสรายงานว่า หลังจากใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษานานกว่า 1.20 ชั่วโมง ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน ชี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตร โดยคดีนี้ใช้เวลาในการพิจารณายาวนานถึง 9 ปี

เปิดคำพิพากษา คดีสลายการชุมนุม 9 ปี 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันทำการให้มีการเปิดทางเข้ารัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ การที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา โดยปิดล้อมประตูเข้าออกไว้ทุกด้าน ถือว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัตคิหน้าที่และไม่ได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบกรกฎ 48 โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักแล้ว เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น พยานหลักฐาน โจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
 
สำหรับเหตุการณ์ในช่วงบ่ายและช่วงค่ำ โจทก์ร้องขอให้ลงโทษเฉพาะจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่สองได้ลาออกจากตำแหน่งไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ในช่วงเช้า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้กลับมาปิดล้อมรัฐสภาเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่รัฐสภา ไม่สามารถออกจากรัฐสภาได้ มีการปลุกระดมผู้ชุมนุมและจะบุกเข้าไปข้างในรัฐสภา จึงไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ และเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อเปิดทางช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในรัฐสภา
 
โดยเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัตตามขั้นตอนของแผนกรกฎ 48 จึงจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยเหลือซึ่งพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญแก๊สน้ำตาก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผลอันเกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา แม้จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ว่าในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net