Skip to main content
sharethis

แนะตั้งกลไกที่เป็นอิสระและมีอำนาจตรวจตรา รับเรื่องราวร้องเรียนและตรวจสอบกรณีที่ปรากฏว่ามีการซ้อมทรมานทหารชั้นผู้น้อย การตรากฎหมายชันสูตรพลิกศพ ให้เกิดความโปร่งใน ตรวจสอบได้ 

24 พ.ย.2560 จากกรณี การเสียชีวิตของ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ เมย นักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งข้อสงสัยจากทางญาติและก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมากนั้น ล่าสุดวานนี้ (23 พ.ย.60) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ เรียกร้องนายกรัฐมนตรีทบทวนระบบ “ซ่อมทหาร” โรงเรียนเตรียมทหาร ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นที่คลางแคลงใจของสังคมอย่างยิ่ง สมควรที่ต้องมีการสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงอย่างถูกต้องด้วยท่าทีที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังได้เสนอ 6 ข้อ เพื่อแก้ปัญหา เช่น การจัดตั้งกลไกที่เป็นอิสระและมีอำนาจในการดำเนินการ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการตรวจตรา รับเรื่องราวร้องเรียน และตรวจสอบกรณีที่ปรากฏว่ามีการซ้อมทรมานทหารชั้นผู้น้อย ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ “ซ่อม” โดยไม่ถูกต้อง การตรากฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ให้เกิดความโปร่งใน ตรวจสอบได้ และให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งค้างการพิจารณาของรัฐบาลและรัฐสภามากกว่า 5 ปีแล้ว เป็นต้น
 
รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เรียกร้องนายกรัฐมนตรีทบทวนระบบ “ซ่อมทหาร” โรงเรียนเตรียมทหาร ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

จากกรณีที่ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม2560 ที่โรงเรียนเตรียมทหาร โดยไม่มีคำชี้แจงที่ละเอียดจากผู้เกี่ยวข้อง เพียงแต่มีใบมรณบัตร ระบุสาเหตุการเสียชีวิตต่อบิดามารดา (นายพิเชษฐ และนางสุกัลยา ตัญกาญจน์) ว่าเกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ทั้งที่ครอบครัวยืนยันว่านายภคพงศ์มีร่างกายแข็งแรงดีก่อนเสียชีวิตจากนั้นครอบครัวได้นำศพนายภคพงศ์ไปชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์พบว่า อวัยวะที่สำคัญภายใน และสมองหายไป มีการยัดแทนด้วยสำลี โดยไม่มีเอกสารชี้แจงจากทางโรงเรียนเตรียมทหาร หรือแจ้งให้ญาติทราบแต่อย่างใด

ต่อมาพลเอกประวิตร เรืองสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาพูดต่อสื่อมวลชนให้เหตุผลของการตายก่อนทราบผลการชันสูตรพลิกศพว่าเป็นการตายที่ไม่ได้มาจากการทำร้ายร่างกายหรือซ้อมทรมานและการ “ซ่อม” หนักเป็นเรื่องปกติของโรงเรียนเตรียมทหาร ทั้งยังได้แสดงความเห็นกับนักข่าวถึงการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดซ้ำอีกว่า “ก็ไม่ต้องเข้ามาเรียน ไม่ต้องมาเป็นทหาร เราเอาคนที่เต็มใจ”เป็นคำพูดของรองนายกรัฐมนตรีที่คนในสังคมตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหมาะสมหรือไม่

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า ประเด็นการเสียชีวิตของนายภคพงศ์ฯ ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของโรงเรียนเตรียมทหารกรณีนี้ เป็นที่คลางแคลงใจของสังคมอย่างยิ่ง สมควรที่ต้องมีการสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงอย่างถูกต้องด้วยท่าทีที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ จึงและขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในประเด็นดังต่อไปนี้

1. ขอให้มีการเปิดเผยการชันสูตรพลิกศพของสถาบันนิติเวชอย่างตรงไปตรงมา ให้มีการตรวจสอบอย่างอิสระ เพื่อให้ความกระจ่างต่อสาธารณชน ให้ความเป็นธรรมต่อครอบครัวนายภคพงศ์ และหากเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนเตรียมทหาร หรือผู้ใดต้องยอมให้มีการนำคนผิดมาลงโทษ และชดเชยเยียวยาความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

2. แม้ว่าโดยระเบียบแล้วห้าม ผู้ฝึก หรือผู้ “ซ่อม” แตะเนื้อต้องตัว หรือกระทำการในลักษณะทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อผู้ที่ถูกลงโทษ แต่ในทางปฏิบัติ มีทหารเสียชีวิต หรือบาดเจ็บสาหัส จากการถูกลงโทษทางวินัยด้วยการ “ซ่อม” ปรากฎเป็นข่าวอยู่เสมอ ดังนั้น จึงขอให้ทางการทหารทบทวนการฝึกซ้อมที่ไร้เหตุผล และการลงโทษที่เกินเหตุ โดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนต่อทหาร โดยเฉพาะให้มีการเปลี่ยนวิธีการซ่อมทหารที่รุนแรงและอาจนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิต

3. ให้จัดตั้งกลไกที่เป็นอิสระและมีอำนาจในการดำเนินการ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการตรวจตรา รับเรื่องราวร้องเรียน และตรวจสอบกรณีที่ปรากฏว่ามีการซ้อมทรมานทหารชั้นผู้น้อย ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ “ซ่อม” โดยไม่ถูกต้อง และเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และจิตใจของทหารชั้นผู้น้อยหรือผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งมีหน้าที่ทบทวนกฎหมายระเบียบ และการปฏิบัติ ที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกาย และจิตใจดังกล่าว

4. ให้ตรากฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ให้เกิดความโปร่งใน ตรวจสอบได้ เช่นให้ญาติมีส่วนร่วมและรับรู้ในกระบวนการชันสูตรพลิกศพ รวมทั้งการผ่าชันสูตรศพ รวมทั้งการขอความเห็นชอบ หรือแจ้งให้ญาติทราบก่อนที่จะนำอวัยวะของผู้เสียชีวิตไปกระทำการใดๆ ในกระบวนการชันสูตรดังกล่าว

5. ขอให้กำชับบุคคลในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ให้ระมัดระวังการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ให้มีความรับผิดชอบ สร้างสรรค์ ไม่มีลักษณะลักษณะเป็นการปกป้องหรือให้ท้ายเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดก่อนที่จะได้รับข้อมูลหรือผลของการตรวจสอบที่ชัดเจน ไม่พูดด่วนสรุปตัดสิน  ไม่มีลักษณะชี้นำก่อนการพิสูจน์ความจริงในทุกกรณี ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต และเป็นแบบอย่างแก่บุคคลในสังคมและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลสาธารณะและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ

6. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งค้างการพิจารณาของรัฐบาลและรัฐสภามากกว่าห้าปีแล้ว เพื่อให้มีผลในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญโดยเร็ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net