Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานเกาหลีใต้เผยผลสำรวจ พบครึ่งหนึ่งของคนทำงานในโรงพยาบาลมีประสบการณ์ถูกทำร้ายทางวาจา กว่า 3 ใน 10 ถูกรังแกในที่ทำงาน กว่า 1 ใน 10 เคยถูกคุกคามทางเพศและลวนลาม สังคมประณามกิจกรรม ‘การแสดงพรสวรรค์’ พยาบาลถูกบังคับใส่ชุดโชว์เรือนร่าง-เต้นรำแบบไม่เหมาะสม ซ้อมเต้นจนดึกดื่น-ไม่มีการจ่ายค่าจ้างล่วงเวลา

สหภาพแรงงานกิจการสาธารณสุขและการแพทย์ของเกาหลี (KHMU) กำลังเริ่มการรณรงค์ 'Four Out Campaign' ซึ่งหมายถึงการขจัดปัญหาการรังแก การบังคับใช้แรงงานโดยไม่จ่ายค่าตอบแทน ปัญหาการขึ้นทะเบียนใบอนุญาตสถานพยาบาลที่ไม่เหมาะสม และปัญหาการจ้างงานแบบไม่ประจำ ที่มาภาพ: KHMU

ผลการวิจัยแบบสำรวจที่จัดทำโดยองค์กรสหภาพแรงงาน เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมในโรงพยาบาล เปิดเผยว่า "ครึ่งหนึ่งของแรงงานในโรงพยาบาลมีประสบการณ์ถูกทำร้ายทางวาจา" และที่เลวร้ายกว่านั้นคือ 3 ใน 10 กล่าวว่าพวกเขาถูกรังแกในที่ทำงาน

นาซุน-แจ ประธานสหภาพแรงงานกิจการสาธารณสุขและการพยาบาลของเกาหลี (KHMU) จัดงานแถลงข่าวที่ห้องประชุมสหภาพในกรุงโซลเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ผลการสำรวจสภาพความเป็นจริงในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมในโรงพยาบาล

KHMU ดำเนินการสำรวจเป็นเวลาสองเดือนนับจาก 18 ธ.ค. 2560 ถึง 28 มี.ค. 2561 มีผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 11,662 คน แบ่งเป็น พยาบาลจำนวน 7,703 คน ช่างเทคนิค 1,970 คน พนักงานธุรการ 718 คน ผู้ช่วยพยาบาล 648 คนและอีก 624 คน ทำวิชาชีพอื่นๆ ในโรงพยาบาล

การวิจัยเชิงสำรวจพบว่าประมาณ 31.2% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีประสบการณ์ที่เรียกว่า ‘bullying culture’ หรือการถูกกลั่นแกล้ง และ 56.2% เคยได้ยินภาษาหยาบคาย รุนแรงและไม่เหมาะสม นอกจากนี้ประมาณ 10.9% ตอบว่าเคยถูกคุกคามทางเพศและลวนลาม

การแสดงพรสวรรค์ของพยาบาล โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Hallym

การบังคับให้ ‘แสดงพรสวรรค์ของพยาบาล’ ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Hallym เมื่อปี 2017 ได้จุดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมของการละเมิดคนทำงานโรงพยาบาลในเกาหลี ที่มาภาพ: South China Morning Post

ผลสำรวจยังระบุว่า 7.6% บอกว่าเคยถูกทำร้ายร่างกาย และ 46.1% บอกว่า "เราถูกบังคับให้เข้าร่วมในกิจกรรมแสดงพรสวรรค์, กิจกรรมกีฬา, เวทีวิชาการ และงานกิจกรรมอื่นๆ ในโรงพยาบาล”

โดยเฉพาะ ‘การแสดงพรสวรรค์ของพยาบาล’ เมื่อปีที่แล้ว กลายเป็นประเด็นทางสังคมและได้รับความสนใจจากสาธารณะชน สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Hallym โดย 25.3% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาต้องร้องเพลงหรือเต้นรำในงานกิจกรรมที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับงานของพวกเขา และ 19.7% แจ้งว่าถูกบังคับให้ต้องคอยบริการคนในโต๊ะงานเลี้ยง โดยต้องเป็นคนรินเหล้าและอีก 11.4% ต้องอดทนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสภาพการทำงานที่ไม่เป็นธรรม ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารตรวจสอบห้องล็อกเกอร์หรือตรวจสอบโดยกล้องวงจรปิด และ 17.9% บอกว่าถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานของพวกเขา เช่น ต้องชงกาแฟให้กับ ‘เจ้านาย’

ประธาน KHMU ซึ่งนำการรณรงค์ขจัดวัฒนธรรมของการละเมิดในโรงพยาบาลกล่าวว่า "ตั้งแต่ปลายปี 2560 เราได้เห็นเรื่องแปลกๆ หลายอย่างเกิดขึ้นในโรงพยาบาล เช่น พยาบาลต้องเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงความสามารถพิเศษในห้องโถงของโรงพยาบาลศูนย์มหาวิทยาลัย Hallym

ความรุนแรงต่อคนทำงานในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการบังคับใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลโดยไม่มีค่าตอบแทน เช่นที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโซล เหตุการณ์การเสียชีวิตของทารกแรกเกิดสามคนในห้อง ICU ของโรงพยาบาลศูนย์มหาวิทยาลัยเอวา เหตุการณ์ยิงที่โรงพยาบาลเซจอง ซึ่งส่งผลให้มีการเสียชีวิตถึง 47 คน และการทำอัตวินิบาตกรรมของพยาบาลที่เพิ่งเข้าทำงานที่ศูนย์การแพทย์ Asan และโศกนาฏกรรมอื่นๆ

ประธาน KHMU กล่าวว่าเธอรู้สึกตกใจมากต่อผลการสำรวจและในปีนี้ KHMU จะเป็นผู้นำในการต่อสู้กับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมในโรงพยาบาล เธอกล่าวว่า ‘สิ่งแวดล้อม และ สภาพการทำงานที่ดีของพยาบาลและคนงานในโรงพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญและทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีคุณภาพ’

ซึ่ง KHMU จะนำขบวนเพื่อการเปลี่ยนแปลงโรงพยาบาลให้เป็นสถานที่ซึ่งการันตีความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยและเคารพในศักดิ์ศรีของคนทำงาน

การรณรงค์ ‘ขจัดปัญหาการรังแก-การบังคับใช้แรงงาน’

ทั้งนี้ KHMU ได้เริ่มการรณรงค์ 'Four Out Campaign' ซึ่งหมายถึงการขจัดปัญหาการรังแก การบังคับใช้แรงงานโดยไม่จ่ายค่าตอบแทน ปัญหาการขึ้นทะเบียนใบอนุญาตสถานพยาบาลที่ไม่เหมาะสม และปัญหาการจ้างงานแบบไม่ประจำ

KHMU ยังได้สร้างทีมงานแบบไตรภาคี (สามฝ่าย) ขึ้นมาเพื่อทำงานสร้างสิ่งแวดล้อมการทำงานในโรงพยาบาล ที่ประกอบด้วย 3 R นั่นคือเคารพสิทธิผู้ป่วย เคารพสิทธิคนทำงาน เคารพการทำงาน นอกจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ที่เป็นระบบและต่อเนื่องแล้ว จะเป็นการพัฒนาโมเดลที่ดีกว่าเดิมในเรื่องงานกะกลางคืน และทำให้โรงพยาบาลมีการทำงานแบบยั่งยืนและสามารถคาดการณ์ได้

ปัญหาหลักของโรงพยาบาลในเกาหลีใต้คือ การขาดแคลนบุคคลากร KHMU จะทำการล่าลายชื่อเพื่อรวบรวม 200,000 ชื่อจากภาคประชาชน เพื่อเสนอกฎหมายว่าด้วยบุคคลากรสาธารณสุข

เดือน พ.ย. ปีทีแล้ว สังคมได้ประณามโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Hallym ที่บังคับพยาบาลให้ร่วมในงานที่จัดโดยโรงพยาบาลในเดือน ต.ค. ในงานกิจกรรมดังกล่าวพยาบาลถูกบังคับให้ใส่ชุดที่มีลักษณะโชว์เรือนร่าง และให้เต้นรำในแบบที่ไม่เหมาะสม โรงพยาบาลบังคับให้พยาบาลซ้อมเต้นจนดึกดื่นสี่ห้าทุมในแต่ละคืนโดยไม่มีการจ่ายค่าจ้างล่วงเวลา หลังจากนั้น KHMU จัดตั้งสหภาพแรงงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้

และล่าสุดการรณรงค์ 'Me Too' ซึ่งกำลังได้รับความสนใจและการมีส่วนร่วมอย่างสูง ผู้หญิงที่เคยประสบกับปัญหาความรุนแรงทางเพศออกมาบอกเล่าเรื่องราวที่พวกเธอเผชิญ KHMU เริ่มการรณรงค์ 'Zero Sexual Harassment and Violence' (การลวนลามและความรุนแรงทางเพศที่เป็นศูนย์) ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. อันเป็นวันสตรีสากล

 

ที่มาแปลและเรียบเรียงจาก
[KHMU Info No. 2] KHMU will develop Four OUT campaign in 2018 (KANG Yeon Bae, KHMU, 29/3/2018)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net