Skip to main content
sharethis

ชวนมองการบังคับเกณฑ์ทหารทั่วโลก หลังพลเอกประยุทธ์ยันยืน ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีทหารเกณฑ์ ถ้าไม่มีแล้วใครจะช่วยเหลือประชาชน และหลายประเทศในโลกยังมีทหารเกณฑ์ แต่จากข้อมูลที่พบแสดงให้เห็นว่าประเทศที่การบังคับเกณฑ์ทหารเหมือนไทย เป็นเพียงเศษส่วนน้อยของโลกใบนี้ ขณะที่กองทัพเองก็ไม่ใช่องค์กรหลักในการบรรเทาสาธารณภัย

ที่มาภาพจาก: statista

ดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย จากกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงเรื่องการทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 นอกจากจะย้ำเตือนถึงสิ่งที่เคยพูดไว้แล้วว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงกลาโหม และผู้ที่มีอำนาจในการแต่งตั้งเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของสื่อมวลชน ทั้งยืนยันว่าการแต่ตั้งโยกย้ายเป็นไปด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 นายพลผู้ได้รับฉายาว่า ‘สฤษดิ์น้อย’ จากนิตยสาร Time ยังได้แสดงความคิดเห็นในกรณีที่หลายคนไม่ต้องการให้มีการเกณฑ์ทหารแล้วด้วย

และไม่เกินไปตามที่เคยคิดไว้ว่า อย่างไรเสียคำตอบที่ได้คงไม่พ้นเรื่องความจำเป็นที่ประเทศนี้ต้องมีทหารเกณฑ์ พลเอกประยุทธ์เห็นว่า ถ้าไม่,uพลทหาร เมื่อเกิดเหตุการณ์ในยามวิกฤตขึ้นก็จะไม่มีทหารเข้ามาช่วยเหลือประชาชน เพราะหน่วยงานต่างๆ ไม่มีกำลังพลเพียงพอที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้รวดเร็วเท่ากับกำลังพลของทหารที่มีอยู่แล้ว ซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีหากเกิดเหตุขึ้นและมีการสั่งการก่อนส่งต่อภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการเมื่อสถานการณ์คลี่คลายในเบื้องต้นแล้ว ขณะที่การใช้กำลังคนในหน่วยงานต่างๆ  เข้าไปปฏิบัติภารกิจจะเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการจ้างคนเพิ่ม ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกันหลายประเทศทั่วโลกก็ยังมีการเกณฑ์ทหารอยู่

การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวของคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมาจากการทำรัฐประหารก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวนโยบายในอนาคตต่อเรื่องดังกล่าวได้ชัดเจน สิ่งที่เราเห็นได้ชัดจากความคิดนายทหารระดับนายพลคือ ไม่ว่าอย่างไรประเทศนี้ก็ต้องมีทหารเกณฑ์ แต่คำถามคือมันต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ

ประเทศนี้จัดการสาธารณภัยได้โดยไม่ต้องมีการบังคับเกณฑ์ทหาร

เหตุผลที่ถูกยกมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการบังคับเกณฑ์ทหารของพลเอกประยุทธ์ในครั้งนี้ ไม่ใช่คำพูดที่สะท้อนให้เห็นชัดถึงอุดมการณ์ชาตินิยม เช่นว่า เป็นลูกผู้ชายต้องรับใช้ชาติ อย่างที่เคยได้ยินกันมาอย่างยาวนาน หากแต่เป็นหน้าที่ซึ่งจำเป็นต่อการมีอยู่ของทหารเกณฑ์คือ การช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤต ในความหมายนี้หากดูเทียบกันคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤติ คือการรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงที่มีความหมายที่ซับซ้อนขึ้นคือ หมายรวมถึงภัยพิบัติสาธารณะ และภัยธรรมขาติด้วย โดยในคำสั่งดังกล่าวมีใจความสำคัญคือ การขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ของทหารออกไปให้รวมภัยคุกคามความมั่นคงใหม่ๆ เหล่านี้ด้วย ทั้งยังมีให้การวางแผนและแนวทางปฏิบัติงาน และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามแผนและแนวทางที่วางไว้ด้วย

อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่าหน้าที่ดังกล่าวจำเป็นหรือไม่ ที่กองทัพจะเป็นหน่วยงานหลักในการรับมือและจัดการ แม้ปัจจุบันกองทัพดูจะเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งกำลังคน เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ และทรัพยากรต่างๆ หากพิจารณาดูจาก พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 กองทัพเป็นเพียงหน่วยงานรองที่มีหน้าที่ในการให้ความสนับสนุนกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่หลักในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นกลไกภายใต้กระทรวงมหาดไทย  ซึ่งหากดูจากกรณีการช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ถ้ำหลวงกองทัพเป็นเพียงหนึ่งในกลไกที่ค่อยสนับสนุนการทำงานของ ผู้ว่าราชการจังหวัด เท่านั้น แน่นอนว่ากองทัพยังมีความจำเป็นในการจัดการกับสาธารณภัยในฐานะกลไกหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ มีหน้าที่เพียงการให้ความสนับสนุนทางด้านกำลังคน และเครื่องมือ

เมื่อเป็นเช่นนั้น หากจะอ้างว่ายังคงจำเป็นต้องมีการเกณฑ์ทหารอยู่เพื่อที่จะมีกองกำลังที่เตรียมพร้อมสำหรับรับมือกับสาธารณภัย สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปคือ จำนวนความต้องการทหารกองประจำการปีละกว่า 1 แสนนายนั้นเป็นความต้องการที่มากเกินกว่าเหตุหรือไม่

สถิติความต้องการทหารกองประจำการตั้งแต่ปี 2557 -2561

ปี

ความต้องการทหารกองประจำการทั้งหมด (นาย)

จำนวนผู้สมัครใจเข้ารับราชการทหาร (นาย)

จำนวนผู้ที่ไม่ได้สมัครใจรับราชการทหาร (นาย)

2557

100,865

33,644

67,221

2558

99,373

43,446

55,927

2559

101,307

47,172

54,135

2560

103,097 

50,580 

52,517

2561

104,734 

44,797 

59,937

ข้อมูลความต้องการทหารเกณฑ์นับตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบันมีความต้องการทหารเฉลี่ยปีละประมาณ 1 แสนราย โดยในจำนวนนี้เองมียอดผู้สมัครใจเป็นทหารราวๆ ร้อยละ 40 – 50 ในทุกปี ซึ่งหากมีการเปิดรับผู้สมัครใจเท่านั้นก็น่าจะเพียงพอต่อการจัดการสาธารณภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการบรูณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งนี้ยังทำงบประมาณของเรื่องที่จัดสรรไว้สำหรับเงินเดือนของทหารเกณฑ์ลดลงไปอีกครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่ใช้ราว 1.2 หมื่นล้านต่อปี จะลดลงเหลือเพียง 6 พันล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้รัฐมีงบประมาณอีก 6 พันล้านบาทสำหรับกิจการอื่นๆ ที่จำเป็น

ประเทศที่ยังการบังคับเกณฑ์ทหารเป็นเศษส่วนน้อยของโลกใบนี้

คำพูดของพลเอกประยุทธ์ ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ การระบุว่าหลายประเทศทั่วโลกก็ยังมีการเกณฑ์ทหารอยู่ เมื่อดูข้อมูลการสำรวจเรื่องการบังคับเกณฑ์ทหารทั่วโลก จากเว็บไซต์ staista พบว่าจากผลสำรวจ 170 ประเทศทั่วโลก มีเพียง 61 ประเทศเท่านั้นที่ยังใช้มาตรการบังคับเกณฑ์ทหารอยู่

มี 5 ประเทศกำลังวางแผนยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เช่น ไต้หวัน ตุรกี และยูเครน มี 5 ประเทศที่ไม่มีกำลังทางการทหาร เช่น คอสตาริกา กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ และมีทั้งหมด 99 ประเทศที่ไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหารแล้ว แม้ทหารเกณฑ์จะยังคงมีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ที่สุดแล้วก็เป็นเพียงเศษส่วนน้อยของโลกใบนี้เท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net