Skip to main content
sharethis

รมว.กลาโหม แจงคุมตัว หญิงขับจักรยานยนต์รับจ้างเข้า มทบ.11 เหตุขายเสื้อสัญลักษณ์ธงสหพันธรัฐไท สื่อความหมายแบ่งแยกการปกครอง ระบุกำลังขยายผลไปถึงผู้ผลิตและเกี่ยวข้อง ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร้องปล่อยตัวทันที ระบุเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยศาล ไม่มีสิทธิในการเข้าถึงทนาย ขัดกติการะหว่างประเทศ

ภาพเสื้อต้องห้ามที่ถูกระบุเป็น มีสัญลักษณ์ธงสหพันธรัฐไท

11 ก.ย.2561 ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัว วรรณภา (สงวนนามสกุล) แม่เลี้ยงเดียวที่มีลูกวัย 14 ปี และ 9 ปี อาชีพขับจักรยานยนต์รับจ้าง พร้อมเสื้อยืดสีดำที่มีแถบป้ายสีขาวแดงบริเวณหน้าอกจำนวนหนึ่งที่บริเวณห้องพักย่านสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา และนำตัวมาควบคุมตัวไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เตรียมส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา จากการจำหน่ายเสื้อดำต้องห้าม นั้น

ล่าสุดวานนี้ (10 ก.ย.61) สำนักข่าวไทย และมติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ต้องควบคุมตัว เนื่องจากเสื้อดังกล่าวมีสัญลักษณ์ธงสหพันธรัฐไท ซึ่งสื่อความหมายของการแบ่งแยกการปกครอง ขณะนี้กำลังสืบสวนไปถึงผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องว่ามีใครบ้าง

ต่อคำถามที่ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่อนุญาตให้บุตรของ วรรณภา สามารถเข้าไปเยี่ยมมารดาได้นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า อยากไปเจอก็ไปเจอ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ปล่อยตัวทันที

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ออกแลงการณ์ ระบุว่าตามที่เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัวบุคคลอย่างน้อยสองรายจากกรณีใส่หรือมีเสื้อยืดสีดำ ลายโลโก้สี่เหลี่ยมสีขาวสลับแดง ไปจากบ้านพักย่านประเวศและสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 2561 ซึ่งขณะนี้ วรรณภา  (สงวนนามสกุล) ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 11  โดยไม่มีสิทธิในการเข้าถึงทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นดังต่อไปนี้

1. การควบคุมตัวโดยไม่มีการแจ้งเหตุในการควบคุมตัว ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยศาล และไม่มีสิทธิในการพบทนายความ นั้นทำให้บุคคลขาดหลักประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพ  รูปแบบการจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งขัดต่อข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อันรับรองว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้

2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานตามวาระฉบับที่ 2 ของประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ว่า รัฐไทยควรจะปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการโดยทันที และจัดให้พวกเขาเข้าถึงการเยียวยาอย่างเต็มที่ ทั้งยังควรปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายและการปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการควบคุมตัวบุคคลอย่างต่อเนื่อง

เยาวลักษุ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า “การควบคุมตัวโดยไม่ชอบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เหตุการณ์ไม่ปกติเหล่านี้ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติซึ่งไม่อาจยอมรับได้ รัฐมีหน้าที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าการกระทำใดเป็นความผิดก็ควรที่จะดำเนินการไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเราเรียกร้องให้ปล่อยตัว วรรณภา และผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากเหตุดังกล่าวในทันที”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net