สุรพศ ทวีศักดิ์: เมืองที่ไร้ความหมาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ที่มาภาพ https://prachatai.com/journal/2015/04/58803

นึกย้อนชีวิตวัยเด็กในชนบทอีสาน หมู่บ้านของผมยังไม่มีโรงเรียน พี่สาวเพิ่งเข้าเรียน ป.1 ต้องเดินเท้าไปเรียนที่โรงเรียนอีกหมู่บ้านหนึ่ง ผ่านสะพานเดินเท้าข้ามลำน้ำพะเนียงที่ไหลลงสู่ลำน้ำพองเขื่อนอุบลรัตน์ หน้าฝนน้ำท่วมสะพานทุกปี เด็กๆ ต้องขาดเรียนเป็นเวลานานๆ 

เมื่อหมู่บ้านไม่มีโรงเรียนก็ไม่มีสัญญะของรัฐ เช่นไม่มีธงชาติ แน่นอนว่าคนชนบทอย่างเราไม่รู้จักรัฐ (state) ในความหมายนามธรรมอยู่แล้ว อำนาจรัฐเพียงอย่างเดียวที่เราสัมผัสได้ชัดเจนคือ ในฤดูลงแขกเก็บเกี่ยวและนวดข้าว จะมีการเลี้ยงเหล้าสาโทที่ทำจากภูมิปัญญาชาวบ้านเอง ช่วงเวลานี้เองมีตำรวจจากอำเภอจะเข้าจับกุมชาวบ้านที่ทำเหล้าสาโท 

เมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ของผู้หญิงและเด็กๆ เราต่างรู้กันว่าเสียงนั้นดังมาจากบ้านที่ตำรวจค้นเจอแป้งเหล้า ผมและเพื่อนๆ ก็จะวิ่งไปมุงดู หลายๆ ครั้งมีการเถียงกันระหว่างชาวบ้านกับตำรวจว่านี่เป็นแป้งข้าวหมากไม่ใช่แป้งเหล้า แต่ก็มักจบลงที่ชาวบ้านเป็นฝ่ายจ่ายค่าปรับ ซึ่งต้องหยิบยืนเงินญาติมิตรตามมีตามเกิดจ่ายกันไป

ตำรวจจึงเป็นสัญญะแรกของรัฐที่เรารู้จักและ “กลัว” ตลอดชีวิตวัยเด็กในหมู่บ้านชนบท ผมไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ข่าวว่าตำรวจจับโจรขโมยวัว ควาย (ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย) ของชาวบ้านเลย พ่อแม่จึงมักขู่ลูกๆ ที่ดื้อหรือไม่เชื่อฟังว่า “ระวังตำรวจจะมาจับมึง” ความกลัวตำรวจไม่ใช่เพราะว่าเราเป็นโจร แต่เพราะอำนาจรัฐได้เข้าไปทำให้การทำเหล้าสาโทเลี้ยงญาติมิตรเพื่อนฝูงในฤดูลงแขกเกี่ยวข้าวนวดข้าว อันเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวบ้านกลายเป็นเรื่องที่ผิด จนต้องคอยระวังและหลบหลีก
    
ปัจจุบันหมู่บ้านที่ผมพูดถึงมีสะพาน ถนนลาดยางเข้าถึง มีวัด โรงเรียนที่แสดงสัญญะของรัฐ เช่นธงชาติ ธงธรรมจักร ธงตราสัญลักษณ์ รูปเคารพของผู้ปกครองและอื่นๆ สัญญะเหล่านั้นดูเหมือนจะสื่อความหมายว่า ชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ แต่เป็นส่วนหนึ่งภายใต้ความจงรักภักดีและเชื่อฟังรัฐ เพราะถูกทำให้เชื่อว่า (ผู้มีอำนาจ) รัฐได้ให้ความคุ้มครองและสร้างความเจริญรุ่งเรือง ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทุกคน ความหมายดังกล่าวนี้มาจาก “เมืองหลวง” หรือเป็นความหมายที่สร้างขึ้นจากเมืองหลวงที่แผ่ไปครอบคลุมทั่วทุกหมู่บ้าน

ความหมายที่ว่า ประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐภายใต้ความจงรักภักดีและเชื่อฟัง (ผู้มีอำนาจ) รัฐ ย่อมเป็นความหมาย “ศักดิ์สิทธิ์” ที่แสดงผ่านสัญญะต่างๆ ของรัฐ เช่นชาวบ้านบางคน (ตามที่เป็นข่าว) กระทำไม่เหมาะสมต่อสัญญะของรัฐ ถ้าเขาไม่ถูกจำคุกข้อหาหมิ่นผู้มีอำนาจรัฐ เขาก็จะกลายเป็นคนวิกลจริต (หรือพูดอีกอย่างว่า “เพราะเป็นคนวิกลจิตจึงอาจพ้นผิดได้”) 

แต่ปัญหาซับซ้อนก็เกิดขึ้นเสมอๆ เมื่อชาวบ้านต้องการต่อรองกับรัฐในความหมายที่พวกเขาสร้างขึ้น เช่นในความหมายที่พวกเขาต้องการอิสรภาพในการปกครองตนเอง ต้องการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศผ่านกระบวนการประชาธิปไตย เป็นต้น ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นมาตั้งแต่อดีตกาลนานไกล ไม่ว่าจะเป็นกบฏผู้มีบุญ (หรือกบฏผีบุญ) การเป็นแนวร่วมต่อสู้เพื่อการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ การเรียกร้องสิทธิในที่ทำกิน การปกป้องสิทธิในสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ถูกละเมิดโดยอำนาจรัฐ อำนาจทุนและอื่นๆ เรื่อยมาถึงการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งในยุคปัจจุบัน ก็ล้วนแต่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากอำนาจรัฐ

ดังภาพประกอบบทความข้างต้น เป็นภาพข่าวชายชาวขอนแก่นผูกผ้าแดงรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันครอบรอบ 5 ปีสลายการชุมนุมเลือด 10 เมษายน 2553 เขาบอกกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า “ผมเห็นเพื่อนผมตาย สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ถ้าผมทำผิด เอาไประหารได้เลย” ตำรวจถามว่า “ได้ดื่มเหล้าสี่สิบดีกรีมาหรือไม่” เขาตอบว่า “ไม่ว่าเขาจะดื่มเหล้าสี่สิบหรือไม่ ก็ยังยืนยันในสิ่งที่กระทำอยู่ดี” 

จะเห็นว่า “เหล้า” ยังคงเป็นเครื่องมือในการอธิบายของฝ่ายอำนาจรัฐต่อ “ความหมายที่ชาวบ้านสร้างขึ้น” เหล้าสาโทที่สร้างความหมายของวิถีชีวิตบ้านๆ ลงแขกเกี่ยวข้าวนวดข้าวกลายเป็นสิ่งที่ผิดในอดีต เหล้าสี่สิบดีกรีถูกใช้อธิบายความหมายของการสื่อสารว่า “ที่นี่มีคนตาย” ให้กลายเป็นเรื่องไร้สาระของคนเมาหรือขาดสติเพราะฤทธิ์สุรา

ในทางกายภาพของชนบทเปลี่ยนแปลงไปมากจากที่ผมเห็นในวัยเด็ก แต่ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าเศษเสี้ยวความเจริญทางกายภาพของ “เมืองหลวง” แต่ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า มุมมองจากอำนาจรัฐอันมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวง กับมุมมองคนระดับชาวบ้านธรรมดาที่ถูกพิพากษาอย่างดูแคลนมาตลอด แบบไหนมีความเป็นอารยะมากขึ้นกว่ากัน?

คำพูดที่ชายชาวชนบทผู้ผันตัวเองมาเป็นกรรมกรในเมืองหลวงบอกว่า “ผมเห็นเพื่อนผมตาย สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ถ้าผมผิดเอาไปประหารได้เลย” สะท้อนความพยายามต่อสู้เพื่อสร้าง “ความหมาย” ในแบบที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์เคยบอกว่า “ประชาชนมีหน้าที่ทางศีลธรรมที่จะไม่เชื่อฟังกฎหมายที่อยุติธรรม” และนั่นก็คือความกล้าหาญทางศีลธรรมที่กรรมกรคนหนึ่งจะทำได้ภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร 

บางคนอาจมองว่าผมกำลังยกย่องคนระดับชาวบ้านเกินจริง แต่ถ้าลองคิดไล่เรียงดูมันมีตัวอย่างมากมายที่คนระดับชาวบ้านธรรมดาลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ทำกิน สิทธิปกป้องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน รวมทั้งแสดงความล้าหาญทางศีลธรรมในการร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ต่อสู้ทางการเมืองระดับชาติ หรือต่อต้านเผด็จการในบริบทที่พวกเขาสามารถจะทำได้ ขณะเดียวกันก็มีตัวอย่างนับไม่ถ้วนของคนชั้นกลางในเมืองที่ดูถูกชาวบ้านเหล่านั้นว่าไม่รู้เรื่องประชาธิปไตย แต่พวกตนกลับสนับสนุนรัฐประหาร 

แน่นอนว่า ถ้าให้คนระดับชาวบ้านที่มาผูกผ้าแดงเพื่อส่งเสียงบอกให้คนเมืองหลวงรู้ว่า “ที่นี่มีคนตาย” มานั่งเถียงแนวคิดประชาธิปไตยกับคนมีการศึกษาดี พวกเขาคงเถียงสู้ไม่ได้ พอๆ กับที่พวกเขาไม่มีโอกาสได้เข้าไปทำงานร่วมกับเผด็จการหรือรับใช้เผด็จการเหมือนบรรดาสื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน อธิการบดี ดร. หรือ ศ.ดร.ทั้งหลายที่มักจะพูดเสมอๆ ว่าปัญหาประชาธิปไตยเกิดจากชาวบ้านไร้การศึกษาถูกนักการเมืองหลอก

คนระดับชาวบ้านธรรมดาต่างหากที่พยายามสร้างความหมายแบบอารยะมากกว่า และพยายามสื่อสารกับสังคมว่า “ที่นี่มีคนตาย” ก็เพื่อที่จะทำให้การตายของประชาชนเป็นสิ่งที่มีความหมายว่า พวกเขาถูกฆ่าตายจริงๆ ถูกฆ่ากลางเมืองหลวง โดยการล้อมปราบของฝ่ายอำนาจรัฐครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่บรรดาคนที่ฆ่าและคนมีอำนาจสั่งสลายการชุมนุมที่นำมาสู่การฆ่าก็ยังลอยนวล
 
เมื่อความถูกต้องชอบธรรมหรือสิ่งที่ควรจะเป็นที่คนระดับชาวบ้านธรรมดาหรือที่ประชาชนผู้รักเสรีภาพและประชาธิปไตยพยายามต่อสู้ยืนยันให้มัน “มีความหมาย” ถูกทำให้  “ไร้ความหมาย” โดยอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สังคมนี้ก็เป็นเสมือนต้องอำนาจมนต์(ปืน)สะกดให้อยู่กับสภาวะไร้ความหมาย คือสภาวะที่แทบทุกสิ่งไม่ได้มีความหมายเป็นจริงอย่างที่พูดหรืออย่างที่อำนาจรัฐต้องการให้ประชาชนเชื่อ

เช่น เมื่อเขียนรัฐธรรมนูญให้มี “นายกฯคนนอก” ได้ มันไม่ได้มีความหมายว่าประเทศนี้จะมี “คนนอก” ที่เป็นใคร มาจากคนระดับไหน กลุ่มไหนก็ได้ที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งจะมีสิทธิ์ถูกเสนอชื่อให้ ส.ส.และ สว.โหวตให้เป็นนายกฯ ได้ แต่เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้  “คนใน” ของเครือข่ายอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมเข้ามาผูกขาดการครองอำนาจรัฐเท่านั้น 

พูดรวมๆ คือ พวกเขาสอนให้ประชาชนรู้หน้าที่ แต่ตัวเองทำผิดหน้าที่ พวกเขาสอนให้ประชาชนทำความดี เป็นคนดี แต่พวกเขาเป็นโจรปล้นสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจของประชาชน พวกเขาสอนประชาชนให้ท่องคำว่าธรรมาภิบาลเหมือนสวดมนต์ แต่ระบบอำนาจของพวกเขาตรวจสอบไม่ได้ พวกเขาฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่สอนประชาชนให้เคารพกฎที่พวกเขาเขียนขึ้น ฯลฯ

ภายใต้ความเป็นจริงเช่นนี้ สิ่งที่พวกเขาพูดว่า ศีลธรรม ความยุติธรรม ความเสมอภาคทางกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ความสุข ประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ ล้วนแต่ไร้ความหมาย หรือไม่มีความหมายตามกรอบคิด (concept) ของสิ่งเหล่านั้นจริงๆ

ในเมืองที่ไร้ความหมายนี้ แม้แต่การพูดในเรื่องที่ผิดกฎหมายก็ไม่ได้มีความหมายเป็นการผิดกฎหมาย แต่กลายเป็นถูก เช่นที่พูดๆ กันว่า “ถ้ามีจราจลก็เกิดรัฐประหารอีก” ซึ่งเท่ากับบอกว่า “หากมีเงื่อนไขให้ทำผิดกฎหมาย (รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญมีโทษประหารชีวิต)ก็จะทำหรือทำได้” ในสังคมนี้ กลุ่มคนที่มีอำนาจปืนเท่านั้น ที่สามารถพูดล่วงหน้าหรือบอกเป็นนัยยะว่าจะทำผิดกฎหมายร้ายแรงได้โดยไม่ผิด 

ส่วนประชาชนทั่วไปแค่พูด เขียน โพสต์ แชร์ความจริงก็ติดคุก หรืออยู่ในประเทศนี้ไม่ได้ 

ความประหลาดของสยาม-ไทยก็คือ บรรดาชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่สามารถปฏิเสธการเลือกตั้ง เสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนได้จริง สิ่งที่พวกเขาพยายามทำมาตลอดคือทำให้คำต่างๆ เหล่านั้นไม่มีความหมายตามกรอบคิดของมันจริงๆ หรือพยายามกลบเกลื่อน เบี่ยงเบน บิดเบือนให้มันมีความหมายตามพวกเขาต้องการด้วยการใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆ นานา

แต่ยิ่งนานวัน โดยเฉพาะในโลกยุคอินเทอร์เน็ตอย่างปัจจุบันที่พวกเขาไม่สามารถควบคุม ปิดกั้นความคิดของประชาชนได้จริง ยิ่งพวกเขาพยายามทำให้เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนไม่มีความหมายตามกรอบคิดของมัน และพยายามให้มีความหมายแบบที่พวกเขาต้องการ ถึงที่สุดแล้วมันนำมาสู่ภาวะไร้ความหมายทั้งของเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนเอง และความหมายที่พวกเขาพยายามสร้างขึ้นหรือต้องการให้เป็นจริงก็กลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปด้วย 

พูดให้ชัดคือ พวกเขากำลังทำให้ความหมายที่พวกตนพยายามสร้างขึ้นกลายเป็นเพียงความวิปริตผิดเพี้ยนของระบบคิด ตรรกะเหตุผล หลักการ ความชอบธรรม และอื่นๆ เมื่อพูดอย่างถึงที่สุดก็คือ ความวิปริตผิดเพี้ยนที่พวกเขาสร้างขึ้นนั่นแหละคือความหมายที่แท้จริงที่พวกเขาสร้างขึ้น แต่มันก็ไม่อาจทำให้ความหมายของเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการกลายเป็นสิ่งไร้ความหมายได้จริง เพราะยังมีประชาชนที่พยายามปกป้องความหมายที่ถูกต้องและความเป็นไปได้ของเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนอยู่ตลอดเวลา 

อำนาจแห่งเมืองมายา หรือเมืองสร้างมายาของความหมาย เมืองที่พยายามทำให้สิทธิ เสรีภาพ และอำนาจของประชาชนไร้ความหมาย จึงไม่ใช่อำนาจที่จีรังยั่งยืนจริง หากแต่นับวันจะผุพังและเสื่อมมนต์ขลังไปตามการเพิ่มขึ้นของแสงสว่างที่ทำให้ประชาชน “รู้แจ้ง” ความจริง และเท่าทันกลลวงของพวกเขามากขึ้นทุกวันๆ
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท