3 ภาคีเปิดเวทีแนะแนวนักวิจัยรุ่นใหม่ ต่อยอดงานสู่พาณิชย์-สังคม-นโยบาย

จุฬาฯ จับมือ สกว.-สกอ. อบรมแนวทางการขยายและต่อยอดโครงการวิจัยแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ผ่านประสบการณ์ของนักวิจัยอาวุโส ย้ำต้องมีวิจัยพื้นฐานที่แน่นและมากพอจึงจะสร้างผลกระทบทางสังคม และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริงด้วยวิธีที่ง่ายและวัตถุดิบมากพอ

1 มี.ค.2562 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่าน Multi Mentoring System โดยสำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดการอบรม “แนวทางการขยายและต่อยอดโครงการวิจัย” ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประธานเปิดงาน เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการ การทำวิจัย การสร้างเครือข่าย และการสร้างผลกระทบทางสังคมและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แก่นักวิจัยรุ่นใหม่

รองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า การฟังประสบการณ์จากนักวิจัยอาวุโสจะทำให้เกิดการเรียนรู้และสร้างวามร่วมมือกับภาคที่จะเป็นต้นแบบ ทำให้ทราบถึงทิศทางและการทำวิจัยแบบข้ามสถาบันหรือข้ามประเทศไทย ถ้านักวิจัยทำเพื่อตัวเองก็อาจจะประสบความสำเร็จแบบกระท่อนกระแท่น แต่หากมีเป้าหมายสูงสุดในการทำวิจัยเป็นตัวตั้งเชื่อว่าจะเกิดการยอมรับของคนในวงการวิจัยและได้ผลงานที่มีคุณภาพ ดังนั้นถ้ารักจะเป็นนักวิจัยก็ต้องมีความมุ่งมั่นเป็นสำคัญที่จะทำให้งานไปตอบโจทย์ชุมชน ประเทศชาติหรือในระดับโลกได้

ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. กล่าวถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานว่า นักวิจัยจะต้องเป้าหมายสู่ความเป็นเลิศ มองหาเทคโนโลยีใหม่ การค้นพบใหม่และความคิดใหม่ที่จะสนับสนุนการทำวิจัย อย่าติดกับดักเทคโนโลยีเก่าที่เคยเรียนมา และต้องพยายามให้มากในการจัดระบบ ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานที่จำเป็นและสำคัญโดยไม่เบียดเบียนเวลาของตัวเองและครอบครัว ต้องมีความสมดุลระหว่างการทำวิจัย การสอน และการบริการสังค สุดท้ายคือการสร้างทีมที่เหมาะสม ทีมเล็กอาจจะท้าทายกว่าทีมใหญ่ แต่ถ้ามุ่งสู่ความเป็นเลิศทีมก็ต้องใหญ่ขึ้นมีหลายศาสตร์ เปรียบเสมือนเสาต้นเดียวจะไม่สามารถสร้างบ้านที่สวยงามได้ ต้องมีเสาอื่นร่วมด้วย ซึ่งแต่ละทีมจะมีวัฒนธรรมองค์กรที่ต่างกัน อยู่ที่ว่าจะเลือกแบบใดที่เหมาะสมกับทีมและทำให้คนในทีมอยู่ร่วมกันได้

ขณะที่ ศ. ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ หัวหน้าศูนย์เชื้อเพลิงและพลังานจากชีวมวล ยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์วิจัยเชิงสังคม ชุมชน และเชิงนโยบาย เพื่อแปลงวัสดุเหลือทิ้ง เช่น ชีวมวล ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าในโครงการ CU Engagement ที่สระบุรี ซึ่งถูกชาวบ้านบุกรุกเข้ามาในพื้นที่หลายครั้ง จึงต้องผูกมิตรและขอคืนพื้นที่แบบนิ่มนวล นอกจากนี้ยังมีโครงการ Thailand Innovation 4.0 ทั้งการทำถ่านชีวภาพที่สมุทรสงคราม ลพบุรี ชลบุรี และน้ำมันจากขยะพลาสติกที่อยุธยาและสมุทรปราการ ซึ่งนอกจากจะได้ช่วยเหลือชาวบ้านแล้วยังช่วยลดมลพิษโดยเฉพาะควันพิษจากการเผาได้อีกด้วย ด้าน รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวถึงการทำงานวิจัยในโครงการจิตอาสาในอาเซียนว่า หลังจากได้โจทย์จากศูนย์คุณธรรมได้ทำการวิจัยและสร้างองค์ความรู้ ต่อยอดขยายผล ก่อนจะสังเคราะห์ความรู้สู่การสร้างขบวนการจิตอาสาที่ยั่งยืนภายใต้การสนับสนุนจาก สกว. และผลักดันสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย พร้อมกับสร้างเครือข่ายองค์กรจิตอาสาที่นำไปใช้ประโยชน์ ส่วนโครงการต่อต้านการมนุษย์ ซึ่งถือเป็นประเด็นระดับโลกและมีเครือข่ายความร่วมมือระดับต่าง ๆ แต่สิ่งที่ยากคือการผลักดันในประเทศไทยต้องมีข้อมูลเชิงประจักษให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วม ส่วนในระดับวิชากาขณะนี้อยู่ระหว่างการทำความร่วมมือวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยนอทติงแฮมแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งนักวิจัยที่ทำงานด้านนี้จะต้องมีใจรักและเสียสละ ยิ่งศึกษาก็ยิ่งสนุก เกิดพลังทางบวก จึงจะนับว่าประสบความสำเร็จ เพราะการสร้างองค์กรจิตอาสาไม่ใช่เรื่องงานและต้องมีเป้าหมายในการสู้เพื่อมวลชน

ศ.ดร.สุเชษฐ์ ลิขิตเลอสรวง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิศวกรรมธรณีเทคนิคและธรณีสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงงานวิจัยในการช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ที่จะต้องเรียนรู้และเข้าใจที่จะอยู่อย่างระวังตัว ป้องกัน และลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการประยุกต์ใช้หญ้าแฝกร่วมกับวิธีกลและพืชอื่นเพื่อปองกันดินถล่ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. มีโครงการ 14 แห่งทั่วประเทศ ว่าจากการพูดคุยกับชาวบ้านทำให้ทราบว่านอกจากดินถล่มแล้วยังมีปัญหาสารเคมีตกค้างในดินด้วย ซึ่งนอกจากการปลูกพืชอย่างหญ้าแฝกแล้วบางพื้นที่ยังทำแปลงเกษตรปลูกพืชผักเป็นอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน เช่น โรงเรียน ตชด. บ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี รวมถึงโครงการผลิตคอมโพสิตซีเมนต์ใยสังเคราะห์ที่พัฒนาร่วมกับเอสซีจีไปใช้ในการปฏิบัติการถ้ำหลวง จ.เชียงราย

สำหรับงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การทำวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมนั้น รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการพัฒนาความร่วมมอกับองค์กรในระบบวิจัยและนวัตกรรม กล่าวย้ำว่า นักวิจัยจะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่างานวิจัยที่เราทำสุดท้ายแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์กับใคร ถ้างานของเราสำเร็จใครจะได้ประโยชน์ ขณะที่ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. จากคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า งานวิจัยถ้าไม่ขึ้นหิ้ง มีองค์ความรู้พื้นฐานที่แน่นพอ ก็จะต่อยอดไปสู่ห้างไม่ได้ งานวิจัยที่สุดยอดและเป็นต้นแบบจะให้มิติความสุข ต้องมีการตั้งคำถามวิจัยต้องสุดยอดและใหญ่จากตัวเราเอง จนเกิดวิวัฒนาการ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก ไม่ยึดติดกับอะไรเดิม ๆ ตามอัตภาพ เพราะทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงกันได้ “ในยุคนี้เป็นยุคปัญญาประดิษฐ์แต่บ้านเรามีปัญญาจากธรรมชาติจำนวนมากที่ประดิษฐ์มาหลายร้อยล้านปีและผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นคำถามวิจัยได้หมด เมื่อเรามีสมบัติชีวภาพมากมายที่จะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้นการเข้าสู่อุตสาหกรรมทำให้เราต้องสร้างความรู้พื้นฐานให้แน่นไว้คนก็จะเข้าหาเราเอง”

เช่นเดียวกับ ศ.ภญ. ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ จากคณะเภสัชศาสตร์ ที่เห็นด้วยว่าการทำงานวิจัยที่จะเปลี่ยนเป็นเงินทองได้นั้นต้องมาจากงานวิจัยพื้นฐานที่แน่นมกพอ ก่อนจะทำวิจัยประยุกต์และเข้าสู่อุตสาหกรรม โดยปัจจัยการสร้างนวัตกรรมที่สำคัญคือ ต้องมีวัตถุดิบและการกำลังการผลิตมากพอ สำคัญที่สุดคือต้องใช้ได้จริง ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนนำไปใช้ได้ และต้องมีความแปลกใหม่ แตกต่างจากงานอื่น รวมทั้งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยการเพิ่มมูลค่าที่ได้ราคาที่สุดคือ วัสดุทางการแพทย์ และเครื่องสำอาง “การต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่พาณิชย์จะต้องเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ดีที่สุด ทั้งกระบวนการผลิต การวิเคราะห์และตรวจสอบคุณภาพ แต่ปัญหาอุปสรรคสำคัญ คือ การถ่ายทอดทางเทคโนโลยีทั้งอุปกรณ์และวัตถุดิบที่จะต้องมีจำนวนมากและหาได้ในประเทศ ความคาดหวังของเอกชนทั้งเรื่องคุณภาพและราคา ค่าตอบแทนที่ภาครัฐคาดหวัง ตลอดจนภาระงานและเวลาของนักวิจัย จึงอยากฝากนักวิจัยว่าอย่าคิดว่าภาครัฐหรือเอกชนจะได้อะไรเยอะหรือไม่ ถ้าเรามีโอกาสเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรได้ สำหรับตัวเองแล้วรู้สึกภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยแล้วได้ช่วยเหลือประเทศไทย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท