ไรเดอร์หญิงสะท้อนปัญหาที่ถูกมองข้าม-ขาดกลไกคุ้มครอง

ไรเดอร์หญิงสะท้อนปัญหาที่ถูกมองข้าม ภาระงาน ความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัย การคุกคามทางเพศ และการขาดกลไกคุ้มครอง เสนอให้บริษัทคุ้มครองสวัสดิภาพทางเพศ เช่นปิดระบบลูกค้าผู้ที่ล่วงละเมิดอย่างถาวร

11 ธ.ค. 2565 โครงการวิจัยรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2565 ที่ห้องประชุมสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ โครงการวิจัยรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “ชีวิตไรเดอร์หญิง การทำงาน และความต้องการด้านสุขภาพและความปลอดภัย” โดยมีตัวแทนไรเดอร์หญิงจากแพลตฟอร์มต่างๆ ในหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ประกอบด้วยไรเดอร์หญิง 12 คน และชาย 1 คน

ภาระที่แบกรับ 

การประชุมซึ่งมี ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท และคุณวารุณี นิลพันธ์ จาก “แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ” เป็นวิทยากรกระบวนการ เริ่มต้นจากการเชิญชวนให้ผู้ร่วมประชุมบอกเล่าสาเหตุที่มาประกอบอาชีพไรเดอร์ “ทำเพื่อครอบครัว” เป็นคำตอบที่ตรงกันของผู้เข้าร่วมประชุม ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามีอีกหลายชีวิตอยู่เบื้องหลังการทำงานของตัวเอง คนหนึ่งบอกว่ามีภาระดูแลคุณตาที่เป็นผู้ป่วยติด ทำงานเป็นไรเดอร์ไปด้วยและแบ่งเวลาไปดูแลคนป่วยด้วย ขณะที่ไรเดอร์หญิงหลายคนมีภาระต้องดูแลลูกที่ยังอยู่ในวัยเรียนควบคู่กับการทำงานหารายได้ 

สิ่งที่พบเหมือนกันในยุคเศรษฐกิจรัดตัวคือ การที่ผู้หญิงต้องมีทั้งบทบาทในบ้านและนอกบ้าน “ต้องดูแลบ้าน ดูแลคนในบ้าน ปรนนิบัติพ่อแม่ตัวเอง ปรนนิบัติพ่อแม่สามี ปรนนิบัติผัว ทำอาหาร และต้องอร่อยด้วย ดูแลค่าใช้จ่ายในบ้าน และต้องช่วยหาด้วย ไม่เที่ยวเตร่ ตื่นก่อนนอนที่หลัง ไม่ทำตัวเสียหาย รักนวลสงวนตัว” ไรเดอร์หญิงคนหนึ่งกล่าว อีกคนเสริมว่า “ต้องเลี้ยงลูก ทำการบ้านกับสามี ถ้าไม่ทำมันหาเมียน้อย ต้องสอนการบ้านลูก ถ้าลูกเรียนไม่ดี คนไม่ว่าครู จะว่าแม่” อีกคนเสริมว่า “ไรเดอร์ผู้หญิงนี่เหนื่อยมาก ต้องทำทุกอย่าง ออกไปขับรถให้มีรายได้ ก่อนจะออกจากบ้านต้องดูแลลูก ส่งลูกไปโรงเรียน ถึงเวลาเราก็ต้องปิดระบบไม่รับงานเพื่อจะได้ไปรับลูก พาลูกไปส่งบ้านแล้วก็ออกไปทำงานต่อ กลับมาบ้านเหนื่อยๆ ก็ต้องทำงานบ้านต่อ”

เมื่อออกมาสู่ท้องถนนซึ่งถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ไรเดอร์หญิงต้องเผชิญแรงเสียดทานหลายรูปแบบ “เราเป็นคนไม่เรียบร้อย พูดไม่เพราะ พูดตรงไปตรงมา ก็จะถูกมองว่าอีนี่เป็นคนยังไง คนก็จะบอกว่าเราเป็นคนแข็งๆ ไม่ชอบเรา” “เราออกมาทำงานแบบนี้ ต้องปรับบุคลิก นิสัยใจคอ ก็ถูกมองว่าไม่เป็นผู้ตามที่ดี อย่างเราเวลาจะตัดสินใจทำอะไร เพื่อนก็บอกว่า ถามแฟนหรือยัง ปรึกษากันหรือยัง อยากจะบอกว่าไม่ต้องปรึกษา ฉันตัดสินใจเองได้” 
ไรเดอร์หญิงยังบอกอีกว่าอาชีพนี้ (ไม่ว่าชายหรือหญิง) “เหมือนเป็นที่รองรับอารมณ์ แบบว่าลูกค้าจะมีหลากหลายแบบ บางคนเหมือนคนจิตไม่ปกติ คือไม่ว่ายังไงก็ไม่พอใจ คอมเพลนนั่นนี่ เราก็ต้องรับให้ได้ บางทีถูกด่าแรงสุดคือ ไม่มีสมองเหรอ ปัญญาอ่อนเหรอ เราก็ได้แต่ตอบว่า ค่ะๆลูกค้า เพราะจะแจ้งไปทางบริษัทๆก็เอาแต่เข้าข้างลูกค้า”  

สุขภาพและอุบัติเหตุ

สุขภาพทางเพศของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ที่ประชุมจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการมีประจำเดือน “เวลามีประจำเดือนต้องอดทน ตอนปวดท้องเม็นมันปวดมาก คือบางที่เราต้องหยุดงานออกมาขับไม่ไหว แต่บางทีก็ต้องฝืนออกมา เพราะมันขาดรายได้ แล้วขี่มอเตอร์ไซค์ มันเคลื่อนไหวเยอะ แล้วต้องไปเจอปัญหากับร้านค้า ลูกค้า การจราจรสารพัด เราก็ต้องอดทนให้ได้” 

ประจำเดือนยังมีทั้งความยุ่งยากและรายจ่าย “คือตัวเองก่อนประจำเดือนจะมาต้องใช้แบบแผ่นอนามัยเล็กๆก่อน ตอนเม็นมาแล้วก็ต้องใช้เวลากลางวัน กลางคืน พอหมดเม็นแล้วก็ต้องใช้แผ่นเล็กๆอีกพักหนึ่ง เลยใช้เกือบทั้งเดือนค่าใช้จ่ายมันเยอะกว่าผู้ชายมาก” “การเป็นไรเดอร์ลำบากเรื่องห้องน้ำไม่สะดวก ส่วนใหญ่เราจะเข้าปั๊ม จะเลือกปั๊มที่สะอาด แล้วก็ต้องใช้ทิชชู มีทิชชูเปียก ไม่เปียกอีก เยอะแยะไปหมด เวลามีประจำเดือน ตอนมีออเดอร์เยอะๆ เราไม่มีเวลาไปเปลี่ยนผ้าอนามัย มันก็มีปัญหา บางที่ซึม เลอะ อับ แล้วเวลาอย่างนี้บางทีมันเจ็บ มันแสบ มันทรมาน แต่เราก็ต้องอดทน จนเวลาออเดอร์ซาๆจึงค่อยไปเปลี่ยน”  

“คือมันมีข้อจำกัดหลายอย่าง อย่างผู้ชายมีความชำนาญมีความคล่องแคล่วในการขับขี่มากกว่า แต่ผู้หญิงทำได้น้อยกว่า ผู้หญิงต้องค่อยๆไป แล้วชั่วโมงทำงานผู้ชายจะได้มากกว่า เพราะไม่มีงานบ้าน ไม่ต้องดูแลลูก และอย่างเวลามีรอบเดือนผู้หญิงจะทำอะไรได้จำกัด จะทำอะไรนานๆ เคลื่อนไหวเร็วๆ ทำได้ยากกว่า”

เชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพก็คืออุบัติเหตุจากการทำงาน ไรเดอร์หญิงคนหนึ่งบอกว่า “เราถูกกดดันจากลูกค้า ร้านค้า งานแบช [คำสั่งซื้อซ้อน 2 รายการ] เวลาของบริษัทอยู่กับเรา สิ่งที่เกิดคือความกดดัน ทำให้รีบ รีบแล้วทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทุกวันเช้าก้าวออกจากบ้าน จากครอบครัว ไม่รู้ว่าเย็นจะกลับถึงบ้านหรือเปล่า ด้วยสภาพอากาศ ช่วงนี้ฝนตก และบางที่รีบ ลูกค้าบ่น ร้านค้า อะไรก็แล้วแต่ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ อันนี้ทุกคนรู้ แต่จะทำยังไง ก็ต้องมีความระมัดระวัง ตื่นเช้าก็ต้องทำงานต่อไป ต้องเซฟตัวเองตลอดเวลา แต่บางทีเราระวังแล้ว เขามาชนเราก็มี”   

ผู้ร่วมประชุมคนหนึ่งเล่าถึงอุบัติเหตุของตัวเอง “ที่เกิดอุบัติเหตุคือตรงถนนเพชรบุรี เราขับมาประมาณ 50-60 ลงจากสะพานข้ามแยกอโศก มีรถตู้ทึบออกมาจากซอยแล้วเลี้ยวตัดหน้า ที่จำได้คือตอนกระแทกกับรถ แล้วมาฟื้นอีกทีตอนถึงโรงพยาบาล วันนั้นปากแตก เย็บปาก เย็บคาง แขนซ้น ช้ำมาถึงลำตัว ตอนนั้นใช้สิทธิการรักษาพยาบาลจาก พ.ร.บ. จักรยานยนต์ ซึ่งเรารับผิดชอบเอง หลังจากนั้นต้องพักฟื้น มือขวามันซ้น กำไม่ได้ ทำให้ขับรถไม่ได้ ต้องหยุดงาน 3 เดือน ทำให้มีภาระหนี้สินรุมเร้า เรามีลูกด้วยอะไรด้วย แล้วเราไม่มีอะไรรองรับเลย ไม่มีรายได้เลย ไมได้รับการช่วยเหลืออะไรจากบริษัทเลย” 

การคุกคามทางเพศ 

การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องสำคัญที่ไรเดอร์หญิงหวั่นวิตก และเป็นเรื่องที่ยังไม่มีกลไกคุ้มครองสวัสดิภาพ ผู้ร่วมประชุมคนหนึ่งกล่าวว่า  “อย่างหนูเคยเจอเหตุการณ์ คือเราคิดว่าอยู่ในระบบของบริษัทคิดว่าเขาจะคุ้มครองเรา แต่ไม่เลย คือเราเจอลูกค้าลวนลาม จะพาเราขึ้นห้อง พอแจ้งทางบริษัท เขาก็ไมได้ทำอะไรกับลูกค้า ก็แค่แบนไม่ให้ลูกค้ามาเจอเรา แต่ลูกค้าเขาก็ไปทำกับคนอื่นได้” อีกคนเสริมว่า “บางที่เจอการคุกคามโดยใช้คำพูด เช่น น้อง....จัง น้อง ...มั๊ย อะไรอย่างนี้” 

บางคนบอกว่าประสบเหตุการณ์ผู้ชายออกมารับอาหารแต่งตัวไม่มิดชิด “เป็นไปได้ว่าเขาตั้งใจ บางคนนุ่งผ้าเช็ดตัว บางคนนุ่งกางเกงบ๊อกเซอร์ คือเขาจะรู้ว่าเราเป็นผู้หญิง คือดูจากรูปโปรไฟล์ [ในแอพลิเคชั่นของบริษัท] ของเราในระหว่างที่เราจะไปส่งอาหาร”      

“คิดว่าไรเดอร์หญิงทั่วประเทศมีประมาณ 30 % เราคิดว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทุกวัน แม้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา ก็เกิดกับเพื่อนเรา เพราะเราคุยกันปรึกษากัน... แล้วเราไม่เคยเห็นแม้กระทั่งการแสดงความเสียใจจากลูกค้า หรือบริษัท...มันเกิดขึ้นได้ทั้งกลางวันกลางคืน กลางวันก็มี อย่างเราเป็น....วิน ลูกค้าขึ้นมาก็มาล๊อกเอว คือมันแยกออกระหว่างนั่งไม่ถนัด กับจงใจจะโอบเอวเรา....ในเรื่องนี้เราไม่รู้จะพึ่งใคร เพราะเราไปแจ้งความ ตำรวจบอกว่าเหตุยังไม่เกิด ไม่ได้เป็นเหตุร้ายแรง ไม่ได้มีการปลุกปล้ำ หรือถึงเนื้อถึงตัวมากมาย  ตำรวจเสนอว่าคุยกันไหม ตกลงกันไหม แต่สำหรับผู้หญิงบางคน เรื่องนี้เขาคิดว่าเป็นเรื่องศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจในตัวเอง เราเป็นคนทำงาน เราเลี้ยงตัวเอง แต่คุณมาฉุดกระชากเราเหมือนกับเราเป็นอะไร”

ข้อเสนอของไรเดอร์หญิง

จากนั้นมีการระดมความคิดเรื่องข้อเสนอที่ต้องการให้ปรับปรุงสวัสดิการและสภาพการจ้างงาน จากการระดมปัญหาในกลุ่มย่อย นำมาสู่การสรุปร่วมกัน ทำให้ได้ข้อสรุปที่สำคัญคือ ด้านสุขภาพและความปลอดภัย อยากให้มีสวัสดิการตรวจสุขภาพประจำปี การรักษาพยาบาล การคุ้มครองอุบัติเหตุ มีกองทุนทดแทนการขาดรายได้ยามหยุดงานเนื่องจากเจ็บป่วยและคลอดบุตร ด้านการคุกคามทางเพศ อยากให้บริษัทคุ้มครองสวัสดิภาพทางเพศ เช่นปิดระบบลูกค้าผู้ที่ล่วงละเมิดอย่างถาวร ภาครัฐ เช่น ตำรวจต้องดำเนินการเอาผิดอย่างจริงจัง อาทิรับแจ้งความ เร่งสืบสวนผู้กระทำผิด 

สวัสดิการด้านอื่นๆ เช่นการประกันการซ่อมรถ บำรุงรักษารถ จัดฝึกอบรมพัฒนาการทำงาน การรักษาพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ส่วนด้านสภาพการจ้าง ให้ยกเลิกระบบโบนัสอินเซนทีฟ แต่ให้เพิ่มเป็นค่ารอบให้สูงขึ้น มีระบบ GPS ติดตามความปลอดภัย ให้มีศูนย์ช่วยเหลือที่เป็น “คน” ไม่ใช่ระบบอัตโนมัติจะได้ให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที มีระบบเรียกร้องค่าเสียหาย (claim) งาน (เช่น ความเสียหายจากกรณีลูกค้าสั่งอาหารแล้วไม่ชำระเงิน) ที่สะดวกรวดเร็วขึ้น 

ไรเดอร์หญิงได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ไรเดอร์เป็นคนเล็กๆที่คนมักจะมองข้าม เป็นอาชีพที่เหนื่อยและอันตรายมาก คนจะมองเห็นแต่ก็ตอนไปส่งอาหาร แล้วถ้าช้าก็จะคอมแพลนว่าทำไม่มาช้าทุกที วันนี้ก็ดีใจมากมีโอกาสมาถ่ายทอดเรื่องราวของเรา” ผู้ร่วมประชุมกล่าวว่า ดีใจมากหากสังคมมองเห็นคุณค่าการทำงานของไรเดอร์ รับฟังปัญหา และความต้องการด้านสวัสดิการและสภาพการทำงาน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับคนงานทุกคน

ประสบการณ์การผลักดันกฎหมายลาคลอด 90 วัน 

คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล วิทยากรอีกท่านหนึ่งนำเสนอประวัติการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิลาคลอดของแรงงานหญิง เพื่อแบ่งปันบทเรียนและประสบการณ์แก่ไรเดอร์หญิงในที่ประชุม การผลักดันสิทธิลาคลอด 90 วัน เกิดขึ้นในช่วงปี 2534-2536 ภายหลังจากมีกฎหมายประกันสังคมไม่นาน การเคลื่อนไหวเกิดจากการพูดคุยนักกิจกรรมแรงงาน และแรงงานกลุ่มย่าน ที่สำคัญได้แก่อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ พระประแดง รังสิต เป็นกลุ่มพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการกลุ่มเล็กๆ ก่อนขยายแนวร่วมให้กว้างขึ้น จนนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องและกดดันต่อรัฐบาล จนประสบความสำเร็จในที่สุด 

“ที่เล่าเรื่องนี้เพราะอยากให้เห็นว่า ประเด็นของคนงานหญิง เป็นเรื่องที่สังคมพร้อมรับฟัง เพราะเราถูกเอารัดเอาเปรียบ และมันมีผลต่อครอบครัว เช่น เรื่องอุบัติเหตุ ถ้าเกิดขึ้นกับเราแล้วลูกจะอยู่กับใคร...ปกติในขบวนการแรงงานมีเสียงของผู้ชายมากกว่า และผู้ชายมักจะเน้นเรื่องค่าแรงเป็นหลัก แต่ไมสนใจเท่าที่ควรที่จะผลักประเด็นที่เชื่อมโยงไปถึงทั้งสังคมได้ ประเด็นของแรงงานหญิง มันมีความเชื่อมโยงกับผู้หญิงกลุ่มอื่น ครอบครัว และสังคม ...อยากให้กำลังใจน้องๆว่าในประวัติศาสตร์เราทำสำเร็จมาแล้ว เรื่องที่ฟังวันนี้ มันมีการเอารัดเอาเปรียบที่ชัดเจนมาก เช่นเรื่องสวัสดิการ และอาชีพนี้มีโอกาสถูกคุกคามทางเพศได้ง่าย แต่ไม่มีกลไกปกป้องเรื่องนี้ ถ้าเราบอกสังคมให้ชัดเจน สิ่งที่ได้มันไม่ได้มีผลแต่เพศหญิงเพศชาย แต่มันจะมีผลต่อทุกคน ต่อสังคมด้วย”    

อำนาจต่อรองของไรเดอร์

ช่วงสุดท้าย ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม สนทนากับผู้ร่วมประชุมในประเด็นอำนาจกับการรวมกลุ่ม เริ่มจากชี้ให้เห็นว่า อำนาจของคนงานมาจากหลายแหล่งประกอบกัน ได้แก่อำนาจเชิงองค์กร อำนาจทางสังคม อำนาจเชิงโครงสร้าง และอำนาจเชิงสถาบัน ในการรณรงค์ต้องมีความชัดเจนในการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ สามารถแยกแยะและสร้างความชัดเจนว่า เป้าหมายหลักที่ต้องการบรรลุคืออะไร เราควรร่วมมือกับใครเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย แต่ละกลุ่มต่อต้านหรือสนับสนุนเป้าหมายของเรา แต่ละกลุ่มมีอิทธิพลหรือทรงพลังแค่ไหน มีอำนาจในการตัดสินใจซึ่งจะมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ของเป้าหมายของเราหรือไม่อย่างไร 
  
“กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแนะนำเบื้องต้นว่า การรณรงค์ของไรเดอร์ต้องเข้าใจเรื่องอำนาจ การจัดตั้ง การรณรงค์เคลื่อนไหวอย่างมีทิศทาง เพื่อให้เกิดขบวนแรงงานที่เข้มแข้ง นำพาไปสู่ชัยชนะตามที่ต้องการ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องท้าทาย แต่เป็นเรื่องที่ฝึกฝนพัฒนาได้ ขอให้กำลังใจทุกท่าน.
 

 

หมายเหตุ 
โครงการวิจัยรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง ดำเนินการโดยพฤกษ์ เถาถวิล และ วรดุลย์ ตุลารักษ์ ภายใต้ชุดโครงการ “การพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ” โดยสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้รับสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท