Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การบิดเบือนข่าวและคำพูดของผมอย่างมีอคติเพื่อสร้างความเกลียดชังยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นเครื่องเตือนสติอีกครั้งให้เรารับข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ

ในการเสวนาหัวข้อ “เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2562 ผมได้ให้ความเห็นช่วงหนึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “รูปแบบรัฐ” กับความเป็นไปได้ของการสร้าง “รัฐสวัสดิการ” โดยเสนอว่าระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยมีศักยภาพในการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อประชาชนได้ดีกว่าการเมืองระบบอื่นๆ

ประเด็นที่ผมเปิดไว้เพื่อชวนคิดแต่ยังไม่มีโอกาสอธิบาย คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง การเมือง (เช่น รัฐบาลเลือกตั้ง) กับ นโยบายเศรษฐกิจ (เช่น สวัสดิการประชาชน) ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผู้จัดงานกำหนดไว้ และเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งในแวดวงวิชาการและนโยบาย

เพราะการรณรงค์สนับสนุนรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นแทบทุกประเทศทั่วโลก แต่กลับมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถสร้างรัฐสวัสดิการที่ยั่งยืนได้ โดยพบว่าระบอบการเมืองหรือรูปแบบรัฐเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวดังกล่าว

ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง เดือนมีนาคม 2523 จนถึงเดือนสิงหาคม 2531 เป็นระยะเวลา 8 ปีที่เรียกกันว่า “ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ” เพราะมีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจากการปกครองที่มีทหารนำในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ปี 2501–2506) และจอมพลถนอม กิตติขจร (ปี 2506–2516) ที่เป็น “เผด็จการเต็มใบ”

ต้องย้ำด้วยว่า การตั้งชื่อระบอบการเมืองทั้งหมดนี้นำมาจากงานศึกษาด้านประวัติศาสตร์ที่มีอยู่แล้ว ผมไม่ได้เป็นผู้คิดค้นขึ้นมา
ระบอบการเมืองนั้นส่งผลสำคัญต่อการเลือกนโยบายเศรษฐกิจเพราะให้คุณให้โทษแก่คนแต่ละกลุ่มต่างกัน

ระบอบเผด็จการเต็มใบ ให้คุณแก่ทหารและกุล่มทุนใกล้ชิดที่สนับสนุนระบอบ โดยไม่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มอื่นๆ เช่น นักศึกษา เกษตรกร หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจนอกอุปถัมภ์ มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศ กีดกันกดทับจนนำไปสู่ “เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516” ที่ประชาชนรวมตัวกันเรียกร้องประชาธิปไตย

การเมืองไทยในเวลาต่อมาได้พัฒนามาสู่ระบอบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งเป็นการประนีประนอมระหว่างทหารกับประชาชน ระหว่างพลังเผด็จการกับพลังประชาธิปไตย ในช่วงทศวรรษ 2520

การเมืองยุคนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวายและการแย่งชิงอำนาจ แม้การเลือกตั้งจะเริ่มลงหลักปักฐาน แต่สมาชิกวุฒิสภาก็มาจากการแต่งตั้ง ในหมู่ทหารเองยังแตกก๊กแตกเหล่า มีความพยายามทำรัฐประหารรัฐบาลพลเอกเปรมที่ไม่สำเร็จถึงสองครั้ง
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงกับวิจารณ์ว่า ทหารเองก็ใช้ยุทธศาสตร์ไม่ต่างจากคอมมิวนิสต์ในการครอบงำการเมือง
การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2520 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยรวมตัวกันเพื่อกดดันให้รัฐบาลหันไปเลือกแนวทาง ส่งเสริมการส่งออก (export-led growth) เป็นหลัก แทนที่จะมุ่งแต่ปกป้องธุรกิจภายใน ธนาคารโลกเองก็สนับสนุนแนวทางนี้เช่นกัน

แต่กว่าไทยจะเข้าสู่ยุคส่งเสริมการส่งออกจริงจังก็ต้องรอจนถึงปี 2527 ที่มีการลดค่าเงินบาท และในปี 2528 ที่มีการลดอัตราภาษีขาเข้าสำหรับวัตถุดิบเพื่อการผลิตส่งออก

ในปี 2528 นี้เองที่มีเหตุการณ์ประจวบเหมาะ เนื่องจากการประชุมระหว่างประเทศมหาอำนาจภายใต้ ข้อตกลงพลาซา (Plaza Accords) นำไปสู่การปรับค่าเงินของญี่ปุ่นและการหันออกมาลงทุนต่างประเทศครั้งใหญ่ ไทยและหลายประเทศในอาเซียนจึงได้รับอานิสงส์ในการเป็นฐานการลงทุนสำคัญของญี่ปุ่นนับจากนั้นเป็นต้นมา

ในกรณีของไทย ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจจึงออกมาเป็นการเมืองแบบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” กับเศรษฐกิจแบบ “ฐานการลงทุนของต่างชาติ”

สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งในยุคนั้นขนานนามให้เป็น “ยุคโชติช่วงชัชวาล” เพราะโมเดลเศรษฐกิจการเมืองดังกล่าวสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ประเทศไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงต้นทศวรรษ 2520 ที่ไทยเผชิญปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำรุนแรงและมีภาวะขาดดุลการคลังต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ก็ต้องบอกว่า ความโชติช่วงชัชวาลที่ว่ากันนั้น เกิดขึ้นบนฐานของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่มุ่งเน้นการเติบโต แต่แลกมาด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม

การผลิตสินค้าภายใต้ตรา “Made in Thailand” ที่ออกสู่สายตาโลกก็ทำให้คนไทยภูมิใจไม่น้อย

แต่ก็อย่างที่วงคาราบาวร้องไว้ในเพลงและอัลบั้มชื่อเดียวกันนี้ที่ทำยอดขายได้ถึง 5 ล้านตลับว่า


“เมดอินไทยแลนด์แดนไทยทําเอง   จะร้องรําทําเพลงก็ลํ้าลึกลีลา
ฝรั่งแอบชอบใจแต่คนไทยไม่เห็นค่า   กลัวน้อยหน้าว่าคุณค่านิยมไม่ทันสมัย
เมดอินไทยแลนด์แฟนแฟนเข้าใจ  ว่าผลิตผลคนไทยเราใช้เองทําเอง
ตัดเย็บเสื้อผ้ากางโกงกางเกง กางเกงยีนส์ แล้วขึ้นเครื่องบินไปส่งเข้ามา
คนไทยได้หน้า ฝรั่งมังค่าได้เงิน”

ก่อนที่เพลงจะทิ้งท้ายอย่างเจ็บปวดว่า

“เขาไม่ได้หลอกเรากิน แต่เรานั่นหลอกตัวเอง...เอย”

แอ๊ด คาราบาว แต่งเพลงนี้ในปี 2527 แต่ยังสะท้อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้ดีทีเดียว

เพราะจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ประเทศไทยก็ยังเป็นแค่ฐานการส่งออกของทุนต่างชาติ เราไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองทั้งเชิงกระบวนการผลิตหรือเชิงผลิตภัณฑ์ได้อย่างเป็นระบบ

ทว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีเทคโนโลยีเป็นหัวใจนั้นสำคัญยิ่งต่อการเติบโตระยะยาว

หากเราพิจารณาข้อมูลการเติบโตของรายได้ประชากรต่อหัว เปรียบเทียบระหว่างไทยกับประเทศที่เริ่มพัฒนามาพร้อมๆ กันอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ ข้อมูลจากธนาคารโลกแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เราถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา

ในขณะเดียวกัน ระบอบการเมืองอย่างเผด็จการและประชาธิปไตยครึ่งใบก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นมากนัก หากวัดในแง่ช่องว่างทางสังคมจากดัชนีจีนีเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา

กว่าที่ความเหลื่อมล้ำของไทยจะปรับตัวลดลงก็ช่วงกลางทศวรรษ 2530 จนถึงต้นทศวรรษ 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่เรากลับสู่ยุคประชาธิปไตยกันสั้นๆ


หมายเหตุ: ค่าจีนีหรือสัมประสิทธิ์ของความไม่เท่าเทียมมีค่าอยู่ระหว่าง 0-1 โดยค่ายิ่งสูงเข้าใกล้ 1
ยิ่งแสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่สูงขึ้น
ที่มา: ผาสุก พงษ์ไพจิตร, สู่สังคมไทยเสมอหน้า (2557, หน้า 15)

แน่นอนครับ การเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องซับซ้อน มีปัจจัยเกี่ยวข้องอีกหลายปัจจัยนอกเหนือจากเทคโนโลยี การเมือง และนโยบาย เช่น ระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ หรือระดับการผูกขาดทางเศรษฐกิจ

แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ระบอบการเมืองสามารถเป็นได้ทั้ง “ต้นตอของปัญหา” และ “ทางออก”

เพราะหากเราต้องการปรับปรุงกลไกราชการให้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรได้จริง (เช่น เก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม กระจายอำนาจสู่ประชาชน) คงมีแต่ “ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ” ที่เสียงของประชาชนทุกเสียงถูกนับอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้นที่จะช่วยเราได้

ระบอบเผด็จการเต็มใบ ครึ่งใบ หรือซ่อนรูป คงไม่สนใจเสียงประชาชนเท่าไรนัก

ห้าปีที่ผ่านมาคงเป็นหลักฐานที่ดีพอสำหรับคนไทยจำนวนมาก


ประเทศไทยเรามีพัฒนาการทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่ดีกว่าอีกหลายๆ ประเทศ ได้รับการยกย่องจากนานาชาติในหลายด้าน

อย่างไรก็ดี เราก็ยังมีปัญหารากฐานและปัญหาเฉพาะตัวอีกจำนวนมาก ที่ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการ องค์กรระว่างประเทศ หรือแม้แต่ยุทธศาสตร์ชาติฯ เองก็ยอมรับ

หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นสังคมที่เจริญเติบโตอย่างเท่าเทียมกัน เป็นสังคมที่สิทธิและโอกาสไม่กระจุกอยู่เฉพาะคนกลุ่มน้อย แต่เป็นสังคมเปิดที่เกื้อหนุนให้แต่ละคนสามารถใช้ชีวิตตามความฝัน เป็นชีวิตที่มีทางเลือกมีความสร้างสรรค์

การขาดแคลนเทคโนโลยีและความเหลื่อมล้ำระดับสูงเป็นปัญหาใหญ่ที่ขัดขวางเราไว้ และระบอบการเมืองมีความสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางการจัดการปัญหาเหล่านี้

เราจำเป็นต้องถอดบทเรียนจากอดีตเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขร่วมกัน

เพื่อสร้างสังคมไทยที่คนเท่าเทียมกัน และประเทศไทยเท่าทันโลก

เจตนาของผมมีเพียงเท่านี้ครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Fanpage THANATHORN JUANGROONGRUANGKIT - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net