Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอแนวทางการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับการคุ้มครองทางวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 32/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

กสม. เสนอแนวทางการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับการคุ้มครองทางวัฒนธรรม

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิต และเครือข่ายชาติพันธุ์มานิในจังหวัดพัทลุง ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์มานิ หรือ “มันนิ” ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โฉนดชุมชนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวิถีดั้งเดิม และไม่สามารถป้องกันตนจากการถูกข่มขู่ คุกคาม หรือเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มผลประโยชน์ จึงขอให้มีการแสวงหาแนวทางการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในด้านสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน พื้นที่จิตวิญญาณ และขอให้ประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์มานิเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิทั้งสามกลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่ดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมด้วยการอาศัยอยู่ในป่าลึก (2) กลุ่มที่มีการตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวร และ (3) กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวร

กสม. ได้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคประชาสังคม เครือข่ายประชาชน รวมทั้งพิจารณาหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายแห่งรัฐในการส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ หลักการเดียวกันนี้ยังปรากฏอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

จากการศึกษาพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์มานิอาศัยอยู่ตามแนวเทือกเขาและภูเขาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และแถบเทือกเขาสันกาลาคีรี ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบหาของป่า อยู่ร่วมกับระบบนิเวศวิทยาทางธรรมชาติ ดำรงชีวิตด้วยการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยไปตามความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ใช้ทรัพยากรในป่าและหมุนเวียนไปตั้งทับ (กระท่อม) ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งอาหารตามฤดูกาลแล้วกลับมาอยู่พื้นที่เดิมทั้งในหรือนอกเขตอุทยานและเขตป่าสงวน ปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์มานิมีความเป็นอยู่ที่ไม่มั่นคง จากเหตุทรัพยากรในป่าที่ลดน้อยลงทำให้ต้องปรับตัวและออกมาหากินใกล้เมืองด้วยการรับจ้างทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว

เมื่อพิจารณาถึงการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐแล้วพบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น แก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติ ส่งเสริมอาชีพ ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จัดการศึกษาและบริการสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานนั้น ๆ แล้ว ประกอบกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างคณะกรรมาธิการพิจารณาปรับแก้ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นกฎหมายสำหรับปกป้องและคุ้มครองสิทธิให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ ในประเด็นการจัดการให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหน่วยงานของรัฐได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้สำรวจการถือครองที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้ครบทุกกลุ่ม โดยอ้างเหตุผลมีกลุ่มชาติพันธุ์มานิที่ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร และดำเนินชีวิตในพื้นที่ป่าไม้หมุนเวียนไปตั้งทับ (กระท่อม) ในพื้นที่ต่าง ๆ ตามฤดูกาล  ย่อมเป็นการนำวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองมาเป็นเงื่อนไขตัดสิทธิในการขอมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน จึงเป็นการจำกัดสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์มานิเกินสมควรแก่กรณี เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ กสม. มีข้อสังเกตว่า นโยบายและการดำเนินการของรัฐที่ผ่านมาในการส่งเสริมหรือคุ้มครองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ไม่ได้พิจารณาถึงความต้องการและศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์มานิอย่างแท้จริง ฉะนั้น ภาครัฐและภาคประชาสังคมต้องเชื่อมั่นในศักยภาพและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ส่งเสริมให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองและกำหนดเจตจำนงของตัวเองได้ เพื่อให้มีความมั่นคงและยั่งยืนในเรื่องวิถีชีวิตและเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง “พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม” ที่ไม่ใช่การให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่เป็นการให้สิทธิในการจัดการที่ดิน สิทธิที่จะได้ใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิม และสิทธิในชุมชนดั้งเดิม ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้การคุ้มครอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการ สรุปได้ ดังนี้

(1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำรวจการถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์มานิทั้ง 3 กลุ่ม รวมทั้งสำรวจพิกัดการตั้งทับหมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การสำรวจตามที่พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนด เพื่อให้มีการรับรองและคุ้มครองสิทธิให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิตามกฎหมาย และให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผลการสำรวจการใช้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์มานิให้ประชาชนทั่วไปทราบ เพื่อป้องกันมิให้มีข้อขัดแย้งหรือความเข้าใจผิด และเกิดการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม

(2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำรวจการถือครองที่ดินและศึกษาวิจัยเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์มานิแต่ละกลุ่ม และให้กระทรวงวัฒนธรรมศึกษาหาแนวทางการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิในวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ พัฒนาศักยภาพความเป็นพลเมือง ยกระดับคุณค่าภูมิปัญญา วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ โดยให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิได้รับการคุ้มครองสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน มีพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มานิ โดย สำรวจ เก็บข้อมูลและจัดทำฐานข้อมูลโดยรวมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ

(3) ให้กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พิจารณาแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎรให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มานิ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับบุคคลกลุ่มชาติพันธุ์มานิที่เป็นคนไทยเพื่อเข้าสู่ทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้องและเป็นจริง และให้กำหนดสถานะบุคคลและรับรองสิทธิในสัญชาติตามกฎหมายให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิตามหลักการรับรองให้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน โดยถือปฏิบัติตามหนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0309/ ว 24900 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2560 เรื่อง การจัดทำทะเบียนราษฎรเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะบุคคลของชนเผ่าซาไกหรือมานิ และมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่อพยพเข้ามาและอยู่อาศัยมานาน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นเวลานาน

(4) ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอันจำเป็นและสิทธิในสวัสดิการของรัฐ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิเกี่ยวกับหน้าที่ความเป็นพลเมืองเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มานิที่ต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานหรือบุคคลที่กลุ่มชาติพันธุ์มานิไว้วางใจ

(5) ให้สภาผู้แทนราษฎรเร่งรัดการพิจารณาและตรากฎหมายชาติพันธุ์ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้าถึงสิทธิทางวัฒนธรรม ส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ และสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตามเจตนารมณ์ของร่างกฎหมาย รวมถึงป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ อันเป็นหลักการที่สอดคล้องกับมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net