นักวิชาการมองปัญหาทะเลจีนใต้ปี 2562 ผ่านกำลังทหารที่เพิ่มขึ้นและปลาที่น้อยลง

เวทีสัมมนาวิชาการเรื่องทะเลจีนใต้ พูดถึงข้อพิพาททะเลจีนใต้ผ่านมุมมองทหารและทรัพยากรธรรมชาติ พบ จีนเพิ่มกำลังทางทหาร ใช้ยุทธวิธีใหม่ เสริมสร้างพื้นที่ให้เข้มแข็ง งบประมาณกลาโหมไล่สหรัฐฯ ขึ้นมาเรื่อยๆ ในขณะที่ทรัพยากรปลารอบๆ น้อยลง จากปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศซึ่งถือเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะคนอาเซียนและเอเชียตะวันออกบริโภคโปรตีนจากปลาเยอะมาก

บรรยากาศห้องสัมมนา

21 มิ.ย. 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ศูนย์เยอรมัน-เอเชียอาคเนย์เพื่อความยอดเยี่ยมแห่งนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาลที่ดี (CPG) จัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติในหัวข้อ "แนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้: การทหารและทรัพยากรธรรมชาติในปี 2562" โดยเชิญหลี่ หนาน จากสถาบันเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ และคาร์เมน แอบลัน-ลักมัน จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเดลาซาล ประเทศฟิลิปปินส์เป็นวิทยากร

หลี่พูดในประเด็นความเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์และทหารของจีนในทะเลจีนใต้ โดยกล่าวว่าจีนมีความเคลื่อนไหวหลายประการในทะเลจีนใต้ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมแสนยานุภาพทางทหารบนเกาะเทียมที่ทำไว้ ไปจนถึงการทดลองจรวดประเภท JL-3SLBM และการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์รุ่น SSBN type 096 นอกจากนั้นยังมีการออกแบบปฏิบัติการทางทะเลที่ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางด้วยการให้เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นแกนหลักของปฏิบัติการ แล้วใช้เรือดำน้ำเข้ามาผสมเพื่อปกป้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน

หลี่มองพฤติกรรมการสร้างความแข็งแกร่งบนพื้นที่แนวปะการัง (reefs fortification) ว่าสะท้อนความพยายามในการสร้างฐานที่มั่นทางยุทธศาสตร์บนทะเลจีนใต้ที่มีพื้นที่พิพาทกันระหว่างจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนามและไต้หวัน โดยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งดังกล่าวนั้นมีวัตถุประสงค์สามอย่าง ได้แก่ หนึ่ง สนับสนุนปฏิบัติการทางทะเล เช่น การสร้างท่าเรือบนหมู่เกาะสแปรตลีย์ สอง ใช้เป็นพื้นที่ลาดตระเวนและสอดแนมประเทศคู่พิพาท และสุดท้ายใช้เป็นเส้นทางการติดต่อสื่อสาร

ในแง่นโยบายความมั่นคงภาพใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่า จีนเพิ่มกำลังทหารในกองทัพเรือจาก 20,000 คนเป็น 100,000 คน ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เพราะว่าเรื่องทะเลจีนใต้อย่างเดียว แต่เป็นการเพิ่มกำลังไปปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลจากนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่เป็นนโยบายต่างประเทศหลักของจีน แต่ในกองบัญชาการทัพเรือภาคใต้ (Southern Theater Command) ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนที่ดูแลอาณาเขตทะเลจีนใต้นั้นก็มีความเป็นอิสระจากส่วนกลาง และมีผู้บัญชาการเป็นหัวหน้าหน่วยเรือดำน้ำนิวเคลียร์เก่าซึ่งสะท้อนถึงมุมมองภาวะคุกคามในทะเลจีนใต้ว่าเป็นอย่างไร

ในแง่งบประมาณ หลี่เล่าว่างบประมาณด้านกลาโหมของจีนตอนนี้อยู่ที่ 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับสหรัฐที่มีงบประมาณกลาโหมอยู่ที่ 700,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าน้อยกว่าราวๆ สามเท่า ช่องว่างของงบประมาณถือว่าน้อยลง ทั้งนี้ต้องประเมินด้วยว่าสหรัฐฯ มีปฏิบัติการทางทหารอยู่รอบโลก

คาร์เมนพูดถึงประเด็นความมั่นคงบนทะเลจีนใต้ผ่านเรื่องวิฤติประมงในพื้นที่ เธอเล่าว่าทะเลจีนใต้มีอาณาบริเวณกว้างขวางเป็นอันดับสามของโลก (3.62 ล้าน ตร.กม.) มีประชาชนริมฝั่งที่ต้องพึ่งการประมงในการดำรงชีวิตถึง 190 ล้านคน มากไปกว่านั้น ข้อมูลที่เธอรวบรวมมายังแสดงให้เห็นว่าประชาชนในประเทศอาเซียนและเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและจีนรับสารอาหารจำพวกโปรตีนจากปลาร้อยละ 7-15 มากกว่าประเทศใหญ่ๆ อย่างออสเตรเลีย บราซิล สหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักรเสียอีก แต่ว่าการประมงในทะเลจีนใต้นั้นเลยจุดที่ทรัพยากรสามารถฟื้นฟูอย่างยั่งยืนได้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 แล้ว เนื่องจากการประมงที่เกินปริมาณจากเรือประมงที่มากขึ้นทั้งในแบบท้องถิ่นและพาณิชย์

นอกจากการหาปลาแล้ว ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมก็มีผล ทั้งปัญหามลพิษอย่างเช่นน้ำมัน ทำให้ปลามีอัตราการรอดชีวิตน้อยลง ระบบนิเวศที่มีผลกับการเกิด ผสมพันธุ์และเติบโตของปลาถูกทำลาย และภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate change) ที่ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ปลาท้องถิ่นก็อาจจะหนีไปอาศัยในที่ๆ เย็นกว่า สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้ หากไม่มีแนวทางการจัดการการประมงในระดับภูมิภาค ประชาชนที่พึ่งพิงทรัพยากรปลาจำนวนมากจะมีความเดือดร้อน ซึ่งความเดือดร้อนในแต่ละประเทศก็อยู่ที่ว่านำเข้าหรือพึ่งพิงทรัพยากรปลามากน้อยขนาดไหน ข้อมูลปี 2559 ที่คาร์เมนรวบรวมมาพบว่า ตั้งแต่ปี 2548-2557 ประเทศในบริเวณทะเลจีนใต้ที่บริโภคปลาเยอะที่สุดคือมาเลเซีย ซึ่งมีอัตราการบริโภคปลาเฉลี่ยต่อคนต่อปีมากที่สุด ที่ 51 กก.ต่อคนต่อปี รองลงมาได้แก่เวียดนาม (41.06 กก. ต่อคนต่อปี) และจีน (34.68 กก. ต่อคนต่อปี)

ที่มา:สไลด์ภาพของคาร์เมน

บนพื้นที่ทะเลจีนใต้มีความสำคัญในแง่การเป็นเส้นทางการค้าของโลกจำนวนร้อยละ 30 และเป็นแหล่งทรัพยากรจำนวนมหาศาลไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบและอาหาร อาเซียนและจีนมีความพยายามจะร่างแนวทางปฏิบัติบนพื้นที่ทะเลจีนใต้ (Code of Conduct) เพื่อเป็นแนวทางในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความมั่นไปจนถึงเสรีภาพการเดินเรือและเครื่องบิน โดยจะมีการอ่านเพื่อพิจารณาจำนวนทั้งสิ้นสามครั้ง ในปีนี้ทั้งสองฝั่งตั้งใจจะจัดทำการพิจารณาร่างที่หนึ่งให้เสร็จ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท