Skip to main content
sharethis

นักวิเคราะห์ระบุว่าโมร็อกโกในแอฟริกาเหนือ เป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนจีนให้เข้าไปลงทุนด้านพลังงานใหม่และยานยนต์ EV เพราะมีสัญญาการค้าเสรีกับยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนหวังว่าจะอาศัยโมร็อกโกเป็นช่องทางในการเลี่ยงการถูกจำกัดด้านการค้าจากสหรัฐฯ และจากสหภาพยุโรปได้

แฟ้มภาพการแถลงความร่วมมือระหว่าง BYD กับบริษัทผลิตรถยนต์ Auto Nejma ที่โมร็อกโก เมื่อ 12 กรกฎาคม 2566 (ที่มา: idprestige)

ทูตจีนประจำโมร็อกโกเปิดเผยว่า การลงทุนด้านยานยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือรถ EV และด้านพลังงานใหม่ "กำลังบูม" ในโมร็อกโก ในขณะที่บริษัทต่างๆ ของจีนหวังว่าจะใช้ช่องทางการค้าใหม่นี้ในการหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีและข้อจำกัดการนำเข้าด้านอื่นๆ จากประเทศสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

เอกอัครราชทูตจีนประจำโมร็อกโก หลี่ จางลิน (Li Changlin) กล่าวว่าโมร็อกโก "กลายเป็นแหล่งลงทุนยอดนิยมแหล่งใหม่สำหรับบริษัทจีนในการลงทุนที่ต่างประเทศ"

หลี่ผู้ที่ไปเยือนเมืองโมฮัมเหม็ดที่ 4 เพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ แทงเจียร์ เทคซิตี้ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา กล่าวว่า การก่อสร้างที่แหล่งศูนย์รวมด้านการผลิตและเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้หนุนหลังนั้นกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี

ในช่วงที่เขาเดินทางเยือนเมืองดังกล่าว เขาตั้งข้อสังเกตว่าแหล่งศูนย์รวมด้านเทคโนโลยีในแทงเจียร์มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ๆ จะรองรับบริษัทจีนหลายร้อยแห่งนั้น เป็น "สัญลักษณ์ที่สำคัญของโครงการก่อสร้างคุณภาพสูงร่วมกันในนาม 'โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' ระหว่างจีนกับโมร็อกโก" โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่ว่านี้เป็นโครงการริเริ่มของจีนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการค้าโลก

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าการที่โมร็อกโกตั้งอยู่ใกล้ชิดกับยุโรป มีแร่ที่สำคัญอยู่มาก และมีความตกลงการค้าเสรีกับยุโรปและอเมริกา ทำให้เป็นการดึงดูดบริษัทจีนให้อัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าไปหลายพันล้านดอลลาร์ในการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถ EV และแบตเตอรีของ EV

หลี่แถลงที่เทคพาร์คซึ่งสร้างโดยบริษัทหลายแห่งของจีนนำโดยบรรษัทไชนาโรดแอนด์บริดจ์ ระบุว่า "บริษัทจีนได้ทำการลงทุนอย่างมหาศาลในภาคส่วนพลังงานหมุนเวียน, แบตเตอรียานยนต์พลังงานใหม่ และภาคส่วนอื่นๆ มีบทบาทเชิงบวกในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์"

นอกจากนี้หลี่ยังได้เดินทางเยือนไซต์งานของบริษัท BTR ที่แทงเจียร์เทคซิตี้ โดยที่ BTR เป็นบริษัทผลิตแบตเตอรีสัญชาติจีนที่กำลังสร้างโรงงานขั้วแบตเตอรีแคโทดมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


เลี่ยงกำแพงภาษีของอียู?

โมร็อกโกมีความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และบริษัทจีนในโมร็อกโกก็กำลังทำการจัดระเบียบปฏิบัติการของตัวเองใหม่เพื่อที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายการลดเงินเฟ้อ ซึ่งมีเป้าหมายต้องการลดปัญหาโลกร้อนโดยการให้เครดิตภาษีแก่ผู้บริโภคที่ซื้อรถ EV

นอกจากนี้ โมร็อกโก ยังมีสัญญาการค้าเสรีกับอียูด้วย ซึ่งบริษัทจีนจะใช้จุดนี้ในการหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีศุลกากร

อียูประกาศเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าจะให้มีการขึ้นภาษีนำเข้ารถ EV จากจีนเป็นร้อยละ 38.1 เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรปจากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นการ "ให้เงินอุดหนุนแบบบิดเบือนตลาด" ของรัฐบาลจีน

หนึ่งเดือนก่อนหน้านั้นสหรัฐฯ ก็ทำการตั้งภาษีศุลกากรนำเข้ารถ EV ของจีนอยู่ที่ร้อยละ 100

โมร็อกโกเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นทางเชื่อมระหว่างแอฟริกากับยุโรป เป็นแหล่งที่ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรีและ EV หลายพันล้านดอลลาร์ โดยมีบริษัทผลิตแบตเตอรีสัญชาติจีน-เยอรมนี Gotion ที่ทำสัญญาจะสร้างโรงงานขนาดยักษ์ 1,300 ล้านดอลลาร์ที่โมร็อกโกรวมอยู่ด้วย Gotion มีแผนการที่จะเริ่มต้นการผลิตแบตเตอรีที่โรงงานแห่งนี้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2569 โดยจะผลิตแบตเตอรีที่มีความจุ 20 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

บริษัทผลิตชิ้นส่วนแบตเตอรีจีน CNGR แอดวานซ์ เมทีเรียล ได้ประกาศเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาว่าพวกเขากำลังร่วมมือกับกองทุนเอกชนสัญชาติโมร็อกโก อัล มาดา  เพื่อสร้างฐานอุตสาหกรรมมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์

บริษัท Youshan ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท Huayou บริษัทสกัดแร่โคบอลท์ซึ่งจับมือกับบริษัท LG Chem ของเกาหลีใต้ในการสร้างโรงงานผลิตวัตถุดิบลิเทียมไอรอนฟอสเฟต (LFP) แคโทด ในโมร็อกโก ซึ่งพวกเขามีเป้าหมายจะขายวัตถุดิบดังกล่าวนี้ให้กับสหรัฐฯ และจะปรับระบบหุ้นส่วนให้เข้ากับกฎหมายของสหรัฐฯ


ประเมินข้อได้เปรียบของโมร็อกโกและการรับมือของสหรัฐฯ กับอียู

อับเดลโมนิม อมาชรา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องห่วงโซ่คุณค่าและความยั่งยืนผู้ที่เคยทำงานในกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของโมร็อกโกมาก่อน กล่าวว่า การตั้งโรงงานสายการผลิตของจีนในโมร็อกโกสะท้อนให้เห็นกระแสของการบูรณาการและการปรับโครงสร้างห่วงโซ่คุณค่าโลก จากการที่บริษัทต่างๆ พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมืองและจากกำแพงการค้า ทำให้พื้นที่ศูนย์กลางภูมิภาคอย่างโมร็อกโกมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

อมาชรา บอกว่ากำแพงการค้าอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องภาษีที่สหรัฐฯ และอียูใช้เป็นมาตรการจำกัดรถ ev จีนนั้น ได้ทำให้การเข้าถึงตลาดโดยตรงมีความยุ่งยากมากขึ้น การตั้งไลน์การผลิตในโมร็อกโกจะทำให้บริษัทจีนสามารถหลีกเลี่ยงอุปสรรคเหล่านี้ได้โดยการผลิตภายในประเทศและบรรลุมาตรฐานที่จำเป็นได้จากระยะแรกเริ่ม การที่โมร็อกโกมีสัญญาการค้ากับกรอบการกำกับดูแลที่เป็นประโยชน์กับจีน จะกลายเป็นบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมนี้ได้

อมาชรา กล่าวอีกว่าโมร็อกโกกับจีนต่างก็มีข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขัน จากการที่มีทรัพยากรสำหรับอุตสาหกรรม EV โดยที่โมร็อกโกเป็นผู้ส่งออกชั้นนำระดับโลกของแร่ฟอสเฟต ในขณะที่จีนครองตลาดเรื่องแร่หายากอย่างลิเทียม, โคบอลต์ และแร่แรร์เอิร์ธ

โมร็อกโกเป็นแหล่งศูนย์รวมผลิตยานยนต์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของยุโรปอยู่แล้ว อย่างบริษัท Stellantis และ Renault โดยที่อุตสาหกรรมยานยนต์คิดเป็น 1 ใน 5 ของ GDP ทั้งหมดของโมร็อกโก

คริส เบอร์รี ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านสินค้า เฮาส์เมาน์เทนพาร์ทเนอร์ จากนิวยอร์ก บอกว่าจีนมีห่วงโซ่อุปทานที่ดีอยู่แล้วและยิ่งจะเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม โดยที่จีนยังได้สร้างฐานการผลิตแบตเตอรีในยุโรปตะวันออกด้วย

บริษัท EV ยักษ์ใหญ่ของจีนได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีการสร้างโรงงานผลิต EV แห่งแรกในยุโรปที่ฮังการี และเมื่อไม่นานนี้ก็ประกาศว่าจะลงทุนในการตั้งโรงงาน EV และรถไฮบริดที่ตุรกีโดยวางสมรรถภาพการผลิตต่อปีอยู่ที่ 150,000 หน่วย

อย่างไรก็ตาม เบอร์รีกล่าวว่า การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ พูดในเชิงบวกเกี่ยวกับการเสนอให้บริษัทจีนสร้างรถ EV ในสหรัฐฯ อาจจะทำให้โครงการของโมร็อกโกเผชิญอุปสรรคได้ถ้าหากว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง

จอห์น คาลาบรีส นักวิจัยอาวุโสที่สถาบันตะวันออกกลางในวอชิงตันกล่าวว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เคยเสนอไว้อย่างชัดเจนว่า อนาคตของการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ-จีนนั้น จะตัดสินกันด้วยเรื่องที่ว่าใครจะสามารถสร้างนวัตกรรม, ผลิตทีละจำนวนมาก และนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ได้มากกว่ากัน ซึ่งรวมถึงเรื่องชิพเซมิคอนดักเตอร์ระดับสูง และการเพิ่มสมรรถนะความจุของแบตเตอรี ซึ่งแร่ชนิดที่จำเป็นกับการผลิตสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมาก

คาลาบรีสบอกว่าประเทศยุโรปบางประเทศก็เริ่มจะหันมาคิดแบบนี้แล้ว และอียูก็เริ่มดำเนินนโยบายปกป้องตลาดอุตสาหกรรม EV ของพวกเขาแบบเดียวกับสหรัฐฯ สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับพวกเขาในการแข่งขันกับจีนคือการที่ว่าพวกเขาจะทำอย่างไรกับการที่อุปทานอย่าง แผงโซลาร์เซลล์, รถ EV, และแบตเตอรี นั้นได้กลายเป็นตลาดอิ่มตัวไปแล้วในตลาดในประเทศ

คาลาบรีสบอกว่า ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปกังวลว่าการที่จีนสามารถผลิตสินค้าเหล่านี้ออกมาในตลาดได้มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดการทุ่มตลาดในพื้นที่ตลาดของสหรัฐฯ และยุโรปได้ โดยการตัดราคาให้ต่ำ ทำให้สหรัฐฯ และยุโรปปั้นตลาดในประเทศให้กับสินค้าตัวเองได้ยาก

ทั้งนี้ประเทศตะวันตกยังดูเหมือนจะเล็งเห็นด้วยว่าการที่ประเทศต่างๆ ร่วมมือกับบริษัทจีนในเรื่องการเป็นแหล่งผลิตหรือแหล่งประกอบวัตถุดิบนั้น อาจจะทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีและข้อจำกัดด้านการนำเข้าอื่นๆ ได้ จึงทำให้มีกรณีที่สหรัฐฯ พยายามกดดันบางประเทศ เช่น เม็กซิโก ให้ขจัดสิ่งล่อใจให้บริษัทรถ EV จีนเข้าไปผลิตในประเทศของพวกเขา คาลาบรีสประเมินว่าเป็นไปได้ที่ยุโรปจะเล็งเห็นแบบเดียวกันและจะดำเนินการแบบเดียวกับสหรัฐฯ หรือไม่เช่นนั้นก็ได้ทำไปเรียบร้อยแล้ว คือการกดดันโมร็อกโกไม่ให้เอื้อต่อบริษัทจีน


เรียบเรียงจาก

Morocco ‘explodes’ as hotspot for Chinese investment in electric vehicles and new energy, SCMP, 27-07-2024
https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3272064/morocco-explodes-hotspot-chinese-investment-electric-vehicles-and-new-energy

Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, เศรษฐกิจ, รถ EV, ยานยนต์ไฟฟ้า, โมร็อกโก, จีน, แร่แรร์เอิร์ธ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net