Skip to main content
sharethis

มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม ออกข้อเสนอแนะต่อ “แพทองธาร” ให้ออกนโยบายเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ทั้งการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ทำประชามติให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย สสร. และเดินหน้ากระบวนการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ รวมถึงเร่งรัดการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ

26 ส.ค.2567 โคทม อารียา ในฐานะประธานมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม (Peace and Culture Foundation)  ออกจดหมายเปิดผนึกเรื่องข้อเสนอแนะนโยบายด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชน 4 ประเด็นถึงแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณารับไปเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภา

ประเด็นแรก การสมานไมตรีทางการเมือง ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลหลายรัฐบาลจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาหลายชุด และมีข้อเสนอมากมายในเชิงหลักการ แต่ทว่ายังมีข้ออ่อนในทางปฏิบัติคือ ขาดกระบวนการและกิจกรรมเพื่อความปรองดองและการสมานไมตรีที่กว้างขวางและต่อเนื่อง มูลนิธิฯ จึงขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเพื่อการสมานไมตรี โดยมีการดำเนินการ ดังนี้

  1. แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อ
    1. ศึกษาและเสนอแนะนโยบาย มาตรการ กลไก และวิธีการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งอย่างสันติและสร้างสรรค์ เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนฟื้นคืนความยุติธรรมแก่สังคม และเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นของความบาดหมางใหม่ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง
    2. พัฒนาและจัดให้มีกระบวนการถกแถลงที่เปิดกว้างต่อสาธารณะ โดยอาศัยการสื่อสารทั้งต่อหน้ากันและผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความเห็นพ้องในสังคม ในประเด็นที่อาจเป็นข้อขัดแย้งระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงกรณีที่รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 77 วรรคสอง และ
    3. พัฒนาและจัดให้มีกระบวนการคนกลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการพูดคุยระหว่างภาคีความขัดแย้งที่เอื้อต่อการแสดงออกอย่างเสรี เป็นธรรม และปลอดภัย ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่างกัน อันนำไปสู่การยอมรับคุณค่าของการอยู่ร่วมกันโดยเคารพความแตกต่าง
  2. ดำเนินการให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษคดีการเมือง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการทำกิจกรรมทางการเมืองโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ตลอดจนนักโทษทางความคิด ความเชื่อ หรือผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดีเพราะเหตุผลทางการเมือง
  3. มีมติเรื่องการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อถามความเห็นจากประชาชนว่า “เห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่” ทั้งนี้ โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่เปิดให้มีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองที่เอื้อต่อการสมานไมตรีดังกล่าว

ประเด็นที่สอง การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และมีเป้าหมายไม่เฉพาะเพียงการยุติความรุนแรงทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความยุติธรรม ความเสมอภาค และการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มูลนิธิฯ จึงขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการดำเนินการ ดังนี้

  1. ทบทวนการประกาศใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ตามหลักการของมาตรา 77 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายทั้งสองฉบับและกฎหมายด้านความมั่นคงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทันสมัย เกิดความสมดุลในการปฏิบัติระหว่างความมั่นคงของประเทศ สังคม และชุมชน บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
  2. ทบทวนโครงสร้างการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ใหม่ เพื่อลดความซับซ้อนและดำเนินตามหลักการควบคุมโดยพลเรือน (Civilian Control) โดยขอให้ศึกษาและกำหนดความสัมพันธ์ของหน่วยงานพลเรือนและทหาร เพื่อให้ร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิผลอันจะนำไปสู่สันติภาพและความยุติธรรม
  3. จัดให้มีเวทีปรึกษาหารือเพื่อเปิดพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงหรือผู้มีบทบาททั้งด้านการใช้ความรุนแรงและด้านส่งเสริมสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งผู้นำด้านการทหารและการเมือง ผู้นำทางสังคมและธุรกิจ และผู้นำชุมชนและประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างภาพอนาคตหรือยุทธศาสตร์ร่วมกัน และนำเสนอผลการหารือดังกล่าวสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่ตัดสินใจเชิงนโยบายในกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ
  4. ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการเก็บสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร รวมทั้งของเด็กและเยาวชนตามโรงเรียนและสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
  5. ยอมรับและเคารพในความเป็นพหุวัฒนธรรมของสังคมไทย ขจัดอคติและการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ศาสนา และดำเนินมาตรการในการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติและศาสนาไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด ทั้งหน่วยงานของรัฐจะต้องไม่สนับสนุนการกระทำดังกล่าวไม่ว่าในทางหรือรูปแบบใด ๆ รวมทั้งประกันการเคารพ ยึดถือ และปฏิบัติซึ่งสิทธิในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตัวอย่างการส่งเสริมพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มี อาทิ การริเริ่มด้านทักษะวัฒนธรรม (Cultural Fluency) ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร การเรียนการสอนแนวทวิ/พหุภาษา (Bi/Multilingual Education) ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และการสร้างความสัมพันธ์ข้ามศาสนา (Interfaith Relations)  เป็นต้น

ประเด็นที่สาม เร่งรัดการบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น มูลนิธิฯ จึงขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเร่งรัด  การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้

  1. เร่งรัดหน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ได้จัดทำระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือคำสั่ง ตลอดจนการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายลำดับรองของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
  2. ให้มีการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสังคม ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง
  3. ร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาสังคมและผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อดำเนินมาตรการให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเข้มงวดและจริงจัง โดยเฉพาะการเยียวยาผู้ถูกละเมิดและครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย รวมทั้งการติดตามตรวจสอบกรณีสูญหายที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายนี้ใช้บังคับ

ประเด็นที่สี่ยุติโทษประหารชีวิตเพราะการประหารชีวิตเป็นการลิดรอนสิทธิในการมีชีวิต (Right to Life) ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และยังเป็นการปิดโอกาสมิให้ผู้ถูกลงโทษได้กลับตัวกลับใจ อีกทั้งในกรณีการตัดสินคดีที่มีข้อผิดพลาด ก็ย่อมทำให้ไม่สามารถคืนความยุติธรรมแก่ผู้ถูกลงโทษได้ มูลนิธิฯ จึงขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเพื่อยุติโทษประหารชีวิต ดังนี้

  1. ยุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต และในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิตไปพลางก่อน
  2. จัดให้มีการศึกษาและยกร่าง “พ.ร.บ.การใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิต พ.ศ….” เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโทษทางอาญาจากโทษประหารเป็นจำคุกตลอดชีวิต ทั้งนี้ ด้วยความเคารพสิทธิในการมีชีวิต ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความจำเป็นที่จะปกป้องสังคมจากอาชญากรรมร้ายแรง ตลอดจนการเยียวยาผู้เสียหายโดยตรงจากอาชญากรรมดังกล่าว
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net