Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในปาฐกถาล่าสุด “นิเวศทางปัญญาของมหาชนยุทธศาสตร์ทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต” (ดู https://waymagazine.org/prawes-wasi-speech/) ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี พูดถึงปัญหาสังคมไทยว่าเกิดจาก “การที่ประเทศเต็มไปด้วยโครงสร้างอำนาจ แต่ขาดโครงสร้างทางสมอง
หรือโครงสร้างทางปัญญาที่พอเพียง ถึงจะพัฒนาด้านอื่นๆ เท่าใด ก็จะออกจากวิกฤตไม่ได้
ถ้าไม่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางปัญญา” ผมอยากแลกเปลี่ยนบางประเด็น

ประเด็นแรก คุณหมอประเวศกล่าวว่า “สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจมาอย่างน้อยตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา การคิดเชิงอำนาจทำให้ประเทศไทยไม่สามารถออกจากสภาวะวิกฤตได้” สอดคล้องกับ “บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาวและอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ” ตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าเคยใช้ชีวิตอยู่ในรัสเซียยาวนานกว่าสิบปี ได้พบเห็นผลเสียอย่างเลวร้ายอันเกิดจากการใช้อำนาจบาตรใหญ่และระบอบทาส เชื่อไหมว่าที่เมืองสยามนี่ ข้าพเจ้าได้พบเห็นเรื่องที่น่าเศร้าน่าเวทนาไม่แพ้กัน ณ ดินแดนแห่งนี้ ผู้ด้อยกว่าจะต้องยอบกายเนื้อตัวสั่นเทาต่อหน้าผู้เหนือกว่า คอยรับฟังคำสั่งในท่าคุกเข่าหรือไม่ก็หมอบกราบ แสดงท่าทีว่ายอมสยบให้ เมืองทั้งเมือง สังคมทั้งสังคมในทุกระดับชั้นล้วนตกอยู่ในสภาวะหมอบกราบทั่วทุกหัวระแหง ทาสหมอบกราบนาย นายเล็กนายใหญ่หมอบกราบนายบ้าน ผู้นำทางทหาร พระสงฆ์และไพร่ฟ้าทุกคนต่างหมอบกราบองค์พระมหากษัตริย์...”

ที่ว่า “พระสงฆ์หมอบกราบองค์พระมหากษัตริย์” อ็องรี มูโอต์น่าจะบันทึกคลาดเคลื่อน แต่ก็มีที่เขาตั้งข้อสังเกตไว้เกี่ยวกับทุกข์ของชาวสยามที่ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นจริงหรือไม่ เช่นว่า “ราวกับประเทศนี้ยังทุกข์ทนไม่พอในอันที่ต้องค้ำจุนและแบกรับระบอบกษัตริย์ ราชสำนัก นางใน อีกทั้งลูกๆ หลานๆ จำนวนไม่ใช่น้อย...” 

ต่อให้เราเลิกระบบไพร่ ทาส และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2475 แล้ว “การคิดเชิงอำนาจ” แบบที่คุณหมอประเวศพูดถึงก็ยังดำเนินต่อมาผ่านการบริหารอำนาจของชนชั้นนำด้วยวิธีรัฐประหารเกือบยี่สิบครั้งที่บังคับให้ประชาชนต้องสยบยอม

คุณหมอประเวศขยายความว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่ภายใต้ “โครงสร้างอำนาจแนวดิ่ง” ทั้งโครงสร้างอำนาจการเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ ศาสนา ทุกระบบที่อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจแนวดิ่งเรียนรู้น้อยขาดปัญญาและทำให้เกิดวิกฤตที่แก้ไม่ได้

ประเด็นที่สอง เราจะออกจากวิกฤตสังคมโครงสร้างอำนาจแนวดิ่งอย่างไร คุณหมอประเวศเสนอว่า ระบบปัญญาเพื่อการพัฒนาประเทศให้พ้นวิกฤต ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบหรือมรรค 8 ดังต่อไปนี้

1. เครือข่ายปัญญามหาชนพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการทั้งจังหวัด (ปัญญามหาชนสร้างสวรรค์บนดินทุกถิ่นจังหวัด)

2. อุดมศึกษาคือหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต

3. ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อยกระดับศักยภาพคนไทยอย่างก้าวกระโดด

4. ปัญญาสุดยอดของชาติ – ปัญญานโยบายสาธารณะ

5. กลุ่มเซลล์สมองเต็มประเทศ – กลุ่มจัดการการเรียนรู้ขนาดเล็ก

6. ภาคธุรกิจกับการพัฒนาระบบปัญญา

7. ระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่ดี

8. กลุ่มคลังสมองทางปัญญา (Wisdom Think Tank) โดย สกสว.

ในปาฐกถามีรายละเอียดมาก และมีบทสรุปที่สวยงามว่า “เส้นทางสายปัญญาหรือมัชฌิมาปฏิปทา จึงน่าจะเป็นเส้นทางที่นำประเทศไทยไปสู่การมีพลังแผ่นดินที่จะพาประเทศไปสู่ยุคใหม่ที่มีความเจริญอย่างแท้จริง และโดยที่โลกก็วิกฤตเพราะคิดแบบแยกส่วน พลังแห่งมัชฌิมาปฏิปทาของไทยจึงอาจช่วยโลกได้ด้วย”

แต่ผมพยายามอ่านเพื่อค้นหาว่ามีไหมที่คุณหมอประเวศพูดถึง “เสรีภาพ” ปรากฏว่าไม่มีเลย เนื้อหาของปาฐกถาพยายามเสนอแบบครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม – วัฒนธรรม – สุขภาพ – การศึกษา – ประชาธิปไตย

ทำให้ผมนึกถึงคำถามของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลว่า ถ้าเราไม่พูดถึง “เสรีภาพ” เราจะเปลี่ยนสังคมอำนาจไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร อาจารย์สมศักดิ์วิจารณ์แรงๆ ว่า “เสรีภาพไม่มีที่ยืนในแวดวงปัญญาชนไทย” คือเราพูดกันถึงปัญหาของสังคมอำนาจ, โครงสร้างอำนาจแนวดิ่ง, ภาคประชาชน, ภาคประชาสังคม, การมีส่วนร่วม, ลดความเหลื่อมล้ำ, องค์รวม, ไม่แยกส่วน, พหุวัฒนธรรม ฯลฯ 

แต่ทุกคนก็รู้ๆ กันทั้งนั้นว่าสังคมเรา “ไม่มีเสรีภาพที่จะพูดความจริง” ของปัญหาระดับรากฐานของการเมืองไทยที่ทำให้เราไม่สามารถจะบรรลุความฝันต่างๆ เหล่านั้น ทว่าเราเลี่ยงที่จะอภิปรายปัญหาการไม่มีเสรีภาพในการพูด การแสดงออก หรือการอภิปรายสาธารณะในประเด็นสถาบันกษัตริย์อันเป็นปัญหารากฐานการเมืองไทย

หากดูจากประวัติศาสตร์สังคมอารยะ “ปัญญาสาธารณะ” อย่างที่คุณหมอประเวศต้องการให้เกิดมันเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการต่อสู้เพื่อให้มีเสรีภาพในการพูดความจริง ดังนั้น ในยุคแสงสว่างทางปัญญา (the Enlightenment) จึงไม่ใช่เป็นเพียงยุคแห่งการทุ่มเทเพื่อค้นคว้าและสร้างความรู้ใหม่ๆ ของบรรดานักคิดต่างๆ เท่านั้น หากยังเป็นยุคของการยืนยันเสรีภาพและความเสมอภาคไปพร้อมๆ กันด้วย

ก่อนหน้านั้น เราเห็นคุณหมอประเวศวิจารณ์นักการเมืองอย่างถึงราก แต่เมื่อเกิดรัฐประหารสองครั้ง และอยู่ภายใต้อำนาจ คสช.มากว่าห้าปี จนกระทั่งวันนี้ที่อยู่ภายใต้การสืบทอดอำนาจเผด็จการ เรายังไม่เคยเห็นคุณหมอประเวศวิจารณ์เผด็จการตรงไปตรงมาและอย่างถึงรากแบบที่วิจารณ์นักการเมืองเลย 

ผมยอมรับว่าสิ่งที่คุณหมอประเวศเสนอล้วนเป็นสิ่งที่ดี และเกิดจากเจตนาดีต่อส่วนรวมทั้งนั้น แต่การไม่ยืนยัน “เสรีภาพในการพูดความจริง” เกี่ยวกับรากฐานของปัญหาการเมืองไทย ไม่เคยเสนอชัดเจนเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ระบบยุติธรรมเพื่อให้สังคมไทยพ้นจากวิกฤตโครงสร้างอำนาจแนวดิ่งเลย นี่ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่อาจเข้าใจได้

เพราะถ้าคุณยืนยันการ “ไม่แยกข้างแยกขั้ว” คุณย่อมรู้ว่าโครงสร้างอำนาจแบบไหนที่เป็นเงื่อนไขของแยกข้างแยกขั้วอย่างไม่เป็นธรรม 

หรือพูดอีกอย่าง ในความเป็นจริงสังคมทุกสังคมก็มีข้างมีฝ่ายที่มีความเห็นต่างทั้งนั้น หากไม่มีเสรีภาพที่เท่าเทียมในการพูด การแสดงออก การอภิปรายสาธารณะ เสรีภาพทางการเมืองและอื่นๆ คนที่คิดต่างจะอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคและมีศักดิ์ศรีความเป็นคนได้อย่างไร และสิ่งที่คุณหมอประเวศฝันจะเป็นจริงได้อย่างไร

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net