จะเด็จ เชาวน์วิไล: ดีเอ็นเอไม่ควรกำหนดบทบาทมนุษย์-สลายนิยามแม่และเมีย

 

“สตรีทุกท่านมี DNA ของความเป็นแม่และภรรยา จงหาให้พบและใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม”

คือโควทที่ลงในเฟสบุ๊คแฟนเพจของ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเป็นคำพูดจากการบรรยายพิเศษที่จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจำกัดบทบาทของสตรีและไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามคำพูดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบรรยายทั้งหมดของจุติ ซึ่งเขาได้ออกมาโพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า ไม่ได้พูดเหยียดหยามแต่เป็นการส่งเสริมให้มีบทบาทมากกว่าเป็นแม่และภรรยาที่มีความอดทนมากในตัวอยู่แล้ว รวมถึงยังให้สัมภาษณ์ว่าตนส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของผู้หญิง และอยากเห็นนายกรัฐมนตรีหญิงอีกสักคน

แต่คำพูดดังกล่าวนั้นมีคำถามที่น่าสนใจ นั่นคือดีเอ็นเอหรือสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดนั้นกำหนดบทบาทหน้าที่ของคนได้จริงหรือไม่ คำนิยามของคำว่าแม่และเมียในสังคมไทยนั้นกว้างหรือแคบมากน้อยเพียงใด และสุดท้ายคำพูดแบบนี้สะท้อนถึงสังคมแบบไหนที่กำลังบ่มเพาะหล่อหลอมเราอยู่

ประชาไทชวนคุยกับ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ผู้ได้รับรางวัลในวันสตรีสากลปี 61 จากการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศมาอย่างยาวนาน เพื่ออ่านมุมมองเขาต่อกรณีดังกล่าว ต่อกรณีดังกล่าว

 

จะเด็จ เชาวน์วิไล : 'ไม่มีฮีโร่' บนเส้นทางขบวนการ ปชช. มีแค่อุดมการณ์สู้ 'ความไม่เป็นธรรม'

 

“เราอาจจะมองได้ว่าไม่ใช่ความผิดของใครที่คิดแบบนี้ แต่เราต่างเป็นเหยื่อของแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่กดทับทั้งเพศชาย หญิง และกลุ่มเพศหลากหลาย ถ้าเราจะโจมตีก็ต้องไปโจมตีที่แนวคิดชายเป็นใหญ่ และคำนิยามของความเป็นชายหรือหญิงที่คับแคบเกินไป” จะเด็จให้ความเห็น

 


จะเด็จ เชาวน์วิไล ภาพจากเฟสบุ๊ค Jaded Chouwilai

 

สังคมชายเป็นใหญ่ ปัญหาเชิงโครงสร้างของสถาบันครอบครัว-การศึกษา-สื่อ

จะเด็จชี้ว่า หากมองภาพกว้างนี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ในสังคมชายเป็นใหญ่ มีการบ่มเพาะเรื่องนี้มานานผ่านบริบท ของ หนึ่ง-สถาบันครอบครัว ลูกชายต้องเป็นผู้นำ ต้องเข้มแข็ง ร้องไห้ไม่ได้ ลูกผู้หญิงต้องเรียบร้อย เล่นทโมนจะดูไม่ดี และที่สำคัญคือต้องดูแลครอบครัว ทำงานบ้าน ปรนนิบัติสามี

สอง-สถาบันการศึกษา หลักสูตรการศึกษาไม่ได้เปลี่ยนไป ยังคงสอนวนเวียนเรื่องแบบนี้ และพยายามตอกย้ำว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่ที่ดี เลี้ยงดูลูก ต้องทำงานบ้าน แต่ไม่เคยพูดถึงว่าผู้ชายก็ต้องเลี้ยงลูกหรือทำงานบ้านได้เช่นกัน

สาม-สื่อต่างๆ เช่น โฆษณาจะเห็นว่ามีภาพผู้หญิงเป็นแม่บ้านตลอด แทบไม่มีโฆษณาที่ผู้ชายทำงานบ้าน สินค้างานบ้านงานครัววนเวียนกับผู้หญิง หรือละครก็จะพูดถึงแต่บทบาทผู้หญิงที่เป็นแม่และเมียที่ดี

จะเด็จมองว่าวัฏจักรแบบนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับผู้หญิงด้วยแนวคิดชายเป็นใหญ่ผ่านสถาบันครอบครัว ผ่านระบบการศึกษา ผ่านระบบสื่อสารมวลชน ไปจนถึงเรื่องการเมือง ที่ผู้หญิงในสนามการเมืองจะถูกมองว่าทำไมไม่ดูแลลูก ดูแลครอบครัว หรือถูกใส่ร้ายเรื่องเพศ วัฒนธรรมแบบแม่และเมียมีอยู่ในสถาบันเหล่านี้และถูกตอกย้ำเรื่อยมา จนสังคมเคยชิน ผู้ชายเชื่อว่าตนแต่งงานเพราะต้องการแม่ของลูกและเมียที่จะดูแลตน หน้าที่อื่นนอกเหนือจากนี้ของผู้หญิงไม่เคยอยู่ในความคิดกระแสหลัก

 

ดีเอ็นเอไม่ควรกำหนดบทบาทมนุษย์ นิยามพ่อ-แม่ความหมายเหมือนกัน

ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงไทยก้าวไกลให้ความเห็นว่า เรื่องดีเอ็นเอเป็นเรื่องถูกกำหนดเลยโดยธรรมชาติ เช่นเดียวกับเรื่องสรีระ ที่ผู้หญิงเป็นคนคลอดลูก เป็นคนให้นมลูก สิ่งเหล่านี้ไม่ควรนำมากำหนดบทบาทของมนุษย์ บทบาทความเป็นแม่และเมียเป็นบทบาททางสังคมซึ่งเปลี่ยนได้ แต่สังคมชายเป็นใหญ่ทำให้บทบาทผู้หญิงถูกจำกัด ทั้งที่จริงแล้วผู้ชายเป็นแม่ได้ ผู้ชายทำงานบ้านได้ ผู้หญิงก็เป็นพ่อได้ เป็นผู้นำได้ พ่อและแม่เป็นบทบาทที่สลับซับเปลี่ยนกันได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข

“ดังนั้นคำนิยามของพ่อหรือแม่จริงๆแล้วก็เหมือนกัน สลับกันไปมาได้ ในยุโรปเปิดให้ผู้ชายสามารถลางานไปเลี้ยงลูกได้ด้วย บางครั้งก็เป็นผู้ชายที่ลาออกจากงานไปเลี้ยงลูก และให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายทำงาน ไม่ใช่เรื่องของการเสียศักดิ์ศรี” จะเด็จกล่าว

 

เสียโอกาส-ถูกใช้ความรุนแรง ผลกระทบต่อผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่

เมื่อมองเรื่องผลกระทบของเพศหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ จะเด็จชี้ว่า โอกาสการทำงานและโอกาสพัฒนาศักยภาพตัวเองของผู้หญิงจะน้อยกว่าผู้ชาย เช่น มีที่ทำงานบางแห่งที่ไม่รับผู้หญิง หรือไม่เลื่อนตำแหน่งเพราะคิดว่าอีกไม่นานผู้หญิงก็ต้องลาออกไปเลี้ยงลูก มองว่าผู้หญิงทำอะไรไม่ได้มาก เกิดการเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัวซึ่งทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเคยทำกรณีแบบนี้ ส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้ชายรู้สึกเป็นเจ้าของ รู้สึกมีอำนาจเหนือกว่า และรู้สึกว่าผู้หญิงมีหน้าที่เป็นเมียและแม่เพียงเท่านั้น บางครั้งนำไปสู่ความหึงหวง เกิดการทำร้ายกัน บางเคสข่มขืนภรรยาตัวเอง และบางเคสถึงขั้นฆ่ากัน

 

สลายนิยาม ผู้หญิงไม่ได้เป็นแค่เมียและแม่ แต่เป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น

เมื่อถามถึงทางออกจากสังคมชายเป็นใหญ่ จะเด็จเห็นว่าควรสลายคำนิยาม ผู้หญิงไม่ได้เป็นแค่แม่และเมีย ควรมีการปลูกฝังแบบใหม่ ครอบครัวสมัยใหม่ต้องเชื่อว่าผู้หญิงผู้ชายเท่าเทียมกัน ปลูกฝังว่าผู้ชายก็ทำงานบ้านได้ เลี้ยงลูกได้ ปลูกฝังผู้หญิงให้เป็นผู้นำได้ เล่นทโมนได้ ป้องกันตัวเองได้ ต้องยอมรับความหลากหลายทางเพศ เพศไม่ได้มีแค่สองเพศ และไม่นำเรื่องเพศมาจำกัดบทบาทหน้าที่ ขณะเดียวกันสื่อก็ต้องต้องเปลี่ยน ต้องพยายามสื่อสารว่าผู้หญิงเป็นได้มากกว่าแม่และเมีย และกระทรวง พม. ต้องไม่ทำเฉพาะเรื่องการให้รางวัล แต่ควรทำในระดับนโยบายและการรณรงค์ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีต้องถอดรื้อชุดความคิดชายเป็นใหญ่ให้ได้

"อย่างกรณีแบบเพจพ่อบ้านใจกล้า ที่หลายคนโต้แย้งว่าผู้หญิงเป็นใหญ่เพราะเป็นฝ่ายสั่งให้ผู้ชายทำงานบ้าน ทำอาหาร ดูแลภรรยา ส่วนตัวมองว่าก็เป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ชายทำงานเหล่านี้ได้ แต่สุดท้ายต้องไปดูว่าในความสัมพันธ์จริงๆ ผู้หญิงมีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ เท่าเทียมกับผู้ชายหรือไม่" จะเด็จกล่าว

 

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท