Skip to main content
sharethis

หลังการชุมนุมต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ล่าสุดรัฐบาลฮ่องกงออกมาตรการใหม่เพื่อบีบผู้ชุมนุม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการบังคับใช้กฎหมายห้ามสวมหน้ากาก โดยมีผู้ประท้วง 2 รายถูกจับด้วยข้อหานี้เป็นครั้งแรกและเพิ่งได้รับการประกันตัวในวันจันทร์นี้ (7 ต.ค.)

ทิวทัศน์ของฮ่องกงในปี 2009 (ที่มาของภาพประกอบ: Flickr/Bernard Spragg. NZ/Public Domain)

ทางการฮ่องกงจับกุมและตั้งข้อหาผู้ประท้วงด้วยกฎหมายห้ามสวมหน้ากากเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมาก่อนที่จะอนุญาตให้มีการประกันตัวผู้ประท้วง 2 คนนี้

ทางการอ้างกฎหมายห้ามสวมหน้ากากมาใช้ตั้งข้อหาพวกเขาซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ "บัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉิน" (Emergency Regulations Ordinance) ที่มีมาตั้งแต่สมัยฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และมีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี

ฮ่องกงฟรีเพรสระบุว่านี้เป็นครั้งแรกที่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ โดยที่ผู้ประท้วง 2 รายถูกตั้งข้อหาในการพิจารณาที่ศาลอีสเทิร์นมาจีสเตรทคอร์ทเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 ต.ค. วันเดียวกับที่มีเทศกาลชงโหย่งที่มีการเคารพบรรพบุรุษคล้ายเทศกาลเชงเม้ง โดยในช่วงที่มีการพิจารณาคดีนั้นมีผู้ประท้วงราว 100 คนไปปรากฏตัวที่ศาลเพื่อให้กำลังใจผู้ที่ถูกจับกุมในครั้งนี้

ผู้ที่ถูกจับกุมในครั้งนี้มีนักศึกษาชายอายุ 18 ปี กับหญิงอายุ 38 ปี พวกเขาถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมาในย่านกวนตง ทางการยังตั้งข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมายกับพวกเขาด้วย โดยหลังจากมีการพิจารณาคดีในศาลพวกเขาก็ได้รับอนุญาตประกันตัวและสั่งให้มีการเลื่อนพิจารณาคดีไปเป็นวันที่ 18 พ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยที่ผู้ถูกจับกุมไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากฮ่องกงและต้องปฏิบัติตามกฎห้ามออกนอกเคหะสถานในช่วงเวลาระหว่าง 5 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้า รวมถึงต้องรายงานตัวตัวตำรวจ 1 ครั้งต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตามมีการฟ้องร้องเพื่อต่อสู้ในเรื่องนี้ โดยเป็นการต่อศาลสูงเพื่อให้มีการต่อต้านกฎหมายการห้ามหน้ากาก

รัฐบาลฮ่องกงประกาศบังคับกฎใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสร้างความไม่พอใจให้ผู้ชุมนุมมากยิ่งขึ้น เดอะการ์เดียนระบุว่ามีประชาชนหลายหมื่นคนยังคงเดินขบวนท่ามกลางสายฝนในย่านใจกลางของฮ่องกงและในหลายๆ ย่านเพื่อต่อต้านกฎหมายนี้และต่อต้านความรุนแรงของตำรวจ ซึ่งมีคนส่วนใหญ่ยังคงสวมหน้ากากเพื่อแสดงการขัดขืนต่อข้อบังคับใหม่ ในช่วงบ่ายมีการใช้แก็สน้ำตาจากตำรวจเพื่อพยายามสลายการชุมนุมส่วนผู้ชุมนุมก็เริ่มทำลายข้าวของๆ กลุ่มธุรกิจที่เชื่อว่าเป็นธุรกิจที่สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงมีบางส่วนทำให้เกิดความเสียหายต่อรถไฟใต้ดิน

ทั้งนี้รัฐบาลฮ่องกงยังได้สั่งปิดสถานีรถไฟใต้ดินในวันจันทร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ทำให้ผู้ประท้วงแสดงความไม่พอใจทั้งจากเรื่องที่การปิดสถานีรถไฟเป็นการสกัดกั้นคนไม่ให้รวมตัวกันชุมนุมหรือสลายตัวได้ และไม่พอใจที่ตำรวจใช้กำลังโจมตีผู้ชุมนุมจากในสถานีรถไฟใต้ดิน

การประกาศใช้บัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ไม่เคยมีมาก่อนเลยนับตั้งแต่ช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้และไม่มีมีการประกาศใช้เลยหลังจากที่อังกฤษส่งเกาะฮ่องกงให้อยู่ใต้การปกครองของจีนในปี 2540 มีข้อกังวลว่าการบังคับใช้มาตรการนี้จะทำให้ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง แคร์รี หลำ มีอำนาจอย่างไร้ขอบเขต นักวิจารณ์กล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ขาดความชอบธรรมและเป็นก้าวแรกไปสู่เผด็จการอำนาจนิยม อย่างการบีบบังคับควบคุมชีวิตประจำวันของประชาชน

ในช่วงที่มีการประกาศบังคับใช้บัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉิน แคร์รี หลำ ยังเปรยไว้ว่าถ้าหากยังคงมีการประท้วงดำเนินต่อไปทางรัฐบาลอาจจะใช้มาตรการที่หนักข้อกว่านี้รวมถึงการบังคับใช้เคอร์ฟิว

คริส แพทเทน อดีตผู้ว่าการรัฐฮ่องกงคนสุดท้ายก่อนที่ฮ่องกงจะอยู่ภายใต้การปกครองของจีนเป็นหนึ่งในผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์มาตรการใหม่นี้ โดยบอกว่าแคร์รี หลำ ใช้วิธีการหนักข้อเกินไป พูดเน้นถึงเรื่องที่ตำรวจติดอาวุธทำให้เยาวชนบาดเจ็บสาหัส อีกทั้งยังเตือนว่าสถานการณ์อาจจะยกระดับมากขึ้นกว่าเดิมถ้าหากแคร์รี หลำ ยังไม่ยอมเจรจากับผู้ชุมนุม โดยเฉพาะผู้ชุนมุมที่ประท้วงอย่างสงบ

เรียบเรียงจาก

Two Hong Kong protesters charged with violating anti-mask law released on bail, Hong Kong Free Press, 07-10-2019

Hong Kong protests: first charges brought under laws banning face masks, The Guardian, 07-10-2019

Violence grips Hong Kong as Lam activates emergency powers, The Guardian, 04-10-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net