“คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” (1): เหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีวันนั้นและกระบวนการยุติธรรมที่ถูกแทรกแซง

‘ประชาไท’ รวบรวมงานเสวนา 2 งานอันเนื่องมาจากกรณีผู้พิพากษาคณากรยิงตนเองในศาลจังหวัดยะลา ต่อเนื่อง 9 ตอน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพตั้งแต่รายละเอียดของคดีจนถึงภาพรวมปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เริ่มจาก อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความจำเลยคดีนี้

  • ข้อเท็จจริงทางคดีจากปากคำของทนายความที่ว่าความในคดีนี้
  • เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีวันที่ผู้พิพากษาคณากรยิงตนเอง
  • กระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เริ่มต้นที่ตำรวจ แต่เริ่มต้นที่ทหารที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจของพนักงานสอบสวนจึงถูกจำกัดและแทรกแซง

คณากร เพียรชนะ

กรณีการยิงตนเองของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ศาลจังหวัดยะลา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสถาบันตุลาการและข้อกังขาว่าผู้พิพากษามีอิสระเพียงใดในการพิจารณาคดี ด้วยถ้อยคำในคำแถลงการณ์ที่ว่า

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเกิดงานเสวนาต่อกรณีนี้ 2 งานคือ ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ: สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต’ ในวันที่ 10 ตุลาคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยวิทยากรทั้งสองงานมีตั้งแต่ทนายความที่ทำคดีดังกล่าว นักสิทธิมนุษยชน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นักวิชาการด้านกฎหมาย และสื่อมวลชน

เสวนาทางกฎหมาย เรื่อง“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

เพื่อให้ภาพที่สมบูรณ์ ครบทุกมิติ ‘ประชาไท’ จึงนำทั้งสองงานมาร้อยเรียงเป็นซีรีส์ว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ข้อเสนอเพื่อแก้ไข และความอิสระที่ว่านั้นควรอิสระเพียงใดจึงจะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าความอิสระเป็นพิษ

โดยเราจะเริ่มต้นจาก อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความจำเลยคดีหมายเลขดำที่ 3428/2561 ศาลจังหวัดยะลา เจ้าของคดีที่นำไปสู่การยิงตนเองของผู้พิพากษาคณากร ซึ่งจะบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีนี้และเหตุการณ์ในห้องพิพากษาวันนั้น

อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความจำเลยคดีหมายเลขดำที่ 3428/2561

ศูนย์ทนายความมุสลิมจะให้ความช่วยเหลือคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมทีก็เป็นแนวความคิดของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ให้ความช่วยเหลือกับคนที่ถูกคดีความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาก็มีการก่อตั้งเป็นมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เราก็ยังสานต่อให้ความช่วยเหลือกับคนที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม บุคคลที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับคดีนี้ไม่ได้เป็นคดีที่ฟ้องในข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง แต่เป็นหนึ่งในนโยบายในการให้ความช่วยเหลือของศูนย์ทนายความมุสลิม ก็คือถ้าบุคคลใดที่ถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งตอนนี้ก็คือกฎอัยการศึกกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548) ซึ่งบุคคลที่เป็นจำเลยทั้ง 5 ในคดีนี้ก็ผ่านกระบวนการมาด้วย เราก็ให้ความช่วยเหลือ ตอนแรกเราเข้าใจว่าคดีนี้จะถูกฟ้องในข้อหาความมั่นคงแต่สุดท้ายไม่ได้ฟ้อง

ข้อเท็จจริงทางคดี

คดีเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดและ  4 อำเภอในจังหวัดสงขลาจะมีอัยการพิเศษก็คือสำนักอัยการพิเศษ 3 ภาค 9 ในการเป็นโจทก์ในทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่คดีนี้เป็นอัยการจังหวัดยะลาเป็นโจทก์ในการยื่นฟ้อง เราก็ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ตอนแจ้งข้อกล่าวหา คดีนี้แม้จะไม่ใช่คดีความมั่นคง แต่ก็ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นคดีที่ค่อนข้างจะอุกฉกรรจ์ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบในคดีนี้ด้วยในเรื่องของการแถลงข่าว การควบคุมตัว ซึ่งเท่าที่ดูจากภาพตอนนั้นทั้งหมดก็อยู่ในการควบคุมของกฎหมายพิเศษในช่วงของการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

และคดีนี้นอกจากจำเลยทั้ง 5 ที่ถูกควบคุมตัวก็ยังมีอีกหลายคนที่ถูกคุมตัวในเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ประมาณ 3-4 คนที่ที่ได้รับการเปิดเผยในชั้นของการพิจารณาคดี แต่ไม่ถูกดำเนินคดี ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา หมายความว่าบุคคลเหล่านี้ถูกกันตัวไว้เป็นพยาน ซึ่งบุคคลเหล่านี้อ้างว่าตนเองก็รับสารภาพเหมือนกันในชั้นของกฎหมายพิเศษ รับว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นคนดูต้นทาง จัดหาบุคคลที่มายิงในเหตุการณ์นั้นด้วย ซึ่งบุคคลเหล่านั้นก็มีการร้องขอให้สืบพยานแบบลับหลังคือไม่เคยเผชิญหน้ากับจำเลยเพราะเป็นคนในชุมชนเดียวกัน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้ระบุชื่อไว้ในคำแถลงการณ์ด้วย

แต่ระหว่างการนำสืบ ถ้าพูดในเรื่องของการซักค้านของทนายความ พยานเหล่านี้ก็ยังมีพิรุธอยู่ ในการเบิกความของพยานความยังมีการตอบวนไปวนมา นิ่งเฉยต่อคำถามเป็นเวลาสักพัก ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ได้ถูกบันทึกในคำเบิกความของพยานหลักฐานด้วย ทำให้เห็นว่าพยานถึงแม้จะรับสารภาพในชั้นของกฎหมายพิเศษรวมไปถึงได้รับการสอบในฐานะพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในช่วงของการถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษนั้น ก็ยังเห็นว่ามีข้อแตกต่าง รวมไปถึงยังมีพิรุธอยู่มาก ประเด็นเหล่านี้ก็ถูกนำมาระบุในคำพิพากษาและคำแถลงการณ์ด้วย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ประเด็นการวินิจฉัยที่คดีนี้ไม่เป็นคดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคง เนื่องจากการที่ออกข่าวรวมไปถึงในการนำสืบก็คือบุคคลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ปัญหาก็คือมีบุคคลคนหนึ่งซึ่งเคยถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงถูกพาดพิงเป็นแกนหลักในคดีนี้ในการกระทำความผิด ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ที่ถูกดำเนินคดีในคดีความมั่นคงเคยถูกพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ก็เลยมุ่งประเด็นไปที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่พอสืบสวนสอบสวนคิดว่าน่าจะไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

แต่ทั้งนี้ แม้จะไม่ใช่ข้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายโดยตรง แต่ก็ยังมีข้อหาเกี่ยวกับการเป็นขบวนการ ซ่องโจร มีเรื่องของการเป็นที่ประชุม ก็มีพยานนำสืบในเรื่องของการประชุมเกิน 5 คนในการกระทำความผิดซึ่งศาลก็วินิจฉัยในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายด้วยว่า ในการประชุมนั้นก็ไม่มีบุคคลใดมายืนยันว่าเป็นการประชุมเรื่องอะไร อาจเป็นการประชุมเรื่องส่วนตัวก็ได้ อันนี้เป็นข้อเท็จจริงในภาพรวมของคดีในเบื้องต้น

คดีนี้ถึงแม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องก็ตาม แต่ในคำพิพากษาที่อ่านในวันนั้นก็ยังมีการให้ขังระหว่างอุทธรณ์ ตอนนี้จำเลยทั้ง 5 ก็ยังถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดยะลาอยู่ เนื่องจาก 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาเราพยายามดำเนินการขอประกันตัว แต่การรวบรวมหลักทรัพย์ในการประกันตัวพอได้คุยกับญาติแล้ว ส่วนใหญ่น่าจะมีฐานะยากจนไม่สามารถหาหลักทรัพย์ได้ กระบวนการต่อมาเราก็เลยติดต่อเพื่อขอทำเรื่องกับกองทุนยุติธรรมในการขอหลักทรัพย์ในการประกันตัวชั้นอุทธรณ์ ซึ่งต้องใช้หลักทรัพย์  500,000 ต่อคน

ในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้ง 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ถ้าคดีใดเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ ก่อการร้าย ทุกคดีจะมีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 มานั่งในการพิจารณาคดีด้วย แต่เนื่องจากคดีนี้ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับความมั่นคง ท่านรองอธิบดีก็เลยไม่ได้ร่วมนั่งพิจารณาในคดีนี้ แต่เราก็ทราบว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ซึ่งจะต้องส่งให้กับอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 เขาเรียกว่าตรวจร่างของคำพิพากษา

ในห้องพิจารณาคดีวันนั้น

เดิมคดีนี้จะมีการอ่านคำพิพากษาในเดือนสิงหาคม เราก็จดบันทึกไว้ พอมาถึงเดือนสิงหาคมก็ทราบว่ามีการเลื่อนอ่านคำพิพากษา ซึ่งในวันนั้นผมไม่ได้เข้าไปตอนที่อ่านรายงานว่าเลื่อนด้วยสาเหตุอะไร ตอนนี้ก็ยังไม่สามารถคัดได้ เราเข้าใจว่าคดีนี้ก็ต้องส่งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ในการตรวจร่างอยู่แล้ว พอมีการเลื่อนก็คิดว่าน่าจะต้องมีการพิจารณาคำพิพากษา แต่ก็ใช้เวลานานตั้งแต่สิงหาคมถึงตุลาคม เลยคิดว่าน่าจะต้องมีการแก้ไขอะไรในคำพิพากษา

ด้วยเหตุคดีนี้มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาทาง เราก็ไม่ได้เข้าไปเพราะไม่ได้บันทึกว่ามีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาก็ไม่ได้สอบถามวันว่างของทนายความ ดังนั้น ในห้องพิจารณาการอ่านคำพิพากษา การอ่านแถลงการณ์รวมถึงการใช้ปืนยิงตัวเองในวันนั้น ผมก็ทราบจากพยานแวดล้อมและญาติในคดีนี้มาอีกทีหนึ่ง ไม่ได้เป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้

ในวันนั้นหลังจากที่อ่านคำพิพากษาแล้ว ญาติแจ้งว่ามีการพูดคุยระบายถึงความรู้สึกเป็นเวลานานเกือบ 2 ชั่วโมงและยังให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ไม่อยู่ในห้อง มีแต่ตำรวจที่ติดตามและควบคุมตัวจำเลยโดยสั่งให้มีการล็อกห้องด้วย แล้วมีการบอกกับญาติว่าไลฟ์สดด้วย รวมไปถึงได้บอกไอดีเฟสบุ๊คให้กับญาติ ซึ่งในห้องพิจารณาไม่สามารถเอาเครื่องมือสื่อสารเข้าไปได้ ก็เลยไม่สามารถเปิดดูนะตอนนั้นได้ ผมก็มาทราบอีกทีหลังจากที่จำเลยถูกนำตัวไปจำขัง ก็เข้าไปหา จำเลยก็บอกว่าท่านได้บอกไอดีชื่อเฟสบุ๊คของท่านด้วยก่อนที่ฉากสุดท้ายที่จะมีการยิงนั้น เหมือนจำเลยและญาติบอกว่ามีการอ่านคำถวายคำสัตย์ปฏิญาณอีกครั้งหนึ่งก่อน เมื่อจบแล้วก็มีการยิงตัวเอง ซึ่งมุมในการยิงนั้นเหมือนว่าเอนข้างให้กับญาติเพื่อไม่ให้ญาติเห็นตอนที่ยิง

สุดท้ายเรื่องของการถวายสัตย์ปฏิญาณ ขณะที่มีการระบายถึงความรู้สึกญาติก็ร้องไห้ ญาติที่เป็นผู้ชายก็ร้องไห้ด้วย ท่านก็เลยห้ามการร้องไห้ว่าถ้าร้องไห้แล้วทำให้เขาต้องร้องไห้ด้วยก็จะไม่จบ ก็เลยขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งร้องไห้ ให้ช่วยฟังในสิ่งที่เขาพยายามจะพูดออกมา

ก่อนที่จะมีการพูดคุยหลังอ่านคำพิพากษาแล้ว ท่านก็ถามว่ามีใครบ้างที่อยู่ในห้องนี้ ก็มีบุคคลจำนวนหนึ่งที่บอกว่าไม่ได้เป็นญาติกัน แต่เป็นเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) ที่เข้ามาฟังคำพิพากษาด้วย ท่านก็ยังพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ส่วนนี้ว่ากระบวนการที่ทำตอนนี้มันเป็นอย่างไร ปัญหา อุปสรรคอยู่ตรงไหน เรื่องของการรับฟังพยานหลักฐาน กระบวนการซักถาม การดำเนินกรรมวิธีในชั้นของกฎหมายพิเศษ มันมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ก็พยายามอธิบายทางหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงให้กับญาติและผู้ที่อยู่ในห้องนั้น

ส่วนในช่วงการพิจารณาคดี เราก็เห็นเป็นภาพปกติของการนั่งพิจารณาคดีของท่าน ไม่เห็นมีความกดดัน ช่วงการสืบพยานก็ไม่เห็นมีความผิดปกติเรื่องภาวะทางอารมณ์ รวมไปถึงในคดีอื่นๆ ที่ผมได้เข้าไปในร่วมพิจารณาของท่านหลังจากนั้น

กระบวนการยุติธรรมที่เริ่มจากทหาร ไม่ใช่ตำรวจ

ต้นทางกระบวนการยุติธรรมอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดไม่ใช่มาจากตำรวจ แต่มาจากเจ้าหน้าที่ทหารก่อน เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุก่อน เดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่ทหารจะเป็นคนนำเข้าไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและถ่ายวีดิโอ โดยมีพนักงานสอบสวน ชุดพิสูจน์หลักฐานตามไปทีหลัง ถ้าได้สนทนากับพนักงานสอบสวนอันนี้เป็นปัญหาเหมือนกันในกระบวนการสอบสวน อำนาจของพนักงานสอบสวนถูกจำกัด ถูกแทรกแซง ว่ามีการกระทำไปก่อนแล้วเพื่อให้พนักงานสอบสวนมารับรองทีหลังก็มี

กระบวนการการรวบรวมพยานหลักฐาน รวมไปถึงแนวทางการต่อสู้คดีเพื่อหาคนที่ร่วมกระทำความผิดมีวิวัฒนาการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก ท้ายสุด 3-4 ปีหลังก็ใช้กระบวนการนำคนที่ร่วมกระทำความผิดด้วยมาเป็นพยานหมายความว่า ถ้าใครรับสารภาพก่อนหรือให้การที่เป็นประโยชน์ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไรก็ตาม ก็จะได้รับผลประโยชน์คือไม่ถูกดำเนินคดี ดังนั้น พล็อตเรื่องของการรับสารภาพก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกัน

ในแถลงการณ์ของท่านผู้พิพากษาก็พูดถึงว่า อาจจะมีการนำตัวละครหนึ่งขึ้นมาเพื่อสร้างให้เป็นพยานหลักฐานในคดี แล้วตัวละครเหล่านั้นในการนำสืบคดีนี้ที่ผ่านมา เราคุยกัน โจทก์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุใดจึงไปควบคุมตัวคนนี้คนแรกที่กันเป็นพยานและซัดทอดคนอื่น การตรวจค้นโทรศัพท์มือถือที่อ้างว่าใช้โทรศัพท์ บางทีก็เกิดขึ้นภายหลังที่อยู่ในกฎหมายพิเศษแล้ว แต่การไปควบคุมตัวบุคคลนี้ครั้งแรกมาจากอะไรก็ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ ข้อกังวลของการสร้างตัวละครขึ้นมานี้เป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าการต่อสู้ของเราไม่ใช่แค่ป้องกันไม่ใช่เพื่อช่วยเหลือจำเลย จากการกล่าวหา จากการถูกพิพากษา แต่มันเป็นการปกป้องผู้เสียหายด้วย

ในคดีนี้ญาติของผู้เสียหายมีการพูดว่าถ้าจำเลย 5 คนนี้ไม่ใช่คนร้าย รัฐก็มีหน้าที่ต้องหาคนร้ายอื่นต่อ แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดเมื่อคดีหนึ่งถูกนำเข้าสู่ศาล ถ้าคดีจบก็ไม่มีการสืบหาต่อว่าใครที่เป็นคนร้าย คนที่กระทำความผิดจริง อันนี้เป็นข้อคิดข้อสำคัญในพื้นที่ที่เราต้องร่วมกันต่อสู้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท