เขาคุยอะไรกัน สำคัญอย่างไร เมื่อภาคประชาชนพบตัวแทนรัฐในอาเซียนซัมมิท

ตัวแทนภาคประชาชนอาเซียนเข้าพบกับ รมว. ต่างประเทศหลายประเทศ เจ้าหน้าที่อาเซียนตัวใหญ่ๆ เป็นเวลา 30 นาที กิจกรรมนี้สำคัญอย่างไร เมื่อตามกลไกแล้วคนที่ควรพบทุกปีคือผู้นำประเทศที่ไม่ได้พบมาแล้วเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน ไปดูว่าเขาคุยอะไรกันในปีนี้  ย้อนเส้นทางภาคประชาชนอาเซียนปี 2562 หวานชื่นสู่ความตะกุกตะกัก ไม่พร้อมจัดงานเอง ถูกตัดงบเพราะรัฐอยากสอดส่อง โดน พม. จัดงานชื่อเดียวกัน วันเดียวกัน

ภาพบรรยากาศการประชุมพบปะระหว่างประชาสังคมและตัวแทนรัฐ-อาเซียน (ที่มา:asean2019.go.th)

เมื่อ 2 พ.ย. 2562 ในงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง มีการพบปะหารือกันระหว่างตัวแทนภาคประชาสังคมในอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศ เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน และเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นการพบปะอย่างเป็นทางการระหว่างตัวแทนฝั่งรัฐ อาเซียนและภาคประชาสังคมครั้งแรกในรอบ 5 ปี แม้ว่าตามกลไกอาเซียนระบุให้มีการพบปะกันทุกปี โดยครั้งสุดท้ายที่มีการหารือกันบนเวทีอาเซียนซัมมิท ต้องย้อนไปเมื่อปี 2558 ที่มาเลเซียเป็นประธานที่ภาคประชาสังคมได้เข้าพบกับผู้นำประเทศ

ฟากฝั่งรัฐ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (รมว.กต.) ของไทย มาเลเซีย รัฐมนตรีช่วยฯ กต. เวียดนาม เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (SOM) ของประเทศสมาชิกไปจนถึงเลขาธิการอาเซียน ขาดแต่บรูไนและลาวที่ไม่มีตัวแทนทั้งฝั่งประชาสังคมและรัฐ

ประเด็นการพูดคุยโดยสรุป เป็นเรื่องการสร้างความร่วมมือและความไว้วางใจระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น ประเด็นปัญหาชาวโรฮิงญา ความขัดแย้งในปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย การให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเสาหลักที่ 4 ของอาเซียน รวมถึงผลกระทบต่อประชาชนอาเซียนจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

เอกสารของภาครัฐระบุว่า มีการพูดคุยกันในเรื่องความร่วมมือกันอย่างยั่งยืนระหว่างประชาสังคมและรัฐในการบรรลุซึ่งการเป็นประชาคมอาเซียน ในที่ประชุมตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ประชาสังคมสนับสนุนการนับรวมความเห็นจากทุกภาคส่วน ทุกเพศ วัย และสถานภาพเพื่อเป็นเสียงสะท้อนไปยังผู้กำหนดนโยบาย

หลังจากเสร็จสิ้นการพบปะที่มีมาตการป้องกันความปลอดภัยสูง ที่โรงแรมทีเค พาเลซ ตัวแทนภาคประชาชนและสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (FORUM ASIA) ได้ออกมาจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับการพบปะดังกล่าว นอกจากนั้นยังใช้วาระโอกาสนี้เปิดตัวรายงานประเมินประสิทธิภาพของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) จัดทำโดย FORUM ASIA ด้วย

ซ้ายไปขวา: ฟิล โรเบิร์ตสัน โซมินธาน ราเชล อาดินี จูดิสธารี สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ มาร์เต เฮเลม่า 

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ผู้แทนภาคประชาสังคมจากไทยกล่าวว่า บรรยากาศการพบปะโดยรวมเป็นไปในทางบวกและสร้างสรรค์ ตัวแทนภาครัฐต่างเห็นด้วยกับการสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาสังคมซึ่งต่างยอมรับกันว่าปัจจุบันยังไม่ประสบความสำเร็จ ทางการไทยได้เน้นย้ำในเรื่องการสนับสนุนให้มีเครือข่ายสมาคมอาเซียน (ASEAN Association) สถาบันที่ประกอบไปด้วยคนจากหลายแวดวงทั้งกลุ่มธุรกิจ ประชาชน สื่อ มหาวิทยาลัย ที่ทำหน้าที่สร้างการรับรู้เกี่ยวกับอาเซียน เชื่อมโยงรัฐบาลและประชาสังคมที่ไทยเองได้มีการจัดตั้งมานานแล้ว แต่อยากให้มีการจัดทำเช่นกันในทุกประเทศสมาชิก

ในประเด็นชาวโรฮิงญา มาเลเซียดูจะเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทเด่น ชลิดาเล่าว่า รมว. ต่างประเทศของมาเลเซียเป็นตัวแทนประเทศเพียงชาติเดียวที่เสนอให้มีภาคประชาสังคมทำงานเต็มเวลาในประเด็นการนำชาวโรฮิงญากลับถิ่นฐานในยะไข่ ประเทศพม่า หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า repatriation หลังถูกกองทัพพม่าใช้ความรุนแรงกวาดล้างเมื่อปี 2560 จนต้องอพยพออกนอกประเทศ ผู้ลี้ภัยจำนวนมากถึง 740,000 คนได้อาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในคอกซ์ บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศจนถึงวันนี้ และความพยายามระหว่างบังกลาเทศ-พม่าในการนำชาวโรฮิงญากลับก็ล้มเหลวติดต่อกันถึง 2 ครั้งแล้ว ในขณะที่อาเซียนไม่มีท่าทีในการแสดงความเห็นในเรื่องนี้ในซัมมิทครั้งนี้

ตัวแทนประชาสังคมหลายคนที่เข้าไปในงานพบปะตัวแทนรัฐและอาเซียนพูดตรงกันว่า รมว. ต่างประเทศมาเลเซียเน้นย้ำถึงการให้ภาคประชาสังคมเป็นคนเลือกตัวแทนในการเข้าพบปะเอง โดยที่รัฐไม่ต้องไปแทรกแซง สืบเนื่องจากที่ผ่านมามีความพยายามของหลายประเทศที่พยายามจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคมของตัวเองแล้วให้ตัวแทนเหล่านั้นเข้าร่วมเวทีอาเซียนภาคประชาชนไปจนถึงการเข้าพบกับตัวแทนรัฐในเวทีอาเซียน ซึ่งภาษาในวงการประชาสังคมเรียกคนกลุ่มนี้ว่าองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลของรัฐบาลหรือ ‘กองโก’ (Government-Organised Non-Governmental Organization - GONGO)

หลากหลายความเห็นต่อการประชุมที่ไม่เจอผู้นำ

การพบปะผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในเวทีอาเซียนอย่างเป็นทางการที่ตามกลไกอาเซียนจะต้องทำทุกปีหลังเสร็จสิ้นการประชุมภาคประชาสังคม/เวทีอาเซียนภาคประชาชน (ACSC/APF) ที่จะจัดคู่ขนานไปกับอาเซียนซัมมิท เพื่อส่งแถลงการณ์ของภาคประชาสังคมให้กับผู้นำประเทศนำไปพิจารณาและแก้ไขปัญหาต่อไป

ผู้แทนประชาสังคมที่เข้าร่วมการประชุม (ที่มา:asean2019.go.th)

แม้เวทีอาเซียนภาคประชาชนจะจัดมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 แล้ว (เริ่มจัดเมื่อปี 2548 สมัยที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพอาเซียน) แต่ในทางปฏิบัติ การพบปะเช่นว่ามักไม่เกิดตามที่ระบุไว้ในกระดาษ สาเหตุหลักๆ ได้แก่การที่ผู้นำไม่ยอมรับตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่ได้รับการคัดเลือกมาจากเวทีภาคประชาชน หรือไม่พอใจที่จะมีการนำประเด็นอ่อนไหวเข้ามาพูด ในอดีตก็เคยมีกรณีที่ผู้นำกัมพูชาไม่ยอมรับตัวแทนภาคประชาสังคมจากกัมพูชามาแล้วในอดีต

ความเปิดกว้างต่อภาคประชาสังคมก็มีผลเช่นกัน ในปี 2561 ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพอาเซียนก็ได้ระบุกับภาคประชาสังคมเอาไว้ตั้งแต่แรกว่าจะไม่มีการพบปะกับภาคประชาสังคม แถลงการณ์จากภาคประชาสังคมที่ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ก็ไม่มีการแจ้งว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินการต่อ

นอกจากนั้น การเตรียมตัวของภาคประชาสังคมที่ไม่สามารถจัดงานได้ทันก็เป็นสาเหตุหนึ่งของความตะกุกตะกักนี้ และก็เกิดขึ้นในปี 2562 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะกล่าวต่อไปภายหลัง

สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง จากองค์กร Home Net SEA อีกหนึ่งผู้แทนประชาสังคมจากไทยกล่าวขณะแถลงข่าวว่าการพบปะทุกปีไม่ได้เป็นไปด้วยดี เพราะก็มีที่รัฐบาลกังวลถึงประเด็นที่ประชาสังคมยกขึ้นมาพูด บางครั้งรัฐบาลก็กังวลกัวตัวแทนจากภาคประชาสังคม ซึ่งการได้พบปะกับตัวแทนรัฐและอาเซียนในปีนี้ ถ้ามองในแง่บวกก็คืออย่างน้อยกระบวนการพบปะได้กลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งแม้ไม่ได้พบกับผู้นำ แต่ลึกๆ ก็อยากจะให้มีการพบกับผู้นำอีกครั้งในอนาคต

แม้เห็นร่วมกันว่ามีแบบนี้ก็ยังดีกว่าไม่มี ผู้แทนของประชาสังคมที่เข้าไปพบปะตัวแทนรัฐมีความเห็นที่แตกต่างกันต่อการพบปะครั้งนี้ โซมินธาน ตัวแทนประชาสังคมจากสิงคโปร์ระบุว่า แบบแผนของการพบปะที่มีเวลาจำกัดให้เพียง 30 นาที ไม่สามารถเป็นพื้นที่ให้มีการอภิปราย ถกเถียงกันได้อย่างเพียงพอ มันจึงทำหน้าที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ว่าตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ มีความมุ่งมั่นจะมานั่งร่วมโต๊ะกัน เพราะด้วยเวลาแค่นี้ แค่ตัวแทนรัฐ อาเซียนและประชาสังคมแต่ละประเทศยกประเด็นขึ้นมาก็หมดเวลาแล้ว เขาอยากให้มีบรรยากาศและเวลาที่เปิดต่อการพูดคุยหารือมากกว่านี้

ผู้แทนประชาสังคมคนหนึ่งที่เข้าร่วมในงานแถลงข่าวระบุว่า มีหลายประเด็นที่ตัวแทนรัฐรับฟังมากขึ้นซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการในทางที่ดี เช่นเรื่องการผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อมให้เป็นเสาหลักที่ 4 แต่ก็ยังเป็นการรับฟังที่ไม่มีการให้คำมั่นใดๆ และบางเรื่องก็ยังไม่มีการตอบรับเช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องอ่อนไหว กลไกอาเซียนไม่ช่วย แถมยังผลัดกันปิดตาข้างหนึ่ง

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย หนึ่งในผู้ร่วมแถลงข่าวระบุว่ายังดีที่มีการจัดให้พบปะกัน ซึ่งต้องให้ความดีความชอบกับ รมว. กระทรวงการต่างประเทศของไทยที่จัดให้มีขึ้นได้ ทั้งนี้ การพบปะเช่นนี้ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ ไม่ใช่อะไรที่ประชาสังคมต้องเจรจากับรัฐแล้วจึงเกิด การพบปะควรจะเป็นโครงสร้างที่มีเพื่อให้ผู้นำประเทศมารับฟังและมีการตอบสนองต่อภาคประชาสังคม ฟิลยังชี้ถึงปัญหาของอาเซียนด้วยในเรื่องของการพร้อมใจกันหลบเลี่ยงไม่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน และกลไกสิทธิมนุษยชนระดับอาเซียน (AICHR) ก็จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูป เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งก็คือ AICHR ไม่สามารถรับเรื่องร้องเรียนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งน่าสงสัยว่ามีที่ไหนในโลกที่องค์กรสิทธิมนุษยชนเป็นแบบนี้บ้าง

อาเซียนซัมมิท 2562: 'ประชาชนเป็นศูนย์กลาง' ฝันที่ผู้นำเป็นเจ้าของและเลือกใช้

“อาเซียนพูดกันเยอะในเรื่องการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไซโคลน แผ่นดินไหว แต่ทำไมถึงไม่สนใจภัยพิบัติทางสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทุกวันจากน้ำมือของรัฐในภูมิภาค มันคือภัยพิบัติทางสิทธิมนุษยชนเมื่อกองทัพพม่าได้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยการฆ่า ข่มขืน และทำให้ชาวโรฮิงญาพิการเป็นหมื่นคน เผาหมู่บ้านเป็นร้อย แล้วขับไล่ชาวโรฮิงญาจำนวน 740,000 คนไปยังบังกลาเทศภายในเวลาไม่กี่เดือน”

“มันเป็นภัยพิบัติ (ทางสิทธิมนุษยชน) เมื่อโรดริโก ดูเตอร์เตปล่อยกำลังตำรวจและหน่วยล่าสังหารลงไปในชุมชนคนยากจนในนามสงครามยาเสพติด ส่งผลให้มีคนตายมากกว่า 20,000 คน มีการสังหารเกินอำนาจ มีการตรวจค้นตามรถประจำทางและการใช้วิธีแบบหนังฮอลลีวูดแบบที่ใช้ยาเสพติดและอาวุธมาให้ความชอบธรรมกับการฆ่า”

“มันเป็นภัยพิบัติทางสิทธิมนุษยชนเมื่อนายกฯ ฮุนเซนแห่งกัมพูชาทำให้เกิดการจับกุมนักโทษการเมือง 80 คนในต้นเดือน ส.ค. ปีนี้เพื่อหยุดยั้งไม่ให้อดีตผู้นำฝ่ายค้าน สม รังษี กลับเข้าประเทศในเดือน พ.ย. นี้ ยังรวมถึงการเลือกตั้งแบบเอาแต่ตัวเองในปี 2561 นำมาสู่ผลเลือกตั้ง 125-0 ที่นั่งในสภาโดยพรรค CPP”

“มันเป็นภัยพิบัติทางสิทธิมนุษยชนเมื่อบรูไนปล่อยให้มีวิธีการลงโทษแบบยุคกลางด้วยการเฆี่ยนกลุ่มคน LGBT ที่บังอาจไปมีความรักกับคนที่พวกเขารัก”

“มันเป็นภัยพิบัติทางสิทธิมนุษยชนเมื่อเวลา 5 ปีภายใต้การรัฐประหารที่สิทธิพลเมืองถูกสั่นคลอน และปูทางให้กับชัยชนะฉิวเฉียดของนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเลือกจาก ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร คสช. เอง”

ฟิลร่ายยาวกรณีภัยพิบัติทางสิทธิมนุษยชนในอาเซียนเป็นรายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองในเวียดนามที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคน LGBT ในอินโดนีเซีย กฎหมายต่อต้านข่าวปลอมในสิงคโปร์ การปิดปากคนเห็นต่างในปาปัวตะวันตก และการหายตัวไปของสมบัด สมพอนในลาว

ราเชล อาดินี จูดิสธารี จาก FORUM ASIA และหนึ่งในตัวแทนประชาสังคมที่เข้าพบตัวแทนรัฐกล่าวว่า เธอหยิบยกประเด็นการทบทวนอำนาจและหน้าที่ (ToR) ของ AICHR เนื่องจากตลอด 10 ปี ที่ AICHR ถูกก่อตั้งและดำเนินการมา ใช้งบประมาณไปแล้วราว 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำโครงการไปแล้วทั้งสิ้น 141 โครงการ แต่ไม่มีโครงการใดทำเพื่อตอบสนองต่อหน้าที่ในเรื่องปกป้องสิทธิมนุษยชนเลย (หน้าที่ของ AICHR ด้านสิทธิมนุษยชนแบ่งได้ใหญ่ๆ เป็น 2 ด้าน คือการสนับสนุน (Promote) และการปกป้องสิทธิมนุษยชน (Protect))

ราเชลยังเล่าว่า รมว. กต. ของไทยได้แจ้งแล้วว่าจะผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาเพื่อทบทวนอำนาจและหน้าที่ของ AICHR ภาคประชาสังคมหวังว่ากระบวนการคัดสรรกรรมการดังกล่าวจะโปร่งใส มีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม และเสนอกรอบเวลาว่าการทบทวนจะต้องเสร็จในเวลา 3 ปี เนื่องจากกังวลว่าภูมิทัศน์ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในอาเซียนที่ไม่ค่อยดีจะทำให้กระบวนการดังกล่าวลากยาวไป

ทำไมประชาสังคมถึงต้องสนใจอาเซียน

แม้การรวมตัวอย่างอาเซียนจะมีผลงานหลายอย่าง โดยเฉพาะการเป็นฟองน้ำซึมซับความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาค ลดความเสี่ยงในการปะทะกันด้วยกำลังทหาร แต่อาเซียนยังคงถูกวิจารณ์ในลักษณะเป็นโรงลิเกขนาดใหญ่ที่สมาชิกต่างไม่พูดเรื่องที่อ่อนไหวที่แต่ละประเทศมีโดยเฉพาะเรื่องการเลือกปฏิบัติกับประชาชนและการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิ่งที่ฟิลสะท้อนไปในช่วงแถลงข่าวถือเป็นการโจมตีไปที่ปัญหาใจกลางนั้น ทั้งนี้ แม้มีการพูดถึงปัญหาเหล่านั้นอยู่บ่อยครั้งในหมู่ภาคประชาชนเวลามีการจัดประชุมเวทีอาเซียนภาคประชาชน แต่การพูดคุยกับการนำไปสู่การผลักดันเพื่อแก้ปัญหาก็เป็นคนละเรื่อง

ในภูมิภาคที่รัฐบาลฟังเสียงประชาชนน้อย แต่ละประเทศมีเรื่องที่พูดในประเทศตัวเองไม่ได้สารพัด กลไกอาเซียนจึงเป็นช่องทางให้ภาคประชาชนแสดงออกซึ่งปัญหาในประเทศอีกทางหนึ่ง ชลิดาให้ข้อมูลว่า กลไกภายใต้ 3 เสาหลักอาเซียนมีประโยชน์ในแง่การให้ภาคประชาสังคมผลักดันประเด็นในประเทศของพวกเขา ในการจะทำเช่นนั้นได้ จะต้องมีการจัดเวทีสาธารณะ รวบรวมผลของการอภิปราย ข้อเสนอแนะ แล้วส่งให้องค์กรที่ได้รับการรับรองจากอาเซียนเพื่อส่งประเด็นเหล่านั้นไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลไกแบบนี้เป็นการจัดทำแบบล่างขึ้นบน

อีกทางหนึ่งคือใช้เวทีภาคประชาชนอาเซียน และการพบปะกับผู้นำเพื่อส่งข้อเรียกร้องของทุกประเด็นและทุกประเทศยื่นให้กับผู้นำโดยตรง เหมือนกับการส่งประเด็นจากบนลงล่างซึ่งก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน การได้พบกับผู้นำก็เท่ากับได้พบกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่จะให้มีเวลาหารือกันมากก็คงไม่ได้ ส่วนการส่งประเด็นเข้ากลไกอาเซียนนั้นจะมีเวลาให้ทำงานในเชิงรายละเอียดมากขึ้น แต่ไม่ได้พบกับผู้มีอำนาจโดยตรง

ชลิดาทิ้งท้ายว่า กลไกเวทีอาเซียนภาคประชาชนจะยังต้องมีอยู่เพื่อเป็นพื้นที่ให้มีการถกเถียง พูดคุยและแสดงออกซึ่งความคาดหวังต่อประเทศสมาชิกอาเซียนโดยตรง ในขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมจะต้องเข้าหาตัวแทนรัฐในแบบนักการทูตมากขึ้นเพื่อให้เสียงของพวกเขาเป็นที่ได้ยิน

ราเชลกล่าวว่า ในกฎบัตรอาเซียน ภาคผนวก 2 (ANNEX 2) พูดถึงการรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร้อยละ 62 ในนั้นคือองค์กรภาคประชาสังคม จึงเป็นสิทธิของภาคประชาสังคมที่จะต้องมีการเข้าหาอาเซียน ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนใช้กลไกอาเซียนเป็นเหมือนเกราะในการสร้างความชอบธรรมการกระทำต่างๆ เช่นเรื่องโรฮิงญา ที่คณะกรรมการค้นหาความจริงในพม่าได้กล่าวหาพม่าว่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนก็ยังคงมองเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาผู้ก่อการร้ายหรือเรื่องปัญหาความยากจน

ราเชลยังระบุอีกว่า บทบาทของประชาสังคมก็คือต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากลหรือไม่ อาเซียนในวันนี้ หลักการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางได้รับความสำคัญน้อย แลค่อยๆ กลายเป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น บทบาทประชาสังคมอีกอย่างคือการย้ำเตือนให้อาเซียนเคารพหลักการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางเข้าไว้

ดังที่สุภาษิตในละตินอเมริกากล่าวไว้ว่า กระดาษแข็งแรงพอที่จะรองรับทุกอย่างที่เขียนลงไป ความหวังของภาคประชาสังคมในการใช้กลไกอาเซียนผลักดันประเด็นที่พูดหรือทำกันในประเทศไม่ได้จะเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยและประเทศสมาชิกอื่นๆ นำข้อเสนอที่ได้รับในการพบปะวันนี้ไปดำเนินการมากน้อยแค่ไหน

ดูเส้นทางภาค ปชช. อาเซียน 2562 ขาดความพร้อม  รัฐอยากสอดส่องจนมีปัญหางบประมาณ โดน พม. จัดงานชื่อเดียวกัน วันเดียวกัน

ในปี 2562 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียน ความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนที่เริ่มต้นเหมือนจะดี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ราบรื่นเท่าที่ควร ในช่วงต้นปีที่มีการชี้แจงเรื่องการเป็นประธานอาเซียนที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวนเกือบ 10 ล้านบาท เพื่อให้มีการจัดเวทีอาเซียนภาคประชาชนขึ้น ภาคประชาสังคมหลายคนที่เพิ่งผ่านการประชุมอาเซียนภาคประชาชนปี 2561 ในบรรยากาศที่ปิดมากในสิงคโปร์ (จัดในพื้นที่เล็กๆ หลังวิทยาลัยโปลีเทคนิค จำกัดคนเพียง 200 คน ซึ่งถือว่าน้อยเพราะหลายๆ ปีมีผู้เข้าร่วมหลักพัน และไม่ให้เดินขบวน) มีความคาดหวังว่าจะได้พบกับบรรยากาศที่ดีกว่าในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

5 เรื่องต้องรู้ ‘ประชุมภาคประชาชนอาเซียน’ เวทีภูมิภาคที่คนเสี่ยงชีวิตมาเข้าร่วม

ทว่า ในเดือน พ.ค. ภาคประชาสังคมได้มีการเลื่อนจัดงานที่จากเดิมจะมีขึ้นในเดือน มิ.ย. 2562 เนื่องจากภาคประชาสังคมไม่สามารถจัดเตรียมความพร้อมได้ทันเวลา แต่ยังยื่นข้อเสนอว่าจะเข้าพบปะกับผู้นำในอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 34 ในเดือน มิ.ย. โดยจะใช้แถลงการณ์จากการประชุมเมื่อปี 2561 ที่สิงคโปร์แทน

การขอเข้าพบได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผลเรื่องความไม่พร้อมของประชาสังคม อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า มีผู้นำบางประเทศที่แสดงจุดยืนไม่ต้องการพบกับภาคประชาสังคม การพบปะจึงถูกพับไป ภาคประชาสังคมตัดสินใจเลื่อนการจัดอาเซียนภาคประชาชนไปเป็นวันที่ 10-12 ก.ย. 2562 ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่าฝ่ายความมั่นคงไม่อนุญาตให้มีการเดินขบวนภาคประชาชน กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่จะทำกันหลังเสร็จสิ้นการจัดทำแถลงการณ์ เท่ากับไม่มีการจัดเดินขบวนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันนับจากมีการเดินขบวนในปี 2560 ในปีที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ

แต่ในช่วงต้นเดือน ก.ย. ก็มีเรื่องเซอร์ไพรส์ที่น่ากังวล เมื่อคณะทำงานภาคประชาชนออกมาแถลงข่าวเมื่อ 3 ก.ย. ตัดสินใจไม่รับงบประมาณจาก พม. ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าฝ่ายความมั่นคงของไทยพยายามแทรกแซงด้วยการขอรายชื่อที่จะต้องส่งให้กับ พม. ในการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อมาดูว่าใครติดแบล็คลิสต์ของรัฐบาลเพื่อนบ้านบ้าง

พิธีเชิญธงชาติสมาชิกอาเซียนในช่วงพิธีเปิดเวทีอาเซียนภาคประชาชน 10 ก.ย. 2562

การปฏิเสธงบประมาณก้อนที่มีสัดส่วนแทบจะทั้งหมดของการจัดงานในช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายก่อนจัดงาน นำมาสู่การเปลี่ยนสถานที่จัดงานและการจัดการงบประมาณที่มีโดยฉับพลัน สถานที่จัดงานเปลี่ยนจากโรงแรมเบอร์กเคลีย์ ประตูน้ำ เป็นศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ห้องนอนเปลี่ยนเป็นห้องพักรวม 50 คนและห้องน้ำรวม ภายใต้ความฉุกเฉินนี้ ภาคประชาสังคมได้รับงบประมาณและความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศจนมีงบประมาณทั้งสิ้น 3 ล้านบาทจาก Taiwan Foundation for Democracy, AIDS Healthcare Foundation, SIDA Sweden, Heinrich Boll Stiftung Southeast Asia จากเยอรมนี นอกจากนั้นยังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแคนาดาและเยอรมนีด้วย

ดราม่ากลับซับซ้อนไปอีกเมื่อ พม. ได้ใช้เงินก้อนเดียวกันนั้นที่ภาคประชาสังคมไม่รับมา ไปจัดงานชื่อ “โครงการประชุมภาคประชาชนอาเซียน” จัดที่โรงแรมเบิร์กลีย์ ประตูน้ำ ในวันที่ 9-12 ก.ย.  โดยเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ในประเทศจำนวนราว 1,000 คนหน่วยงานในสังกัดสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ พม. บ้านพักเด็ก กลุ่มอาสาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) และเครือข่ายทั่วประเทศ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัดและ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการ (สสว.) 12 แห่ง

การจัดงานในชื่อเดียวกัน วันเดียวกัน สถานที่เดิม สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการใช้งบประมาณจากโครงการเดิมที่ได้ขอไปแล้ว แต่เรื่องที่น่าสงสัยคือ สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ยังไปทำข่าวที่นั่นเสมือนว่าเป็นเวทีอาเซียนภาคประชาชนจริงๆ โดยเนื้อข่าวไม่ได้กล่าวถึงการประชุมภาคประชาสังคมอีกแห่งที่รังสิต

การจัดงานอาเซียนภาคประชาชนที่ มธ. รังสิตครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 1,046 คน โดยมาจากประเทศไทย 504 คน และจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียน รวมถึงติมอร์-เลสเตรวม 542 คน มีการหารือในประเด็นแยกย่อยหลายเรื่อง ทั้งยังมีการพบปะตัวแทนจากภาครัฐของชาติสมาชิกอาเซียน หรือที่เรียกว่า Town Hall Meeting ที่ปีนี้มีปลัดจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย และเอกอัครราชทูตจากมาเลเซีย อินโดนีเซียและติมอร์-เลสเต ประจำประเทศไทยเข้าร่วม ก็ได้มีการพูดคุยอย่างเปิดกว้างกับผู้เข้าร่วมหลักพัน ก่อนจะจบลงด้วยการร่างแถลงการณ์ร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท