Skip to main content
sharethis

ประชาไทชวนดูสารคดี 12 เรื่อง ที่บอกเล่าเรื่องราวทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน ที่เล่าจากปากของคนตัวเล็กตัวน้อย ดูฟรี 24 ชั่วโมง!  

บันทึกสุดท้าย ‘ดา ตอร์ปิโด’ 

สารคดีบันทึกชีวิตช่วงท้ายของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นักสู้สามัญชนกับภาพลักษณ์การนำม็อบแบบฮาร์ดคอร์ อดีตแกนนำกลุ่มสภาประชาชน แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) อดีตนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  รวมทั้งอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และสถานีโทรทัศน์เคเบิลไทยสกายทีวี กับราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการต่อสู้ 

รู้จักคนเสื้อแดง(อีกที) หลังผ่านไป 10 ปี

ปี 2563 เป็นวาระครบรอบ 10 ปีการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ชุมนุมระหว่าง 12 มีนาคม - 19 พฤษภาคม 2553 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคน และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายพันคน เหตุการณ์นี้ยังไม่ถูกคลี่คลายทั้งข้อเท็จจริงบางส่วน คดีความของผู้ที่เสียชีวิต ความรับผิดชอบทางการเมือง ฯลฯ 

ด้วยความที่เหตุการณ์ผ่านมานาน หลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อาจนึกภาพไม่ออกว่าคนเหล่านี้คือใคร มีความคิดอย่างไร สภาพเหตุการณ์เป็นอย่างไร เราจึงตามหาคนเหล่านี้เพื่อพูดคุยกันอีกครั้ง โดยสุ่มให้มีความหลากหลายทั้งวัย เพศ ถิ่นฐาน ฐานะ เท่าที่เวลาจะอำนวย เพื่อเป็นจิ๊กซอว์เล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่จะเติมความเข้าใจในความขัดแย้งและความสูญเสียที่ผ่านมา 

เสื้อแดงคนสุดท้าย

'ผุสดี งามขำ' เสื้อแดงคนสุดท้ายที่ปักหลักอยู่หน้าเวทีชุมนุมราชประสงค์ หลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ที่ผ่านมา

ISAN MEMORY อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีสาน

'พานรัฐธรรมนูญ' สัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองรูปแบบใหม่ จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

การเมืองพิกล ทำคนพิการ | Wound, Disability and Protest Crackdown in Thailand

14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภา 35, เมษา-พฤษภา 53, เสื้อแดง, เสื้อเหลือง, กปปส. ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นคำที่เราใช้จดจำเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เกือบทุกเหตุการณ์นอกจากอุดมการณ์ที่แข็งกล้าและความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าการสูญเสียเป็นเรื่องที่แทบจะเลี่ยงไม่ได้ นอกจากผู้เสียชีวิต ที่บ้างก็ถูกยกย่องให้เป็นวีรชน บ้างก็ถูกบอกให้เป็นผู้ผิดแล้ว ก็ยังมีผู้ที่มีชีวิตแต่ต้องติดอยู่กับบาดแผล บางคนพิการและได้รับการเยียวยา ส่วนหลายคนไม่เคยได้รับแม้แต่คำขอโทษ

คุยกับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง  บางคนสูญเสียดวงตา บางคนสูญเสียขา รับฟังความรู้สึกจากการสูญเสีย เพื่อเรียนรู้และเข้าใจร่วมกันว่าเราทุกคนล้วนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและมีบาดแผลไม่ต่างกัน

พูดเพื่อเสรีภาพ 

สารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากเหตุการณ์จริง จับจริง ดำเนินคดีจริง "พูดเพื่อเสรีภาพ (Talk For Freedom)" โดย iLaw X Prachatai

7 สิงหาคม 2559 เป็นวันลงประชามติรัฐธรรมนูญที่แพงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะต้องจ่ายด้วยการปิดกั้นเสรีภาพ ดำเนินคดีพลเมืองมากกว่า 212 ราย และนี่คือเรื่องของราวของหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี "มะฟาง" และ "ไผ่ ดาวดิน" จากเวทีเสวนาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ "พูดเพื่อเสรีภาพ" ที่ จ.ขอนแก่น

End the silence ‘วันเฉลิม’ อุ้มไม่หาย ถ้าเราไม่เงียบ

“เราจะอยากให้ใครสักคนหนึ่งตาย เพียงเพราะว่าเขาคิดไม่เหมือนเราแค่นั้นเหรอ สมมติถ้าคุณมายืนอยู่หน้าเราตรงนี้ แล้วคุณบอกว่าคุณอยากให้พ่อของเราตาย เพราะพ่อของเราเชื่อไม่เหมือนคุณ คุณกล้าพูดกับเราอย่างนั้นไหม มันใจร้ายมากเลยนะ”  หนึ่งความเห็นจากกรณีอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ประชาไทชวนฟังความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้ใกล้ชิดวันเฉลิม ลูกของลี้ภัยการเมือง จนถึงคนที่ไม่เคยรู้จักวันเฉลิมมาก่อนแต่ไม่เห็นด้วยกับการอุ้มหาย

รื้อประตูแดงชนวนเหตุ ‘6 ตุลา’

ต.ค.ปีที่แล้ว โครงการบันทึก 6 ตุลา ทำหารรื้อประตูแดงที่ 2 ศพ คนงานการไฟฟ้าถูกแขวนคอ ชนวนนำไปสู่ ‘6 ตุลา’ เพื่อนำมาจัดแสดงในนิทรรศการพร้อมข้าวของเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุ 6 ตุลา ระยะยาวหวังทำหอจดหมายเหตุความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชน สะท้อนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

สำหรับเหตุแขวนคอ วิชัย เกษศรีพงศ์ษาชาวบุรีรัมย์ และชุมพร ทุมไมย คนงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครปฐมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2519 ในช่วงกระแสขวาพิฆาตซ้าย ช่วงเวลาที่นักกิจกรรม นักศึกษา หรือนักวิชาการถูกทำร้ายและลอบสังหาร ทั้ง 2 ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมในสภาพลิ้นจุกปาก ศพถูกแขวนคออยู่ที่ประตูสีเทาอมฟ้าที่สนิมกัดกร่อนจนชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันว่า ‘ประตูแดง’ ต่อมานักศึกษาธรรมศาสตร์จัดแสดงละครเพื่อแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชนที่รณรงค์ต่อต้านการกลับมาของเผด็จการถนอมและประพาส โดยมีฉากแขวนคอเลียนแบบเหตุการณ์ที่ประตูแดง นำไปสู่การใส่ร้ายป้ายสีว่านักศึกษากระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์รัชทายาท เนื่องจากใบหน้าของนักศึกษาที่แสดงเป็นคนถูกแขวนคอละม้ายคล้ายกับองค์รัชทายาท ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงวันที่ 6 ตุลาคม

เขาดิน (เคย) เป็นสวนสัตว์

ความทรงจำของเขาดินในเดือนสุดท้าย ขณะที่พนักงานส่วนใหญ่ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ แต่ก็ยังมีเสียงจากคนที่อยู่มานานผ่านยุคสมัยต่างๆ เล่าความทรงจำในอดีตให้ฟังก่อนสถานที่แห่งนี้จะไม่ใช่สวนสัตว์อีกต่อไป

ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก ("Pai" You know me a little go)

"ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก" เป็นเรื่องราวทำความรู้จักจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" เจ้าของคำพูดที่ว่า "เราปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นในสังคมได้ สักวันหนึ่งมันก็เกิดขึ้นกับคุณ" ทั้งนี้ไผ่ ผู้เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ถูกจองจำมากว่า 60 วันแล้ว หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีฐานความผิดมาตรา 112 "ไผ่ ดาวดิน" เป็นใคร ทำอะไรมาก่อน ลองฟังเองจากเสียงของเขาและครอบครัวผ่านวิดีโอคลิปเรื่องนี้ ผลงานโดย จามร ศรเพชรนรินทร์

ศศิวิมล

อิสรภาพนอกคุก ไม่ใช่เพียงนักโทษเท่านั้นที่รอคอย แต่ครอบครัวของเธอก็นับวันรอครบกำหนดโทษในคดีตามมาตรา 112 ที่พลิกชีวิตของทุกคนรวมถึงเด็กน้อยที่รอคอยแม่ ติดตามได้ใน “ศศิวิมล” ผลงานของเรวดี งามลุน

ปรองดอง

เมื่อรัฐเสนอให้ทุกฝ่ายปรองดอง แต่ความร้าวลึกในสังคมไม่เคยจางหาย คนต่างสีเสื้อ คิดต่างกัน จะมาคุยกันอย่างไร อะไรคือจุดเริ่มต้นและจุดร่วมที่จะพาทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกันอย่างเปิดใจ ติดตามได้ใน “ปรองดอง” ผลงานของ พันธวิศย์ เทพจันทร์ เปิดเผยบทสนทนาและชีวิตหลังได้รับอิสรภาพของเอกชัย หงส์กังวาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net