Skip to main content
sharethis

ศบค. เสนอขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน-ผ่อนปรนมาตรการ ไอลอว์เปิด 4 ข้อที่ทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่างจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงและ พ.ร.บ.โรคติดต่อ คือ การสั่งห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ การควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่กำหนดและมีข้อยกเว้นความรับผิดให้เจ้าหน้าที่ ขณะที่วันนี้ไทยป่วยเพิ่มเหลือเพียงหลักหน่วย

27 เม.ย.2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วันนี้ (27 เม.ย.63)

ศบค. เสนอขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน-ผ่อนปรนมาตรการ 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันและผลการประชุม ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ว่า พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา  เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอรายงานประเมินผลสัมฤทธิการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 ทำให้การดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในนาม ผอ.ศูนย์ ศบค. เป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และเป็นเอกภาพ ส่งผลให้การติดเชื้อลดอย่างต่อเนื่อง จากแบบสำรวจความพึงพอใจพบว่า ประชาชนพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 70 จึงเสนอเห็นควรขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ถึง 31 พ.ค.63 โดยยังคง 4 มาตรการ 1. ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกนอกราชอาณาจักร 2. ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว 22.00 น.- 04.00 น.) 3. งด ชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด 4. งดการดำเนินกิจกรรมในคนหมู่มาก เช่น การอบรม สัมมนา กิจกรรมในที่โล่งแจ้ง ทั้งนี้ หลักคิดของแนวทางผ่อนปรน ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลักและนำปัจจัยอื่นมาประกอบการพิจารณา โดยยังต้องให้มีการทำงานที่บ้านร้อยละ 50 พิจารณากิจกรรมที่จำเป็น ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา กิจกรรมนั้นต้องประกอบด้วย 5 เรื่อง ได้แก่ 1. เว้นระยะห่างทางสังคม 2. การวัดอุณหภูมิ 3. การล้างมือ การมีเจลแอลกอฮอล์ ฆ่าเชื้อโรค บริการ 4. การจำกัดจำนวนคนที่เหมาะสมต่อสถานที่ และ 5. การมีแอปพลิเคชันติดตามตัว โดยต้องจัดสมดุลระหว่างสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของสาธารณชน ขณะเดียวกัน ก็ยังคงต้องเร่งรัดตรวจหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง มีเทคโนโลยีตรวจตรา ติดตาม การดำเนินการของสถานที่ประกอบการต่าง ๆ อาทิ การใช้กล้อง CCTV เป็นต้น ซึ่งการประเมินผลการผ่อนปรนอย่างน้อยทุก 14-15 วัน ซึ่งสามารถผ่อนคลายหรือระงับการผ่อนปรนทันที
 
ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะคณะที่ปรึกษาธุรกิจเอกชนของ ศบค. เสนอแนวทางการผ่อนปรน ภายหลังการขยายระยะเวลาพ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยแบ่ง 4 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มสีขาว มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ร้านขนาดเล็กอยู่ที่โล่งแจ้ง ควบคุมได้ สวนสาธารณะ กลุ่มสีเขียว สถานที่ประกอบการขนาดเล็ก อาจติดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ มีมาตรการควบคุมได้ พื้นที่ไม่มาก สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง กลุ่มสีเหลือง สถานที่ปิด มีคนมาจำนวนมาก ติดแอร์ ขนาดใหญ่ และกลุ่มสีแดง ที่มีคนมาชุมนุมแออัดมาก เป็นที่เสี่ยงสูง อาทิ สนามมวย สถานบันเทิง เป็นต้น  
 
ผอ ศบค. เห็นชอบในหลักการ ได้ให้แนวทางโดยพิจารณาประเภทและช่วงเวลา แต่ให้พิจารณากิจการที่สามารถเปิดดำเนินการได้ทั่วประเทศ ทุกจังหวัดเปิดได้พร้อมกัน โดยมอบสภาพัฒน์ฯ และคณะทำงานฯ หารือในรายละเอียดเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป

ไอลอว์เปิด 4 ข้อที่ทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่าง

สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน iLaw เคยทำข้อมูลเปรียบเทียบไว้ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งพบว่า มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่แตกต่างคือ การสั่งห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ การควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่กำหนดและมีข้อยกเว้นความรับผิดให้เจ้าหน้าที่

ไทยป่วยเพิ่มเหลือหลักหน่วย

ในไทย มีผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 15 ราย รวมเป็น 2,609 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.01 ผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาคือ 9 ราย รายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตเป็น 52 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 52 เป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 64 ปี อาชีพแม่บ้าน โรคประจำตัวคือโลหิตจาง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันซึ่งเป็นคนในครอบครัว เริ่มป่วย 2 เม.ย. 63 ด้วยอาการไข้ ไอ หอบ เหนื่อย ผลตรวจยืนยันเป็นผู้ป่วยโควิด-19 วันที่ 10 เม.ย. 63 อาการแย่ลง เหนื่อยมากขึ้น การทำงานของไตลดลง แพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันที่ 26 เม.ย. 63 ด้วยระบบหายใจล้มเหลวและไตวายเฉียบพลัน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตด้วย

จำนวนผู้ป่วยที่ยังรับการรักษาตัว อยู่ที่ 270 รายใน 68 จังหวัด ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3 ราย พบว่าเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้จากจังหวัดภูเก็ต สุพรรณบุรี และยะลา และใช้วิธีการตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนที่จังหวัดยะลา 4 ราย รวมทั้ง ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วเข้า State Quarantine ที่กรุงเทพฯ 2 ราย รวมทั้งหมด 9 ราย ซึ่งต่ำกว่า 10 รายเป็นวันแรกตั้งแต่ที่มีการรายงานสถานการณ์
 
โฆษก ศบค. กล่าวถึงการกระจายตัวของผู้ป่วยรายใหม่ว่า 5 ราย อยู่ที่จังหวัดยะลา กรุงเทพฯ ภูเก็ตและสุพรรณบุรี และจังหวัดที่ไม่มีการรายงานการรับรักษาผู้ป่วยยังเป็น 9 จังหวัดเดิม ด้านจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันสะสมไม่รวม State Quarantine อันดับ 1 ยังเป็นภูเก็ต รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ยะลา ปัตตานี นนทบุรี ตามลำดับ ด้านอัตราป่วยต่อแสนประชากร อันดับ 1 คือ กรุงเทพฯ รวม 1,481 ราย หรือ 26.11 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ ภูเก็ต นนทบุรี ยะลา สมุทรปราการ

โลกติดสะสม 2.9 ล้าน

สถานการณ์โลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยูที่ 2,994,000 กว่าราย อาการหนัก 57,000 ราย หายป่วยแล้ว 870,000 ราย เสียชีวิตไป 206,995 รายคิดเป็นร้อยละ 6.9 โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยรายใหม่ถึง 26,000 กว่าคน ตามด้วยรัสเซียพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 6,361 คน อังกฤษ ผู้ป่วยรายใหม่ 4,463 คน  ส่วนประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา โดยในวันเดียวเสียชีวิต 1,148 ราย อังกฤษ เสียชีวิต 413 รายและสเปน เสียชีวิต 288 ราย ส่วนประเทศไทยขณะนี้ลงมาอยู่อันดับที่ 58 ของโลก
 
สถานการณ์ในเอเชียพบว่า สิงคโปร์ยังมีตัวเลขที่สูงอยู่โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 931 รายเสียชีวิต 12 ราย เกาหลีใต้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 10 รายมีผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 10,738 ราย ญี่ปุ่น มีผู้ป่วยรายใหม่ 210 ราย อินโดนีเซีย ผู้ป่วยรายใหม่  275 ราย ฟิลิปปินส์ ผู้ป่วยรายใหม่ 285 ราย ส่วนมาเลเซีย พบผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอยู่ที่ 38 ราย

ออกนอกเคหะสถาน 449 ราย

รายงานผลจากการปฏิบัติการ จากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวประจำวันที่ 27 เม.ย.63 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า จำนวนตัวเลขของผู้กระทำผิดกรณีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ลดลง โดยประชาชนที่กระทำความผิด กรณีออกนอกเคหะสถานลดลงไป 119 ราย เหลือ 449 ราย ประชาชนที่กระทำความผิดกรณีมั่วสุมลดลง 28 ราย เหลือ 59 ราย ขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือ

(ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net