สุรพศ ทวีศักดิ์: พระไทยไม่มีเสรีภาพทางศาสนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พระไทยไม่ได้ถูกบังคับให้บวช สมัครใจบวชเองไม่ใช่หรือ ใช่ บวชแล้วยังเลือกที่จะสึกได้ไม่ใช่หรือ ก็ใช่อีก แล้วทำไมจึงบอกว่าพระไทยไม่มีเสรีภาพทางศาสนาล่ะ 

ปัญหาว่าพระไทยมีเสรีภาพทางศาสนาหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า พระไทยอยู่ภายใต้กฎหรือข้อบังคับแบบที่ให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนาหรือไม่ เช่น ภายใต้ระบบการปกครองคณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคม พระในฐานะปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพในการศึกษาตีความคำสอน การประกอบพิธีกรรม และเผยแพร่ศาสนาตามความเชื่อของตนอย่างแท้จริงหรือไม่ 

กรณีแรก ครูบาศรีวิชัยแม้จะมีคุณสมบัติสอดคล้องตามธรรมวินัยเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ แต่ก็ไม่มีเสรีภาพจะทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ประกอบพิธีกรรมอุปสมบทแก่บรรดาผู้มีศรัทธาได้ เพราะไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยอำนาจทางกฎหมายของมหาเถรสมาคม ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าครูบาศรีวิชัยไม่ยอมรับหรือต่อต้านอำนาจทางกฎหมายของมหาเถรสมาคม แน่นอนว่ามหาเถรสมาคมย่อมไม่แต่งตั้งครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์ จึงเท่ากับว่าภายใต้อำนาจมหาเถรสมาคม ครูบาศรีวิชัย (หรือพระกลุ่มใดก็ตามที่คิดแบบเดียวกัน) ไม่มีเสรีภาพทางศาสนาในการเป็นพระอุปัชฌาย์ประกอบพิธีกรรมอุปสมบทให้แก่บุคคลผู้ประสงค์จะบวชเป็นพระ แม้ว่าจะมีคุณสมบัติถูกต้องชอบธรรมตามธรรมวินัยก็ตาม กรณีนี้เท่ากับเสรีภาพที่จะปฏิบัติตามหลักความเชื่อทางศาสนาถูกจำกัด/ปิดกั้นโดยอำนาจของระบบการปกครองคณะสงฆ์

กรณีที่สอง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่รัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสตีความพุทธศาสนาสนับสนุนการส่งทหารไทยเข้าร่วมรบในสงครามโลก ครั้งที่ 1 แต่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ตีความพุทธศาสนาในทางตรงกันข้าม กลับถูกรัชกาลที่ 6 ลงโทษด้วยการถอดสมณศักดิ์และกักบริเวณภายในวัด กรณีนี้เท่ากับเสรีภาพในการตีความและการสอนศาสนาถูกจำกัด/ปิดกั้นโดยอำนาจรัฐ

กรณีที่สาม พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ถูกจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในสมัยเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม้จะเป็นเรื่องของการไม่มีเสรีภาพทางการเมือง แต่ก็เกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนาด้วย เพราะถ้ามีเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางศาสนา ต่อให้พระรูปใดๆ จะตีความพุทธธรรม หรือกระทำการใด (ที่ไม่เป็นการใช้ความรุนแรง) ในทางสนับสนุนอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็ย่อมไม่มีความผิด

กรณีที่สี่ พระโพธิรักษ์และชาวสันติอโศกตีความธรรมวินัยต่างจากพระสงฆ์ส่วนใหญ่ และประกาศ “ลาออก” หรือแยกกลุ่มตนเองออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคม ถูกปฏิเสธว่าจะลาออกจากการเป็นพระสงฆ์ไทยก็ต้องสึกออกไป จะลาออกโดยยังเป็นพระสงฆ์แต่แยกกลุ่มไม่อยู่ใต้การปกครองของระบบการปกครองคณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมไม่ได้ หรือจะปฏิเสธกฎหมายคณะสงฆ์ไม่ได้ เหมือนคนไทยจะลาออกจากการเป็นพลเมืองไทย ปฏิเสธระบบการปกครองของรัฐไทย และปฏิเสธการปฏิบัติตามกฎหมายไทยไม่ได้ ในที่สุดศาลฎีกาก็ตัดสินว่า ห้ามพระโพธิรักษ์และพระภิกษุชาวสันติอโศกใช้คำว่า “พระภิกษุ” หรือ “พระสงฆ์” ในการเรียกสถานะนักบวชของตนเอง เท่ากับเสรีภาพทางศาสนาในการกำหนดสถานะตัวเองของนักบวชถูกจำกัด/ปิดกั้นโดยอำนาจมหาเถรสมาคมและอำนาจรัฐ หรือเท่ากับว่าคณะสงฆ์ไทยและรัฐไทยมีอำนาจผูกขาดการเป็นเจ้าของสถานะที่เรียกว่า “พระภิกษุ” หรือ “พระสงฆ์” ในพุทธศาสนา

อีกกรณีคือ การห้ามพระไทยทำการอุปสมบทสตรีเป็นภิกษุณี ก็คือการที่อำนาจมหาเถรฯ และกฎหมายคณะสงฆ์ปิดกั้นเสรีภาพของพระไทยในการประกอบพิธีกรรมอุปสมบทแก่สตรี นอกจากนั้นยังห้ามพระชาวต่างชาติเข้ามาทำพิธีอุปสมบทภิกษุณีในไทยอีกด้วย 

บางคนอาจโต้แย้งว่า จากตัวอย่างที่ยกมา (เป็นต้น) ไม่ได้แสดงว่าพระไทยไม่มีเสรีภาพทางศาสนาเลย เพราะเป็นเรื่องปกติที่พระจะต้องอยู่ภายใต้ “กฎระเบียบ” บางอย่าง เช่น ธรรมวินัย, ระบบการปกครองคณะสงฆ์, กฎหมายสงฆ์ และกฎหมายบ้านเมือง จึงไม่สามารถจะอ้างเสรีภาพที่จะประกอบพิธีกรรม, ตีความคำสอน หรือปฏิบัติตนอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ เพราะเสรีภาพต้องมี “ขอบเขต” เสมอ ในที่นี้ เสรีภาพทางศาสนาของพระไทยก็อยู่ในขอบเขตกฎหมายคณะสงฆ์และกฎหมายบ้านเมืองนั่นเอง 

เราจะเข้าใจปัญหาของข้อโต้แย้งข้างบนชัดเจนขึ้น เมื่อเราเข้าใจว่า “เสรีภาพทางศาสนา” (freedom of religion) คืออะไร แท้จริงแล้วเสรีภาพทางศาสนาที่พูดถึงกันในโลกสมัยใหม่ หมายถึง เสรีภาพตามกรอบคิดเสรีนิยม (liberalism) ในทัศนะแบบเสรีนิยมเวลาเราพูดถึง “เสรีภาพ” (liberty/freedom) เราไม่อาจพูดถึงเสรีภาพที่มีอยู่ลอยๆ โดยไม่ยึดโยงอยู่กับความคิดพื้นฐานบางอย่าง และกฎกติการองรับให้การมีเสรีภาพตามความคิดพื้นฐานนั้นเป็นไปได้จริง ดังนั้น การมีเสรีภาพจึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้อย่างน้อยสองประการ คือ

ประการแรก เสรีภาพวางอยู่บนพื้นฐานของการยืนยันความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality) คือ การยืนยันว่าเราแต่ละคนมีอำนาจ สิทธิ เสรีภาพเป็นของตนเองอย่างเสมอภาคกัน และเราแต่ละคนสามารถใช้เหตุผลปกครองตนเองได้ทั้งในทางศีลธรรมและทางสังคม หรือในทางชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคมการเมือง

ประการที่สอง การเป็นเจ้าของอำนาจ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคตามข้อแรก ไม่ใช่จินตนาการที่เลื่อนลอย แต่ต้องอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองและกฎหมายที่รับรองอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพของปัจเจกบุคคลให้เป็นไปได้จริง ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าระบอบเสรีประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลเป็นหลักประกันอำนาจ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของปัจเจกบุคคลได้

ข้อแรกเป็นการยืนยันความคิดพื้นฐานทั่วไปว่า เราทุกคนมีความเป็นปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพเสมอภาคกัน ข้อสองเป็นการวางระบบการปกครองและกฎหมายรองรับให้เสรีภาพตามข้อแรกเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ

ปัญหาคือ ภายใต้ระบบที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ กฎหมายคณะสงฆ์ที่สถาปนาระบบการปกครองสงฆ์ที่เรียกว่า “มหาเถรสมาคม” ไม่ใช่กฎหมายที่ให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนาบนการยืนยัน individuality ของพระไทยแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นรัฐไทยก็ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย ดังนั้น ไม่ว่าเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองของพระสงฆ์และประชาชนทั่วไป ก็ย่อมไม่ใช่เสรีภาพตามกรอบคิดเสรีนิยม แต่เป็นเสรีภาพที่ “ชนชั้นปกครอง” อนุญาตให้ผู้ใต้ปกครองมีได้เท่าที่พวกเขาเห็นสมควร 

ถ้ารัฐไทยพัฒนาไปสู่การปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยและเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางศาสนา อันเป็นเสรีภาพที่สะท้อนความเป็นเจ้าของอำนาจ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนย่อมจะมีได้จริง เพราะองค์กรพุทธกลุ่มต่างๆ และองค์กรศาสนาอื่นๆ จะเป็นเอกชนที่มีสิทธิและเสรีภาพในการศึกษาตีความคำสอน การปฏิบัติพิธีกรรม การเผยแพร่ศาสนาตามแนวทางของกลุ่มตนเองอย่างเต็มที่ จะแยกนิกาย หรือจัดตั้งกลุ่มศาสนาแตกต่างจากกระแสหลักอย่างไรก็ได้ พระกลุ่มไหนจะตีความพุทธธรรมและเคลื่อนไหวอย่างสันติสนับสนุนประชาธิปไตย สังคมนิยม หรืออะไรก็ได้ ไม่ต้องถูกลงโทษทางกฎหมาย จะไม่มีอำนาจรัฐและคณะสงฆ์ของรัฐเข้ามาจำกัดหรือแทรกแซงปิดกั้นเสรีภาพได้ ตราบที่กลุ่มศาสนา หรือองค์กรศาสนาเอกชนนั้นๆ ไม่ละเมิดสิทธิพลเมือง

ความซับซ้อนของปัญหาพระไทยไม่มีเสรีภาพทางศาสนา ก็คือ การที่ “ระบบการปกครองคณะสงฆ์” กำหนดให้พระไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “เครือข่ายสถาบันกษัตริย์” ที่ 1) ถูกปกครองตามกฎหมายสงฆ์อันเป็นพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี และ 2) จึงทำให้สถานะ อำนาจ และบทบาทของพระสงฆ์ต้องทำหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ระบบการปกครองและการศึกษาสงฆ์คือระบบที่กล่อมเกลาหรือผลิตสร้างพระไทยเพื่อตอบสนองอุดมการณ์รัฐดังกล่าวนี้ ดังนั้น ที่ว่า “พระสงฆ์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” จึงเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะแท้จริงแล้วพระไทยถูกกำหนดโดยระบบการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎหมายที่อ้างอิงพระราชอำนาจให้ต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองในทางสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มายาวนาน

ภายใต้ระบบไม่แยกศาสนาจากรัฐที่กำหนดให้พระไทยอยู่ในเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ และทำหน้าที่ทางการเมืองสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นอกจากพระไทยจะไม่สามารถมีเสรีภาพทางศาสนาได้จริงดังกล่าวแล้ว พระไทยยังไม่สามารถจะมีสถานะ “พลเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยได้ด้วย นั่นคือ พระไทยไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการแสดงความคิดเห็น การเคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมพระไทยทำได้เต็มที่ แต่ถ้าสนับสนุนอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยและรัฐโลกวิสัยย่อม “เสี่ยง” ที่จะถูกเอาผิดทางกฎหมายสงฆ์และกฎหมายอื่นๆ

ยิ่งกว่านั้น พระไทยยังใช้สถานะ อำนาจ บทบาทภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าวในการ “อ้างประชาธิปไตย” เพื่อเป้าหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้อีกด้วย เช่น อ้างเสียงข้างมากของ “ชาวพุทธ” ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยในรัฐธรรมนูญ และการบัญญัติกฎหมาย การของบประมาณจากรัฐสนับสนุนพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นพิเศษเป็นต้น ขณะเดียวกันก็อ้างจินตนาการ “ชาตินิยมแบบพุทธ” ที่ถือว่าพุทธศาสนากับ “ชาติ” และ “สถาบันกษัตริย์” แยกขาดจากกันไม่ได้เป็นฐานคิดในการวิพากษ์วิจารณ์และกีดกันศาสนาอื่นๆ ที่เห็นว่าเป็น “คู่แข่ง” ของพุทธศาสนาไทย เป็นต้น

ดังนั้น ปัญหาการไม่มีเสรีภาพทางศาสนาของพระไทย จึงเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับอุดมการณ์รัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย, โครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย, การเคลื่อนไหวแบบอ้างวิถีทางประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางศาสนา, ความไม่เสมอภาคทางศาสนาระหว่างพระสงฆ์กระแสหลักกับพระสงฆ์นอกกระแสหลักและภิกษุณี, ความระแวงและความขัดแย้งกับศาสนาอื่นๆ เป็นต้น ยังมิพักต้องเอ่ยถึงความไร้ประสิทธิภาพในการศึกษาและปรับใช้พุทธธรรมให้ตอบสนองต่อทุกข์ของปัจเจกบุคคล และทุกข์ทางสังคมในโลกสมัยใหม่อย่างรู้เท่าทัน

 

ที่มาภาพ: https://tbcnews.org/wp-content/uploads/2016/02/DSC_0193.jpg

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท