Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนาออนไลน์ “สงครามช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ยุคหลังโควิด-19” โดยมีวัชรพล พุทธรักษา เป็นวิทยากร เป็นการมองขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาปัจจุบัน ผ่านมุมมอง อันโตนีโอ กรัมชี นักปฏิวัติแนวมาร์กซิสม์ชาวอิตาลี 

  •  สภาวการณ์โควิดก็เผยให้เห็นถึงปัญหาชนชั้น (class) การเรียนออนไลน์ท้ายที่สุดมันสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของภาพใหญ่ ที่ผ่านมามันอาจจะเป็นภาพความเหลื่อมล้ำแบบเบลอๆ ตอนนี้ก็มันทำให้เห็นถึงช่องว่างที่ห่างกันอยู่พอสมควร
  •  การเรียนออนไลน์มันเป็นการเคลื่อนย้ายข้ามภูมิภาคกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นภูมิภาคนิยมมากขึ้น (Regionalism) ประเด็นคือเมื่อยุคออนไลน์ก้าวเข้ามาแทนที่ มันจะเกิดปัญหาขึ้นมาทันที เพราะไม่จำเป็นต้องเลือกมหาวิทยาลัยใกล้ๆ บ้านอีกต่อไปแล้ว
  •  คนจำนวนหนึ่งก็คงจะเป็นปัญญาชน (Intellectuals) แต่คนอีกจำนวนมากก็ไม่สามารถคิดให้ทะลุกรอบจากที่รัฐต้องการได้ ยังคงอยู่ภายใต้กรอบคิดที่คิดแต่เพียงว่าต้องทำมาหากินก็หมดวันแล้ว คิดเพียงว่าทำยังไงก็ได้ให้รอดพ้นวันนี้ไปก่อน ทำอย่างไรให้ครอบครัวผ่านพ้นช่วงนี้ไป ทำยังไงให้ลูกมีเงินไปโรงเรียนในวันพรุ่งนี้ก่อน คงไม่มีเรื่องที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์หรือขบคิดในทางปัญญาอะไรขนาดนั้น
  •  ยุคๆ หนึ่งหลายๆ คนต้องมีรูปติดฝาบ้าน ปัจจุบันหลายๆ คนก็ยังคงต้องการมันอยู่ ค่านิยมเรื่องปริญญาบัตร สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่เรื่องของพิธีกรรมที่ทุกคนต้องเคยผ่านมา อย่างพิธีไหว้ครู พิธีหมอบบกราบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้พวกเราต้องยอมต่ออำนาจ ซึ่งวัฒนธรรมหมอบคลานก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน และมันยังคงมีพิธีกรรมอีกมากมายที่ลดทอนความเป็นปัญญาชนเสรีนิยมของนักเรียนนักศึกษาไทยที่ถูกตีกรอบและถูกจำกัดไปอีกเยอะ
  •  โจทย์ของนักศึกษาคือมีสปิริตของการวิพากษ์ ทำความเข้าใจปัญหาต่างๆ และสื่อสารให้คนกลุ่มอื่นๆ เข้าใจได้ง่าย จุดนี้มันจะช่วยทำให้ดึงคนมามีกรอบคิดมากขึ้น ถึงที่สุดแล้วคนที่เดิมที่อาจจะไม่ได้ชอบนักศึกษา แต่เมื่อเขาเห็นปัญหาร่วมกันกับเรา ตรงนั้นมันก็จะสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น

มองขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในยุคโควิด-19 ผ่านมุมมอง อันโตนีโอ กรัมชี นักปฏิวัติแนวมาร์กซิสม์ชาวอิตาลี ในเสวนาออนไลน์ “สงครามช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ยุคหลังโควิด-19” โดย วัชรพล พุทธรักษา อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เมื่อ 13 พ.ค. 2563 สมัชชานิสิตนักศึกษาภาคเหนือจัดเสวนาออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ งานเสวนาที่ไม่เป็นทางการ ในหัวข้อ “สงครามช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ยุคหลังโควิด-19” โดยมี วัชรพล และนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยร่วมเสวนา ซึ่งในการเสวนานี้จะเป็นการนำแนวคิดของกรัมชีมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ของขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ยุคหลังโควิด-19

สงครามช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา...

โพสต์โดย งานเสวนาที่ไม่เป็นทางการ เมื่อ วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2020

ปัญหาการเรียนออนไลน์ สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ชัดขึ้น

วัชรพล กล่าวว่าการศึกษาไทยหลังโควิดรวมถึงในระหว่างเกิดการระบาดของโควิดอยู่นั้น สามารถมองได้ทั้งสองด้านคือทั้งด้านโอกาสและด้านที่เป็นปัญหา ด้านที่เป็นโอกาสก็เช่นการโปรโมทเรื่อง E-learning หรือการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือแม้แต่การใช้สื่อสมัยใหม่ที่มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็อาจจะมีอยู่แล้ว แต่คนที่สนใจจริงๆ ก็คืออาจารย์รุ่นใหม่ๆ ที่ไม่ใช่อาจารย์เก่าๆ ก็จะไม่ปรับตัวหรือปรับตัวช้า ซึ่งการเข้ามาของโรคระบาดโควิดนี้ทำให้เกิดการเร่งปรับตัวในเชิงบังคับไปในตัว หมายถึงถ้าไม่ปรับตัวอาจารย์ก็คงไปสอนไม่ได้ ในแง่นี้ก็พอมองเป็นโอกาสอยู่บ้างที่ทำให้การเรียนการสอนแบบออนไลน์มันถูกนิยมขึ้นมาง่ายขึ้น

ส่วนด้านที่เป็นจุดอ่อนหรือปัญหา คือสภาวการณ์โควิดก็เผยให้เห็นถึงปัญหาชนชั้น (class) ถึงที่สุดแล้วมันก็เผยให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของสังคม (Social inequality) หากมองในมุมของอาจารย์ผู้สอน อาจารย์จำนวนหนึ่งก็อาจจะออกแบบการสอนโดยการสั่งซื้อไมค์เสียงดีๆ สั่งคอมพิวเตอร์ตัวที่สอง สั่งกล้องที่มันมีความละเอียดคมชัด อาจารย์หลายคนก็สั่งซื้อแบบแพงๆ มา แต่อีกหลายคนก็อาจจะสอนแบบไมค์เสียงแตกๆ นักศึกษาก็ต้องทนเอา นี่ก็เป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นอีกแบบหนึ่ง 

ในมุมของนักศึกษาแทบจะทุกมหาวิทยาลัยก็อาจจะมีนโยบายสั่งให้เรียนออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการรองรับให้การช่วยเหลืออื่นๆ เช่นอินเตอร์เน็ต นักศึกษาบางคนไม่มีอินเตอร์เน็ต หลายคนก็กลับไปอยู่บ้านที่บ้านนอกก็ไม่มีอินเตอร์เน็ต ก็ต้องซื้อเน็ตมือถือ ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ช่วยในการแจกซิมอินเตอร์เน็ตให้กับนักศึกษา ซึ่งในแง่นี้มันคือการเผยให้เห็นถึงธาตุแท้ของปัญหาชนชั้น เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส ถ้าพูดถึงในระดับโรงเรียนก็มีปัญหาเช่นกัน บางโรงเรียนก็แจกหลายอย่าง แต่ในบางโรงเรียนก็มีคอมพิวเตอร์อยู่แค่เครื่องเดียว ท้ายที่สุดมันสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของภาพใหญ่ ซึ่งเดิมทีมันมีปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว มันตอกย้ำให้เห็นภาพของความเหลื่อมล้ำชัดขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมามันอาจจะเป็นภาพความเหลื่อมล้ำแบบเบลอๆ ตอนนี้ก็มันทำให้เห็นถึงช่องว่างที่ห่างกันอยู่พอสมควร โดยสรุปมี 2 ด้านทั้งด้านทั้งด้านโอกาสและด้านของปัญหา
 

การศึกษาไร้พรมแดนหลังยุคโควิด

อีกปัญหาหนึ่งที่กำลังจะเผยตัวตามมาหลังจากนี้หากการเรียนออนไลน์กลายเป็นภาคบังคับในระยะยาว โอกาสของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่างจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล ฯลฯ มหาวิทยาลัยเหล่านี้ยังคงเล่นได้อีกเยอะ ยังคงมีพื้นที่ในการขายให้กับลูกค้าใหม่ๆ อย่างนักศึกษาได้อีกเยอะ มหาวิทยาลัยจะทำการตลาดอย่างไรให้ได้เด็กมาเรียน แต่กลับกันสถาบันเล็กๆ หรือสถาบันระดับรองก็สู้ได้ยาก

ในส่วนของมหาวิทยาลัยยุคหนึ่งก่อน 2547ก่อนยุคก่อนทักษิณ ชินวัตร มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไม่ได้มีความเป็นภูมิภาคนิยมชัดมาก ยุคนั้นมันจะข้ามไปข้ามมาจนกระทั่งรัฐไทยเดินไป ไม่มั่นใจว่าผิดทางหรือเปล่า ก็มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นเยอะขึ้นจำนวนมาก ถึงจุดหนึ่งมันเป็นการเคลื่อนย้ายข้ามภูมิภาคกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นภูมิภาคนิยมมากขึ้น (Regionalism) ประเด็นคือเมื่อยุคออนไลน์ก้าวเข้ามาแทนที่ มันจะเกิดปัญหาขึ้นมาทันที เพราะไม่จำเป็นต้องเลือกมหาวิทยาลัยใกล้ๆ บ้าน อีกต่อไปแล้ว ถึงที่สุดอาจจะไปถึงการเรียนต่างประเทศด้วยซ้ำ ไม่ต้องไปเรียนถึงเมืองนอก ซึ่งในต่างประเทศก็มีความพยายามในเรื่องนี้มาอยู่แล้ว อย่างในอังกฤษก็มีนโยบายในเรื่อง Education at Home มากว่า 10 ปีแล้ว เช่น ลงทะเบียนเรียนที่อังกฤษแต่นั่งเรียนอยู่ที่ไทย มาเลเซีย ฮ่องกง หรือจีน ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้วมาระยะหนึ่ง

เสวนาออนไลน์จากเพจ งานเสวนาที่ไม่เป็นทางการ โดยมีวัชรพล และนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยร่วมเสวนา

การศึกษาไทยลดทอนความเป็นปัญญาชนเสรีนิยม

ปัจจุบันเราผลิตคนที่รับปริญญาบัตรได้เยอะ แต่ไม่แน่ใจว่าสามารถสร้างปัญญาชนได้มากน้อยแค่ไหน หากนิยามของปัญญาชน (Intellectuals) คือคนที่เชื่อมั่นในความรู้ จะทำอะไรก็ตามก็จะยึดมั่นในความรู้ และหาความรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างไม่มีอคติ คนจำนวนหนึ่งก็คงจะเป็นปัญญาชน แต่คนอีกจำนวนมากก็ไม่สามารถคิดให้ทะลุกรอบจากที่รัฐต้องการได้ ยังคงอยู่ภายใต้กรอบคิดที่คิดแต่เพียงว่าต้องทำมาหากินก็หมดวันแล้ว คิดเพียงว่าทำยังไงก็ได้ให้รอดพ้นวันนี้ไปก่อน ทำอย่างไรให้ครอบครัวผ่านพ้นช่วงนี้ไป ทำอย่างไรให้ลูกมีเงินไปโรงเรียนในวันพรุ่งนี้ก่อน คงไม่มีเรื่องที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์หรือขบคิดในทางปัญญาอะไรขนาดนั้น

เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมความล้มเหลวของรัฐไทย ซึ่งไม่แน่ใจว่าการศึกษาทำให้เกิดค่านิยม หรือค่านิยมทำให้เกิดการศึกษา ส่วนตัวคิดว่าค่านิยมทำให้เกิดการศึกษาแบบนี้ อย่างยุคๆ หนึ่งหลายๆ คนต้องมีรูปติดฝาบ้าน ปัจจุบันหลายๆ คนก็ยังคงต้องการมันอยู่ ค่านิยมเรื่องปริญญาบัตร สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่เรื่องของพิธีกรรมที่ทุกคนต้องเคยผ่านมา อย่างพิธีไหว้ครู พิธีหมอบบกราบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้พวกเราต้องยอมต่ออำนาจ ซึ่งวัฒนธรรมหมอบคลานก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน และมันยังคงมีพิธีกรรมอีกมากมายที่ลดทอนความเป็นปัญญาชนเสรีนิยมของนักเรียนนักศึกษาไทยที่ถูกตีกรอบและถูกจำกัดไปอีกเยอะ

นักศึกษาผู้ทวงคืนอนาคต

ผมมองว่านิสิตนักศึกษาไทยในขณะนี้ส่วนใหญ่อาจจะเป็นปัญญาชนแบบ traditional intellectual (ปัญญาชนแบบจารีต) เพราะนักศึกษาปัจจุบันไม่ได้ขับเคลื่อนเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ในแง่หนึ่งเขายังไม่ได้เป็นคนทำงานด้วยซ้ำ ยังไม่ใช่การขับเคลื่อนเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ในทางอาชีพหรือสถานะทางเศรษฐกิจสังคม โดยมากคือพวกเขาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์บริสุทธิ์มากกว่ากลุ่มคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่านี้ ถ้าในแง่นี้คือพวกเขาคือ traditional intellectual คือการต่อสู้เพื่อชนชั้นใครชนชั้นหนึ่ง อย่างแฟลชม็อบก่อนโควิดที่ผ่านมาก็มีกลุ่มนักศึกษาออกมาชูป้ายว่าพวกเขามาทวงคืนอนาคตของพวกเขาคืน ดังนั้นพวกเขาไม่ได้มาทวงอนาคตของพวกเขาคนเดียว แต่มันคืออนาคตของลูกหลานของพวกเขาและลูกหลานของผมด้วย กลุ่มนักศึกษาในปัจจุบันจึงเป็นปัญญาชนแบบ traditional intellectual 

กิจกรรมแฟลชม็อบที่สกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 

ภาพโดย:คชรักษ์ แก้วสุราช

กิจกรรมแฟลชม็อบ #คืนสู่เหย้าไม่เอาไอโอชา ที่ ม.เกษตรบางเขนฯ เมื่อ 29 ก.พ. 2563

ภาพโดย:คชรักษ์ แก้วสุราช

Historic Bloc กับขบวนการนักศึกษา 

ในช่วงท้ายของเสวนาออนไลน์มีผู้ชมท่านหนึ่งส่งคำถามถามว่า “ช่วงแฟลชม็อบนักศึกษามีคนกล่าวว่านักศึกษาที่เขาออกเคลื่อนไหวเขาไม่ได้มีโมเดลแบบ 14 ตุลา 2516 เพราะ 14 ตุลา มันถูกทำให้เป็นของ กปปส. ไปแล้วโดยคนร่วมเหตุการณ์รุ่นนั้นหลายๆ คน แต่โมเดลและความทรงจำเขาถูก ติดตั้ง (install) ความคิดความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบ 6 ตุลาคม 2519 โดยนักคิดผู้ร่วมและอยู่เหตุการณ์ในวันนั้น มันเลยทำให้เด็กไม่ได้เอาโมเดลแบบ 14 ตุลามาเป็นธงนำในการเคลื่อนไหว ทางอาจารย์มีความเห็นตรงนี้ยังไงครับ” 

วัชรพลตอบว่า มันคือแนวคิด (concept) เรื่องของ historic bloc (กลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน) ของกรัมชี คือเรื่องของการสร้างกลุ่มประวัติศาสตร์ร่วมกัน historic Bloc สำหรับกรัมชีมันคือสภาวะที่คนมีความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ร่วมกันบางอย่าง ถ้าถึงจุดหนึ่งคนรุ่นนี้จะมีความเข้าใจทางประวัติศาสตร์กับคนก่อนหน้านี้คนละชุด นั้นหมายความว่าเราได้เริ่มเคลื่อนมาสู่การมี historic Bloc ใหม่ หรือมีกลุ่มก้อนทางความคิดใหม่ๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอันไหนถูกอันไหนผิด แต่เรามีประวัติศาสตร์ร่วมคนละชุด ประวัติศาสตร์ร่วมของคนในยุคนี้มันมีตัวเร่งคนละตัว มีปัจจัยในการเมืองโลกคนละแบบ มีตัวแสดงที่ต่างออกไป โดยรวมถือว่ามีประวัติศาสตร์คนละชุดกัน

การสื่อสารและการสร้างพันธมิตรระหว่างชนชั้น

หากนักศึกษาขับเคลื่อนในตัวของนักศึกษาอย่างเดียวมันก็อาจจะมีผลสะเทือน (impact) ได้อยู่บ้าง แต่มันก็จะอยู่ในระดับที่จำกัด เพราะฉะนั้นในเรื่องของการสื่อสารหรือการเผยแพร่ชุดความคิดมันต้องไปให้ถึงในกลุ่มคนที่หลากหลายเพื่อสร้างพันธมิตรร่วมระหว่างกลุ่มหรือชนชั้น เมื่อนั้นก็จะเกิดพลังมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่ามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาบ้าง ผมอาจจะมองโลกในแง่ดีเกินไป แต่ก็เชื่อว่าคงจะดีขึ้น

เราต้องมองให้ทะลุถึงรากของปัญหาหรือแก่นปัญหาของสังคม ถ้าเราสื่อสารได้ ผมเชื่อว่าการขับเคลื่อนของกลุ่มนักศึกษาคือการสื่อสาร การขับเคลื่อนไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกซึ่งจุดยืน หากการแสดงออกซึ่งจุดยืนของนักศึกษาโดยไม่สนใจกลุ่มอื่นในสังคม ก็อาจจะไม่มีประโยชน์เท่าไหร่ ซึ่งในระยะยาวมันคือการเรียนรู้ระหว่างกัน โจทย์ของนักศึกษาคือมี spirit ของการวิพากษ์ ทำความเข้าใจปัญหาต่างๆ และสื่อสารให้คนกลุ่มอื่นๆ เข้าใจได้ง่าย จุดนี้มันจะช่วยทำให้ดึงคนมามีกรอบคิดมากขึ้น ถึงที่สุดแล้วคนที่เดิมทีอาจจะไม่ได้ชอบนักศึกษา แต่เมื่อเขาเห็นปัญหาร่วมกันกับเรา ตรงนั้นมันก็จะสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น ต้องมองภาพรวมมองความเชื่อมโยงทั้งหมดแล้วสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย มันถึงจะสร้างการยอมรับจากกลุ่มคนอื่นๆ มาเป็นพันธมิตรได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net