Skip to main content
sharethis

27 เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา และภาคประชาสังคม ประณามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายกฯ ‘เศรษฐา' เป็นการรัฐประหารเงียบ ชี้องค์กรอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงประชาชนไม่ควรมีอำนาจตัดสินว่าใครควรพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง หรือยุบพรรค

 

15 ส.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ข้อความวันนี้ (15 ส.ค.) เผยแพร่แถลงการณ์เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา และภาคประชาชน กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง

เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)

คดีนี้สืบเนื่องจากการที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่แล้ว 40 คน ได้ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภา ขอให้นำส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าด้วยความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีเพื่อนไปโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

โดยผลจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนั้น ทำให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำของฝ่ายบริหาร ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที และส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล “เศรษฐา” ต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่ยังคงต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่าการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่จะเสร็จสิ้น

ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นอีกครั้งที่นายกรัฐมนตรีถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพ้นจากตำแหน่ง จากเรื่องคุณสมบัติต้องห้าม-จริยธรรม โดยการร้องเรียนครั้งนี้มาจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาของคนกลุ่มหนึ่ง และมิได้ผ่านการเลือกตั้งที่มีการออกเสียงโดยประชาชน โดยครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 3 ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่มีการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2540

คำว่า “จริยธรรม” เป็นคำที่มีความหมายกว้างและสามารถตีความได้หลายแบบจนขาดมาตรฐานที่ชัดเจนว่าแท้จริงแล้ว เกณฑ์ในการวัดเรื่องจริยธรรมนั้นเป็นเช่นใด ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าเรามิอาจปฏิเสธคความสัมพันธ์ระหว่างจริยธรรมกับกฎหมายจริยธรรม โดยเฉพาะจริยธรรมทางการเมืองที่ถูกวางอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น มิอาจขัดต่อวัตถุประสงค์ของการดำรงอยู่ของกฎหมายตามหลักนิติรัฐและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็คือความอยุติธรรม การพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชน และความเสมอภาคต่อกฎหมาย หรือความยุติธรรมสาธารณะ (Public Justice)

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา และภาคประชาสังคม จึงขอประณามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ โดยการที่ศาลรัฐธรรมนูญกระทำเช่นนี้เปรียบเสมือนเป็นการ “รัฐประหารเงียบ” และเราขอเรียกร้องว่าไม่ควรมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย เราเชื่อว่าเจ้าของอำนาจที่แท้จริงคือประชาชนมิใช่องค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งโดยมิได้มีการยึดโยงใดๆ กับประชาชนมาเป็นผู้ตัดสินว่าบุคคลใดต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือการสั่งยุบพรรคการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อตั้งขึ้นมา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net