Skip to main content
sharethis

ไร่หมุนเวียน จาก 'ความมั่นคงทางอาหาร แหล่งพลังงานสู้ไฟ' สู่ การสาดโคลน สร้างแพะรับบาป กดทับสิทธิทำกิน และการผลักดันสู่กลุ่มเปราะบางทางสังคม ขณะที่นักวิชาการ-ชาวบ้านแนะ ทบทวนมาตรการห้ามเผา รักษาไร่หมุนเวียน

ชาวกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน หยอดข้าวไร่ในแปลงไร่หมุนเวียน (ภาพ: บัญชา มุแฮ)

“เพราะเราใช้พื้นที่เป็นไร่หมุนเวียนแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ แต่ป่าใหญ่เราดูแลได้หมด ควรจะให้เราได้รับรางวัลตามวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะสิทธิในการทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่มาทำลายกัน” บัญชา มุแฮ ชาวกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน กล่าวถึงมาตรการจัดการไฟป่าของรัฐที่กระทบวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง

เป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนนับตั้งแต่ไฟป่าเปลวสุดท้ายแผดเผาและมอดดับลงภายหลังฝนแรกของปีมาเยือน ปิดศักราชฤดูกาลไฟป่าด้วยเสียงเล่าอ้างจากผู้เฒ่ากะเหรี่ยงหลายแห่งว่า ไฟป่าปีนี้รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ใช้ชีวิตอยู่บนโลก บ้างว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บ้างว่าเป็นเพราะมีการสะสมเชื้อเพลิงมาก และบ้างว่าเป็นเพราะนโยบายการจัดการไฟของรัฐไม่สอดคล้องกับบริเวณพื้นที่ป่าประเภทต่างๆ ชุมชนที่อยู่ในป่าและอาสาสมัครดับไฟป่าอื่นๆ ร่วมใจกันปกป้องผืนป่าด้วยชีวิต จนมีผู้เสียชีวิตจากภารกิจดับไฟป่าปีนี้ทั้งสิ้น 7 ราย 3 รายในนั้นคือชาวกะเหรี่ยงผู้ออกไปปกป้องบ้านตนเอง

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 จะทุเลาลงมากแล้ว แต่ชุมชนกะเหรี่ยงที่ทุ่มเทปกป้องผืนป่าในช่วงฤดูกาลไฟป่านั้นกลับกำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการทรัพยากรของรัฐ โดยเฉพาะมาตรการห้ามเผา หรือ Zero Burning ที่ตีขลุมเหมารวมไฟทุกประเภทที่เกิดในเขตป่าของรัฐว่าเป็นไฟป่า เดินหน้าผลิตซ้ำวาทกรรม “ชาวเขาเผาป่า” กระทบต่อการใช้ไฟในภาคเกษตรของชาวกะเหรี่ยงที่เรียกว่า “ไร่หมุนเวียน” และยิ่งทวีรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชุมชนที่อยู่ในป่าจนอาจยากจะผสาน

ไร่หมุนเวียน: ความมั่นคงทางอาหาร แหล่งพลังงานสู้ไฟ

“ไร่หมุนเวียน” หรือ “ฆึ” เป็นระบบการเกษตรบนพื้นที่สูงที่เน้นการผลิตข้าวเป็นหลัก และผสมผสานพืชพันธุ์อีกหลายชนิดรวมอยู่ด้วยกัน โดยจะต้องมีการแผ้วถางต้นไม้และเผา เพื่อคืนปุ๋ยและแร่ธาตุสู่ผืนดิน วงจรการหมุนเวียนจะถูกกำหนดให้อยู่ระหว่างช่วง 5-10 ปีจึงกลับมาแผ้วถางทำกินใหม่ เรียกไร่ที่พักฟื้นไว้ว่า “ไร่เหล่า” หรือ “ไร่ซาก”

ไร่หมุนเวียนเป็นระบบการเกษตรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชนกะเหรี่ยง (ภาพ: บัญชา มุแฮ)

ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนนี้เองที่มีคุณูปการในการเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชนกะเหรี่ยงปีต่อปี โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องมีการปิดชุมชนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชุมชนก็ยังสามารถดำรงชีวิตได้ปกติสุขจากผลผลิตเมื่อปีที่แล้ว

“ถ้าอากาศดี ฝนดี ผลผลิตเราจะเยอะมาก เทียบได้เงินเป็นหลักแสน ทั้งข้าว ผัก ผลผลิตอื่นๆ อีก เป็นสิ่งสำคัญว่า ณ วันหนึ่งพี่น้องที่ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน เขาออกจากงานในเมือง ก็มาทำไร่หมุนเวียนกับพ่อแม่ ไม่มีเงินใช้แล้ว ออกจากงานแล้ว แต่บ้านเป็นที่พักพิงสุดท้ายสำหรับคนที่ไปดิ้นรนในเมือง เรามีข้าวให้กิน มีธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของพวกเขา บ้านคือจิตวิญญาณ ไร่หมุนเวียนก็เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนที่นี่” บัญชาเล่าถึงความสำคัญของไร่หมุนเวียนในแง่ความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากนั้น ข้าวจากไร่หมุนเวียนนี้เองที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของชุมชนในการต่อสู้กับไฟป่า ตั้งแต่การทำแนวกันไฟ การลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟ จนถึงการระดมกำลังกันเข้าไปดับไฟป่าบนผืนป่าจิตวิญญาณขนาด 20,034 ไร่ กินระยะเวลาการจัดการไฟตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม

“ในช่วงไฟป่าที่เราทำแนวกันไฟ ดูแลป่า ลาดตระเวน ข้าวที่เราแบกเข้าไปเราก็ได้มาจากไร่หมุนเวียน ยายคนนี้ ตาคนนี้เอาให้ เขาถามว่าเรามีข้าวไหม บางทีเราปฏิเสธ เขาบอกไม่เป็นไร ใส่ย่ามให้เรา พอผมเอาไปผมก็เอาไปไว้เป็นเดือนประมาณ 3-4 ลิตร วางไว้ในป่าตลอด ใครเข้าไปนอนเฝ้าระวังไฟก็จะเอาข้าวตรงนั้นกินได้ ถ้าเหลือเราก็เอากลับมาที่บ้าน เอามาให้แม่ๆ ทำอาหารกินต่อไป กลายเป็นว่าไร่หมุนเวียนเป็นระบบการจัดการของการเกื้อกูลกัน การกลับเข้าไปดูแลป่าธรรมชาติ” ลูกหลานกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋กล่าว

ภาพแสดงลักษณะภูมิประเทศของระบบไร่หมุนเวียน (ภาพ: ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์)

บัญชายังกล่าวต่อว่า ไร่เหล่าเป็นพื้นที่ที่สัตว์ป่ามักเข้ามาหลบไฟในช่วงฤดูกาลไฟป่า เนื่องจากเป็นบริเวณที่ชุมชนต้องป้องกันไม่ให้ไฟลามเข้ามา หรือหากไฟรุนแรงยากจะควบคุมจนลามเข้ามาก็จะอ่อนกำลังลง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีการจัดการเชื้อเพลิงด้วยระบบไร่หมุนเวียนเรียบร้อยแล้ว ไร่หมุนเวียนจึงเป็นระบบการเกษตรที่ไม่เพียงทำให้กะเหรี่ยงดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ยังมีคุณูปการต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในป่าด้วย

ในขณะที่ชุมชนกะเหรี่ยงกำลังต่อสู้กับไฟป่า ควบคุมกับการเดินหน้าดำรงวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม พวกเขากลับต้องเผชิญแรงเสียดทานมากมาย หนึ่งในนั้นคือผลกระทบจากมาตรการห้ามเผาและทัศนคติของหน่วยงานรัฐที่ยิ่งกดทับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผลักให้อนาคตของไร่หมุนเวียนต้องแขวนอยู่บนเส้นด้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สู่การสาดโคลน สร้างแพะรับบาป

“ปัญหาคือคนที่ทำไร่หมุนเวียนไม่ได้เผาไร่ ไม่ได้มีการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรให้พร้อมที่จะเพาะปลูก สาเหตุก็ด้วยกฎหมายและนโยบาย รวมถึงคำสั่งต่างๆ ที่ไม่ให้ใช้ไฟในช่วงนี้” สรศักดิ์ เสนาะพรไพร ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ กล่าว

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่มีปัญหาไฟป่าหมอกควัน ชุมชนกะเหรี่ยงยังไม่ได้จัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ไร่หมุนเวียน โดยทั่วไปชาวกะเหรี่ยงจะจัดการเชื้อเพลิงในไร่หมุนเวียนในช่วงเดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงที่อากาศร้อน จะเผาไหม้ได้ดี แต่ทัศนคติของหน่วยงานรัฐที่เหมารวมไฟทุกชนิดเป็นไฟป่า ทำให้เกิดการกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาจนถึงวันที่ 30 เมษายน ทำให้ชาวกะเหรี่ยงจัดการเชื้อเพลิงได้ยากขึ้น หรือในบางพื้นที่ไม่สามารถเผาไร่หมุนเวียนได้เลยก่อนที่ฝนแรกจะตกลงมา

“พอมาถึงฤดูกาลที่ต้องเพาะปลูก (เดือนพฤษภาคม) ฝนก็ลงมาแล้ว การจัดการวัชพืชหรือเศษพืชก็ไม่สามารถทำได้ ที่สำคัญคือพื้นที่ตรงนี้ด้วยระบบของธรรมชาติจะเป็นการหมุนเวียนพลังงานและปุ๋ยให้พืชที่จะปลูก พอไม่มีการใช้ไฟก็ไม่มีธาตุอาหารให้พืชงอกงามได้ ไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่ลักษณะลาดชัน ไม่เหมือนที่นา จึงไม่สามารถทดน้ำเข้ามาได้” สรศักดิ์ กล่าว

ภาพแสดงระบบการกำจัดเชื้อเพลิงในไร่หมุนเวียน กรณีศึกษาบ้านดอยช้างป่าแป๋ (ภาพ: บัญชา มุแฮ, โพควา โปรดักชั่น)

หนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามเผา คือชุมชนบ้านป่าคาใน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่แม้จะจัดทำแผนการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตร ตามประกาศห้ามเผาของจังหวัดเชียงใหม่ข้อที่ 2 แล้ว แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติโทรไปข่มขู่จนไม่กล้าเผาไร่หมุนเวียน

พฤ โอโดเชา ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าคาใน กล่าวว่า ชุมชนมีการจัดทำแผนการจัดการเชื้อเพลิงเสนอต่อนายอำเภอสะเมิงทุกปี แต่ปีนี้เมื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ลงมามอบนโยบายปิดป่า 100% ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้นายอำเภอไม่กล้าเสนอแผนการจัดการเชื้อเพลิงของชุมชนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

“เราไปยื่นมาหมด ทั้งป่าไม้ ทั้งอุทยานฯ นายอำเภอบอกว่ามันเป็นอำนาจของจังหวัด เขาไม่มีอำนาจ เขาไม่กล้าให้ชาวบ้านเผา อีกวันหนึ่งเราไปรับหนังสือที่ ชม.11 ป่าสงวนฯ ก็โทรมาบอกผู้ใหญ่บ้านว่าห้ามเผาเด็ดขาด ถ้าเกิดอะไรขึ้นเขาจะดำเนินคดี ผู้ใหญ่บ้านรับผิดชอบไหวไหม แต่เราบอกว่าถ้าเราไม่เผาเราจะทำอย่างไร เขาก็บอกว่าถ้าผู้ใหญ่บ้านไม่ให้เผา เขาก็ไม่เผากันหรอก สุดท้ายก็กลัว ชาวบ้านก็ปลอบใจตัวเอง บอกว่าแดดน่าจะรออยู่นะ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาไม่รอแน่ๆ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 26-27 ฝนก็มาต่อเนื่อง เปียกหญ้ามาแล้ว” ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าคาในกล่าว

มาตรการห้ามเผา บวกกับทัศนคติของหน่วยงานรัฐ ที่พยายามผลิตซ้ำภาพจำชาวบ้านเผาป่า ตีตราว่าไร่หมุนเวียนคือต้นตอของไฟป่าลุกลามปีนี้ เกิดเป็นการสนธิกำลังเข้าตรวจยึดพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่อำเภออมก๋อยโดยชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา และได้มีการเผยแพร่ภาพผ่านสื่อออนไลน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือเห็นว่า การดำเนินการเป็นไปเพื่อสาดโคลนใส่ไร่หมุนเวียน กลบเกลื่อนความล้มเหลวในการจัดการไฟป่าของหน่วยงานรัฐ

“มุมวิเคราะห์ของผมคิดว่าเกิดจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ดอยสุเทพ ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ ผู้บังคับบัญชาต้องไปหาผู้ทำผิดมาให้ได้ ก็ต้องไปปฏิบัติการที่อมก๋อย คือเหมือนต้องสร้างสถานการณ์เพื่อกลบข่าวไม่ดีของตัวเอง พอเกิดปัญหาที่ดอยสุเทพเขาไม่สามารถจับคนเผาได้ ก็ไปจับพื้นที่อื่นๆ ที่ทำไร่หมุนเวียน ทำให้ไร่หมุนเวียนเป็นเหตุของไฟป่า ทั้งๆ ที่มันไม่เกี่ยวข้องกันเลย มันไกลกัน ไม่มีใครพิสูจน์ได้เลยว่าการทำไร่หมุนเวียนทำให้เกิดไฟที่ดอยสุเทพ เป็นโจทย์ใหญ่ว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบความเสียหายนี้อย่างไร” สรศักดิ์กล่าว

นอกจากพยายามหาแพะรับบาป สรศักดิ์ยังมองว่าการดำเนินการตรวจยึดพื้นที่ไร่หมุนเวียนยังมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายความชอบธรรมของระบบไร่หมุนเวียน สังเกตจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ หรืออุทยานฯ จะเรียกว่า “ไร่เลื่อนลอย” แต่ปีนี้หน่วยงานใช้คำว่า “ไร่หมุนเวียน” บอกว่าเป็นการทำลายป่า รวมทั้งทำให้เกิดไฟป่า สิ่งที่จะตามมาคือโครงการการปลูกป่าฟื้นฟู 10 ล้านกล้า ที่มีแนวโน้มสูงมากว่าจะนำมาดำเนินการในพื้นที่แปลงไร่หมุนเวียนที่ถูกตรวจยึด ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด

กดทับสิทธิทำกิน ผลักดันสู่กลุ่มเปราะบางทางสังคม

ปัญหาการถูกกดทับสิทธิในการทำกินโดยรัฐไม่เพียงเกิดขึ้นในปีนี้ แต่เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาไม่ต่ำกว่า 70 ปี นับตั้งแต่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 การต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางกฎหมายป่าไม้ประเภทต่างๆ ที่ทับซ้อนชุมชนตั้งแต่แรก เป็นเงื่อนปมสำคัญที่ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องหายไป

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ นักวิชาการอิสระ เห็นว่า เงื่อนปมด้านกฎหมายที่กดทับนี้เองที่ผลักดันให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียนที่เสี่ยงจะถูกกล่าวหา สังเวยลัทธิบูชาแพะไฟป่าและกระแสอนุรักษ์สุดโต่งได้เสมอ

“ไร่หมุนเวียนถูกกระทบทุกกิจกรรมทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการฟันไร่ ถูกตีความว่าเป็นการเปิดพื้นที่ป่าใหม่ การต้องเผาไร่ที่ต้องเตรียมแปลงถูกมองว่าเป็นการเผาป่า ทั้งที่จริงๆ มันคือแค่เสี้ยวเดียวของไร่หมุนเวียน การเพาะปลูกก็ถูกมองว่าเป็นการทำกินที่ผิดกฎหมาย ทั้งหมดทั้งมวลมันคือไร่หมุนเวียนเป็นหนึ่งในนิเวศทั้งหมดของชุมชนกะเหรี่ยงเท่านั้น เป็นหนึ่งในหัวใจของการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และอากาศของชุมชน ทำให้นิเวศทั้งหมดที่รวมกับชีวิตของคนตรงนั้นอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ไม่เป็นธรรมมาอย่างยาวนานมาถึงยุคนี้” ธนากรกล่าว

“สังคมไทยต้องเผชิญความขัดแย้งแบบเดิมระหว่างกลุ่มคนที่มีอำนาจกับคนที่ถูกทำให้ด้อยอำนาจ แม้จะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว มันเป็นโลกสมัยใหม่ที่ไม่ไปสู่โลกสมัยใหม่ซักที มันสร้างคู่ขัดแย้งตลอดเวลา  สังคมจะไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากความขัดแย้งแบบนี้เลย” นักวิชาการอิสระย้ำ

เจ้าหน้าที่รัฐและคนพื้นที่ราบประมาณ 80 คน สนธิกำลังกันเข้ายึดแปลงไร่หมุนเวียนขนาด 18 ไร่ ที่ชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋ 4 ครัวเรือนทำกิน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 (ภาพ: บัญชา มุแฮ)

ด้านสรศักดิ์เห็นว่า การพยายามทำให้ไร่หมุนเวียนเป็นแพะรับบาปแล้วลดจำนวนพื้นที่ไร่หมุนเวียนลง มีจุดประสงค์เพื่อลดอำนาจชุมชนในการต่อรองกับรัฐ และแย่งยึดทรัพยากร

“ผมคิดว่าระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนมันอิสระในการบริหารจัดการตัวเอง การเก็บเมล็ดพันธุ์ มีศักยภาพในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตัวเองได้ ก่อให้เกิดการต่อกรหรือไม่ยอมรับคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ผมมองว่าถ้าเขาทำลายความชอบธรรมของไร่หมุนเวียนได้ เขาก็จะทำให้การเกษตรเป็นการพึ่งระบบตลาด ทำให้เราพึ่งพาตนเองไม่ได้ ไม่สามารถต่อกรได้” สรศักดิ์ กล่าว

นอกจากนั้นสรศักดิ์ยังมองว่า ไร่หมุนเวียนเป็นระบบการเกษตรที่กลุ่มทุนใหญ่ไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะเดียวกันพื้นที่เหล่านี้ก็มีทรัพยากรป่าไม้เยอะ เพราะระบบนี้คือการบริหารโครงสร้างของระบบป่า องค์ความรู้เรื่องการทำไร่หมุนเวียนมีคุณค่าต่อชาวกะเหรี่ยงมาก รัฐจึงต้องทำลายความชอบธรรมไร่หมุนเวียน เข้าไปแทรกแซง ยึดพื้นที่ โดยการทำให้องค์ความรู้เหล่านี้หายไปก่อน เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว มีการบันทึกและเล่าเป็นนิทานจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย โดยเฉพาะสมัยล่าอาณานิคมและสัมปทานป่าไม้

จากงานวิจัยเรื่อง สิทธิของชุมชนชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) กับการดำเนินเขตวัฒนธรรมพิเศษไร่หมุนเวียนในพื้นที่ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหากรณีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าภาคเหนือ โดยอาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุลและคณะ เมื่อปี 2560 ระบุว่ามีชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ภาคเหนือที่ยังเกี่ยวข้องกับการทำไร่หมุนเวียน 1,630 ชุมชน ร้อยละ 54 (880 ชุมชน) ยังคงทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีหลัก ร้อยละ 15 (245 ชุมชน) ไม่มีการทำไร่หมุนเวียนแล้ว และร้อยละ 32 (505 หมู่บ้าน) อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรรูปแบบอื่น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กะเหรี่ยงหลายพื้นที่ต้องปรับตัวและลดการทำไร่หมุนเวียนลง เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าไปสนับสนุนให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือการถูกจำกัดให้ต้องลดรอบการหมุนเวียน ซึ่งทำให้ดินยังไม่ฟื้นตัว นำมาสู่การต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมี

พฤ ในฐานะลูกหลานกะเหรี่ยงที่ได้เห็นการปรับวิถีการเกษตรมาหลายครั้ง ยืนยันว่าชาวกะเหรี่ยงได้พยายามปรับตัวแล้ว ทั้งการปลูกกาแฟ กะหล่ำปลี เบบี้แครอท หรือเบญจมาศ แต่สุดท้ายก็ขาดทุน แค่ค่าขนส่ง ค่าปุ๋ย ค่ายา ก็ไม่คุ้มค่าแล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีไร่หมุนเวียนเป็นฐานสำคัญไว้ก่อนเพื่อให้ชุมชนยังอยู่รอด

“มันไม่ใช่กะเหรี่ยงไม่ปรับตัว ไม่ใช่กะเหรี่ยงดื้อด้าน เขาปรับไม่รู้จะปรับยังไงแล้ว เจ็บเนื้อเจ็บตัวจะตายแล้ว บางคนต้องไปทำงานตามปั๊มน้ำมัน แต่สุดท้ายมันไปไม่ได้ มันต้องทำไร่หมุนเวียน เพราะนี่ยั่งยืนที่สุดแล้ว มันคือการเกษตรที่ก้าวหน้าที่สุดแล้ว การเกษตรที่ไม่ต้องไปพึ่งกระเป๋าคนอื่น” พฤ กล่าว

นักวิชาการ-ชาวบ้านแนะ ทบทวนมาตรการห้ามเผา รักษาไร่หมุนเวียน

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงความเห็นไว้ในเวทีเสวนาออนไลน์ นโยบาย-ความรู้ “คน-ไฟ-ฝุ่น” โจทย์ท้าทายก้าวพ้นวังวนไร่หมุนเวียน จัดโดยสภาลมหายใจ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา โดยเห็นว่า การที่รัฐพยายามบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ลิดรอนสิทธิการทำกินของชาวบ้าน แล้วผลักชาวบ้านให้เป็นศัตรูกับรัฐ จะยิ่งทวีปัญหาให้รุนแรงขึ้น

“ปัญหามันทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในขณะที่พื้นที่ไร่หมุนเวียนมันเป็นพื้นที่ที่ถูกจำกัด ถูกทำให้เป็นบอนไซแคระอยู่อย่างนั้น ชาวบ้านเขาก็พยายามสร้างระบบระเบียบในการจัดการไฟที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และชาวบ้านก็เป็นแนวร่วมสำคัญของรัฐในการแก้ปัญหาหมอกควัน ฉะนั้นการผลักภาระนี้ไปให้ชาวบ้าน หรือการโยนไปว่าชาวบ้านเป็นผู้สร้างปัญหา ก็เท่ากับเป็นการทำให้ชาวบ้านเป็นศัตรูกับภาครัฐ และการทำให้ชาวบ้านเป็นศัตรูกับรัฐมันสร้างอันตรายมหาศาล”  ปิ่นแก้ว กล่าว

นอกจากนั้น ปิ่นแก้วยังไม่เห็นด้วยกับมาตรการห้ามเผา เพราะจะกระทบต่อการชิงเผาจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า และกระทบต่อการเผาไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยงที่มีการควบคุมจัดการไฟได้ดีอยู่แล้ว

“ชาวบ้านที่ทำไร่หมุนเวียนเป็นชาวบ้านผู้ซึ่งพยายามจัดการเรื่องการเผาที่ปรับตัวได้สุดยอดแล้ว คือเผานอกฤดูที่มีความกดอากาศต่ำ เผาในช่วงเวลาที่เรามีเทคโนโลยีในการมอนิเตอร์ค่าความกดอากาศอยู่แล้ว ฉะนั้นการเผาในช่วงเวลาที่ไฟจะไม่สร้างหมอกควันและสร้างปัญหาให้กับผู้คน จะทำได้อย่างไรบ้าง ยังไงดิฉันก็ยังคิดว่าการห้ามไม่ให้เผาเลยทั้งในพื้นที่ไร่หมุนเวียนและพื้นที่ป่าในอนาคตจะสร้างปัญหาแน่” อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ย้ำ

ส่วนธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ เสนอว่าต้องยกเลิกมาตรการห้ามเผาแบบเหมารวม โดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศในป่าที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพราะการเพิ่มระยะเวลาห้ามเผาในปีนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากนั้นยังต้องเพิ่มความเข้าใจเรื่องการใช้ไฟในป่าและไร่หมุนเวียนให้สังคมรับรู้ ตลอดจนหาฉันทามติร่วมจากทั้งสังคม จึงจะเดินหน้าแก้ปัญหาได้ถูกวิธี โดยที่ไร่หมุนเวียนยังต้องมีอยู่

“ต้องเพิ่มความเข้าใจให้สังคมรู้ว่า ลักษณะต่างๆ ที่มีความจำเป็นในการใช้ไฟมีลักษณะอย่างไรบ้าง อย่าใช้คำว่าไฟป่าตีขลุมเหมารวมทั้งหมด เพราะว่าพื้นที่ป่าเอง ตามกฎหมายของรัฐเองก็ตามมันประกอบด้วยลักษณะการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันมาก ไม่สามารถพูดได้ว่าอันนี้คือป่าทั้งหมด เพราะฉะนั้นไฟที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ไฟป่า มันมีไฟหลายประเภท” นักวิชาการอิสระเสนอ

“มาถึงวันนี้เราไม่สามารถบอกได้แล้วว่าใครดีกว่าใคร ใครมีศักยภาพมากกว่าใคร หรือไว้ใจใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ไม่สามารถบอกได้ด้วยว่าชุมชนต้องเป็นพระเอก หรือบอกว่าให้รัฐเป็นคนนำ เราต้องการพื้นที่ตรงกลางที่เป็นฉันทามติร่วมของทุกฝ่าย เราต้องสร้างพื้นที่ในการถกเถียงเพื่อไปให้สู่ฉันทามติให้ได้ ต้องเกิดจากพื้นที่ที่ให้ทุกฝ่ายมาถกเถียง แลกเปลี่ยน เราต้องการพื้นที่แบบนี้ เป็นพื้นที่ที่ต้องใช้เวลา แต่ต้องเกิดขึ้น” ธนากรย้ำ

ธนากร กล่าวด้วยว่า ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิดแสดงให้เห็นแล้วว่าแม้เผชิญเงื่อนไขแรงเสียดทานขนาดนี้ แต่ยังมีผลผลิต มีข้าวพอในการแบ่งคนอื่น นี่ขนาดอยู่ภายใต้กฎหมายแบบนี้ แต่ถ้าปลดล็อกเรื่องพวกนี้แล้วเสริมศักยภาพสมัยใหม่ให้เขา จะมีพื้นที่หรือระบบการผลิตอาหารที่มีความหลากหลายสูงมาก มีความมั่นคงทางอาหารสูงมาก การรักษาระบบนิเวศสูงมาก สังคมต้องคิดว่าคุณจะมองแค่การใช้ไฟแค่หนึ่งเปลวของเขาในระยะเดียวของทั้งปี ประเมินแค่นั้นโดยไม่เก็บรักษาสิ่งที่ถูกพิสูจน์มาแล้วว่ามีคุณประโยชน์ไว้เลยหรือ

ด้าน บัญชา มุแฮ เสนอว่า การจะให้ชาวบ้านเป็นแนวร่วมกับรัฐเพื่อจัดการไฟป่า ต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ได้ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมด้วย ชาวบ้านจะจัดการดูแลไฟให้โดยไม่ต้องการเงินเดือนแม้สักบาทเดียว

ชาวกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ระดมกำลังกันเข้าไปดับไฟป่าบนผืนป่าจิตวิญญาณขนาด 20,034 ไร่ (ภาพ: บัญชา มุแฮ)

“อย่างบ้านผมชุมชนขอกัน 20,034 ไร่ ปรากฎว่าเขาให้แค่ 9,000 ไร่ ผมพูดเลยว่าชาวบ้านจะคิดว่างั้นนอกเหนือจาก 9,000 ไร่ ผมก็ไม่สนใจแล้วนะ มันจะไหม้ก็ให้ไหม้ เพราะผมไม่ได้เป็นเจ้าของ คือเราอยู่บ้านมาเป็นร้อยปี อยู่ดีๆ มาถูกจำกัด พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ฉันก็ไม่สนใจไง เพราะมันไม่ใช่พื้นที่ของฉัน ทุกวันที่เราดูแลป่าก็เพราะเราจัดการได้จริงๆ ช่วงนี้ไม่ใช่ช่วงเผาไร่หรือการเกษตร เราก็เข้าไปดูแลป่า เราก็ปกป้องไป หาของป่าได้ หาของกินได้ ไปนอนพักนอนเล่นได้ ทำอะไรที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราได้ แบบนี้มันแฟร์ๆ” บัญชา กล่าว

“ถึงแม้ไฟจะเกิดนอกชุมชน แต่ถ้าเรามีระบบการจัดการที่ดี เราจัดการไฟได้เยี่ยมมาก ก็อยากให้รัฐยอมรับระบบภูมิปัญญาของเราว่าเราทำได้ดี ให้รับรองให้เราจัดการเชื้อเพลิงได้ตามวิถีตามความเหมาะสมเลย เพราะป่าที่เราดูแลเราใช้พื้นที่เป็นไร่หมุนเวียนแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ แต่ป่าใหญ่เราดูแลได้หมด ควรจะให้เราได้รับรางวัลตามวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะสิทธิในการทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่มาทำลายกัน” ชาวกะเหรี่ยงดอยช้างป่าแป๋ย้ำ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net