Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นองค์กรที่ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่สังกัดกระทรวง ทบวงใด ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2545 ในอดีตสังกัดกับกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) กรมการศาสนา ซึ่งมีศาสนาอื่น ๆ ที่รัฐรับรองอยู่ในกรมนี้ด้วย ทั้งนี้ ชาวพุทธจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้มีการบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และเดินขบวนกันมาตลอดตั้งแต่ปี 2540 (BBC Thai, 2019) จึงสันนิษฐานได้ว่า การให้มีสำนักพุทธฯ ขึ้นส่วนตัว ก็เพื่อจะต่อรองกับการไม่ต้องมีศาสนาประจำชาติหรือกระทรวงพุทธเป็นต้นในขณะนั้น

กลายเป็นว่า พุทธมี 2 องค์กรใหญ่ (1) กรมการศาสนา (ที่ต่อมาสังกัดในกระทรวงวัฒนธรรม) ได้มีศาสนาต่างๆ ที่รัฐรับรอง รวมทั้งศาสนาพุทธอยู่ด้วย ขณะที่ (2) สำนักงานพุทธฯ ซึ่งแยกออกมาแล้ว ก็ได้รับงบประมาณต่างหาก งบประมาณของสำนักพุทธฯ ต่อปีอยู่ที่ราว “ห้าพันล้านบาท” ซึ่งเทียบได้กับกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2563 นี้ได้ไป 5.3 พันล้าน (ฐานเศรษฐกิจ, 2019) การได้รับงบประมาณที่มากเช่นนี้ ในแง่หนึ่งก็สะท้อนความเป็นรัฐศาสนาไปในตัว  


ทำไมสำนักพุทธฯ ดูเหมือนทำงานช้า 

ชาวพุทธแท้มักมองว่า สำนักพุทธฯ ดูจะไม่จริงจังกับกิจการพระศาสนาเท่าที่ควร เช่น ปล่อยให้มีวัดที่ขายของขลัง สอนเรื่องงมงาย ที่ไม่ตรงกับพระไตรปิฎก หรือไม่ยอมจัดการพระนอกรีตเช่น สันติอโศกหรือภิกษุณีให้สิ้นซาก นั่นไม่ใช่เพราะสำนักพุทธฯ ไม่สนใจหรือขี้เกียจ แต่เพราะยิ่งทำ ยิ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะส่งผลเป็นภาพลบแก่เขาเอง สิ่งที่พอจะทำได้คือ ขอความร่วมมือ เช่น ไม่สามารถห้ามพระต่างชาติมาบวชภิกษุณีได้ เพราะเป็นเรื่องของ ตม. และการเดินทางเข้าประเทศเป็นเสรีภาพที่จะเอาเรื่องศาสนาไปละเมิดไม่ได้ 

สิ่งที่สำนักพุทธฯ ทำได้คือ ขอความร่วมมือพระที่อยู่ในระบอบ (สังฆาธิการ) ของตน ที่ใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ” เพราะไม่มีระเบียบชัดเจนว่า ถ้าพระไปละเมิดประกาศนั้นด้วยการบวชให้ภิกษุณีเป็นต้น จะมีโทษอย่างไร แต่เหตุที่สิ่งนี้ถูกให้ความร่วมมือ เพราะพระที่ไม่อยากวุ่นวายจากพระผู้ใหญ่ หรือพระที่หวังโอกาสเติบโตในคณะสงฆ์ต่อ ก็ไม่ควรมีประวัติเสื่อมเสียในฐานะที่ไม่เชื่อฟังสำนักพุทธฯ 

“ชาวพุทธแท้” ที่หวังอยากทำให้ศาสนาสะอาด มีอยู่จริงและทำงานแข็งแกร่ง ในหลายกรณีอาจรวมตัวกันในฐานะองค์กรหนึ่งๆ เพื่อประท้วงหรือดำเนินคดีกับคู่กรณี เช่น กรณีแจ้งความ นศ. วาดรูปอุลตร้าแมน กรณีบังโตวิจารณ์เรื่องรูปปั้น หรือมาร์ค พิทบูล วิจารณ์ศาสนา (ใช้คำว่า เวสสันดาน) หรือให้เปลี่ยนชื่อ/เซ็นเซ่อร์หนังหรือเพลงที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ เรื่องเหล่านั้นจำนวนมากเกิดในโลกออนไลน์หรือนอกวัด แต่เรื่องรูปแม่สิตางค์ ซึ่งเกิดในวัด ก็ไม่แปลกที่สำนักพุทธฯ จะลงมาเล่นเอง 

ผมไม่อยากให้เรามองสำนักพุทธในแง่ร้ายนะ เพราะนี่เป็น “หน้าที่” ที่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสังกัดองค์กรที่คอยเผยแผ่และปกป้องพุทธศาสนาต้องรับผิดชอบ ถ้าเขาไม่ออกมาทำอะไรเลย ก็จะถูกพุทธแท้เหล่านั้นวิจารณ์อยู่ดี ผมคิดว่า สำนักพุทธฯ เองก็ทราบดีว่าตนจะถูกสังคมรุมวิจารณ์ นี่เป็นสิ่งที่เราควรเห็นใจเขา เขาไม่ได้ผิดเพราะเขาต้องทำหน้าที่ แต่การสถานะและเป้าหมายขององค์กร มันขัดกับโลกสมัยใหม่ครับ


ไม่ใช่เพราะเป็นคนข้ามเพศ แต่เป็นเรื่องกาละ/เทศะ

กรณีแม่สิตางค์ หยุดส้ม มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเธอเป็นคนข้ามเพศหรือไม่ จึงไม่ควรมีรูปอยู่ในฝาผนังโบสถ์ เพราะแม้จะเทียบกับภาพอื่น ๆ ที่ดูล่อแหลมทางเพศมากกว่า เช่น คนเสพสังวาสกัน ลิงดูดกัญชา ลิงเอากัน กระต่ายเอากัน ตลอดจนเซ็กส์หมู่ ฯลฯ แต่อย่างน้อยสิ่งนั้นยังอยู่ในกรอบของ ชาย/หญิง สัตว์/สัตว์ แต่คนข้ามเพศ เป็นสิ่งที่อยู่นอกขนบ หรือถือเป็นความผิดปกติของธรรมชาติ (ที่เราถูกทำให้เชื่อ) และปฏิเสธ โดยเฉพาะในพื้นที่ศาสนาที่ (ตีความกันเองและ) ห้ามพวกเขาบวชเป็นต้น

กรณีนี้น่าคิด แต่ผมเหมือนจะเชื่อไปในทำนองเรื่อง กาละ/เทศะ หรือ บริบทรายรอบของภาพนั้นมากกว่า ภาพอื่นก็มีความแปลกกันไปในบริบทของตนเอง จะแปลกอย่างไรก็พอรับได้ นั่นคือ เป็นภาพมารถือปืนกลสู้กับพระพุทธเจ้าก็ได้ ถ้าบทสรุปคือ พระพุทธเจ้าชนะ เพราะไม่ว่าจะแปลกหรืออัปลักษณ์อย่างไร แต่ก็ถูกวาดขึ้นเพื่อเชิดชูพระพุทธเจ้าอยู่นั่นเอง

แต่ภาพแม่สิตางค์ เป็นบริบทที่ผู้คนกำลังต้อนรับ/นั่งไหว้พระพุทธเจ้า ต่อให้จุดหลักอยู่ที่พระพุทธเจ้า ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ภาพแม่สิตางค์ก็เป็นจุดเด่น ในแง่ที่ทำสิ่งที่ต่างไปจากคนอื่นคือการชี้ส้มแทนการพนมมือไหว้ นั่นคือ ถ้ามีภาพนี้อยู่ในวัด แต่วาดให้เป็นจุดเด่นของตนไปเลย มีกรอบแบ่งชัดเจน ไม่เอามารวมกับรูปพระพุทธเจ้า ก็น่าจะรับได้ แบบเดียวกับที่พุทธแท้รับภาพสังวาสทั่วไปได้

คิดแบบคนรักเจ้า ถ้าเป็นภาพในหลวงเสด็จ และมีประชาชนนั่งไหว้หรือโบกธงข้างทาง แต่กล้องกลับถ่ายติดภาพเด็กคนหนึ่งซึ่งนั่งเล่นโทรศัพท์ และภาพนั้นกลายมาเป็นภาพที่ถูกเชิดชูในสถานที่สำคัญจนโด่งดัง ย่อมเป็นที่รับไม่ได้ของคนรักเจ้า เพราะมันสั่นคลอนความศรัทธา ที่อย่างน้อยเขาอยากนำเสนอความศักดิ์สิทธิ์ของ A แต่ B ทำให้เห็นว่า A ไม่สำคัญถึงขั้นตนนั่งเล่นโทรศัพท์แทน 

กาละ/เทศะ คือสิ่งที่เราต้องเคารพและทำตาม เพราะมันสืบทอดมาจากประเพณีที่ดีงาม เราจะเอามาใช้กับเสรีภาพและความเท่าเทียมไม่ได้ ... เขาบอกกันแบบนี้ครับ


สำนักพุทธฯ ทำอะไรก็ผิด?

มีการวิพากษ์วิจารณ์สำนักพุทธฯ กันในช่วงทศวรรษนี้ว่ามีไว้เพื่ออะไร เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีไว้ทำไม ทหารมีไว้ทำไมเป็นต้น แน่นอนว่า สถาบันเหล่านี้ถูกตั้งคำถามได้ บทความนี้พอจะชี้ให้เห็นว่า “สำนักพุทธยังมีความจำเป็นอย่างมาก หากจะรักษาพุทธศาสนาในแบบรัฐไทยเอาไว้” แบบรัฐหมายถึง ผูกขาดองค์ประกอบทางศาสนาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ควบคุมหลักสูตรนักธรรม บาลี ที่ใช้ในการสอนพระเณรทั้งประเทศ 

หมายความว่า สำนักใดจะเปิดสอนส่วนตัว ไม่อิงตามหลักสูตรของชาติก็พอทำได้ แต่จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และไม่น่าดึงดูดใจเท่าที่ควร เพราะหลักสูตรที่รัฐรับรองจะอิงกับองค์กรศาสนาของรัฐเท่านั้น เคยมี นศ. จากมหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของไทย สอบได้ ป.ธ. 6 และจบ ป.ตรีสาขาศาสนา เขาสมัครสอบเป็นอนุศาสนาจารย์ แต่ถูกปฏิเสธเรื่องคุณสมบัติ (ตามระเบียบต้องจบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์เท่านั้น) แม้เขาจะยืนยันว่าเขามีความรู้ทั้งทางวิชาการศาสนา บาลี และภาษาอังกฤษ ในระดับที่มากกว่าคนที่จบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ นี่เป็นตัวอย่างการผูกขาดที่ศาสนาเชื่อมโยงกับรัฐ และไม่เปิดโอกาสให้องค์กรศาสนาแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม

แม้สำนักงานพุทธฯ จะไม่ทำผิดกฎหมายอะไร แต่สถานการณ์ในโลกสมัยใหม่ที่คนถกเรื่องความเท่าเทียมกัน ทำให้สถาบันเหล่านี้หมดความชอบธรรมไปในตัว เช่น ต่อให้สำนักพุทธฯ พิมพ์หนังสือแจก ก็ถูกตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมในการรับเงินจากรัฐ ซึ่งเป็นภาษีประชาชนจากหลายศาสนา มาใช้เผยแผ่ศาสนาพุทธ ในขณะที่คนไม่ใช่ชาวพุทธ รวมทั้งคนไม่เชื่อศาสนาจำนวนมากต้องจ่ายภาษีด้วย ผมอยากให้เราอ่านบทความของ “มูซอนนิฟ ฆอรีบ” เรื่อง “การสร้างมัสยิดด้วยเงินของรัฐบาล” ซึ่งชวนให้ศาสนิกทั้งหลายกลับมาตั้งคำถามกับศาสนาตัวเองว่า “ศาสนาของเราส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคมกันจริงหรือ” 

ดังนั้น ไม่ว่าสำนักพุทธฯ จะทำงานเพื่อเผยแผ่ศาสนา หรือชำระศาสนาให้สะอาดด้วยการจับสึกพระนอกรีตเป็นต้น ก็ถูกมองด้วยกรอบจริยธรรมความเท่าเทียมและเสรีภาพว่ามีปัญหาอยู่ดี นั่นคือ ในขณะที่โลก (รวมทั้งรัฐธรรมนูญไทย) ยอมรับว่า การเลือกนับถือศาสนา เป็นเสรีภาพที่ไม่ควรถูกละเมิด แต่รัฐไทยก็อาจจัดให้สิ่งอื่น ๆ ไปอยู่ในฐานะตัวทำลายความมั่นคงของรัฐ/วัฒนธรรมที่ดีงามได้ จนถึงขั้นระบุไว้ในมาตรา 67 ซึ่งขัดกับหลักการข้างต้น ด้วยการให้รัฐต้องส่งเสริมการศึกษา เผยแผ่และป้องกันไม่ให้เกิดบ่อนทำลายพุทธแบบเถรวาท 

โดยสถานะที่วางอยู่บนความไม่เท่าเทียมเช่นนี้ เขาไม่ทำอะไรเลยก็ยังถูกมองว่าผิด โดยมาตรฐานของเสรีนิยมประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ก็ถามว่า สำนักพุทธฯ มีไว้ทำไม ขณะที่ชาวพุทธแท้ที่อยากให้สำนักพุทธฯ ใช้อำนาจจัดการชำระศาสนาให้สะอาด เห็นการทำงานที่ไม่กล้าลุยแล้วก็รู้สึกไม่ได้ดั่งใจ ก็ตั้งตำถามว่า สำนักพุทธฯ มีไว้ทำไม ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ สำนักพุทธฯ จึงน่าเห็นใจมากครับ

 

อ้างอิง 
ฐานเศรษฐกิจ. (2019). เปิดงบ 63 ทั้ง 20 กระทรวง. เข้าถึงได้จาก https://www.thansettakij.com/content/411417.
มูซอนนิฟ ฆอรีบ. (2563). การสร้างมัสยิดด้วยเงินของรัฐบาล. วารสารมานุษยวิทยาศาสนา ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (มกราคม – เมษายน 2563). หน้า 10-16. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/30d7Mx4.
BBC Thai. (2019). เลือกตั้ง 2562 : พรรคแผ่นดินธรรม ชูนโยบายพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ. เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-47067093

 

ที่มาภาพ: ภาพจาก siamrath.co.th
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net