Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การแต่งงานในศาสนาสายอับบราฮัมเช่นคริสต์และอิสลาม ไม่ได้เป็นกิจกรรมในทางโลกของคู่บ่าวสาวเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่ศาสนาเข้ามากำหนดและผู้จัดพิธีสมรสให้มักเป็นผู้นำศาสนา ด้วยความที่ศาสนาพุทธในอินโดนีเซียได้รับการรับรองจากรัฐ และรัฐเรียกร้องให้คู่บ่าวสาวต้องทำพิธีแต่งงานตามหลักศาสนาก่อนที่รัฐจะยอมรับสถานะคู่ชีวิตของเขา ชาวพุทธในอินโดฯ จึงต้องประดิษฐ์พิธีแต่งงานและปฏิญาณตนต่อหน้าพระพุทธรูปขึ้น

บทความนี้จะใช้กรณีศึกษางานเเต่งของอาจารย์ Mujiyanto กับ Triyani ในวัด Veluvana ซึ่งตั้งอยู่ในวิทยาลัยพุทธ Smaratungga ชวากลาง ในวันที่ 30 กันยายน 2021 ด้วยเหตุผล 2 อย่างคือ 1) เป็นงานที่ผมมีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ในงานจนจบพิธีกรรม และ 2) การจัดงานของบุคลากรที่สังกัดองค์กรใหญ่พุทธยาน (MBI) ช่วยยืนยันว่าพิธีกรรมของพวกเขาสมบูรณ์ ตามที่องค์กรออกแบบมา ในขณะที่การจัดตามวัดเล็กๆ อาจมีการตัดทอนพิธีกรรมเพื่อความสะดวกของชุมชน

 

พิธีแต่งงานกับนโยบายรัฐ

อินโดนีเซียไม่ได้เป็นรัฐอิสลาม แต่ประกาศใช้หลักปัญจสีละ (Pancasila) เพื่อรวมคนเป็นหนึ่งเดียวในการสร้างชาติ ข้อเเรกคือทุกคนต้องเชื่อพระเจ้าสูงสุด (Tuhan yang Maha Esa) ซึ่งศาสนาที่รัฐรับรองจะต้องมี (1) พระเจ้า (2) ศาสดาและ (3) คัมภีร์ทางศาสนา ชาวพุทธอินโดฯ ได้ตีความให้อาทิพุทธะ (Adibuddha) เป็นพระเจ้า ศักยมุนีเป็นศาสดาและไตรปิฎกบาลี/สันสกฤตเป็นคัมภีร์ของศาสนา

รัฐยังเรียกร้องให้ต้องมีพิธีกรรมแบบเดียวกับที่ศาสนาอิสลามและคริสต์มี คู่บ่าวสาวต้องจัดพิธีแต่งงานที่วางอยู่บนความเชื่อพระเจ้าสูงสุด ในปัจจุบันก็ยังใช้กฎหมายของปี 1974 การจดทะเบียนการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายในอินโดนีเซียจะต้องได้รับใบสมรสซึ่งลงลายเซ็นต์ของผู้นำศาสนาตามศาสนสถานของตนก่อน (Michelle Phang, 2023) สำหรับชาวพุทธจะมี Romo / Pandita ฆราวาสผู้ซึ่งได้รับการฝึกอบรมให้ทำพิธีกรรมตามวัดต่างๆ เป็นคนดำเนินการให้

กฎหมายเมื่อปี 1974 มีปัญหาในการละเมิดสิทธิ์ของคู่บ่าวสาวเช่นกัน ดังที่ Ihsan Firdaus (2023) ระบุว่า กฏหมายฉบับนี้ทำให้ผู้ที่จะทำพิธีกรรมทางศาสนาและจดทะเบียนสมรสได้ต้อง "นับถือศาสนาเดียวกัน" จึงเป็นความลำบากของคู่รักต่างศาสนา ซึ่ง Ihsan ย้ำว่า รัฐควรเป็นกลางในทางศาสนาแล้วยกให้ความเชื่อเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล นั่นคือควรตีความกฎหมายแบบ universalism ที่มนุษย์ทุกคนทุกศาสนามีศักดิ์ศรีเสมอกัน และรัฐควรทำหน้าที่ "รับรอง" สถานะของพวกเขา มิใช่ "กีดกัน" หรือกำหนดว่าเขาจะต้องเเต่งกับใคร

ส่วนการทะเบียนราษฎของจาการ์ต้าใต้ ได้อนุมัติสถานะคู่สมรสของคนต่างศาสนาในหมายเลข 508/Pdt.P/2022/PN JKT.SEL ให้คู่สมรสที่เป็นคริสต์และมุสลิม (Ihsan, 2023, p. 65) แต่ในทางปฏิบัติทั่วไป ผู้คนก็ยังรับรู้กันอยู่ว่าคู่สมรสจะต่างศาสนาไม่ได้ แน่นอนว่าการจะขอคำสั่งศาลหรือออกไปเเต่งงานในต่างประเทศเป็นเรื่องที่ยากเกินไป พวกเขาจึงเลี่ยงด้วยการเปลี่ยนศาสนาตามอีกฝ่าย

บางคนอาจเปลี่ยนเพียงชั่วคราว เมื่อเเต่งงานเสร็จก็ย้ายกลับเข้าศาสนาเดิม แต่อีกไม่น้อยที่เปลี่ยนแล้วก็เปลี่ยนไปเลย ซึ่งนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวพุทธหลายพื้นที่ลดลงด้วย เช่นในเมือง Salatiga ชวากลาง และเเน่นอนว่าการเปลี่ยนไปนับถืออิสลามซึ่งเป็นของคนส่วนใหญ่จะเกิดปัญหาน้อยกว่า หากเทียบกับมุสลิมต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น (Abdun Nasir, 2022, p.155)


รูปที่ 2 คู่มือว่าด้วยกฎหมายสมรสและการแต่งงาน (1981) พบได้ตามวัดต่างๆ

แต่งงานหน้าพระพุทธรูป อัตลักษณ์ใหม่ของชาวพุทธอินโดฯ
พิธีกรรมเริ่มจากคู่บ่าวสาวเดินเข้ามาในศาลา โดยมีปัณฑิตะ/โรโม่ (Pandita/Romo) ผู้นำในพิธีกรรมเป็นคนเดินนำหน้าบ่าวสาว มีการเปิดเพลงโดยให้บรรยากาศเหมือนพิธีนมัสการในโบสถ์ของคริสต์ ซึ่งพุทธในอินโดฯ ได้ปรับเอาการร้องเพลงและการเล่นดนตรีมาไว้เป็นบทนมัสการนานเเล้ว หนังสือสวดมนต์ที่พิมพ์ออกมาช่วงปี 1960s ก็มีบทเพลงปรากฎอยู่ และหนึ่งในผู้เเต่งสำคัญคือ หลวงพ่อ Girirakkhito ซึ่งเป็นคนบาหลีบวชเป็นพระเถรวาทจากวัดเบญจมบพิตรฯ

Pandita คือผู้นำชาวพุทธซึ่งเป็นฆราวาส จะมีผ้าห้อยคอสีเหลืองเพื่อบ่งบอกสถานะผู้สอนธรรมคล้ายบาทหลวง แต่ก็ตีความได้ว่า ผ้าผืนนั้นเป็นเหมือนจีวรผืนเล็ก ที่พวกเขากำลังทำหน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในพื้นที่ที่มีพระภิกษุจำนวนน้อย

มีการกล่าวเปิดงานว่า "ขอน้อมบูชาแก่ อาทิพุทธะ พระเจ้าผู้มีอำนาจสูงสุด (Adi Buddha Tuhan yang Maha Esa) และน้อมเคารพเเก่พระรัตนตรัย" ต่อด้วยการมอบวัตถุต่างๆ ให้คู่บ่าวสาวบูชาพระพุทธรูป โดยบรรยายสรรพคุณของสิ่งนั้นๆ ไปตามลำดับคือ

1. ถวายเทียน เป็นเเสงสว่างที่กำจัดความมืด เป็นปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ส่องสว่างไปทั่ว
2. ถวายน้ำ เป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนน้อมถ่อมตน บริสุทธิ์ เย็น ดับกระหายเป็นประโยชน์เเก่สรรพสัตว์
3. ถวายธูป ซึ่งส่งกลิ่นหอม เป็นเหมือนเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า
4. ถวายดอกไม้ เป็นสื่อที่สอนถึงความร่วงโรยเหี่ยวเฉาเช่นเดียวกับร่างกาย จากการเข้าใจสิ่งนี้ ขอให้เราได้พ้นทุกข์ด้วยเถิด
5. ถวายผลไม้ สัญลักษณ์ของการปลูกและเก็บเกี่ยว สอนเรื่องกรรมว่าทำสิ่งใดจะได้รับสิ่งนั้นตอบเเทน
6. ถวายขนม เป็นของหวานที่สื่อถึงความรัก ความเมตตากรุณาของพระพุทธเจ้าที่ไม่มีใครเทียบได้

จากนั้นกราบพระสามครั้ง และกล่าวคำเป็นภาษาอินโดฯ ว่า "พวกเราขอพึ่งพระรัตนตรัย พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของเรา" การกล่าวแบบนี้อาจไม่แปลกหากพูดเป็นบาลีว่า "พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ" เป็นต้น แต่การแปลออกมาเป็นภาษาตนเองเท่ากับย้ำว่าเราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น ไม่เชื่ออย่างอื่น แบบเดียวกับที่มุสลิมต้องยืนยันว่า "ไม่มีพระเจ้าอื่นนอกจากอัลเลาะห์"


รูปที่ 3 พิธีเเต่งงานของ Mujiyanto กับ Triyani (2021)

การเเต่งงานไม่ใช่แค่เรื่องทางโลก แต่เพื่อรักษาศาสนาและพระนิพพาน

ในพิธีกรรม Pandita จะคลุมผ้าสีเหลืองให้คู่บ่าวสาวเป็นสัญลักษณ์ของการผูกสัมพันธ์กัน เเบบเดียวกับที่ไทยใช้ด้ายสีขาวพันศีรษะ แต่ผ้าสีเหลืองมีความหมายมากกว่านั้นคือสื่อถึงการใช้ชีวิตอยู่ในร่มของศาสนาพุทธอีกด้วย ซึ่ง Pandita อธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า "สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญา ดังนั้นการใช้ชีวิตคู่จึงต้องดำเนินไปด้วยการใช้ปัญญา"

จากนั้นให้ทั้งสองกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าพระพุทธเจ้าโดยมีผู้ร่วมงานเป็นพยาน โดยเริ่มจากฝ่ายชายก่อนดังนี้

นะโม สังหยัง อาทิพุทธายะ
นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม สัพเพ โพธิสัตวายะ มหาสัตวายะ

ข้าพเจ้าขอให้ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้เป็นพยานว่า ข้าพเจ้า … ได้รับเอาคุณ … ผู้เป็นบุตรของ … เป็นภรรยา/สามีที่ถูกต้อง ข้าพเจ้าขอสัญญาว่า จะดูเเล เคารพ รักและเอาใจใส่ภรรยา/สามีของข้าพเจ้าอย่างเเท้จริง ทั้งด้วยความคิด คำพูดและการกระทำ ขอให้พระรัตนตรัยได้ให้แนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตเเก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด


รูปที่ 4 เซ็นต์ชื่อในในสมรสของชาวพุทธ

จากนั้นมีการเซ็นต์ชื่อในใบสมรสของชาวพุทธ ซึ่งเป็นฟอร์มที่ออกแบบโดยวัดนั้นๆ นอกจากสามีภรรยาและผู้ปกครองแล้ว ยังต้องมีลายเซ็นต์ของ Pandita พร้อมทั้งระบุศาสนสถานที่ใช้จัดพิธีกรรม และใบสมรสทางศาสนานี้เองจะถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการขอจดทะเบียนสมรถกับทางทะเบียนราษฎร์ ซึ่งจะได้ใบสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายของอินโดนีเซียอีกที

ของขวัญที่ครอบครัวมอบให้ทั้งสองคือ "พระพุทธรูป" Mujiyanto กล่าวว่า ไม่เพียงเเต่เพื่อให้เป็นที่ระลึกเพื่อเอาไปบูชาที่บ้านหลังใหม่ของพวกเขาเท่านั้น เเต่ยังเป็นเหมือนมรดกชิ้นหนึ่งที่ฝากให้ดูเเลรักษา คือดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาพุทธ เมื่อมีลูกหลานก็ให้พวกเขาอยู่ในร่มของศาสนาพุทธเเละช่วยกันดูเเลศาสนาต่อไป ซึ่งบางที่เราอาจพบว่าของขวัญคือหนังสือธรรมบท (Dhammapada) ที่เป็นภาษาบาลีและเเปลเป็นอินโดฯ

ในตอนจบของพิธีกรรม ผู้ดำเนินรายการจะอวยพรว่า "พิธีเเต่งงานของทั้งสองก็ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ขอให้ทั้งสองพ้นจากความทุกข์และได้รับความสุขทั้งกายและใจ .. ขอให้ทั้งสองใช้สติปัญญาในการครองเรือนอยู่เสมอ" (bebas dari penderitaan dan mendapatkan kebahagiaan lahir dan batin ..  semoga selalu bijaksana dalam mengarungi kerumahtanggan) การอวยพรนี้ดูจะเป็นเรื่องทางโลก แต่ก็มีนัยของศาสนาแฝงอยู่ นั่นคือขอให้พ้นทุกข์ ซึ่งเป็นประโยคที่อิงกับเเนวคิดเรื่องทุกข์และการพ้นทุกข์ตามอริยสัจ 4 ของพุทธ คล้ายจะสื่อว่า แม้จะมีครอบครัว เเต่ก็สามารถทำตนให้พ้นจากทุกข์ได้ทั้งทางกายและทางใจ

เมื่อออกจากศาลา ได้มีการปล่อยนกเป็นสัญลักษณ์ของอภัยทานในศาสนาพุทธ จะเห็นได้ว่า เมื่อรัฐกำหนดให้ชาวพุทธต้องมีพิธีกรรมการเเต่งงานตามหลักศาสนา ชาวพุทธในอินโดฯ จึงต้องสร้างพิธีกรรมงานเเต่งขึ้นในวัด พร้อมกับการหยิบยืมเอารูปแบบคำกล่าวปฏิญาณในศาสนาคริสต์เป็นต้นมาใช้ ทำให้พิธีเเต่งงานที่ดูจะเป็นเรื่องทางโลกก็มีนัยของศาสนามากขึ้น และยังเป็นขั้นตอนหนึ่งในการตอกย้ำหน้าที่ของชาวพุทธในประเทศที่เป็นคนส่วนน้อยให้รับหน้าที่ช่วยเผยเเผ่/สืบทอดศาสนาอีกด้วย


รูปที่ 5 คู่บ่าวสาวปล่อยนกหน้าศาลา

 

 

อ้างอิง
Ihsan. M.F. (2023). Legalization of interfaith marriage in Indonesia: Between universalism and cultural relativism. The Easta Law and Human Rights, 1(2), 64-71.

Michelle Phang, 2023). Tata Cara dan Syarat Pemberkatan Pernikahan Agama Buddha. เข้าถึงจาก https://t.ly/iuzvD.

Nasir, M.A. (2022). Negotiating Muslim interfaith marriage in Indonesia: Integration and conflict in Islamic law. Mazabih: Journal Pemikiran Hukum Islam, 21(2),115-186.

ดูคลิปงานเเต่ง Pemberkahan Pernikahan " Mujiyanto M.Pd & Triyani S.Pd " | Vihara Veluvana | kamis 30 September 2021 ได้จาก https://t.ly/NMOPM.

Terima Kasih kepada Mujiyanto dan Triyani untuk data dan photo2.
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net