Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เกริ่นนำ
บทความนี้เป็นการปริทัศน์หนังสือ Little Angels: Life as a Novice Monk in Thailand (2001) ของ Phra Peter Pannapadipo ตีพิมพ์ครั้งแรกโดย Post Book ซึ่งเป็นการเขียนที่เก็บข้อมูลแบบสัมภาษณ์ โดยที่ Peter Robinson เองได้บวชเป็นพระและจำพรรษาที่นครสวรรค์ ในวัดนั้นมีการเรียนสายสามัญ บาลีและนักธรรม ซึ่งมีเณรจากหลายจังหวัด หนังสือนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนภาพความยากจนของสังคมชนบทและความรุนเเรงในครอบครัวช่วงปี พ.ศ. 2550 เท่านั้น แต่ยังให้ภาพชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนการได้เกิดใหม่เป็น “เทวดา” ของเด็กๆ ด้วย

ทราบกันดีว่า วัดไทยเปิดโอกาสให้ผู้ชายเข้ามาบวชและขยับสถานะทางสังคมได้ หนึ่งในนั้นคือการเข้าถึงการศึกษาที่ง่ายกว่าเด็กยากจนทั่วไป เจน บุนนาค (Bunnag, 2007) เขียนเรื่องราวของชาวพุทธไทยโดยเสนอว่าพระไทยแม้จะบวชเเล้ว พวกเขาก็มิได้ตัดขาดจากทางโลก มิใช่แค่เป็นเรื่องยศศักดิ์การปกครองที่พระไปยุ่งเกี่ยวด้วยเท่านั้น แม้กับญาติโยมทางบ้านก็ยังต้องรักษาความสัมพันธ์ไว้ผ่านการช่วยเหลือกันเหมือนเดิม งานของเจนเน้นศึกษาพระและวัดในเมือง ขณะที่งานของ Peter เน้นไปที่ตัวคนซึ่งเป็นสามเณรที่มาจากครอบครัวยากจน

ไม่ได้ชอบชีวิตพระเณร แต่ก็พออยู่ได้
Peter เขียนเล่าเรื่องราวของเณร 12 รูป อย่างละเอียดและมีชีวิตชีวา ความเหมือนกันของเณรจำนวนมากคือ ไม่ได้อยากบวช แต่เพราะไม่มีตัวเลือก ในบทที่ 2 เขาตั้งชื่อว่า Sorry son, you’ll have to be a novice ซึ่งไม่ได้สื่อเเค่ความเชื่อเรื่องบวชตอบเเทนบุญคุณพ่อเเม่เท่านั้น เเต่เพราะเศรษฐกิจของไทยตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเณรที่มาจากครอบครัวชาวนา ผู้ปกครองจึงบอกให้เขาต้องไปบวชหากอยากศึกษาชั้นมัธยม เเม้ไม่อยากบวช แต่บวชแล้วเณรเหล่านั้นก็พออยู่ได้ พวกเขาตั้งใจเล่าเรียน และจำนวนมากอีกเช่นกันที่ตั้งใจจะสึกไปเรียนต่อและทำงานเมื่อจบ ม.6

Peter ชวนให้เราไม่ด่วนสรุปโดยมองว่า พวกเขาแค่อยากเข้ามาหาผลประโยชน์จากพื้นที่ศาสนา เพราะชีวิตคนมีมิติที่ซับซ้อนกว่านั้น กล่าวคือ เราควรมองให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อชีวิตคนยากจนเหล่านั้น และหลายคนเมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ตั้งใจรักษาศีล อยากทำตัวให้เป็น “เณรที่ดี” แม้ว่าจะบกพร่อง แต่เขามีสำนึกและพยายามเท่าที่คนๆ หนึ่งจะตีความและปรับเปลี่ยนตัวเองได้ Peter มองว่า การละเมิดศีลบางอย่าง เช่น กินข้าวในตอนเย็น สอยมะม่วงวัดหรือเล่นฟุตบอล ไม่ใช่ความชั่วร้าย เเต่เป็นมุมหนึ่งของชีวิตเด็ก จนเขาตั้งฉายาเณรว่า Little Angels และจากประสบการณ์ของเขา คงมีเณรจำนวนน้อยมากๆ ที่จะถูกเรียกว่า Little Devils

Peter อ้างข้อมูลจาก Bangkok Post ปี 2000 ว่า คนไทยมากกว่า 80% มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและจำนวนมากเป็นคนจน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน พวกเขามีรายได้ราวปีละ 10,000 – 27,000 บาท จึงต้องอาศัยการออกไปทำงานที่อื่น เช่น กรุงเทพฯ เเม้รัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี แต่การต้องบังคับให้ใส่ชุดนักเรียน รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ รวมทั้งต้องจ่ายค่าเดินทางไปเรียน ค่าขนมในแต่ละวัน เด็กจากครอบครัวยากจนก็หลุดออกจากการศึกษาไป

เณรบัญชา: สังคมที่ดีที่สุดคือวัด
บัญชาเกิดในครอบครัวกะเหรี่ยงจังหวัดเชียงใหม่ เขาอยู่กับพี่สาว แม่ไปทำงานในเมือง ทั้งสองไม่มีโอกาสเรียนหนังสือเพราะยากจน พวกเขาติดตามแม่ไปเที่ยวในเมืองบ้าง และเเม่ก็สอนให้พวกเขาแอบขโมยของจากร้านอื่นๆ เพื่อเอามาขายต่อ แน่นอนว่าพวกเขาทำสำเร็จคือไม่เคยถูกจับได้เลย แต่ก็เหมือนจะเป็นที่รับทราบกันว่าคนขโมยต้องเป็นเด็กยากจนพวกนี้แน่ๆ และพวกเขาก็ถูกรังเกียจ

นอกจากขโมยของเเล้ว ยังถูกสอนให้ขอเงินฝรั่ง บัญชาเชื่อว่า เงินที่ได้มาบ้างเพราะฝรั่งปัดความรำคาญ ครั้งหนึ่งฝรั่งใจดีให้เงินเขา 10 บาท และยังพาเขาไปซื้อเสื้อตัวใหม่ เขาก็เลือกเสื้อ Manchester United ไม่ใช่เพราะชอบทีมฟุตบอล เขายากจนไม่ได้ดูทีวีและไม่รู้จักทีมนั้น หากแต่เลือกเพราะสีสวย เเต่เมื่อเดินมาอวดแม่ เเม่บอกให้ถอดเสื้อนั้นออก แล้วเอาไปขายให้กับผู้หญิงอีกคน

ต่อมาทั้งสองย้ายไปอยู่กับลุง ลุงส่งเขาเข้าเรียน แต่ไม่ให้พี่สาวเรียนด้วยเหตุผลว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียน บัญชาเอาหนังสือเรียนมาเปิดให้พี่สาวดูและพูดทุกอย่างที่เขาจำได้จากการเรียนในวันนั้น เขาพบว่า พี่สาวเรียนรู้ได้เร็วและเข้าใจอะไรได้ง่ายกว่าเขามาก แต่ไม่นานพี่สาวก็ถูกขายให้กับนายหน้าเพื่อไปทำงานในโรงงานเย็บผ้า ส่วนตัวเขาเองก็ได้จักรยานเพื่อปั่นไปโรงเรียน ซึ่งมาทราบทีหลังว่า ไม่ใช่เพราะลุงเมตตา หากแต่จะให้เขา (ในชุดนักเรียน) ช่วยปั่นไปส่งยาบ้า เพราะเด็กมักจะไม่อยู่ในความสนใจของตำรวจ

เมื่อแม่ป่วยตาย เขาต้องอยู่กับลุงเพียงสองคน เมื่อทนการบังคับขู่เข็ญและถูกทำร้ายร่างกายไม่ไหว เขาหนีไปขอความช่วยเหลือจากหลวงพ่อที่วัด ท่านบวชเณรให้เขา และส่งเขาไปเรียนที่นครสวรรค์เพื่อให้ลุงตามหายากขึ้น สังคมพระเณรอาจเป็นสังคมแรกที่เขารู้สึกปลอดภัย หลายปีต่อมาพี่สาวก็ไปเยี่ยมที่วัด ชวนเณรสึกไปอยู่เยอรมัน ซึ่งเป็นครอบครัวของแฟนพี่ เณรปฏิเสธและยังใช้ชีวิตในวัดต่อไป แต่เขาก็ดีใจที่ทั้งเขาและพี่สาวพ้นไปจากสังคมที่ต้องทำทุกอย่างให้มีชีวิตรอดและมักตกเป็นเหยื่อความรุนเเรง

เณรบอม: เลิกกินข้าวเย็นเพราะเห็นเปรต
เณรบอมคงเหมือนชาวพุทธทั่วไป ที่จินตนาการว่าพระเณรในวัดน่าจะรักษาศีลกันอย่างดี แต่เมื่อเขาเข้าไปบวชก็ทราบว่า พระเณรทั่วไปไม่ได้ซีเรียสกับวินัยมากขนาดนั้น แน่นอนว่าพวกเขาต้องทำให้เคร่งขึ้นหากอยู่ในสายตาของฆราวาส แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะพระเณรจะมองว่าวินัยบางข้อไม่สำคัญ เช่น การกินข้าวตอนเย็น Peter เล่าว่า พระบางรูปที่เคร่งมากๆ ก็จะเคร่งแบบปัจเจกแต่ไม่มีปัญหาหากคนอื่นไม่เคร่ง และบางทีพระรูปนั้นนั่นเเหละที่เอาอาหารมาให้เณรกินในตอนเย็น เพราะเห็นว่าเณรเรียนเหนื่อย

เณรบอมมาจากบุรีรัมย์ เขาบวชตอนอายุ 12 ปี เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งเรียนมัธยม พี่ของเขาแยกย้ายไปทำงานที่กรุงเทพฯ และพัทยา จะกลับบ้านปีละครั้งคือสงกรานต์ เขาเองได้รับเงินจากพระที่วัดเพื่อจ่ายค่ารถทัวร์ไปเยี่ยมบ้านและพบปะครอบครัวเช่นกัน รายได้ของเณรส่วนหนึ่งมาจากการสวดบังสุกุลศพ เณรบอมบอกว่า ถ้ายิ่งเป็นงานใหญ่ที่จัดพิธีกรรมนานก็จะน่าเบื่อ โดยเฉพาะวันที่อากาศร้อน แต่อย่างน้อยก็ได้ซองรูปละ 100  บาท

แต่ก็ไม่ใช่ว่าพระเณรจะหน้าเลือดอยากได้เงินขนาดนั้น เพราะในบางกรณีหากเป็นงานของคนจน ทางวัดก็จัดพิธีและนิมนต์พระมาสวดให้ โดยปกติเจ้าภาพจะเกรงใจ พวกเขาก็ยังจะถวายเงิน เช่น รูปละ 10 บาทติดมากับดอกไม้ธูปเทียน พระเณรในวัดก็มักจะเอาเงินคืนเขาไปและรับไว้เฉพาะดอกไม้ธูปเทียน เพื่อให้เขาเเน่ใจว่าคนตายจะได้บุญจากการที่พวกเขาถวายของและพวกเขาเองจะได้มีเงินใช้ด้วย

เณรบอมเห็นว่าการเรียนสายสามัญและนักธรรมมีประโยชน์เอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ เเต่เขาไม่เห็นว่าภาษาบาลีจะสำคัญโดยมองว่าคนที่อยากสึกไปทำงานอย่างเขาไม่ควรต้องมาเสียเวลาท่องจำศัพท์พวกนั้น การเรียนธรรมะและฟังเทศน์ส่งผลต่อชีวิตเขามาก ครั้งหนึ่งเขาแอบกินข้าวในตอนเย็น เมื่อออกจากกุฏิก็เจอเปรต จนเขาเชื่อว่า เปรตมาเตือนให้เขารักษาศีล และจากนั้นมาเขาก็ไม่ผิดศีลข้อนั้นอีกและไม่เห็นเปรตอีกเลย

เณรเบิร์ด: ยายบวชชี หลานบวชเณร
เบิร์ดอยู่กับยายในจังหวัดอ่างทอง เขาถูกพ่อแม่ทิ้งไปตั้งเเต่เด็ก ยายเองก็เป็นหม้าย ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับยายเหมือนความรักระหว่างแม่กับลูก ยายปลูกข้าวและผักผลไม้ต่างๆ บนที่ดินอันน้อยนิด เเต่ก็พอจะมีรายได้เลี้ยงทั้งสองคน เมื่อเขาจบ ป.6 ยายขอให้ป้ารับเขาไปเลี้ยงที่ชลบุรีเพื่อให้ได้เรียนต่อมัธยม เมื่อถูกยายรบเร้าเข้าหลายครั้ง ป้าจึงยอมรับเขาไปเลี้ยงดู ซึ่งป้าเองก็มีลูกอยู่ 2 คน และครอบครัวป้าค่อนข้างมีกินมีใช้

เบิร์ดไม่เคยบอกยาย ว่าการมาอยู่กับป้าเขาต้องถูกปฏิบัติเหมือนทาสในบ้านมากกว่า ขณะที่ลูกป้าทั้งสองคนถูกตามใจและอยู่อย่างสบาย เมื่อไม่ต้องดูเเลเบิร์ด ยายเองก็ตัดสินใจขายบ้านและที่ดินแปลงเล็กๆ นั้นไปบวชเป็นชีอยู่ที่วัดในนครสวรรค์ เนื่องจากเป็นวัดใหญ่ เงินทำบุญมักเอาไปทุ่มให้กับพระเณรนับร้อยและจ่ายเงินเดือนให้ครูในโรงเรียนวัด เเต่เจ้าอาวาสยังสงเคราะห์ผู้หญิง โดยเฉพาะคนเเก่ให้มาบวชชี ตอนนั้นมีอยู่ราว 40 คน แต่พวกเขาต้องจ่ายเดือนละ 300 บาท เพื่อช่วยค่าน้ำค่าไฟ ขณะที่พระเณรอยู่ฟรี

เงินของยายหมดก่อนกำหนดเพราะยายใจดีชอบช่วยเหลือแม่ชีคนอื่นๆ และบางทีก็ต้องซื้ออาหาร ชุดขาวและเครื่องใช้จำเป็น เบิร์ดมีโอกาสไปเยี่ยมยายบ้างและได้รู้จักกับเจ้าอาวาส เมื่อทราบว่าวัดมีทุนการศึกษาให้กับเณรกำพร้า ซึ่งฆราวาสที่ร่วมกันบริจาคเงินไม่ได้เรียกร้องอะไร ขอแค่ให้เณรตั้งใจเรียนและเป็นเณรที่ดี เบิร์ดฟังแล้วก็สนใจเพราะคิดว่าเงินจำนวนน้อยๆ นั้นอาจช่วยยายแต่ละเดือนได้

เขาตัดสินใจบวชเรียนต่อมัธยมปลายที่นั่น ทั้งสองจึงได้มีโอกาสพบปะพูดคุยและช่วยเหลือกันเหมือนเดิม เพียงเเค่บ้านที่อยู่และสถานะของทั้งสองเปลี่ยนไป เณรเบิร์ดก็ตั้งใจเรียน เขามีความสุขกับสังคมใหม่ ยายเองเเม้จะอายุ 70 แล้วแต่ก็ยังขยันและมีเมตตามาก ยายยังช่วยงานวัดและกิจกรรมของแม่ชีอย่างดีเสมอ

บทส่งท้าย
คนเขียน คือ Peter และเพื่อนๆ ได้ร่วมกันก่อตั้ง Students’ Education Trust (SET) ในปี 1994 โดยตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กไทยที่ยากจนให้เรียนในระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี กระทั่งปี 2001 นักเรียนมากกว่า 1,000 คนได้ประโยชน์จากทุนนี้ในการช่วยเหลือให้เขาศึกษาจนสำเร็จ รวมถึงเณรจำนวนหนึ่งที่เขียนถึงในเล่มนี้ หากมีทุนการศึกษารองรับ การสึกไปทำตามสิ่งที่ตนชอบก็ง่ายขึ้น เมื่อพบว่าตนไม่อยากบวช แต่อยากเรียนช่างและอยากทำงานทางโลก

คงดีมากหากทุนนี้มีในทุกวัด แค่เเบ่งเงินกฐิน/ผ้าป่า ปีละสัก 500,000 บาท มาสนับสนุนเด็กยากจนข้างวัดหรือเณรที่อยากสึกไปเรียน อาจได้ราวปีละ 10 คน ซึ่งเเต่เดิมวัดเน้นเอาเงินไปสร้างอาคารราคาเเพงแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร วัดในปัจจุบันก็ช่วยเหลือเด็กชายยากจนด้วยการให้มาบวชและบังคับเรียนนักธรรม/บาลี ซึ่งเป็นประโยชน์กับการเลื่อนสมณศักดิ์ของเจ้าอาวาส และใช้ช่วงเวลานั้นปลูกฝังให้เขารัก/รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณศาสนา ทั้งที่หลายคนอาจไม่อยากเป็นพระแต่ไม่มีตัวเลือก (อ่านเพิ่มเติมจาก พระหนุ่มเณรน้อย ชีวิิตที่เคว้งคว้างใต้ร่มศาสนา ของ เจษฎา บัวบาล, 2567)

เรื่องราวของเณรทั้ง 3 รูปชี้ให้เห็นว่า วัดเป็นพื้นที่ที่สงเคราะห์คนยากจนได้ดีเสมอมา น่าเสียดายที่สำนักภิกษุณี/แม่ชียังมีน้อย เลยสงเคราะห์เด็กผู้หญิงได้ไม่มากเท่าเด็กผู้ชาย แต่ทั้งนี้เราอาจพอตอบคำถามได้ว่า ทำไมพระเณร/ผู้ศรัทธาศาสนาส่วนใหญ่ยกย่องสรรเสริญคนดีหรือการบริจาคมากกว่าการสร้างรัฐสวัสดิการ นั่นเพราะในชีวิตของพวกเขาล้วนได้โอกาสจากความเสียสละ/ทำบุญของปัจเจกบุคคลในนามศาสนา ทั้งคำสอนและพื้นที่ทางศาสนาช่วยเขาได้ทั้งร่างกายและจิตใจ ในขณะที่รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่ยากเกินจะจินตนาการถึง
 


อ้างอิง
Bunnag, J. (2007). Buddhist monk, Buddhist layman: A study of urban monastic organization in central Thailand. NY: Cambridge University Press. 
เจษฎา บัวบาล. (2567). ความเชื่อ อำนาจและการตีความศาสนา. เข้าถึงจาก https://t.ly/cuPyu.
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net