Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้เสนอว่า หากเด็กอายุน้อยสอนธรรมะในแบบที่พุทธศาสนาไทยรับรอง เช่นน้องใบข้าวหรือสามเณรคนอื่นๆ ผู้คนจะออกมากราบไหว้ยกย่องโดยไม่ตั้งคำถามถึงการคุ้มครองเด็ก น้องไนซ์ถูกปฏิเสธเพราะ 2 ปัจจัยหลักคือ (1) เขาพูดธรรมะที่ต่างไปจากพุทธเถรวาทกระเเสหลัก และ (2) สถานะฆราวาสของเขาท้าทายต่อจารีตอำนาจของไทยซึ่งไม่ควรมีใครถูกกราบไหว้ เพราะสงวนไว้ให้เเก่สถาบันสงฆ์ (และสถาบันกษัตริย์) เท่านั้น กระเเสต่อต้านน้องไนซ์จึงมิใช่เเค่การอยากปกป้องสิทธิเด็ก แต่ยังเป็นการสะท้อนความจงรักภักดีต่อพุทธเถรวาทที่ใช้ตัดสินความเชื่ออื่นและธำรงรักษาสถานะสูงสุดของพระสงฆ์ไว้

โชคร้ายที่น้องไนซ์เกิดในประเทศที่ไม่มีเสรีภาพทางศาสนา

ในสังคมพุทธศาสนาวัชรยาน การอ้างว่าเป็นคนนั้นคนนี้กลับชาติมาเกิดเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ (Tulku) พบเจอได้ทั่วไป ดาไลลามะเองก็กลับชาติมาเกิดของอวโลกิเตศวร การกลับชาติมาเกิดไม่ว่าจะในพุทธแบบไหนก็อาจไม่ใช่ปัญหา แม้ในเถรวาทแบบไทยเองก็มีมาก เช่น หลวงพ่อจรัญ (อดีตนายทหารพระเจ้าตาก) หลวงพ่อฤษีลิงดำ (เคยเกิดเป็นกษัตริย์ไทย) พ่อท่านลี (อดีตพระเจ้าอโศกมหาราช) ฯลฯ ที่ไม่มีปัญหาเพราะท่านอยู่ในกลุ่มของพระเถรวาทกระเเสหลักภายใต้มหาเถรสมาคม และที่สำคัญคือได้รับสมณศักดิ์จากในหลวง ซึ่งเป็นสิ่งที่น้องไนซ์ไม่มี

แม้น้องไนซ์จะตอบว่า พระไตรปิฎกไม่ใช่การบันทึกทุกอย่าง เป็นเเต่เพียงข้อมูล “กำมือเดียว” ที่พระพุทธเจ้าเลือกสอน ดังนั้นจึงมีความจริงอื่นๆ อีกมากที่ไม่มีในพระไตรปิฎก อันนี้ก็ดูจะไม่ช่วย องค์ธรรมกายตั้ง “สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย” ขึ้นมาเพื่อศึกษาคัมภีร์ต่างๆ หนึ่งในเหตุผลสำคัญก็เพื่อจะยืนยันว่า “คำว่า ธรรมกาย มีอยู่ในคัมภีร์พุทธ” (ดูรายละเอียดใน ชนิดา จันทราศรีไศล, 2557) เพื่อสื่อว่าเขาไม่ใช่พวกนอกรีต

แต่ในทางปฏิบัติ เหตุผลนี้แทบไม่ช่วย คนที่รังเกียจอุบายการสอนและการหาเงินบริจาคแบบนั้นก็ยังมองเขาแบบเดิม แต่เหตุผลสำคัญ 2 อย่างที่ธรรมกายอยู่รอดมาได้คือการเเสดงให้เห็นว่าจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ผ่านการจัดพิธีถวายพระพร (MCOT, 2567) และการเข้าหาพระเถระผู้ใหญ่อยู่เสมอ ให้สังคมเห็นว่าพวกเขาเป็นสาวกที่ดีของพุทธศาสนาไทยภายใต้มหาเถรสมาคม

การที่คนไทยใช้อำนาจรัฐจัดการคนคิดต่างก็เพราะก็มีรัฐธรรมนูญรองรับ คือ “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนา และสนับสนุนการเผยเเผ่หลักธรรมของเถรวาท” (ฉบับปี 2560 มาตรา 67) ทำให้โยงได้ว่า หากใครเผยเเผ่ศาสนาผิดหลักการของเถรวาท รัฐก็ควรเข้ามาจัดการเพื่อคุ้มครองพุทธศาสนา มาตรานี้ขัดกับหลักเสรีภาพและความเสมอภาคในการนับถือศาสนา และยังมีการเหมารวมเอาว่า คนพุทธทุกคนเป็นเถรวาท ทั้งที่เขาก็เป็นพุทธเเบบอื่นๆ ได้ เขาจะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อส่วนไหนก็ได้ ไม่ใช่หน้าที่รัฐที่ต้องเข้าไปคุมความเชื่อและการตีความ เป็นเรื่องน่าตลกอยู่หากมีกลุ่มคนอยากเผยแผ่ศาสนาที่ต่างออกไป แล้วต้องหาทางออกด้วยการระบุไปเลยว่า “พวกเราไม่ใช่พุทธศาสนาเถรวาท” เพื่อจะได้หลุดไปจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐ เพราะรัฐไม่ควรมีอำนาจในการเคลมว่าเป็นเจ้าของพุทธเถรวาทแต่เพียงผู้เดียว

ควรปล่อยให้เด็กไปวิ่งเล่น เติบโตตามพัฒนาการ

น้องไนซ์ถูกโจมตีว่าเขาควรได้ไปเรียนรู้และใช้ชีวิตแบบเด็กทั่วไป ไม่ใช่การมาตั้งตนสอนธรรมะ เเละมีการเอาน้องใบบุญ (ซึ่งอายุ 5 ขวบ) มาเกทับ (ดูรายละเอียดใน TV5HD Online, 2567 เป็นต้น) น้องคนนี้ดังขึ้นอย่างมากเมื่อคนเอาไปเทียบกับน้องไนซ์เพื่อบอกว่า เด็กที่รู้ธรรมะที่แท้จริงต้องเป็นเช่นนี้ต่างหาก แน่นอนว่าสังคมไทยไม่ปกติตั้งเเต่เอาเด็กสองคนมาเปรียบเทียบกันและใช้เป็นตัวอย่างในการสอนมารยาทเด็กอีกคน ซึ่งสื่อทีวีใหญ่ๆ กลายเป็นช่องทางในการผลิตซ้ำเรื่องพวกนี้เอง

น้องใบบุญพูดธรรมะตามตำรา เช่น ชีวิตมีเกิดเเก่เจ็บตาย พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์และความไม่เที่ยง ฯลฯ เขาเองก็ไม่ได้สนใจที่จะเล่นสนุกแบบเด็กทั่วไปเพราะมองว่าความสนุกเหล่านั้นไม่ยั่งยืน แต่เขาอยากบวช ฯลฯ ผู้คนพากันอนุโมทนาสรรเสริญ โดยไม่พูดว่า “เขาควรกลับไปวิ่งเล่นหรือควรมีพัฒนาการแบบเด็กทั่วไป” (แบบที่ผู้คนตักเตือนน้องไนซ์) เพราะเขาเป็นชาวพุทธที่ดีที่คนไทยจินตนาการถึง ต่างกับน้องไนซ์ที่สอนธรรมะไม่ตรงตามตำรา คนไทยจึงพากันอ้างความปรารถนาดีแล้วบอกว่า น้องควรหยุดแล้วไปวิ่งเล่นใช้ชีวิตแบบเด็กทั่วไป

สำหรับผม น้องไนซ์มีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่า การสอนที่ออกนอกกรอบสะท้อนถึงการที่เขาคิดและพูดเรื่องอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องอิงคัมภีร์ เเละเขาก็มีภาพของเด็กซุกซนขี่คอผู้ใหญ่ ต่างกับน้องใบบุญที่เเค่ท่องจำธรรมะในหนังสือมาพูด (แบบเดียวกับอดีตมหาเปรียญ ที่อ้างตำราบางส่วนมาตั้งคำถามกับคนกลุ่มเล็กๆ แต่ไม่ตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ) ในเเง่อิสรภาพทางความคิดหรือจินตนาการ น้องไนซ์เหมือนจะมีมากกว่า (ผมไม่ได้เถียงว่าผิดหรือถูก เพราะจินตนาการและศาสนาเป็นเรื่องเสรีภาพ)

กรณีแบบน้องใบบุญ เรายังพบเจอได้อีกมาก เช่นที่เคยมีน้องกร วัดป่ามณีกาญจน์ หรือสามเณรตัวเล็กจำนวนมากที่ขึ้นเทศน์ได้ ท่องบทสวดยาวๆ ได้ (ดูในรายการ สามเณรปลูกปัญญาธรรม เป็นต้น) ส่วนใหญ่คือการเอามาอบรมสั่งสอน ให้เขาท่องจำแล้วว่าไปตามหนังสือ เเต่คนไทยก็ไม่มองว่านั่นคือการตัดจินตนาการหรือไม่ยอมให้เขาไปเติบโตเเบบเด็กทั่วไป เพราะการที่เขาเข้ามาสู่ร่มศาสนาเป็นบุญอย่างมาก เป็นสัมมาทิฏฐิและควรอนุโมทนา ทั้งที่มันคล้ายหุ่นยนต์และการล้างสมองให้เชื่อตั้งเเต่ยังเด็ก เเต่เพราะพุทธกระเเสหลักเป็นสถาบันที่มีมายาวนาน จนคนเชื่อไปแล้วว่าพวกเขาทำอะไรก็ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับเด็ก

สมัยที่ผมยังเป็นพระราวปี 2560 มีการบวชเณรภาคฤดูร้อนและเริ่มรับเด็กที่อายุน้อยมาร่วมมากขึ้น จากที่เเต่เดิมมักจะรับอายุ 12 ขึ้นไปก็ขยับลงมาเป็น 7 ปี และเจ้าอาวาสจะกำชับกับพวกเราที่เป็นพระวิทยากรว่า “ไม่ต้องสอนธรรมะให้มาก เเค่คุมให้เขานั่งสมาธิให้นิ่งในช่วงสั้นๆ สวดมนต์ได้บ้างและคุกเข่ากราบพระเป็นก็พอแล้ว” สิ่งหนึ่งที่ทางวัดได้จากโครงการพวกนี้คือ ภาพเณรตัวเล็กสวดมนต์เสียงดัง นั่งสมาธิเป็น เดินบิณฑบาตได้ เป็นภาพที่น่ารักและเรียกศรัทธาได้ น่าจะสื่อว่า พุทธศาสนาฝึกคนได้จริง ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่ได้ตระหนักเรื่องสิทธิเด็กอะไรเลย

อ้างสิทธิเด็ก เเต่ยังต้องตรวจสอบศรัทธา

The Momentum (2023) ได้ยกตัวอย่างนักเเสดงชื่อดังอย่าง Jennette McCurdy และ Gary Coleman ซึ่งหาเงินได้มากตั้งเเต่เป็นเด็ก เเต่ถูกผู้ปกครองเอาเปรียบ ซึ่งเป็นการหาผลประโยชน์โดยมีผู้ปกครองอยู่เบื้องหลัง หรือถ้าเรามองให้กว้างกว่านั้น เช่นเดียวกับการให้เด็กไลฟ์ขายของออนไลน์ ครอบครัวยากจนให้ลูกมาช่วยขายพวงมาลัยข้างถนน (ภาพลักษณ์ความเป็นเด็กอาจเรียกลูกค้าได้) ซึ่งประเด็นสิทธิเด็กควรได้รับการถกเถียงและกำหนดเป็นกฎหมายให้ชัด เพื่อจะได้ทราบว่าเด็กทำอะไรได้หรือไม่ได้ ทั้งนี้ผมเเค่อยากชี้ให้เห็นว่า เรามาเอาจริงกับน้องไนซ์คนเดียว เพียงเพราะเขาสอนธรรมะไม่ตรงตามพุทธกระเสหลัก คือเราอยากปกป้องศาสนาและทำลายคนคิดต่าง มากกว่าจะตระหนักถึงการคุ้มครองเด็กทุกๆ คน แบบที่เราปล่อยให้เด็กคนอื่นๆ ทำมาหากินอยู่หน้ากล้องหรือตามท้องถนนได้

ในเดือน พฤษภาคม 2567 เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าพบน้องไนซ์ โดยอ้างความปรารถนาดี เเต่ประเด็นแรกที่เขาพูดคือ “พ่อแม่ปล่อยให้น้องเชื่อแบบนี้ เราไม่อยากให้น้องจำอะไรแบบนี้ โตไปเขาจะเป็นยังไง” (อีจัน, 2567) เราตีความได้ว่า พม. มาด้วยความเชื่อที่ว่า น้องไนซ์เชื่อผิด หลงทาง ควรเข้าหาพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ซึ่งเราควรถาม พม. กลับว่า “การปล่อยให้รัฐบังคับเด็กเรียนวิชาพุทธศาสนา สิทธัตถะเดินได้ 7 ก้าว นั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องเป็นจริงหรือ เราจะปล่อยให้เด็กไทยรับข้อมูลแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรือ”

ซึ่งแม่ของน้องไนซ์ตอบได้ดีว่า “เรารู้สึกว่า เจ้าหน้าที่มาคุยเพื่อจะหาช่องเอาผิดให้ได้ .. สิ่งที่น้องทำไม่ได้แตกต่างกับเด็กที่ไปร้องเพลง (ปรากฎตัวต่อหน้าสื่อ) น้องแค่เปลี่ยนมาบอกให้คนทำความดี นั่งสมาธิ รักษาศีล แล้วมันผิดตรงไหน .. คือตอนนี้เราไม่ปกติ เพราะพวกคุณทำให้เราไม่ปกติ ทั้งที่จริงๆ พวกเราก็ใช้ชีวิตของพวกเรากันปกติอะ”

ศาสนาควรเป็นเรื่องของเสรีภาพ เพราะเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่พิสูจน์ยาก

ทนายอนันตชัยกับกลุ่มทนายกองทัพธรรมเเจ้งความเอาผิดผู้ปกครองน้องไนซ์ แม้จะสื่อว่า เพื่อป้องกันการใช้เด็กเป็นเครื่องมือ เเต่ก็ยังเจาะจงประเด็นความเชื่อที่ถูกบิดเบือนอยู่ โดยเเจ้งความเอาผิดใน พรบ.คอมฯ คือนำบทความและคลิปวิดีโอบิดเบือน/เป็นเท็จนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ประมาณ 23 ครั้ง เช่น น้องไนซ์ลงไปในนรกเห็นสัตว์นรก ยมทูตเป็นเพื่อนกับน้องไนซ์, เห็นยมทูตมารับคนที่ตายไป ฯลฯ (MGR Online, 2567ก)

การเเจ้งความครั้งนี้ยังอ้างประกาศมติของมหาเถรสมาคม (13/2567) ซึ่งยืนยันว่า “การเชื่อมจิตไม่มีในพระไตรปิฎก” (บีบีซีไทย, 2567) จึงโยงต่อได้ว่า เมื่อพุทธกระเเสหลักยืนยันว่าไม่มีสิ่งนี้ ก็ถือว่าการสอนของกลุ่มเชื่อมจิตนี้เป็นการหลอกลวง เราจะเห็นว่า เเม้สำนักงานพุทธฯ เเละมหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้คิดต่าง แต่คำประกาศของเขาถูกเอาไปใช้อ้างในเพื่อเเจ้งความดำเนินคดีต่อ และจะเเย่กว่านั้นหากศาลตัดสินโดยอิงกับหลักคำสอนทางศาสนา แทนที่จะยืนยันเรื่องเสรีภาพในความเชื่อ แต่การตัดสินแบบอิงหลักการศาสนาก็อาจเกิดขึ้นได้ ดังที่เคยตัดสินกรณี “ฐิตินาถ ณ พัทลุง” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ในศาสนาพุทธไม่มีการเก็บเงิน/หากินกับการสอนศาสนา (MGR Online 2567ข)

การอ้างผู้เสียหายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เช่นกรณีน้องไนซ์มีผู้กล่าวว่า “ในตอนเเรกที่เข้าร่วมก็เหมือนจะได้ผลจริง แต่คิดว่าน่าจะเป็นอุปทานหมู่มากกว่า นานเข้าก็ไม่เห็นจะสำเร็จหรือบรรลุแบบที่เขาว่า” หากเทียบกับพุทธเถรวาทไทย พระมักสอนว่าทำบุญแล้วผู้ตายจะได้รับ (ยถา วาริวะหา ปูรา) ถวายสังฆทานแล้วชีวิตจะดีขึ้น คำถามคือ ถ้าเราทำบุญแล้วยังรู้สึกว่าชีวิตไม่ดีขึ้น รู้สึกว่าญาติที่ตายไปยังไม่ได้รับบุญ หรือปฏิบัติธรรมแบบสติปัฏฐานแล้วก็ไม่บรรลุแบบที่เขาสอน ฯลฯ เราจะฟ้องพระไทยข้อหานี้ด้วยได้ไหม

แน่นอนว่ายังไม่มีใครทำแบบนั้น เพราะถือว่าศาสนาคือความเชื่อที่เป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล ตราบที่ไม่บังคับให้ต้องมาร่วม ก็แค่โปรโมทความเชื่อตัวเองกันไป คำพูดของอาจารย์ “น้องหญิง คลื่นพลังบุญ” จึงถูกต้องที่เธอกล่าวว่า เธอช่วยให้หายจากโรคได้ก็ต่อเมื่อคนนั้นมีบุญอยู่ด้วย หากเขาไม่มีบุญเลยก็ช่วยยาก ทำนองเดียวกับที่พุทธเถรวาทชอบอ้างว่า หากใครปฏิบัติธรรมแล้วได้ผลดีก็เพราะทำบุญมามาก แต่หากไม่เห็นผล ศาสนาก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะถือว่าเขามีบุญน้อยหรือปฏิบัติผิดเอง

การเรียกเก็บเงินเป็นเรื่องปกติเพื่อขับเคลื่อนองค์กร วัชรสิทธาที่เน้นเผยแผ่คำสอนแบบวัชรยานก็มีการเปิดคอร์สบรรยายและเก็บเงินผู้เข้าร่วมเป็นต้น หรือวัดทั่วไปแม้ไม่ประกาศไปตรงๆ ว่าต้องบริจาคเท่าไหร่ แต่เพราะพวกเขาเปิดมานานจนมีผู้สนับสนุนมาก บางคนมาขอเป็นเจ้าภาพกฐิน (ต้องหาเงินมาให้ได้ราว 100,000 บาท) เพราะเชื่อว่าหากได้ทำบุญใหญ่พ่อจะหายป่วย บ้างมาขอเป็นเจ้าภาพสร้างพระประธาน (ราว 400,000 บาท) หรือเป็นเจ้าภาพเสาอาคาร (20,000 บาท) ฯลฯ ทั้งหมดนี้นอกจากจะได้ชื่อเสียงเเล้ว หลายคนยังเชื่อว่าผลบุญทำให้ชีวิตดีขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่พุทธเถรวาทสอนเขามาตลอดชีวิต และพิสูจน์ไม่ได้ด้วยว่าชีวิตเขาดีขึ้นจริงไหม แต่เรามักเอาประเด็นเรื่องเงินนี้มาจับผิดกลุ่มเล็กๆ แบบน้องไนซ์

อัจฉราวดี วงศ์สกล (จากมูลนิธิ Knowing Buddha) ก็เคยถูกโจมตีจากสาวกเถรวาทซึ่งคล้ายกับสิ่งที่น้องไนซ์โดน อัจฉราวดีอ้างว่าตนบรรลุธรรม สิ่งนี้ขัดกับหลักเถรวาทที่อิงจากคัมภีร์มิลินทปัญหาที่ว่า หากฆราวาสบรรลุธรรมจะต้องตายภายในวันนั้นเนื่องจากสถานะของฆราวาสต่ำทราม จะต้องมาบวชเป็นพระจึงจะมีชีวิตอยู่ต่อได้ เราไม่ทราบว่าตามกฎธรรมชาติการบรรลุอรหันต์จะทำให้ฆราวาสตายไหม แต่พอตีความได้ว่า นั่นเป็นเครื่องมือหนึ่งในการรักษาอำนาจของเถรวาท คือพระควรอยู่ในสถานะสูงสุดของสังคม และอัจฉราวดีก็แก้ปัญหาด้วยการนิมนต์พระมาสอนกรรมฐานในกลุ่มพวกเธอด้้วย กระเเสโจมตีเธอก็หายไป

ทั้งกรณีน้องใบบุญหรืออัจฉราวดี จะเห็นได้ว่า ฆราวาสที่โดดเด่นจะปลอดภัยและเป็นที่ยกย่องหากเเสดงให้เห็นว่าตนยอมอยู่ภายใต้พระสงฆ์เถรวาท หรือเเม้ไม่มีภาพที่เข้าไปกราบพระ ก็ควรสอนธรรมะที่อิงอยู่กับตำราที่เถรวาทไทยใช้กัน ไม่จำเป็นว่าสิ่งนั้นจะมีเหตุผลไหม เช่น ฆราวาสบรรลุแล้วต้องตาย เป็นพระต้องไม่ไหว้ฆราวาส ฯลฯ การแสดงออกว่าตนรักชาติหรือสถาบันกษัตริย์ก็อาจไม่ช่วย หากยังตั้งตนเป็นฆราวาสที่ไม่สิโรราบแก่พระสงฆ์ และสอนต่างจากเถรวาทมากเกินไป เช่นกรณีของ “อาจารย์น้องหญิง คลื่นพลังบุญ” ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วพุทธเถรวาทมีอิทธิพลมากในสังคมไทย

 

อ้างอิง

บีบีซีไทย. (2567). บทบาทของสื่อควรอยู่ตรงไหน กรณี "น้องไนซ์ เชื่อมจิต". เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/articles/crggex9ldvpo.

ชนิดา จันทราศรีไศล. (2557). หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณฉบับวิชาการ. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์. เข้าถึงฉบับ PDF ได้จาก https://ebook.dmc.tv/book/606.

อีจัน. (2567). เถียงกันเดือด! พม.เยี่ยมบ้าน อ.น้องไนซ์. เข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=bN8lMqMfKac&t=455s.

MCOT. (2567). 29 พ.ค.67 ถวายพระพรชัยมงคล ในหลวง ร.10 วัดพระธรรมกายจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เจริญสมาธิภาวนา. เข้าถึงจาก https://www.mcot.net/view/cHrQGosn.

MGR Online. (2567ก). แห่แจ้งจับลัทธิ" น้องไนซ์ เชื่อมจิต" อุปโลกน์เป็นผู้วิเศษเพื่อหากินกับเด็ก. เข้าถึงจาก https://mgronline.com/crime/detail/9670000041227.

MGR Online. (2567ข). ศาลยกฟ้องผู้จัดการ คดีหมิ่น "อ้อย เข็มทิศชีวิต" ชี้แอบอ้างศาสนาหากิน. เข้าถึงจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000013030.

The Momentum. (2023). ขบวนการ "อาจารย์น้องไนซ์" เมื่อพ่อแม่นักแสวงผลประโยชน์ มาคู่กับมาตรการคุ้มครองเด็กที่ขาดหาย. เข้าถึงจาก https://themomentum.co/feature-aj-nong-nice/.

TV5HD Online. (2567). เรื่องเล่าข่าวดีกับสายสวรรค์ น้องใบบุญ วัย 5 ขวบกว่า เรียนรู้ทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บตาย | 08/03/66. เข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=hJemHHUvBbE.

 

ภาพประกอบ: https://www.pexels.com/
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net