Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมระบุมาตรา 301 เอาผิดแต่ฝ่ายหญิงและผู้ให้บริการทำแท้ง ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการดำเนินการร่างกฎหมายใหม่ ก็ยังมีการเอาผิดหญิงทำแท้งอยู่แต่จะมีการกำหนดอายุครรภ์ จึงเสนอให้มีการยกเลิกมาตรานี้แทน และสามารถร่วมลงชื่อยกเลิกได้ที่ Change.org

10 มิ.ย. 2563 วันนี้ เวลา 10.00 ตัวแทนจากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและกลุ่มทำทางได้เข้ายื่นหนังสือกับคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฏร เพื่อขอให้มีการยกเลิกมาตรา 301 และปรับปรุงมาตรา 305 ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นมาตราที่เอาผิดกับผู้หญิงที่ทำแท้งและผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ 

กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่า “มาตรา 301 เป็นมาตราที่อัปลักษณ์ที่สุดในประมวลกฎหมายอาญาไทย เพราะเป็นมาตราเดียวที่เอาผิดผู้หญิงฝ่ายเดียว” นอกจากนี้ กฤตยายังกล่าวว่าการทำแท้งเป็นการกระทำความผิดที่ไม่มีผู้เสียหาย หรือ victimless crime เพราะเป็นสิ่งที่ผู้หญิงกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของตนเอง ดังนั้นจึงถือว่ามาตรานี้เป็นการเลือกปฏิบัติ 

โดยก่อนหน้านี้ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 301 ของประมวลกฏหมายอาญา ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ซึ่งระบุว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย” และ “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” และ มาตรา 28 ซึ่งระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย” นอกจากนี้ยังมีคำวินิจฉัยให้ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 301 และมาตรา 305 “ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์” และให้คำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลเมื่อพ้นสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 

กฤตยากล่าวว่าในขณะที่คณะรัฐมนตรีได้รับมติของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วและมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ แต่ในความเป็นจริงแล้วสำนักงานกฤษฎีกากำลังดำเนินเรื่องในการร่างกฎหมาย ซึ่งตนได้ไปเข้าร่วมประชุมด้วย

กฤตยากล่าวว่าในวิธีการร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังจะเอาผิดผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา 301 อยู่  เพียงแต่ว่าจะมีการกำหนดให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ภายในอายุครรภ์ที่กำหนด ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปว่าจะกำหนดอายุครรภ์เท่าใด และถ้าเกินจากนั้นก็จะยังมีความผิดอยู่

“ถ้าไม่มีการแก้ไขกฎหมายภายใน 360 วัน มาตรานี้จะตกลงไปเองโดยอัตโนมัติ แต่เราไม่ค่อยแน่ใจว่าจะตกหรือไม่ตกเพราะฝ่ายภาครัฐบาล หน่วยราชการต่าง ๆ ก็กำลังเร่งรัดในการร่างกฎหมายนี้อยู่ เราจึงเสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญาโดยถือว่าเป็นการเสนอโดยภาคประชาสังคม […] เราใช้เวลาล่ารายชื่อสองวัน มีองค์กรต่าง ๆ ร่วมลงนามทั้งหมด 40 องค์กรและมีคนร่วมลงนามมากกว่า 1300 รายชื่อ และรายชื่อยังเปิดให้ร่วมลงนามกันอยู่ ซึ่งมาตรานี้เป็นมาตราที่ขยี้หัวใจผู้หญิงมาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องการยุติการตั้งครรภ์ เพราะเอาผิดและมีอายุความถึงยี่สิบปี ถ้าตำรวจยังอยากจะจับผู้หญิงอยู่ แต่ในข้อเท็จจริงของประเทศไทยนั้น ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ทำแท้งแล้วถูกจับไปดำเนินคดี เพราะเนื่องจากว่าตำรวจมักจะจับผู้หญิงไปเป็นพยาน แต่ตำรวจใช้ประโยชน์จากมาตรานี้ในการข่มขู่หรือดำเนินการทางอ้อมกับหมอซึ่งให้บริการที่ถูกต้อง […] เพราะฉะนั้นแล้วดิฉันคิดว่ามาตรานี้ต้องถูกยกเลิก” กฤตยากล่าว 

ขณะนี้มีผู้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ของเครือข่ายบนเว็บไซต์ Change.org ทั้งหมด 2875 รายชื่อ

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่าเนื่องจากข้อจำกัดทางกฏหมายที่ยังเอาผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง เงื่อนไขในการเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย บวกกับอคติและการตีตราการทำแท้งให้สังคมไทย ทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการประชาสัมพันธ์บริการที่มีอยู่ และขยายบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้ยังคงมีประชาชนที่เข้าไม่ถึงข้อมูล การปรึกษา และบริการที่มีอยู่ และทำให้ยังคงมีผู้หญิงที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือไม่ได้รับบริการเนื่องจากเพราะใช้เวลาไปกับการหาข้อมูลในการเข้าถึงบริการ หรือเสียเวลาไปกับการหาซื้อยาทางอินเตอร์เน็ตมาใช้ แต่ยุติการตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ ทำให้อายุครรภ์เพิ่มขึ้น

ในการยื่นหนังสือครั้งนี้ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กลุ่มทำทาง สมาคมเพศวิถีศึกษา มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และองค์กรอื่น ๆ ที่ร่วมลงนาม มีข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 301 ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งระบุว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท” นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับปรุงมาตรา 305 โดยให้ระบุว่า “ถ้าการกระทำใน มาตรา 302 (“ทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม” เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้อยู่ใต้ความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในอายุครรภ์ต่ำกว่า 24 สัปดาห์ผู้กระทำไม่มีความผิด และในอายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ โดย

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตของหญิงนั้น หรือ
(2) ทารกในครรภ์มีความพิการ หรือเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง หรือ
(3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากความล้มเหลวในการคุมกำเนิดด้วยวิธีทำหมันหญิง ทำหมันชาย ฝังยาคุมกำเนิด ใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือวิธีอื่นใดที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน หรือ
(4) หญิงมีครรภ์และครอบครัวมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคมจนไม่สามารถเลี้ยงดูทารกที่กำลังจะเกิดมาได้
(5) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 มาตรา 283 ทวิ หรือ มาตรา 284
ผู้กระทำไม่มีความผิด”

นอกจากนี้ยังเสนอให้นิยามคำว่าการทำแท้งว่าหมายถึง “กระบวนการทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุด” และให้แบ่งเป็นการทำแท้งที่ปลอดภัย คือ การยุติการตั้งครรภ์โดยใช้กระบวนการทางการแพทย์ ด้วยการใช้ยา หรือ เครื่องมือ และการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย คือ การยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีอื่นหรือโดยบุคคลที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมสำหรับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

ด้านธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลและโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศกล่าวว่า “สิ่งที่เรานำเสนอตรงนี้และยินดีที่จะแก้ไขปัญหาและศึกษาอย่างรอบด้านนั้นมันไม่ได้เป็นประเด็นในเรื่องกฎหมายเท่านั้นเพราะว่าหนึ่ง การที่เราจะขยับหรือเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมนั้น เราต้องยอมรับว่าประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่แหลมคม และคนในสังคมไทยในวงกว้างยังไม่มีความเข้าใจในประเด็นของการทำแท้งหรือการหยุดตั้งครรภ์ปลอดภัยที่จริง ๆ แล้ว สังคมไทยควรมองเป็นเรื่องสุขภาพผู้หญิง 

“นี่คือสิทธิของผู้หญิงที่จะดูแลตนเองและตัดสินใจด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นสังคมมีส่วน อยากให้ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นประเด็นของเราทุกคนในสังคมที่ต้องทำความเข้าใจกัน หยุดการตีตรา หยุดการตัดสิน เพราะว่าผู้หญิงทุกคนมีสิทธิที่จะตัดสินใจบนเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ทำความเข้าใจกัน และนี่คือทางออกที่เราจะอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจและสันติภาพ”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net