Skip to main content
sharethis

สกต. เปิดสถานการณ์ร้อนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทแย่งยึดที่ดินในพื้นที่ชุมชนสันติพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี ขณะที่ กรมที่ดิน-สปก.-ป่าไม้ เตรียมรังวัดที่ดินพิพาท ด้านนักปกป้องสิทธิยันศาลอาญามีคำพิพากษาแล้วว่าบริษัทได้ที่ดินมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จี้ สปก. เร่งจัดสิทธิในที่ดินทำกินให้ชาวบ้านทันที พร้อมเตือนไม่ให้หน่วยงานรัฐเข้ามารังวัดหรือบังคับคดี ควรรอศาลไต่สวนอำนาจพิเศษเรื่องสมาชิกชุมชนเป็นบริวารหรือไม่ในวันที่ 27 พ.ย. นี้

13 ต.ค. 63 รายงานข่าวจากชุมชนสันติพัฒนา สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จ.สุราษฎร์ธานี หลังจากที่เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นนำกำลังเข้ามาในพื้นที่ชุมชนสันติพัฒนา เพื่อแย่งยึดที่ดินของชุมชน นอกจากนี้สมาชิกชุมชนยังโดนบริษัทเอกชนฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญา อย่างไรก็ตามศาลอาญามีคำพิพากษาสั่งให้คดีความเรื่องโฉนดที่บริษัทใช้อ้างสิทธิครอบครองเป็นเอกสารที่ถูกจัดทำขึ้นหรือเป็นเอกสารปลอมซึ่งออกโดยหน่วยงานของรัฐ ถือเป็นชัยชนะที่สำคัญของการต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิจากชุมชนสันติพัฒนา

ล่าสุดวันนี้ (13 ต.ค.) มีรายงานจากชุมชนสันติพัฒนาระบุว่า จะมีการนำเจ้าหน้าที่รังวัดของกรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพยากรป่าไม้ จ.สุราษฎร์ธานี จะเดินทางเข้ามารังวัดพื้นที่ที่บริษัทชนะคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 5833/2558 และศาลแพ่งซึ่งเป็นอีกหนึ่งคดีที่บริษัทได้ฟ้องร้องและศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ผู้ที่ถูกฟ้องร้องคดีจำนวน 12 คน พร้อมทั้งบริวารออกจากพื้นที่และชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท

อย่างไรก็ตามบริษัทอ้างคำพิพากษาคดีแพ่งดังกล่าวนี้เพื่อต้องการขับไล่ให้สมาชิกคนอื่นๆ ของชุมชนสันติพัฒนาออกจากพื้นที่พิพาทดังกล่าวทั้งหมด แต่นักปกป้องสิทธิที่ดินได้ยืนยันว่าทั้งหมดไม่ใช่บริวารของจำเลยทั้ง 12 คนที่บริษัทกล่าวอ้าง และได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนอำนาจพิเศษว่านักป้องสิทธิในที่ดินสมาชิกในชุมชนสันติพัฒนาไม่ใช่บริวารของจำเลยทั้ง 12 คน ซึ่งขณะนี้ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับคำร้องไต่สวนอำนาจพิเศษดังกล่าวแล้ว และศาลนัดให้ผู้ร้องและบริษัทมาเจอกันในวันที่ 27 พ.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งสิ่งที่บริษัทเอกชนจะต้องทำคือต้องรอฟังคำสั่งของศาลต่อกรณีดังกล่าว เพราะหากศาลมีคำสั่งว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นสมาชิกชุมชนสันติพัฒนาไม่ใช่บริวารของจำเลย 12 คน สมาชิกชุมชนก็มีสิทธิในการอยู่ในดินดังกล่าวและบริษัทเอกชนก็จะไม่มีสิทธิมาบังคับแย่งยึดที่ดินกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากชุมชนสันติพัฒนาเนื่องจากไม่ใช่จำเลยในคดีดังกล่าว ดังนั้นบริษัทเอกชนหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรรอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนอำนาจพิเศษในกรณีดังกล่าวเสียก่อน ก่อนที่จะเข้ามารังวัดหรือทำการบังคับคดี

ขณะที่ น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจาก Protection International กล่าวว่า พื้นที่ของชุมชนสันติพัฒนานี้เป็นหนึ่งใน 36 ชุมชนนำร่องที่ควรจะได้รับการจัดสรรที่ดินให้เป็นพื้นที่โฉนดชุมชน ซึ่งเป็นผลจากการเจรจาทางนโยบายกับรัฐบาลต่างๆ ที่ผ่านมา สิ่งที่หน่วยงานของรัฐอย่าง สปก. จะต้องทำก็คือจะต้องส่งมอบที่ดินทำกินให้กับชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ แต่ที่ผ่านมา สปก. นิ่งเฉยไม่ยอมจัดสรรที่ดินทั้งที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาไปแล้วว่าบริษัทได้โฉนดมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นตอนนี้ในระหว่างที่ชุมชนรอการไต่สวนอำนาจพิเศษจากศาลที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 พ.ย.นี้ สปก. และหน่วยงานต่างๆ ไม่ควรจะเข้าไปดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ของชุมชน ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมาความล่าช้าของ สปก.และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการส่งมอบที่ดินให้กับสหพันธ์เกษตรกภาคใต้ ส่งผลให้สมาชิกถูกสังหารไปแล้ว 4 คน ดังนั้นไม่ควรเกิดความอยุติธรรมจากความล่าช้าหรือผลที่เกี่ยวเนื่องจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกต่อไป

สำหรับชุมชนสันติพัฒนา ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นหนึ่งในห้าชุมชนสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรไร้ที่ดินที่เรียกร้องให้ได้สิทธิในที่ดิน  โดยการช่วยรัฐในการตรวจสอบพื้นที่ของบริษัทเอกชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของรัฐโดยที่ไม่ได้เสียค่าเช่าให้กับรัฐ

โดยในปี 2549 นักปกป้องสิทธิในที่ดินได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีแต่งตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบพื้นที่ ปรากฏผลการตรวจสอบพื้นที่ของบริษัทเอกชนพิพาทครอบครองที่ดินนั้นเป็นการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ไม่ยอมปฏิบัติตามหน้าที่

จนกระทั่งเมื่อปี 2550 นักปกป้องสิทธิในที่ดินได้รวมกลุ่มและตั้งเป็นชุมชน ใช้ชื่อว่า “ชุมชนสันติพัฒนา” ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินการเรียกร้องทางนโยบายกับรัฐ เพื่อขอให้รัฐจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรรายย่อยและแรงงานไร้ที่ดินตามแนวทาง “โฉนดชุมชน” ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) มาโดยตลอด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net