Skip to main content
sharethis

14 พ.ย. 2563 ประชาชนรวมตัวเฉพาะกิจ จัดกิจกรรมม็อบเฟส (Mob Fest) บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อสื่อสารปัญหาจากประชาชนหลายภาคส่วน และเรียกร้องให้รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาแก้ปัญหาผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ในกลุ่มนักเรียนเลว ยังนัดเดินขบวนจากหน้ากระทรวงศึกษาธิการไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาการศึกษาและการคุกคามนักเรียนผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ และกลุ่มผู้หญิงปลดแอก จัดเวทีเสวนาและนิทรรศการเรื่องเพศในการเมือง ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว

ทั้งนี้ ผู้จัดกิจกรรมทั้ง 3 กิจกรรม แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับสถานีตำรวจท้องที่ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะแล้ว

12.00 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า หน้ากระทรวงศึกษาธิการมีผู้มารอร่วมชุมนุมเล็กน้อยกระจายตัวอยู่บนทางเท้าและเกาะกลางถนน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรั้วเหล็กมากั้นพื้นที่บริเวณหน้าประตูทางเข้า โดยมีการนำลวดขนาดใหญ่ผูกรั้วเข้าด้วยกันอย่างแน่นหนา

12.02 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า มีรถบรรทุกน้ำ 2 คันเคลื่อนผ่านบนถนนราชดำเนินนอกฝั่งตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ ประชาชนที่รอร่วมชุมนุมบริเวณป้ายรถประจำทางตะโกนถามว่า ‘รถฉีดน้ำมาทำไม’ และ ‘อย่าฉีดไล่เด็ก’ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจับกลุ่มพูดคุยกันในประเด็นการฉีดน้ำสลายชุมนุมในครั้งที่ผ่านๆมา อย่างดุเดือด

12.10 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พบเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนมากมาก รวมถึงกองกำลังควบคุมฝูงชน ตำรวจตระเวนชายแดน ในชุดเครื่องแบบ พร้อมโล่ หมวก กระบอง ครบมือ นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มชายสวมเสื้อเหลือง ผมสั้นเกรียน กำลังลงจากรถบัสเอกชนอีกจำนวนหนึ่ง

13.05 น. กลุ่มนักเรียนเลวประกาศเคลื่อนขบวนเวลา 14.00 น. โดยมุ่งหน้ามายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งนี้เพื่อประท้วงและขับไล่ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มีการนำโลงศพมาใช้แห่พร้อมถือกรอบรูป รมว.ศธ.สมัยร่วมชุมนุมกับ กปปส.

ทั้งนี้แกนนำปราศรัยว่าตลอดเวลาที่ณัฏฐพลดำรงตำแหน่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นรัฐมนตรีที่ไม่มีความสามารถ และไม่สนใจข้อเรียกร้องของนักเรียน นอกจากนี้ผู้จัดยังแจกสติ๊กเกอร์หมุดคณะราษฎรให้ผู้ชุมนุมนำไปแปะที่กำแพงรั้วกระทรวงศึกษาธิการด้วย

ในเพจ iLaw ระบุว่า พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) ได้พูดคุยกับแกนนำนักเรียน โดยชี้แจงทำความเข้าใจร่วมกันและยืนยันว่าจะไม่มีการปิดกั้นกิจกรรม ไม่มีการฉีดน้ำอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์การชุมนุมรายงานว่าเห็นรถน้ำสีน้ำเงินใกล้กระทรวงศึกษาฯ หรือข้าง บช.น.จอดอยู่หลายคัน

จุดที่น่าสังเกตคือ การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนั้น ตำรวจควบคุมฝูงชนที่ใช้ในครั้งนี้เป็นตำรวจหญิงทั้งหมด ราว 120 นาย ขณะที่ยังคงมีบุคคลที่คล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องผู้ชายตามถ่ายรูป/วิดีโอกิจกรรมการชุมนุมเช่นเดียวกับการชุมนุมทุกครั้งที่ผ่านมา

13.50 น. แกนนำประกาศให้ผู้ชุมนุมราว 200 คนถือป้ายผ้าเดินขบวน ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างเดินขบวนจะมีการแห่ผ้าขาวขนาดใหญ่ร่วมไปด้วย แกนนำอธิบายว่าสังคมมักเปรียบเด็กเป็นเหมือนกับผ้าขาว และผ้าขาวนี้จะถูกนำไปเขียนที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเป็นการแสดงออกว่าเยาวชนแลประชาชนจะขอเขียนอนาคตด้วยตนเอง กลุ่มนักเรียนเลวระบุว่า ตั้งใจจะพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีการอภิปรายและลงมติกันในรัฐสภาภายในสัปดาห์หน้านี้เป็นพิเศษด้วย

ทั้งนี้ในขณะที่มีการเคลื่อนขบวน ตำรวจหญิงทั้งหมดก็ได้ตั้งแนวเคลื่อนขบวนคู่ขนานมากับมวลชนด้วย 

ในระหว่างเคลื่อนขบวนมีเหตุปะทะคารมเล็กน้อยระหว่างการ์ดผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ โดยระหว่างเคลื่อนขบวน การ์ดพบชาย 2 คนเข้ามาถ่ายรูปคนในขบวน จึงเข้าพูดคุยเนื่องจากไม่สบายใจว่าเป็นใคร ทั้งสองแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ พร้อมโชว์บัตรตำรวจและยืนยันว่าเขามีสิทธิถ่ายรูปได้ เพราะไม่ได้นำลงไปเผยแพร่ที่ใด เพียงถ่ายไปรายงานผู้บังคับบัญชา แต่ทางการ์ดยังยืนยันขอให้ลบโดยให้เหตุผลว่าถ่ายใกล้มากเกินไป เห็นใบหน้าชัดเจน มีการโต้เถียงโดยการตะโกนเสียงดังใส่กัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พอใจมาก ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปโดยตำรวจไม่ยอมลบภาพ

ตำรวจขอผู้ชุมนุมอยู่ในกรอบกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ประมาณ 12.10 น. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) แถลงที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลว่า การชุมนุม 3 กลุ่มในวันนี้ ขอให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มแจ้งการชุมนุมแล้ว ตำรวจได้แจ้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องและข้อกำหนดให้ทั้ง 3 กลุ่มได้รับทราบ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะติดตามว่าจะเป็นอย่างไร วัตถุประสงค์ของเจ้าหน้าที่คือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น ไม่ใช่จะกีดกั้นไม่ให้เขาชุมนุม เมื่อขอชุมนุมแล้วก็ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างที่ย้ำหลายครั้งว่า มีทั้งผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปที่ใช้ทางสาธารณะ หรือต้องการใช้ชีวิตเป็นปกติสุข ขอให้ปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมายจะได้อยู่ร่วมกันในสังคมได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการเดินขบวนว่า จะมีการสกัดกั้นหรือปิดกั้นเส้นทางหรือไม่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า เขาเดินได้ตามกฎหมาย แต่ต้องแจ้งและทำตามข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่ทำตามกรอบของกฎหมายทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เก็บรวบรวมพยานหลักฐานและพิสูจน์ทราบตัวบุคคล  ถ้าพิจารณาว่าทำความผิดในข้อไหนก็ดำเนินคดี

“ด้านการข่าวไม่กังวลอะไร เพราะมีมาตรการในหลายเรื่อง ส่วนประเด็นเรื่องความมั่นคงให้รอทางโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้แถลง บางครั้งมีการกระทำผิดในหลายพื้นที่ ซึ่งจะเป็นภาพรวมทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน” ผบช.น. กล่าว

จากนั้น ประมาณ 14.40 น. ผบช.น. แถลงข่าวอีกครั้ง สาระสำคัญคือ การจัดชุมนุมในวันนี้มีทั้งหมด 3 กลุ่ม โดยทั้งหมดได้แจ้งการชุมนุมแล้ว มีเงื่อนไขตามกลุ่มดังนี้

1. Mobfest จะต้องอยู่บนทางเท้า ห้ามเคลื่อนขบวน หากจำนวนคนล้น อนุญาตให้ลงถนนได้ 1 ช่องทางจราจร

2. นักเรียนเลว ขอเคลื่อนขบวนจากหน้ากระทรวงศึกษาธิการไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต้องเคลื่อนขบวนให้เสร็จใน 15.00 น.

3. ผู้หญิงปลดแอก อยู่ในบริเวณแยกคอกวัวเท่านั้น ห้ามเคลื่อนขบวน 

ทั้งสามกิจกรรมห้ามใช้ป้ายที่มีลักษณะยุยง ปลุกปั่น ห้ามใช้อาวุธ ห้ามย้ายผู้ชุมนุม ห้ามใช้เครื่องเสียงที่ความดังเกิน 115 เดซิเบล โดยใช้ความดังได้ไม่เกิน 70 เดซิเบล

"นักเรียนเลว" เคลื่อนขบวนมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

14.40 น. กลุ่มนักเรียนเลวที่เดินมาจากกระทรวงศึกษาธิการมาถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมป้ายฝ้าสีขาวขนาด 30x30 เมตร ให้ประชาชนได้ร่วม ‘เขียนอนาคต’ เขียนความปรารถนาของประชาชนลงในผ้า 

ขณะที่ผู้ชุมนุมที่รออยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้โห่ร้อง ตีกลองยาวและแตรวงต้อนรับ ขณะที่เริ่มมีการกางเต็นท์บนถนนราชดำเนินฝั่งขาออกมาก่อนแล้วตั้งแต่เวลา 14.00 น. 

14.58 น. ไอลอว์รายงานว่า เจ้าหน้าที่นำเครื่องวัดระดับเสียงมาวัดบริเวณเกาะกลางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้านบริเวณด้านหน้าร้านหนังสือริมขอบฟ้าไปจนถึงร้านเมธาวลัย ศรแดง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนในเครื่องแบบวางกำลังริมฟุตบาท ด้านในฟุตบาทมีบุคคลผมเกรียนในชุดนอกเครื่องแบบใส่เสื้อโปโลสีเหลืองปักข้อความว่า ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 2 สีเขียวที่มีทั้งชายและหญิงปักข้อความที่หน้าอกว่า RPCA หรือโรงเรียนนายร้อยตำรวจและสีฟ้า ไม่ทราบรายละเอียด  ตำรวจตระเวนชายแดนบางนายมีการติดกล้องที่หน้าอกและเดินรอบบริเวณ

14.45 น. บริเวณวงเวียนประชาธิปไตย ผ้าขาวถูกกางบริเวณหน้าแมคโดนัลด์จนถึงร้านกาแฟชาวดอย เพื่อเปิดโอกาสให้มวลชนเขียนความฝันหรือนาคตที่ต้องการลงบนผ้าขาวขนาด 30x30 เมตร (900 ตารางเมตร)

“อยากได้ชีวิตคนเสื้อแดง ปี 53 คืนมา”

15.00 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มคณะราษฎรจัดกิจกรรมให้ผู้ชุมนุมร่วมเขียนข้อความลงบนผ้าขาวผืนใหญ่บนถนน

พรชัย โรหิตดี หนึ่งในผู้ร่วมเขียนข้อความลงบนผ้าขาว และเป็นอดีตผู้ชุมนุมเสื้อแดง ปี 53 ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า เหตุผลที่เขียนคำว่า “อยากได้ชีวิตคนเสื้อแดงคืนมา” เพราะอยากได้ชีวิตของเพื่อนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 53 กลับคืนมา รวมถึงอยากให้คนที่กระทำกับคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 ได้รับบทลงโทษตามกระบวนยุติธรรมบ้าง พรชัยมองว่าในช่วงปี 53 เสื้อแดงทำอะไรมักจะผิดเสมอ

พรชัยเล่าให้ฟังว่าหลังจากสลายการชุมนุมปี 53 เขาติดคุกด้วยข้อกล่าวหาเผาเซ็นทรัลเวิลด์ 3 ปี ร่วมกับแกนนำเสื้อแดง ส่งผลให้เขาต้องตกงานมาจนถึงปัจจุบันจากการมีคดีทางการเมือง

พรชัยกล่าวต่อว่า เขารู้สึกดีใจมากที่คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนเสื้อแดงอีกครั้ง

จนท.วางกำลังเข้มอารักขาช่วงขบวนเสด็จฯ แกนนำนัดแนะให้ชุมนุมสงบสอดส่องมือที่ 3

เจ้าหน้าที่ตัดผมสั้นเกรียนในชุดเสื้อยืดสีเหลือง และกลุ่มเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เข้าประจำพื้นที่ตรงข้ามที่ชุมนุม MobFest เจ้าหน้าที่บางส่วนนั่งเป็นแถวเพื่อรอรับเสด็จ ภาพถ่ายเวลา 15.15 - 15.20 น.

แกนนำผู้ชุมนุมบนรถปราศรัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่วางกำลังคั่นกลาง ถ.ราชดำเนิน เมื่อเวลา 15.52 น.

เวลา 16.20 น. แกนนำที่ขึ้นปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระบุตอนหนึ่งว่า ขอแจ้งผู้ชุมนุมเบื้องต้นว่า เวลาประมาณ 17.00 น. จะมีขบวนเสด็จฯ ผ่าน ขอนัดแนะทุกคนชุมนุมอย่างสงบและช่วยกันสอดส่องมือที่สาม โดยผู้ชุมนุมจะรอรับเสด็จฯ ร่วมกัน โดยจะหันหลังและชูสามนิ้วโดยสงบ จากนั้นจะร้องเพลงชาติร่วมกันเพื่อเป็นสัญลักษณ์ขอให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระราชินีฯ มีหมายกำหนดการจะเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดเเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล”(สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย เจ้าหน้าที่จึงวางกำลังค่อนข้างเข้มข้นหลายร้อยนาย มีทั้งตำรวจหญิงควบคุมฝูงชน ตำรวจควบคุมฝูงชน มีเจ้าหน้าที่ตัดผมสั้นเกรียนสวมเสื้อสีเหลือง รวมถึงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบวางจำนวนมาก วางกำลังหลายชั้นตลอดเกาะกลางถนนราชดำเนินกลาง และตั้งขบวนรับเสด็จริมฟุตบาทฝั่งร้านเมธาวลัย

ในเพจ iLaw รายงานว่าเวลา 16.30 น. เจ้าหน้าที่หัวเกรียนสวมเสื้อสีเหลืองจำนวนมากกว่าร้อยคน วิ่งมาประจำการตลอดแนวเกาะกลาง ถ.ราชดำเนินกลางเตรียมรับขบวนเสด็จ มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประจำการร่วมด้วย ขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมก็แจ้งผู้ชุมนุมว่า อีกราว 30 นาทีขบวนเสด็จจะมาถึง 

16.40 น. บริเวณแยกผ่านฟ้า มีการตั้งแนววางกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่ม พร้อมตั้งรั้วบน ถ.ราชดำเนินฝั่งขาออก ผู้ชุมนุมยังคงใช้เครื่องขยายเสียง ขณะที่รถยนต์ที่มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงผ่านไปได้ ยังไม่มีการปิดการจราจร จากการสอบถามหัวหน้าการ์ดอาชีวะได้ข้อมูลว่า การ์ดอาชีวะจำนวน 30 คนจะมายืนกันระหว่างมวลชนกับขบวนเสด็จ

ผู้ชุมนุมชู 3 นิ้วร้องเพลงชาติอย่างสงบช่วงขบวนเสด็จผ่าน

16.45 น. มีรถของกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล นำรถเครื่องเสียง มีลำโพงขนาดใหญ่มาจอดประจำการอยู่ด้วยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นมีกำลังเจ้าหน้าที่ในเสื้อโปโลสีเขียว ไม่ทราบหน่วย เข้าเรียงแถวบริเวณฝั่งรอรับเสด็จด้วย ในเวลา 17.16 น. ตำรวจแจ้งเจ้าหน้าที่ฝั่งถนนที่รอรับเสด็จว่าได้เวลาแล้ว ขณะที่ในเวลา 17.21 เวทีชุมนุมหยุดปราศรัย โดยยังไม่มีการปิดถนน

17.26 น. ถ.ราชดำเนินกลาง ฝั่งที่มุ่งหน้าสะพานผ่านฟ้า กลุ่มการ์ดอาชีวะประมาณ 30 คน ตั้งแนวด้านในรั้วเพื่อคัดกองมวลชนที่อาจมีการชูป้ายต่างๆ ขณะที่แกนนำกลุ่มนักเรียนเลวประกาศให้มวลชนช่วยกันดูแลป้ายข้อความ เพื่อให้ไม่มีถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมหรือหยาบคาย และมีการนัดแนะกับมวลชนเรื่องชูสามนิ้ว และร่วมร้องเพลงชาติ 

17.27 น. ตำรวจเริ่มใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ผู้ที่อยู่ในเส้นทางเสด็จ ไม่สวมแว่นตาดำ ไม่นั่งห้อยขาลงมาบนพื้นผิวการจราจร กระเป๋าและขวดน้ำให้เก็บไว้ด้านหลัง นักข่าวที่อยู่บนหลังรถให้ลงมาด้านล่าง ในเวลา 17.28 น. แกนนำแจ้งว่าขบวนเสด็จมาแล้ว ให้ประชาชนกลับหลังหัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่อยู่บริเวณนั้น

17.31 น. ประชนชนยืนหันหลังให้ถนน โดยชู 3 นิ้วและร้องเพลงชาติระหว่างที่ขบวนเสด็จเคลื่อนผ่าน สถานการณ์เป็นไปอย่างสงบ โดยภายหลังในเวลาประมาณ 17.50 น. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่มาตั้งแถวรอรับเสด็จได้ทยอยเดินทางกลับ

แหวน-เอกชัย ทวงความเป็นธรรมเหตุสลายชุมนุม 53

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าเมื่อขบวนเสด็จผ่านไปแล้ว เวทีปราศรัยเริ่มต้นทำกิจกรรมต่อ มีผู้ชุมนุมตะโกนว่า "ไชโย ไชโย" ส่วนบนรถปราศรัยมีต้นเสียงตะโกนคำขวัญศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ และมีการตะโกนคำขวัญ "ชาติคือประชาชน" 3 ครั้ง ขณะที่ผู้ชุมนุมหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาตะโกนว่า "ที่นี่มีคนตาย วัดปทุมมีอาสาถูกยิงตาย"

เวลา 17.40 น. ที่บริเวณใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีกิจกรรมยืนเฉยๆ และปราศรัยย่อยนำโดยแหวน ณัฏฐธิดา  มีวังปลา พยาบาลอาสาฯ และเอกชัย หงส์กังวาน เรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตเมื่อปี 2553 และเหตุการณ์สังหารอาสาสมัครและพยาบาล 6 ศพในวัดปทุมวนารามที่ยังไม่รับการพิสูจน์ในชั้นศาล เขาระบุว่าทุกปีประชาชนจะต้องออกมาจัดกิจกรรมรำลึกผู้เสียชีวิต แต่ไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมได้จากระบบยุติธรรมไทย

ศิลปะลากเส้นต่อจุด รำลึกสลายชุมนุม 53

ศิลปินกลุ่ม "AUTonomia" จัดกิจกรรมลากเส้นต่อจุด รำลึกสลายชุมนุมปี 53 พูดถึงผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของ ศอฉ. ช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่หลายคนที่มีอำนาจทางทหารในยุคนั้นก็ยังอยู่ในอำนาจในฐานะ คสช. จนถึงคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน ผู้จัดระบุว่าลักษณะกิจกรรมเป็นการชวนผู้สนใจลากใบหน้า 99 จุด ที่จะแสดงเป็นใบหน้าของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อรำลึก

สำหรับกลุ่ม AUTOnomia กชพร  อานันทนะ ตัวแทนกลุ่มอธิบายว่า กลุ่มเกิดจากคนที่เรียนศิลปะ ใช้งานศิลปะมาขับเคลื่อนสังคมและการเมือง กลุ่มเป้าหมายที่มาระบายสีส่วนใหญเป็นเด็กเยาวชน เริ่มด้วยการนับ 1 ถึง 99 เหมือนสมุดวาดภาพ โดยยกตัวอย่างทั้งหมด 4 คน คือ สยาม วัฒนนุกูล จรูญ ฉายแม้น เกรียงไกร คำน้อย และฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น 

กชพร ย้ำว่าสิ่งที่ทำเพื่อให้เห็นว่ามีผู้เสียชีวิตจากกระสุนของทหารจริงๆ เป็นความรู้สึกที่เศร้าใจ คาดหวังว่างานที่พวกตนทำจะสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คน

"รำลึกถึงเขาจริงๆ ได้เรียนรู้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์มันเกิดขึ้นตรงนี้มีความสูญเสียเกิดขึ้น เหตุการณ์ที่ทุกคนเล่าลือมันมีจริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องกุขึ้นเพื่อแต่งให้เกลียดชังกัน" ตัวแทนกลุ่ม AUTOnomia กล่าว

เขาจะได้รำลึกถึงผู้เสียชีวิต และประชาธิปไตยไม่ได้มาได้ง่ายดายแต่มันต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยหลายๆ อย่างที่ผ่านมาในอดีต

"หากกฎหมายศักดิ์สิทธิพอคนไม่ว่ามีอำนาจขนาดไหนก็ควรได้รับบทลงโทษที่เหมือนๆ เท่าๆ กันกับประชาชนทุกชั้นฐานะ จะรากหญ้าหรือสูงส่งแค่ไหนก็ควรมีสิทธิได้รับบทลงโทษแบบเดียวกัน" กชพร กล่าว

สำหรับ เกรียงไกร คำน้อย ถือเป็นคนแรกที่เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมช่วงบ่ายวันที 10 เม.ย.53 เขาถูกยิงช่วงบ่ายวันดังกล่าวบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ด้วยกระสุนที่มีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฎิบัติหน้าที่

ขณะที่สยามกับจรูญ ถูกยิงเสียชีวิตหน้า ร.ร.สตรีวิทยา ถ.ดินสอ วันเดียวกัน วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ส่วนฮิโรยูกิ ถูกยิงช่วงเวลาและสถานที่เดียวกับสยามกับจรูญ วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ 

อย่างไรก็ตามผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าวปัจจุบันแม้เวลาผ่านไปกว่า 10 ปีแล้ว ยังไม่มีใครถูกลงโทษจากการกระทำดังกล่าว

มวลชนนำผืนผ้าขาวเขียนข้อความถึงอนาคตห่มคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เวลาประมาณ 18.06 น. ที่งาน #MobFest กลุ่ม #นักเรียนเลว และมวลชนนำผืนผ้าสีขาวเขียนข้อความถึงอนาคตโดยผู้ชุมนุม เข้าพื้นที่ด้านใน โดยขอให้การ์ดช่วงย้ายแผงกั้นจราจร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยอมเปิดทางให้

เมื่อขบวนเคลื่อนเข้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นมีอาสาสมัครนำป้ายผ้าที่เขียนข้อความเรียกร้องต่างๆ โดยผู้ชุมนุม นำไปห่มคลุมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะที่แกนนำกลุ่มนักเรียนเลวกล่าวขอบคุณตำรวจที่เปิดทาง

อนึ่งในเวลา 19.00 น. ไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่า ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินทางมาร่วมชุมนุมด้วย โดยกล่าวว่า วันนี้เดินทางมาให้กำลังใจ และเหมือนมาเดินเล่น ไม่ได้ร่วมขึ้นมาปราศรัยด้วย

ทำไมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน-เลือกตั้งท้องถึงจึงสำคัญกับสิทธิที่ดินทำกิน

เวลา 18.24 น. ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ เพชร เฉลิมชัย จาก Land Watch THAI หรือกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน ที่ศึกษาประเด็นปัญหาที่ดินทำกินและฐานทรัพยากรของประชาชน ให้สัมภาษณ์เรื่องปัญหาที่ดินกับความสัมพันธ์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนแบะการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใกล้จะถึงนี้

โดยเขาชี้ให้เห็นถึงปัญหารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรวมถึงปัญหาการใช้อำนาจตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. และคาดหวังถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ที่จะมีผลในการพัฒนาสิทธิในที่ดินทำกินแล้วก็สิทธิในฐานทรัพยากรของประชาชนในพื้นที่

เพชรยังแสดงความกังวลว่า ในวันที่ 17 พ.ย. นี้ ถ้ารัฐสภาไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอาจจะเกิดความตึงเครียดทางการเมืองมากขึ้น

เพนกวิ้นปราศรัยแยกคอกวัว ยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขเพื่อให้เป็นฉบับประชาชน

ในเวทีปราศรัยย่อยสี่แยกคอกวัว เมื่อเวลา 20.00 น. พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมายังที่ชุมนุม MobFest ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีแยกคอกวัว ยืนยัน 3 ข้อเสนอของผู้ชุมนุมรวมทั้งข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ว่า จะต้องเอาอุปสรรคเฉพาะหน้าคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก และเปิดทางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่างใหม่ทั้งฉบับทุกหมวด ทุกมาตรา เป็นฉบับที่มาจากประชาชน ทั้งนี้เขากล่าวด้วยว่าถ้ายังไม่มีความยุติธรรม ก็ไม่มีการประนีประนอม

สลัมสี่ภาคอาสาเป็นนายกฯ 2 เดือนแก้ปัญหาคนจน

ผู้ชุมนุม #MobFest เวทีปราศรัย ถ.ราชดำเนิน ด้านใกล้สี่แยกคอกวัวเมื่อเวลาประมาณ 21.24 น.

เวลา 21.00 น. ในเวทีปราศรัย #MobFest แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนินกลาง นุชนารถ แท่นทอง ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค ขึ้นปราศรัยในหัวข้อ ‘คนจนกับเมือง’ ว่า คนจนจะตายเพราะรัฐธรรมนูญเฮงซวย ที่เราต้องออกมาพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนประชามติปี 2559 เครือข่ายสลัมสี่ภาคเป็นกลุ่มหนึ่งที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนเพื่อคนจนอย่างเรา เมืองจะเจริญได้อย่างไรถ้าปราศจากคนจน เพราะเมืองถูกสร้างด้วยคนฐานะอย่างพวกเรา ทั้งคนเก็บขยะ กวาดถนน และขายของริมทางเท้า แต่วันหนึ่งก็ไล่ที่ไม่ให้เราขายของ กลับเอาที่ดินใส่พานให้นายทุน

รัฐบาลชุดนี้ฟังแต่ลิ่วล้อ แต่ไม่เคยฟังเสียงประชาชน หากนายกรัฐมนตรีลาออก อยากขอทำหน้าที่แทนสัก 2 เดือน และจะแก้ปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อนร้อนภายใน 2 เดือน ถ้านายกรัฐมนตรีทำไม่ได้ ขอให้บอก และจะขอเป็นนายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนที่สองของประเทศไทย รัฐบาลยัดเยียดบัตรสวัสดิการ ซึ่งคนที่ยากจนจริงๆ ไม่สามารถลงทะเบียนได้ อยากถามว่า ประชาชนยากจนเยอะแยะทำไมรัฐบาลจึงไม่ทำให้ถ้วนหน้า ในวันนี้มาปราศรัยก็อาจจะทำให้ติดคุกได้ แต่ก็ไม่กลัว เพราะคุกประเทศไทยเอาไว้ขังคนถูกต้องเท่านั้น ส่วนคนผิดก็ลอยนวล เราออกมาชุมนุมกัน ทำให้เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดจากเรื่องเล็กๆ ไปถึงเรื่องใหญ่ วันนี้อย่างน้อยเรารู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เขาก็กลัวพวกเรา เรายินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป แก้ไขและเปลี่ยนแปลงระบบในประเทศนี้

เซลล์แมนหนุ่มเห็นการชุมนุมของเยาวชนเป็นความหวังของประเทศ

เวลาประมาณ 21.14 น. ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า "PK" อาชีพเซลล์แมน อายุ 29 ปี เขาร่วมชุมนุมตั้งแต่ 15 ต.ค. ที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในมือของเขาถือป้ายจำนวนมาก เช่น "อย่าเอาศีลธรรมาอ้าง ในเมื่อการกระทำมันตรงกันข้าม" "อย่ารอให้ทรราชย์แก่ตายเพราะมันคืออีกครึ่งชีวิตของเรา" ฯลฯ เขากล่าวว่าสิ่งที่ตนอยากสื่อนั้นเนื่องจากที่ผ่านมาตนอยู่กับความบิดเบี้ยว ตราชั่งเอียงมาตลอด การเข้าร่วมม็อบกับ น้องๆ เพราะมองว่าคือความหวังของประเทศ

สำหรับความบิดเบี้ยวนั้น PK อธิบายว่าหากอยู่อีกฝั่งจะได้รับการอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่อีกฝั่งที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพกลับถูกปฏิบัติอีกมาตรฐาน ขณะที่อีกฝ่ายทิ้งมรดกความเลวร้ายไว้กับคนรุ่นหลัง แต่ก็หวังว่าอีกครึ่งชีวิตจะเจอกับสิ่งดีๆ และให้น้องได้พัฒนาประเทศและสิ่งดีๆ ต่อไป

PK กล่าวต่อว่าเรามักถูกคนอีกฝั่งโจมตีว่าเราจาบจ้วงสถาบันหรือไม่เคารพผู้ใหญ่บ้าง แต่หารู้ไม่ว่าเด็กรุ่นใหม่เขาฉลาด เขาอยู่บนพื้นฐานความจริง เขาจะเป็นคนที่จะมาทำให้ประเทศพัฒนา

"อย่าตั้งคำถามมันไม่ใช่เรื่องของเด็ก ผมมักเจอคำพูดแบบนี้มาตลอด แล้ววันหนึ่งเขาปีกกล้าขาแข็งทำไมเขาจะทำไม่ได้ได้ เพราะเขาไม่ใช่เด็กเสมอไป เขาก็ต้องโตเหมือนกัน เราควรสร้างทัศนคติที่ดีไม่ใช่บิดเบี้ยวแบบที่เป็นอยู่" PK กล่าว พร้อมกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ขณะที่เราสอนคนรุ่นใหม่ในชั้นเรียนให้รู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะ มีการตั้งคำถาม แต่ความเป็นจริงเมื่อมีคนทำแบบนั้นกลับถูกทำให้เป็นแกะดำของสังคม ตนเองก็ถูกทำให้เป็นแบบนั้น สิ่งเหล่านี้ควรเปลี่ยนได้แล้ว

ประสิทธิชัย หนูนวล ท้องถิ่นและความจำเป็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประสิทธิชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 และความหวังต่อรัฐธรรมนูญใหม่ที่ต้องบัญญัติประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิในการจัดการทรัพยากรของประชาชนในท้องถิ่นให้ชัด

เขามองว่าหาก 17 พ.ย.นี้ สภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะยิ่งทำให้สถานการณ์การเมืองยิ่งวิกฤตขึ้น นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย 

สามเณรปลดแอก 'แก๊งแครอท' เรียกร้องแยกศาสนาออกจากรัฐ รัฐเลิกคุมคณะสงฆ์

เวลาประมาณ 21.28 น. คณะสามเณรได้ขึ้นสาธยายธรรมและกล่าวปราศรัย ก่อนให้สัมภาษณ์ต่อประชาไท "สามเณรเอิร์ธ" กล่าวว่า ในฐานะที่เราเป็นตัวแทนศาสนา เราต้องการแยกศาสนาออกรัฐ นี่คือสิ่งที่เราพยายามมาตลอด ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถละข้อเรียกร้องของประชาชนได้ นั่นคือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ สิทธิสงฆ์ตามรัฐธรรมนูญต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัย ให้สงฆ์มีส่วนร่วมในการออกกฎเกณฑ์ของตนเองที่สอดคล้องกับทั้งพระธรรมวินัยและรัฐธรรมนูญเพียงเท่านี้เอง

"สามเณรโฟล์ก" เสริมว่ากฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย เช่น การยกเลิกสำนักงานพระพุทธศาสนา ให้คณะสงฆ์ปกครองกันเองตามหลักพระธรรมวินัย ขณะเดียวกันถ้าพระสงฆ์ทำผิดอาญาก็สามารถฟ้องได้ แต่ให้พระสงฆ์ได้ร่วมตรวจสอบตามพระธรรมวินัยของสงฆ์ หากผิดจริงจึงค่อยจับสึก ซึ่งประเด็นนี้มีกรณีพระพรหมดิลกที่ถูกกล่าวหาในคดีเงินทอนวัด ผิดหรือไม่ยังไม่รู้ แต่ถูกจับสึกแล้ว ทำให้ต้องสูญเสียพรรษาหรือระบบอาวุโสไป

สามเณรโฟล์คกล่าวว่า สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรมี แต่สิทธิพิเศษ เช่น รถเมล์ฟรี หรือมีที่นั่งบนรถไฟฟ้า พระไม่ได้อยากได้ ถ้าเป็นคนเหมือนกันก็ควรเสียภาษีเท่ากัน ถ้าศาสนาพุทธรุ่งเรืองในประเทศไทยจริง มีเงินบริจาคจำนวนมาก ก็มีเงินเสียภาษีได้

ส่วนสิทธิในการเลือกตั้งควรมีเท่ากัน แต่พระสงฆ์จะออกไปใช้สิทธิหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง แต่เห็นว่าควรมีมากกว่าไม่มี ส่วนจะใช้สิทธิหรือไม่ก็เป็นสิทธิของพระสงฆ์เช่นกัน รวมถึงสิทธิในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ หรือออกเสียงประชามติด้วย

สามเณรโฟล์กกล่าวว่า ตนสงสัยว่าพระถูกวางในบริบทไหนของสังคมไทยกันแน่ มันเป็นบริบทที่ลักลั่นมากในมิติของพระ จะอยู่ในการกำหนดศีลธรรมของกษัตริย์ก็ไม่ใช่ หรือจะเป็นคนธรรมดาก็ไม่ใช่ ถือว่าโลกติเตียน ไม่สมควร

“ผมอยากให้ประชาชนมองว่าเราเป็นคนเท่ากัน แค่มีไลฟ์สไตล์ หรือการแสวงหาความหมายของชีวิตที่ต่างกันเฉยๆ การที่ผมไม่มีสิทธิออกสิทธิออกเสียง ผมก็อยากให้ประชาชนช่วยลงชื่อแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ให้ยกเลิกไปเลยก็ได้” สามเณรโฟล์กกล่าว

สามเณรโฟล์กเสริมอีกว่า อยากให้ประชาชนตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ว่า พระเณรถูกกดทับมาก เช่น มาตรา 38 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่ให้สิทธิขาดเจ้าอาวาส หากไม่ทำตามคำสั่งสามารถตีได้ ซึ่งการบวชเณรไม่ได้บวชด้วยความเต็มใจเสมอไป บางคนบวชเพื่อมาเรียน พระเณรบางรูปอาจจะถูกข่มขืนจากเจ้าอาวาสแต่ก็ไม่กล้าพูด เพราะกลัวเสียอนาคตของตนเองไปก็มี พระเณรที่มาร่วมชุมนุมเมื่อ 14 ต.ค. ก็ถูกเจ้าอาวาสขับออกจากวัดที่ จ.ศรีสะเกษ ด้วยไม่มีสงฆ์มายืนยันพระธรรมวินัยว่าผิดข้อไหนจริงๆ

"สิทธิราษฎร์" ชู 6 ข้อ ส.ส.ร. แก้ไขรัฐธรรมนูญยึดโยงประชาชน

21.41 น. ที่เวทีการชุมนุม #mobfest แยกคอกวัว กลุ่มสิทธิราษฎร์ขึ้นอ่านแถลงการณ์ 6 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้เกิดการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ที่ยึดโยงกับประชาชน และสามารถสะท้อนความต้องการและเจตจำนงของประชาชนได้เต็มที่ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1) สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตย

2) สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมีอำนาจในการร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกหมวดทุกมาตรา

3) สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงทั้งหมด

4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่ถูกจำกัดด้วยคุณสมบัติด้านอายุ เพศ การศึกษา ศาสนา ฐานะ ประวัติอาชญากรรม สิทธิทางการเมือง ตลอดจนความคิดเห็นทางการเมือง

5) ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องแถลงนโยบายในการร่างรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชนและปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับนโยบายของตนอย่างเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงและผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี หลังจากร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

6) ข้อมูลข่าวสาร บันทึก รายงาน ความคืบหน้าตลอดจนรายละเอียดของกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต้องเผยแพร่ต่อสาธารณชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทั่วไปและในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง

คณะสิทธิราษฎร์ ระบุด้วยว่าพวกตนเชื่อมั่นว่า 6 ข้อเรียกร้องดังกล่าว จะนำไปสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างทั่วถึงและเสมอภาค โดยปราศจากการปิดกั้นทางความคิดและการบิดผันเจตจำนงแท้จริงของประชาชน เพื่อนำพาให้สังคมไทยออกจากทางตันทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น

"หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา  หรือรัฐบาล จะพิจารณาดำเนินการให้กระบวนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อ เพื่อนำไปสู่การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" แถลงการณ์คณะสิทธิราษฎร์ ทิ้งท้าย

“ยำคนคุก” สะท้อนปัญหาในเรือนจำ

อดีตผู้ต้องขังรวมตัวกันในชื่อ “แฟร์ลี่เทล FairlyTell” ทำ “ยำคนคุก” แจกม็อบ สะท้อนปัญหาสวัสดิภาพในเรือนจำทั้งด้านอาหาร สุขอนามัย และความเป็นอยู่ หวังให้ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบและจัดสิ่งจำเป็นเพื่อสวัสดิภาพคนในเรือนจำและยังมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเรียกร้องยกเลิกการตีตราผู้ที่พ้นโทษด้วยประวัติอาชญากรรมเพื่อให้ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่สังคม

อดีตผู้ต้องขังรวมตัวกันในชื่อ “แฟร์ลี่เทล FairlyTell” ที่ขึ้นไปยำมะม่วงสไตล์คนคุกบนเวทีปราศรัย ได้เล่าถึงความลำบากลำบนในการจะกินยำระหว่างติดคุกที่ทั้งไม่มีอุปกรณ์การทำจนต้องเอาของใกล้มือเท่าที่หาได้มาใช้แทน อย่างเช่นฝาปลากระป๋องหรือไม้บรรทัดพลาสติกที่เอามาใช้แทนมีดปอกมะม่วง  และยังเสี่ยงจะโดนผู้คุมลงโทษอีกเนื่องจากเป็นของต้องห้ามที่อาจใช้แทนอาวุธได้ กระทั่งพริกป่นก็ไม่เว้น ทำให้ต้องแอบทำ

ระหว่างที่พวกเธอกำลังทำยำ ยังเล่าถึงความลำบากในการใช้ชีวิตในเรือนจำไปด้วย หนึ่งในผู้ปราศรัยเล่าถึงประสบการณ์ที่ต้องคลอดลูกระหว่างถูกคุมขังว่าทั้งถูกล่ามโซ่จนกระทั่งถึงวันคลอดเมื่อคลอดเสร็จก็ถูกล่ามโซ่กลับทันที และเมื่อคลอดเสร็จแพทย์ก็เย็บแผลฝีเย็บโดยไม่ได้ให้ยาชาทำให้เธอเจ็บมากและแพทย์ก็ไม่เย็บต่อให้เสร็จปล่อยให้แผลหายเอง และแพทย์ไม่ได้จ่ายยาอื่นใดนอกจากพาราเซตามอล ซึ่งไม่ได้มีการดูแลหลังคลอดเลย

ปุณิกา ชูศรี หรือ อร  อดีตผู้ต้องหาคดีชายชุดดำ(เหตุปะทะคืนวันที่ 10 เม.ย.2553)  ให้สัมภาษณ์ว่าการที่มาทำยำวันนี้เพราะอยากให้เห็นการใช้ชีวิตในเรือนจำว่าอยู่กันอย่างไร เวลาอยากกินอาหารอะไรที่เรือนจำไม่ได้จัดไว้ให้จะทำกันอย่างไร ซึ่งเธอก็เข้าใจได้ที่ระเบียบเรือนจำจะเป็นแบบนั้นเพื่อป้องกันการนำของมาเป็นอาวุธในการทะเลาะวิวาทกัน แต่ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพราะอยากให้เห็นว่าอาหารในเรือนจำแย่ ซึ่งควรมีการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารมากกว่านี้

“ตอนเช้าก็เป็นข้าวต้มโครงไก่ที่คนข้างนอกมาเห็นก็คงไม่มีใครอยากจะกิน พอเที่ยงแกงฟังแกงมะเขือใส่ไก่กับหมู พวกพี่กินไม่ได้เลยเพราะว่ามันสักยันไว้ มันเหนียวมากเคี้ยวไม่ออก กินไม่ได้” ปุณิกาแสดงความเห็นและเธอยังเล่าถึงการให้ผู้ต้องขังได้อาบน้ำคนละ 8 ขันที่ต้องใช้ทั้งสระผม แปรงฟัน ฟอกสบู่ ทำให้ต้องเป็นโรคผิวหนังกันเช่น กรากเกรื้อน หิด ตะมอย เป็นต้น และหากใครอาบเกินกว่านี้ก็จะส่งผลให้คนที่เข้าไปอาบน้ำในรอบเดียวกันเกือบร้อยคนถูกลงโทษทั้งหมด

ปุณิกา ชูศรี หรือ อร(ขวา)

ปุณิกากล่าวอีกว่าการอยู่ในเรือนจำถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนที่เข้ามาก็คงไม่ต่างกันคือไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเรา ถูกดขี่ด่าทอ เธอเคยขอยาก็ถูกด่าทอว่าหนักแผ่นดิน พวกล้มเจ้า เธอรู้สึกว่าเธอไม่เคยจะล้มเจ้าไม่เคยด่า ที่เธอไปร่วมชุมนุมเมื่อปี 2553 ก็เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องความเท่าเทียมเท่านั้น

สภาพในเรือนจำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ปุณิกาต้องพบเจอระหว่างติดคุกอยู่ 3 ปีทั้งที่ยังเป็นเพียงผู้ต้องหาที่คดียังไม่ถูกศาลตัดสินเนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันโดยศาลอ้างว่ากลัวจะหลบหนี แต่เธอบอกว่าไม่เคยคิดจะหลบหนีเพราะเลือกที่จะสู้คดีแล้ว และภายหลังศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ยังพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานพอให้เชื่อได้ว่าเธอมีความเกี่ยวข้องกับชายชุดดำ ทำให้คดีเพิ่งสิ้นสุดเมื่อกุมภาพันธ์ปี 2563 นี้

ปุณิกามีเรื่องที่อยากเรียกร้องให้รัฐยกเลิกประวัติอาชญากรรมของนักโทษ และอยากให้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่อดีตนักโทษ

“ให้เขามีโอกาสใช้ชีวิตในสังคมเพราะการที่เขาติดคุกคือเขาได้ชดใช้ความผิดของเขาแล้ว เมื่อเขาออกมาเขาจึงจำเป็นที่จะต้องมีสิทธิที่จะได้ทำงานเหมือนคนอื่น แต่เมื่อมาจำกัดสิทธิเรามีแบล็กลิสต์ทำงานไม่ได้ คนพวกนี้ก็เข้าสู่วงจรเดิม คือเข้าไปติดคุกเหมือนเดิม คนค้ายาก็กลับไปค้ายาเหมือนเดิม” ปุณิกากล่าว

เบียร์คราฟท์ทำเองที่บ้านก็ได้

ใน Mob Fest ครั้งนี้กลุ่ม “สุราปลดแอก” นอกจากจะตั้งโต๊ะล่ารายชื่อแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วยังตั้งหม้อทำเบียร์โชว์ให้เห็นว่าใครๆ ก็ทำเบียร์เองได้ที่บ้าน ขอแค่มีอุปกรณ์วัตถุดิบพร้อม และส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้คือความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านที่ดี(ที่จะไม่โทรตามตำรวจ)

หลังจากทำเบียร์เสร็จ ศุภพงษ์ พรึงลำภู หรือตูน ผู้ผลิตเบียร์คราฟท์ไทย Sandport ที่วันนี้มาในนามสุราปลดแอก ให้สัมภาณ์ว่าตอนแรกก้ไม่รู้ว่าเบียร์ทำเองได้จนสัก 6 ปีที่แล้วเริ่มต้นรู้ว่าทำเองได้ก็ลองทำดู คือเบียร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นกิจกรรมในครอบครัวด้วยเลยก็ยังได้

ศุภพงษ์ พรึงลำภู หรือตูน(ซ้าย)

ศุภพงษ์คิดว่าคนเราควรเลือกอาชีพเองได้อย่างเบียร์ก็เป็นอาหารประเภทหนึ่งเราควรจะมีสิทธิในการประกอบอาหารหรือว่าทดลองทำสิ่งนี้ ตราบใดที่มันไม่ได้เป็นอันตรายแล้วมันก็ไม่ใช่ยาเสพติดร้ายแรง เขามองว่าอาชีพต้มเบียร์มันควรจะทำได้เพราะมีอยู่ทั่วไป แต่ทำไมกติกาต้องห้ามไว้

ศุภพงษ์ยังกล่าวถึงกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าทำให้ไทยไม่มีคณะที่สอนต้มเบียร์โดยตรงเพราะคนจะเรียนต้มเบียร์ได้ต้องอายุ 20 ปีก่อน ก็ต้องรอให้ถึงปี 3-4 ก่อนทำให้ไม่มีเอกเบียร์แบบเต็มๆ คนที่จะเรียนก็ต้องไปเรียนในต่างประเทศอีก เขาคิดว่าคนต้มเบียร์ไม่ควรผิดกฎหมาย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากฎหมายที่มีอยู่ดูจะทำให้คนทั่วไปตั้งตัวได้ยากในการทำธุรกิจนี้ใช่หรือไม่ ศุภพงษ์ก็บอกว่าที่ผ่านมาก็ต้องไปทำในต่างประเทศตลอดที่ทำมาก็เปลี่ยนวิธีเก็บภาษีไป 3 รอบแล้วกฎหมายควบคุมก็เข้มขึ้นทุกปี แล้วพอถึงช่วงโควิดระบาดทุกคนก็พบว่ามันไม่ไหวแล้วถ้าอยู่ต่อไปอย่างนี้มันทำลายผู้ประกอบการมากเกินไปแล้ว ก็เลยถือโอกาสนี้มารวบรวมรายชื่อเพื่อขอแก้ไขกฎหมาย

ศุภพงษ์ มองว่าการเมืองควรยึดโยงกับประชาชน ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา เขาก็คุยกับหน่วยงานรัฐมาตลอดแต่ข้าราชการก็ไม่ได้ฟังเสียงประชาชน ตัวอย่างคือการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีคนถูกปรับเงินห้าหมื่นบ้างห้าแสนบ้าง ทั้งที่เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่อัตราโทษสูงเกิน คนก็ไปเรียกร้องแต่เขาก็ไม่เปลี่ยนแปลงแล้วก็อ้างว่าทำตามหน้าที่ต่อไป

ศุภพงษ์ยังกล่าวถึงการเมืองในรัฐสภาว่าในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นยุค คสช. หรือของประยุทธ์ จันทร์โอชาในปัจจุบันที่มาด้วยการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสนัก และในสภาตอนนี้ตัวแทน ส.ส.ที่มาพูดแทนเสียงของพวกตนก็ยังน้อย แล้วหากข้าราชการหรือนักการเมืองมีความยึดโยงกับประชาชนมีความเอาใจใส่เกรงใจประชาชน เขาเชื่อว่าอะไรที่มันมีเหตุผลก็ควรจะเกิดขึ้น อย่างเช่นถ้มีคนทำเบียร์กันเยอะก็น่าจะเข้าสู่ระบบได้ง่ายขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บภาษีหรือเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์กับรัฐมากกว่า

เบียร์ที่ต้มเสร็จแล้วต้องรออีก 2 สัปดาห์ก่อนนำมาบริโภค

ยิ่งชีพ iLaw เสนอปฏิรูปสถาบันตุลาการ จับตาร่าง รธน. ประชาชนเข้าสภา

เวลาประมาณ 23.30 น. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw ปราศรัยเรื่องปฏิรูปสถาบันตุลาการ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 สถาบันตุลาการเป็นสถาบันที่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม ไม่เคยมีการแตะต้องเลย และประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อผลคดี นอกจากนี้ยังพูดถึงระบบสอบคัดเลือกผู้พิพากษาระบบสนามเล็ก และสนามจิ๋ว ที่้ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะสนามสอบเช่นนี้ทำให้คนที่จะสอบสนามเล็ก และสนามจิ๋วได้ มีแต่คนที่เรียนนิติศาสตร์ระดับปริญญาโทขึ้นไป หรือมีโอกาสไปเรียนนิติศาสตร์ต่างประเทศจะมีโอกาสสอบคัดเลือกได้มากกว่า

ทั้งนี้เขากล่าวเชิญชวนประชาชนให้กำลังใจผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งที่มีความกล้าหาญตัดสินคดีที่มีผลดีต่อประชาธิปไตย แม้ว่าถึงขณะนี้จะเป็นกลุ่มน้อยก็ตาม นอกจากนี้เขากล่าวยกย่อง คณากร เพียรชนะ ที่เคยเรียกร้องการปฏิรูประบบตุลาการ รวมทั้งปัญหาในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีผลต่อความอิสระของผู้พิพากษา และสิทธิและหลักคุ้มครองผู้ต้องหาที่เคยได้รับหลักประกันในปี 2540 แต่หายไปในรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ก่อนที่จะจบชีวิตตัวเอง นอกจากนี้เขากล่าวถึงหลักเกณฑ์ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และแก้ไขได้ทุกหมวด ทุกมาตรา เพื่อเริ่มคิดออกแบบสังคม ในสังคมที่เปิดกว้างที่ไม่มีประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี และ 250 ส.ว. ไม่อยู่ในอำนาจ พร้อมยังเชิญชวนประชาชนให้จับตาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อ 1 แสนรายชื่อ ที่จะมีการพิจารณาในรัฐสภา 17 พ.ย. นี้ พร้อมย้ำ "ทุกอย่างแก้ได้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันตุลาการต้องแก้ไขได้"

ในช่วงท้ายการชุมนุมเวลาประมาณ 01.28 น. ผู้ชุมนุมช่วยกันปลดผ้าขาวที่คลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเรียบร้อยแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net