คณะปฏิสังขรณ์ฯ เผยผลสำรวจ 'พระ-เณร-โยม' เห็นด้วยว่าพระเณรพูดเรื่องการเมืองได้

คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ เผยผลสำรวจ 'พระ-เณร-โยม' เกือบทั้งหมดเห็นด้วยว่าพระเณรพูดเรื่องการเมืองได้ และไม่มีคนจาก Gen Z ที่ไม่เห็นด้วย

24 ธ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก 'คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ - New Restoration' โพสต์ว่า ถ้าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ในฐานะพลเมือง พระจะสามารถพูดหรือแสดงออกทางการเมืองได้ไหม หรือเพราะพระสงฆ์สามเณรพูดไม่ได้ เพราะไม่ใช่กิจของสงฆ์ ซึ่งจะได้แก่การต้องสำรวจกาย วาจา ใจ เพราะเป็นนักบวช เพื่อทำความเข้าใจทัศนคติของสังคมที่มีต่อคำถามดังกล่าว คณะปฏิสังขรณ์ฯ ได้เริ่มสำรวจความคิดเห็นผู้ร่วมชุมนุมว่าคิดอย่างไรต่อคำถาม “พระพูดเรื่องการเมืองได้หรือไม่” เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ณ ห้าแยกลาดพร้าว โดยมีผู้มาร่วมการสำรวจ 1,336 คน และเมื่อได้รวบรวมผลแล้ว พบว่า มากกว่าร้อยละ 99 มีความเห็นว่าพระพูดเรื่องการเมืองได้

แต่เพราะผู้เข้าร่วมการสำรวจดังกล่าวเป็นฆราวาสเป็นหลัก คณะปฏิสังขรณ์จึงได้ดำเนินการสำรวจครั้งที่สองกับพระเณรและฆราวาสที่เข้าร่วมงานซ้อมใหญ่รับปริญญาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ อ.วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันซ้อมรับปริญญาวันสุดท้ายก่อนเริ่มการรับปริญญาในวันถัดไป และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่มาเข้าร่วมงาน

การสำรวจใช้เวลาตั้งแต่ 10.00-19.30 น. มีคำถามหลักคือ “พระพูดเรื่องการเมืองได้หรือไม่” และผู้สนใจสามารถติดสติกเกอร์แสดงจุดยืน รวมถึงเขียนความคิดเห็นเพิ่มเติมลงในกระดาษโน้ตโพสต์-อิท โดยการสำรวจครั้งนี้มีการเพิ่มคำถามว่า “อยากจะรับปริญญากับใคร หรือไม่อยากจะรับ” ที่เปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่านโพสต์-อิทเพียงอย่างเดียว

จากผลการสำรวจ

มีผู้มาติดสติกเกอร์ทั้งสิ้น 228 คน แบ่งได้ตามเจนดังนี้ Gen Z (6-22) = 43 คน (18.86%) Gen Y (23-40) = 119 คน (52.19%) Gen X (41-55) = 52 คน (22.81%) และ Boomer (56-74) = 14 คน (6.14%)

ในจำนวนนี้ มีพระเณรมาติดสติกเกอร์ทั้งสิ้น 162 รูป (71.05%) และมีโยม 66 คน (28.95%)

เห็นด้วยทั้งหมด 209 คน (91.67% ของผู้สำรวจทั้งหมด) แยกเป็นพระเณร 154 รูป (73.68% ของผู้เห็นด้วย) โยม 55 คน (26.32% ของผู้เห็นด้วย)

พระเณรเห็นด้วย 154 รูป แบ่งเป็นเจนได้ตามนี้ Gen Z (6-22) = 33 รูป (15.79% ของผู้เห็นด้วย) Gen Y (23-40) = 88 รูป (42.11% ของผู้เห็นด้วย) Gen X (41-55) = 26 รูป (12.44% ของผู้เห็นด้วย) Boomer (56-74) = 7 รูป (3.35% ของผู้เห็นด้วย)

โยมเห็นด้วย 55 คน แบ่งเป็นเจนได้ตามนี้ Gen Z (6-22) = 10 คน (4.78% ของผู้เห็นด้วย) Gen Y (23-40) = 26 คน (12.44% ของผู้เห็นด้วย) Gen X (41-55) = 15 คน (7.18% ของผู้เห็นด้วย) Boomer (56-74) = 4 คน (1.91% ของผู้เห็นด้วย)

ไม่เห็นด้วย ทั้งหมด 16 คน (7.02% ของผู้สำรวจทั้งหมด) แยกเป็นพระ 5 รูป (31.25% ของผู้ไม่เห็นด้วย) โยม 11 คน (68.75% ของผู้ไม่เห็นด้วย)

พระไม่เห็นด้วย 5 รูป แบ่งเป็นเจนได้ตามนี้ Gen Y (23-40) = 2 รูป (12.5% ของผู้ไม่เห็นด้วย) Gen X (41-55) = 2 รูป (12.5% ของผู้ไม่เห็นด้วย) Boomer (56-74) = 1 รูป (6.25% ของผู้ไม่เห็นด้วย)

โยมไม่เห็นด้วย 11 คน แบ่งเป็นเจนได้ตามนี้ Gen Y (23-40) = 2 คน (12.5% ของผู้ไม่เห็นด้วย) Gen X (41-55) = 9 คน (56.25% ของผู้ไม่เห็นด้วย) Boomer (56-74) = 1 คน (6.25% ของผู้ไม่เห็นด้วย)

ผู้ที่ตั้งใจแปะทับเส้น ซึ่งจับเป็น “ยังไม่ตัดสินใจ” เป็นพระจำนวน 3 รูป (1.32% ของผู้สำรวจทั้งหมด) Gen Y (23-40) = 1 รูป (33.33% ของผู้ไม่ตัดสินใจ) Boomer (56-74) = 2 รูป (66.67% ของผู้ไม่ตัดสินใจ)

ข้อสังเกตจากการสำรวจ

  • จากจำนวนผู้ร่วมติดสติกเกอร์ทั้งหมด พบว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าพระเณรพูดเรื่องการเมืองได้ แต่รายละเอียดและขอบเขตของการแสดงออกทางการเมืองของพระเณรยังเป็นคำถามที่ต้องได้รับการสำรวจอย่างละเอียดกว่านี้
  • มากกว่าครึ่งของผู้เข้าร่วมการสำรวจทั้งหมดเป็นกลุ่มคน Gen Y โดยมีกลุ่ม Gen X, Z และ Boomers ไล่เรียงกันไปตามลำดับจำนวน
  • สังเกตได้ว่า ทุกกลุ่มอายุมีแนวโน้มสนับสนุนว่าพระพูดการเมืองได้ และแม้กระทั่งกลุ่มพระและโยมในช่วงอายุของ Gen X และ Boomers ยังยอมรับได้ว่าพระเณรพูดการเมืองได้ แต่กลุ่มไม่เห็นด้วยที่มีจำนวนมากที่สุดก็ยังเป็น กลุ่ม Gen X เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นโยมเสียเป็นส่วนใหญ่
  • เป็นที่น่าสนใจว่า กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ มีแต่พระที่อยู่ในกลุ่ม Gen Y และ Boomers ในขณะที่ผู้ร่วมสำรวจต่างมีท่าทีที่ชัดเจนว่าตนเองเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
  • ไม่มีคนจาก Gen Z ที่ไม่เห็นด้วย
  • มีข้อสังเกตว่า จำนวนคนที่เข้าร่วมการสำรวจนี้เป็นผู้สำเร็จการศึกษาและนิสิตปัจจุบันของมหาจุฬาฯ ทั้งพระเณรและฆราวาส ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับคณะสงฆ์และรับรู้ถึงแนวทางและวิถีชีวิตของพระเณรในระดับที่ใกล้ชิดกว่ากลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างของการสำรวจครั้งแรก อย่างไรก็ดี เพราะการสำรวจดำเนินการในวันซ้อมรับปริญญา กลุ่มตัวอย่างมีลักษณะแบบสุ่มอย่างมาก และไม่สามารถที่จะสามารถนำเอาผลการสำรวจครั้งนี้ไปสรุปได้ว่าเป็นผลลัพธ์ที่ภาพสะท้อนโดยรวมได้จริง
  • สำหรับ post-it ที่ได้รวบรวมมา ทางคณะปฏิสังขรณ์ฯ จะขอนำเอารูปภาพที่เลือกมา เพื่อนำเสนอในอีกโพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท