Skip to main content
sharethis

พม่าหลังรัฐประหาร กองทัพเผด็จการเข้าหาพระสงฆ์ดังๆ เพื่อปูนรางวัลให้เป็นเงินบริจาคจำนวนมาก แลกกับการสนับสนุนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้บำรุงศาสนา ทำให้พระที่นักวิจารณ์เรียกว่าเป็น "พระเซเลบ" มีชีวิตอู้ฟู่ ขับรถเบนซ์ ท่ามกลางความยากลำบากของประชาชนนับล้าน และการถูกปราบปราม ถูกทิ้งระเบิดใส่ โดยน้ำมือเผด็จการ

ถ้าหากคุณมีโอกาสได้เดินไปตามย่านใจกลางเมืองของย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์ ไม่นานนักคุณก็จะได้เห็นพระเกจิอาจารย์โดยสารรถเมอเซเดสเบนซ์ หรือ รถเบนท์ลีย์ จนอาจจะทำให้คุณต้องเหลียวกลับไปมองอีกรอบให้แน่ใจ แต่อย่าได้แปลกใจไปเลย เพราะนี่คือประเทศพม่าหลังการรัฐประหาร เจ้าอาวาสผู้ที่สนับสนุนเผด็จการทหารจะได้รับเงินไหลเข้ากระเป๋าไปพร้อมๆ กับการที่พวกเขาได้รับอิทธิพลบารมีมากขึ้นด้วย จากการที่เหล่าผู้นำทหารพม่าหากันแสดงออกในเชิงโอบอุ้มพุทธศาสนาและบริจาคเงินเป็นจำนวนมากให้กับพระที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้พวกเขากำลังดูเหมือนทำนุบำรุงศาสนา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นมากเช่นเดียวกันคือการที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การฉวยโอกาสเช่นนี้ของเหล่าพระสงฆ์ โดยมีการใช้คำเรียกพระแบบนี้ว่าเป็น "พระเซเลบ" และ "พระเล่นพวก" ซึ่งทำให้พระเหล่านี้กลายเป็นเป้าหมายของการบอยคอตต์จากประชาชน

กลุ่มประชาชนที่ถูกกดขี่ในพม่า นักกิจกรรม และนักการเมืองฝ่ายค้าน ต่างก็รับรู้เรื่องที่เจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ แสดงออกสนับสนุนรัฐประหาร ในขณะที่เงียบเฉยกับความรุนแรงของเผด็จการทหารและความโหดร้ายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศพม่า

พระของพม่าเคยเป็นที่รับรู้ในเรื่องกิจกรรมทางการเมือง เริ่มตั้งแต่การเป็นผู้ปลุกระดมให้มีการต่อต้านการปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และต่อมาก็มีการยืนหยัดต่อต้านระบอบเผด็จการชุดก่อนหน้านี้ที่มีมาก่อนเผด็จการทหารชุดปัจจุบัน แต่ในทุกวันนี้พระจำนวนมากโดยเฉพาะพระรุ่นอาวุโสกับพระที่มีชื่อเสียงอิทธิพล ต่างก็เผชิญกับคำถามเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองของพวกเขา การที่มีความร่ำรวยแบบตรวจสอบไม่ได้ และมีธุรกิจที่พวกเขาสร้างขึ้นเติบโตขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

มันเป็นการจูบปากกันด้วยผลประโยชน์ฝ่ายผู้นำกองทัพพม่าเสนอจะช่วยเหลือสร้างความมั่งคั่งให้พระ และให้การคุ้มครองพระ โดยที่กองทัพเผด็จการได้ความชอบธรรมเป็นสิ่งตอบแทน ได้เสนอภาพลักษณ์ตนเองในฐานะผู้คุ้มครองศาสนาพุทธ ในฐานะผู้ปกป้องศาสนาพุทธจากสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็นภัยคุกคามจากการแผ่ขยายของศาสนาอิสลามในประเทศที่มีชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่

ในพม่ามีพระฝ่ายอนุรักษ์นิยมและชาตินิยมสุดโต่งที่เป็นพวกเสียงดัง เป็นพวกที่เสนอตัวสนับสนุนกองทัพพม่าเป็นอย่างดีตั้งแต่ก่อนที่กองทัพจะก่อการรัฐประหาร 2654 แล้ว การที่กองทัพพม่าจะเอาไพ่ศาสนามาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น พวกเขาใช้เวลาหลายปีในการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งอย่าง 'องค์กรปกป้องเชื้อชาติและศาสนา' หรือ 'มะบ๊ะต๊ะ'

มะบ๊ะต๊ะ เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 นำโดยพระชาตินิยมสุดโต่งที่ถูกกล่าวหาว่าจุดชนวนความตึงเครียดทางศาสนาในพม่าและมีส่วนในการทำให้เกิดความรุนแรงทางศาสนา

ในช่วงระหว่างปี 2554-2559 ประธานาธิบดีในตอนนั้นคือ เต่งเส่ง ผู้ที่เป็นอดีตนายพล, ผู้นำกองทัพและผู้นำพลเรือน เป็นผู้ที่อ้างว่าเป็น "นักปฏิรูป" ก็ได้แสดงการสนับสนุนมะบ๊ะต๊ะโดยการบริจาค การคุ้มครอง และการหนุนหลังทางการเมือง

นับตั้งแต่ที่มีการยึดอำนาจเมื่อปี 2564 กองทัพพม่าก็ยังคงอ้างใช้ศาสนาต่อไป มีพระอยู่สองรูปที่ดูเหมือนจะเป็นคนโปรดของเผด็จการทหารหลังจากการรัฐประหารคือ สิตากู สะยาดอ อะชิน ญาณิสสระ และ ธรรมาธุตา อะชิน เซกินดา

สิตากู สะยาดอ อายุ 87 ปีเป็นผู้นำนิกายชเวจิน 1 ใน 9 นิกายพุทธของพม่า ก่อนหน้าที่จะเกิดการรัฐประหาร 2564 เขาเป็นหนึ่งในพระที่เป็นที่เคารพศรัทธาและทรงอิทธิพลที่สุดรูปหนึ่งโดยมีผู้ติดตามหลายแสนรายทั้งในและต่างประเทศ

ธรรมาธุตา อะชิน เซกินดา ได้สร้างชื่อให้ตัวเองโดยการจัดโครงการพุทธศาสนาสำหรับวัยรุ่นในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ดึงดูดเยาวชนหลายร้อยคนต่อปี เซกินดายังเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเถรวาทนานาชาติในย่างกุ้ง และมีผู้ติดตามจากทั่วประเทศหลายหมื่นราย รวมถึงคนจากวงในของกองทัพพม่าด้วย

พระทั้งสองรูปนี้ต่างก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นกับผู้นำคณะรัฐประหาร มินอ่องหล่าย นับตั้งแต่ที่มีการยึดอำนาจในปี 2564 ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วอาจจะไม่น่าแปลกใจนักเพราะพวกเขาได้เรียกร้องให้กองทัพยึดอำนาจก่อนหน้านี้หลายเดือนก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร และพระทั้งสองรูปนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่พวกเขาเงียบเฉยต่อการกระทำโหดร้ายจากฝั่งเผด็จการ

ในปี 2565 สิตากู สะยาดอ ได้กล่าวชื่นชมผู้นำเผด็จการ มินอ่องหล่าย ว่าเป็น "กษัตริย์" หรือเป็น "ประมุข" ของ "ผู้ทรงปัญญาและความกรุณา" หลังจากที่ผู้ก่อรัฐประหารมอบตำแหน่งสูงสุดของผู้นำศาสนาพุทธในพม่าให้แก่สะยาดอผู้ที่เคยเป็นประธานของมะบ๊ะต๊ะมาก่อน คำสรรเสริญมินอ่องหล่ายว่าเป็น "กษัตริย์" นั้นมีขึ้นหลังจากที่ประชาชนหลายพันคนถูกสังหารโดยกองทัพพม่าในการปราบปราม การบุกทลาย และการทิ้งระเบิดใส่ทั้งทางปืนใหญ่และทางอากาศ

อีกหนึ่งคนที่เป็นผู้สนับสนุนมินอ่องหล่ายตัวยงคือ อู โควินทะ จากรัฐฉาน เป็นที่รู้จักดีในชื่อ วาสิเป๊ก สะยาดอ ผู้ที่มีชื่อเสียงในเรื่องโหราศาสตร์และการสวดอธิษฐานเงียบ ในความเป็นจริงแล้วพิธีกรรมของเขาไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาแต่เป็นเรื่องความเชื่อฮินดู  ในตอนช่วงแรกๆ ที่มีการประท้วงต่อต้านการรัฐประหารบนท้องถนน อู โควินทะ ถูกกล่าวหาว่าให้คำแนะนำแก่นายพลระดับสูงในการสั่งการเจ้าหน้าที่ความมั่นคงให้ยิงผู้ประท้วงที่ศีรษะ

การที่พระเหล่านี้หนุนหลังคณะรัฐประหารทำให้พวกเขาได้รับเงินบริจาค, รถหรูราคาแพง, ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ และได้ประดับยศใหญ่ๆ จากเผด็จการทหารและพวกพ้องที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเผด็จการ

กองทัพพม่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ สิตากู สะยาดอ และ อะชิน เซกินดา แบบที่แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนต่อหน้าสาธารณะ มีตัวอย่างคือตอนที่พระเหล่านี้ติดตามเหล่าผู้นำกองทัพพม่าไปเยือนรัสเซียเพื่อปลุกเสกเจดีย์ชเวดากองจำลองที่กรุงมอสโก

 

หลอกใช้ประเทศเมืองพุทธที่ชอบทำบุญ

 

ในปี 2556 และปี 2562 พม่าได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับต้นๆ ของดัชนีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โลก ซึ่งจัดอันดับโดยองค์กรการกุศลของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีแรงจูงใจมาจากวิธีคิดแบบของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อเรื่องกรรม ทำให้เป็นคนมีจิตใจเอื้อเฟื้อ

เรื่องนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเครื่องสะท้อนอิทธิพลของพุทธนิกายเถรวาทในพม่า ซึ่งมีคนจำนวนมากเชื่อว่าสิ่งที่พวกเราทำในชาตินี้จะส่งผลถึงชาติหน้า โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งต่อความเชื่อแบบนี้

สิ่งที่พระพม่ามักจะเทศนาคือเรื่องสังสารวัฏ ที่สื่อถึงวงจรการเวียนว่ายตายเกิด โดยที่พระสงฆ์มักจะทิ้งท้ายคำเทศน์ด้วยการเน้นถึงความสำคัญของการบริจาคทาน ซึ่งการบริจาคนี้เองก็เป็นสิ่งที่ชาวพุทธในพม่านิยมทำ คนจำนวนมากยังพยายามรักษาศีล 5 และพยายามสะสมบุญด้วยการบริจาค ซึ่งมักจะเป็นการบริจาคให้กับพระหรือบริจาคสร้างเจดีย์ รวมถึงพยายามประกอบกรรมดีเพื่อให้มีชาติหน้าที่ดี

ที่น่าเศร้าคือ วัฒนธรรมการทำบุญแบบนี้เป็นการสร้างรายได้ให้กับพระที่มีอิทธิพลอย่างซิตากู สะยาดอ ผู้ที่สะสมรถหรูๆ อย่างเบนซ์, ลินคอล์น, เบนท์ลีย์ และอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็ทำการขยาย "ธุรกิจ" ของตนเองผ่านทางวัดวาอารามต่างๆ ในพม่า ซึ่งไม่ใช่แค่รถหรูๆ และความมั่งคั่งผิดปกติเท่านั้นที่เขาได้มา แต่ยังมีการบริจาคจากประชาชนอยู่เป็นประจำตามวัดและวิหารต่างๆ ทั่วประเทศ (ซึ่งจะมีการบริจาคเป็นเงินจำนวนมากเป็นพิเศษในช่วงเทศกาล) จนสามารถประเมินได้ว่าอาจจะทำเงินได้ถึงหลักมากกว่าร้อยล้านต่อปี ในขณะที่พระเหล่านี้สะสมทรัพย์สินปริมาณมากในพม่า เกือบครึ่งหนึ่งของประชากร 54 ล้านคนก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน

 

เมื่อ "การให้ทาน" กลายเป็นรายได้ของสายศาสนา

 

ถึงกระนั้นก็ตาม วัดวาอารามต่างๆ ก็ยังคงเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ทำให้พระในพม่ายังคงมั่งคั่ง แต่ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโลภของพวกเขาเพิ่มมากขึ้น

ก่อนหน้านี้เคยมีสื่อข่าวสดนำเสนอเรื่องที่พระไทยรับบริจาครถยนต์ BMW ทำให้ชาวพม่าที่อ่านข่าวนี้มีการนำมาเปรียบเทียบกับกรณีของพม่าว่า ถ้าเป็นพระพม่าได้รับรถยี่ห้อนี้ที่มีมูลค่าน้อยกว่ารถเบนซ์พระพม่าเหล่านั้นคงไม่พอใจ มีความคิดเห็นรายหนึ่งระบุว่า "พวกพระเซเลบในบ้านเราคงจะหัวเราะใส่ (รถ BMW)"

ความคิดเห็นอีกรายหนึ่งระบุในเชิงประชดเสียดสีว่า "หืม... นี่ไม่ใช่รถเบนท์ลีย์นี่นา พวกเรามีพุทธพาณิชย์ที่รุ่งเรือง แล้วรถ BMW ก็แทบไม่มีค่าเลยในพม่า พระของพวกเราไม่มีกิเลส แต่พวกเขาแค่อยากขับรถที่แพงกว่าแบบของไทยเท่านั้นเอง... พวกเราไม่มีปัญหาอะไรเลย!!!" ซึ่งชาวพม่าที่อ่านอยู่คงตีความได้ว่า "พระของพวกเรา" ในความคิดเห็นนี้หมายถึง "พระเซเลบ" อย่าง ซิตากู สะยาดอ

ทั้งที่ก่อนหน้านี้พระในพม่าเคยเป็นผู้ปลุกระดมทางการเมืองต่อต้านเผด็จการในพม่ามาก่อน แต่ดูเหมือนยุคสมัยจะเปลี่ยนไปแล้ว ทุกวันนี้ชุมชนพระในพม่าก็มีการแบ่งฝ่ายกัน มีพระฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะถูกลงโทษหรือไม่ก็ถูกกีดกันให้เป็นชายขอบ ส่วนพระฝ่ายที่สนับสนุนชาตินิยมหรือแค่วางตัวเป็นกลางก็จะได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติกิจต่อไปและได้รับความมั่งคั่ง เป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเผด็จการทหารพม่ามีความช่ำชองในเรื่องการใช้งานพระหลายรูปที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก

เหล่านายพลกองทัพพม่าที่ร่ำรวยและมีอำนาจมาก ผู้ที่มักจะทำผิดศีลข้อหนึ่งด้วยการสั่งให้สังหารพลเรือน มักจะเชิญชวนเจ้าอาวาสผู้เป็นที่รู้จักไปเยือนบ้านพักที่หรูหราของพวกเขา หรือไม่ก็เดินทางไปเยี่ยมเจ้าอาวาสเหล่านี้ที่วัดแล้วบริจาคเงินให้พวกเขาจำนวนมาก มีกลุ่มคนที่รวยที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในพม่าที่ได้รับความร่ำรวยภายในเวลาชาตินี้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าเป็นกรรมแต่ชาติปางก่อนได้หรือไม่ ในขณะที่ประชาชนหลายล้านคนยังคงยากจนแต่ก็มุ่งบริจาคเงินหรือปัจจัยต่างๆ ที่พวกเขาพอจะมีให้กับพระและกับวัดต่อไป

พระที่รับบริจาครถเบนซ์และโทรศัพท์สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่มีปัญหากับการยังคงความสัมพันธ์กับพวกที่ร่ำรวยและมีอำนาจ พระพวกนี้จะบอกกับเหล่านายพลให้หยุดสังหารหมู่ผู้คนหรือไม่

มีความหวังเล็กๆ ผุดขึ้นจากการที่คนรุ่นใหม่ของพม่ารวมถึงพระรุ่นใหม่ๆ ที่มีหัวก้าวหน้า พร้อมที่จะตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของสงฆ์ที่อวดรถหรูเมืองนอกอย่างไร้ยางอาย ในขณะเดียวกับที่เพื่อนประชาชนในประเทศกำลังจมลงสู่ภาวะความยากจนมากขึ้นเรื่อยๆ

มีการตั้งคำถามบ้างหรือไม่ว่าพฤติกรรมของพระเหล่านี้ไม่เหมาะสม หรือน่าคลางแคลงใจในทางศาสนา ในประเทศที่เผด็จการทหารผู้โหดเหี้ยม ทำการข่มขืน, ทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายพลเรือน และเผาบ้านเรือนของประชาชน

ดูเหมือนว่าพระอาวุโสในพม่าเลือกที่จะร่ำรวยอยู่บนกองซากศพ ในขณะที่เสวยสุข ความสะดวกสะบายในสถานะของผู้อยู่ระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์

 

เรียบเรียงจาก

  • Unholy Alliance: Myanmar’s Mercedes Monks and the Men in Green, The Irrawaddy, 07-06-2024

https://www.irrawaddy.com/opinion/commentary/unholy-alliance-myanmars-mercedes-monks-and-the-men-in-green.html

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net