COVID-19: 3 ม.ค. มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 315 คน 'นพ.ยง' เผยพบผู้ป่วยสายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์เดินทางมาไทย

ศบค.รายงานสถานการณ์ COVID-19 ไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 315 คน ติดเชื้อในประเทศ 294 คน - 'นพ.ยง' เผยพบ COVID-19 สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ จากครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คนที่เดินทางมาไทยและรักษาในโรงพยาบาล ย้ำกักตัวผู้ป่วยไม่ให้เชื้อหลุดรอด ขณะนี้ยังไม่มีการแพร่กระจายเชื้อในไทย

3 ม.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 315 คน จำนวนนี้เป็นการติดเชื้อในประเทศ 294 คน และอยู่ในสถานที่กักกันของรัฐ 21 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 7,694 คน รักษาหายแล้ว 4,337 คน เสียชีวิตคงที่ 64 คน

ทั้งนี้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นหลายพัน ภาพรวมวันนี้ (3 ม.ค.) ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงสุดกว่าวันอื่นๆ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 234 คน มีประวัติไปสถานที่เสี่ยง 37 คน เชื่อมโยงสมุทรสาคร-ชลบุรี 3 คน คนหาเชิงรุก 20 คน และเดินทางมาจากต่างประเทศ 21 คน

กรณีที่รอผลการสอบสวนโรค 234 คน อยู่ใน กทม. 2 คน, นนทบุรี 1 คน, สมุทรสาคร 38 คน, ระยอง 43 คน, ชลบุรี 62 คน, สมุทรปราการ 8 คน, จันทบุรี 68 คน และตราด 12 คน ซึ่งเป็นจังหวัดทางฝั่งตะวันออกเกือบทั้งหมด

จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ และสะสมวันที่ 15 ธ.ค. 2563 - 3 ม.ค. 2564 สูงสุด 10 จังหวัด 1.จ.สมุทรสาคร 2.จ.ระยอง 3.จ.ชลบุรี 4.กรุงเทพมหานคร 5.จ.จันทบุรี 6. จ.สมุทรปราการ 7.จ.นนทบุรี 8.จ.นครปฐม 9.จ.ตราด และ 10.จ.เพชรบุรี

นอกจากนี้ มาตรการฉบับที่ 16 มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การห้ามใช้อาคาร-สถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ยังคงเน้นย้ำในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่และมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าฯ กทม. กำหนดหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ในพื้นที่

ทั้งนี้การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าฯ กทม. โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย สั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ส่วนร้านอาหาร มีการร่างใหม่โดยมีเงื่อนไขการเปิดดำเนินการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบที่กำหนด เช่น การจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบเข้าใช้บริการคนนั่งกินในร้าน จัดสถานที่ และมีมาตรการป้องกันโรค โดยอาจให้เป็นลักษณะนำกลับไปบริโภคที่อื่น และการจำหน่ายสุราสำหรับร้านอาหาร โดยห้ามดื่มสุราภายในร้าน ทั้งนี้ต้องรอนายกฯ เห็นชอบ

ขณะที่ เรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งห้าม แต่จะมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจคัดกรองบริเวณเส้นทางคมนาคมข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะการเดินทางของบุคคลจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด และขอความร่วมมือประชาชนงดเดินทางหากไม่มีความจำเป็น หากนายกฯ ลงนามเห็นชอบแล้ว แต่ละพื้นที่จะมีการออกประกาศเฉพาะพื้นที่ และขอให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศในพื้นที่ของตนเอง

ผู้ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่อื่นสามารถเดินทางได้ รวมถึงสายการบิน รถประจำทาง และรถขนส่งสินค้า แต่อย่างไรก็ตามอยากให้ประชาชนลดการเดินทาง เว้นระยะระหว่างกัน 

นพ.ทวีศิลป์ ตอบคำถามสื่อมวลชน หลังจากก่อนหน้านี้ที่กรุงเทพฯให้ 3 เขตเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเมื่อนายกฯลงนามให้กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดทั้งหมดจะมีแนวทางปฏิบัติคือ ให้ประชาชนรับฟังแนวทางปฏิบัติจากกรุงเทพฯว่าจะมีแนวทางปฏิบัติเช่นไร หรือให้แต่ละพื้นที่ออกประกาศตามคำสั่งเพื่อดำเนินมาตรการในแต่ละพื้นที่

โฆษก ศบค.ยังกล่าวถึงเหตุผลที่ยังไม่ใช้คำว่า "ล็อกดาวน์" ว่าหาก ศบค.มีคำสั่งล็อกดาวน์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงการหารายได้ของประชาชน และจะต้องมีการเยียวยา เป็นภาระภาษีของประเทศ การใช้ยาแรงจัดการทั้งประเทศมีบทเรียนมาแล้วจากครั้งก่อน ซึ่งคนที่เจ็บปวดที่สุดคือประชาชน 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จะใช้กลไกของจังหวัดสู้กับ COVID-19 บางจังหวัดอาจใช้ยาแรง อยากให้ประชาชนเข้าใจและให้ความร่วมมือ หนึ่งเดือนข้างหน้าจะมีความเปลี่ยนแปลง โดยวันที่ 3 ม.ค. 2563 ถือเป็นวันแรกที่ยกธงสู้หลังตรวจพบโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิ วันนี้ครบ 1 ปี เราต้องเปิดแนวรบรูปแบบใหม่ที่หนักกว่าเดิม และการ์ดต้องยกสูงขึ้น

'นพ.ยง' เผยพบผู้ป่วยสายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์เดินทางมาไทย

วันนี้ (3 ม.ค.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "นพ.ยง ภู่วรวรรณ" ระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ พบในประเทศไทยแล้ว

ศ.นพ.ยง ระบุอีกว่า ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้ถอดรหัสสายพันธุ์ พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษหรือที่เรียกว่า “สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ B.1.1.7” ได้ในประเทศไทย เป็นครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คน พ่อ แม่ ลูก 2 คน ติดเชื้อทั้ง 4 คน โดยที่แม่และลูกเป็นก่อน พ่อเป็นทีหลัง มาจากเมือง Kent ประเทศอังกฤษ และอยู่ใน ASQ โรงพยาบาลเอกชน และเราควบคุมอย่างดีไม่ให้แพร่กระจายออกไป

การถอดรหัสพันธุกรรมทำให้ทราบว่าสายพันธุ์นี้ เป็นสายพันธุ์ของอังกฤษกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกเฝ้าระวังกันมาก และมีการระงับเที่ยวบินจากอังกฤษ ได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรม 2 คน มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งเกาะจับตัวรับของเซลล์มนุษย์ (N501Y) การกลายพันธุ์ที่จุดตัดของสไปค์โปรตีน (P681H) ตำแหน่งอื่นๆ ที่ขาดหายไป (Spike 69-70 Deletion) และตำแหน่งอื่นๆ อีก

สายพันธุ์นี้ทำให้การแพร่ระบาดได้ง่ายและกระจายอย่างรวดเร็ว ในครอบครัวนี้ติดหมดทั้ง 4 คน อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย สายพันธุ์นี้ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้นและไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของวัคซีน ขอให้สบายใจได้ ผู้ป่วยทั้ง 4 คนนี้อยู่ในความควบคุมและระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้เชื้อหลุดรอดออกมาได้ ผู้ป่วยยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลในห้องความดันลบและต้องมั่นใจว่าไม่มีเชื้อแล้ว จึงจะออกมา ดังนั้นโอกาสที่จะแพร่ขยายในประเทศไทยจึงไม่มี

ผู้ที่มาจากประเทศอังกฤษมาประเทศไทยจะต้องเฝ้าระวัง ในรายที่มาจากต่างประเทศ การถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเป็นฐานข้อมูลจะเป็นประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยหาแหล่งที่มาของโรค

 

โควิด-19  สายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ พบในประเทศไทยแล้ว . ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ...

โพสต์โดย นพ.ยง ภู่วรวรรณ เมื่อ วันเสาร์ที่ 2 มกราคม  2021

 

ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร อาการดีขึ้น เตรียมถอดเครื่องช่วยหายใจ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสาตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงความคืบหน้าอาการนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ว่าอาการในรอบ 24 ชม. ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ มีแนวโน้มดีขึ้น ชีพจรคงที่ ระดับออกซิเจนในเลือดดี สามารถปรับมาอยู่ท่านอนหงายตามปกติได้แล้ว แม้ว่าระดับบออกซิเจนในเลือดจะตกลงเล็กน้อย แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีรับได้ ไม่ต้องกลับนอนพลิกคว่ำ และจากนี้จะค่อยเข้าสู่ขั้นตอนการถอดเครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้ผู้ว่าฯ ฝึกหายใจได้ด้วยตนเอง แต่อาจยังต่อรับออกซิเจนบ้างเป็นระยะ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตัว และไม่อยากให้รีบร้อนจนเกินไป

ส่วนการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ยังคงต้องให้อยู่แต่จะค่อยๆลดปริมาณลง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการตรวจปริมาณไวรัสในร่างกาย ทั้งนี้คาดว่าภาพรวมอาการดีขึ้น ส่วนภริยาผู้ว่าฯ นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี นั้น ขณะนี้ ย้ายมารับการรักษาที่ รพ.ศิริราช ตั้งแต่ช่วงเวลา คืนวันก่อน (2 ม.ค.) อาการปกติดี ไม่ได้รุนแรง แต่เพื่อให้ได้มาอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว เพื่อความสะดวก แต่ตัวภรรยาผู้ว่าฯ ยังต้องอยู่ในห้องแยกโรค และไม่ได้อยู่ในห้องไอซียู

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท