ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงสุดรอบ 18 ปี 86.6% ต่อจีดีพี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงสุดรอบ 18 ปี จ่อทะลุ 91% หากจีดีพี 64 โตต่ำ คนรายได้น้อยไม่ถึง 5 พันบาทต่อเดือน มีภาระหนี้สูง 84% ต่อรายได้(ดีเอสอาร์) ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และความเปราะบางของฐานะทางการเงินในภาคครัวเรือน

4 ม.ค.2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือ “หนี้ครัวเรือน” ล่าสุดในไตรมาส 3/2563 จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่า หนี้ครัวเรือนของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง และมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางสัญญาณอ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจ โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3/2563 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ ที่ 86.6% ต่อจีดีพี

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เนื่องจากคนไทยก่อหนี้เพิ่มโดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิต โดยคาดอาจเพิ่มขึ้นมาที่ 91% ต่อจีดีพี หรืออาจสูงกว่านั้นในปี 64 หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่ประเมิน และทำให้จีดีพีในปี 64 เติบโตน้อยกว่า 2.6% 

สำหรับการก่อหนี้ก้อนใหม่ในภาคครัวเรือนไตรมาสที่ 3 ปี 63 โดยเฉพาะหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ เพิ่มขึ้น 1.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 88% ของการเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน ซึ่งในไตรมาส 3 หนี้ครัวเรือนมียอดคงค้างเพิ่มขึ้น 1.82 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 13.77 ล้านล้านบาท และยังมีสัญญาณการก่อหนี้ในส่วนอื่นๆ ทั้งหนี้ก้อนใหญ่ เช่น หนี้เพื่อการประกอบอาชีพและหนี้เช่าซื้อรถยนต์ และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่กลับมาเร่งสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3 อีกครั้ง จากที่มีทิศทางชะลอลงในไตรมาส 2 ปี 63ซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 รอบแรก 

กาญจนา กล่าวว่า หากดูลึกลงไปเพื่อวิเคราะห์ความเปราะบางในระดับครัวเรือนเพิ่มเติม พบว่า ภาระหนี้ต่อรายได้ (ดีเอสอาร์) โดยเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศอยู่ที่ 27% แต่ครัวเรือนในกลุ่มรายได้น้อย หรือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน กลับมีดีเอสอาร์อยู่ในระดับสูง และสูงกว่าค่าเฉลี่ยดีเอสอาร์ ของครัวเรือนทั้งประเทศหลายเท่า โดยเฉพาะครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มีดีเอสอาร์สูงถึง 84% ขณะที่ครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน มีดีเอสอาร์ 40% สะท้อนสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวและมีความอ่อนไหวต่อปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤติโควิด-19 ในปี 63

นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ส่งผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 64 และน่าจะมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่รวมๆ แล้วมีอยู่ 10.68 ล้านบัญชี คิดเป็นภาระหนี้ 3.5 ล้านล้านบาท

สำหรับภาพหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงต่อเนื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และความเปราะบางของฐานะทางการเงินในภาคครัวเรือนที่เป็นโจทย์รอการแก้ไข ต่อเนื่องจากการควบคุมการระบาดของโควิดและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่โจทย์เฉพาะหน้าที่สำคัญกว่า คือ การเตรียมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับลูกหนี้ทั้งธุรกิจและครัวเรือนให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้

ที่มา : โพสต์ทูเดย์และเดลินิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท