Skip to main content
sharethis

13 ม.ค. 2564 ศาลจังหวัดสมุทรปราการอ่านคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อหา คดีฐนกร (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่ากดไลค์เพจที่มีภาพปกและข้อความไม่เหมาะสม, โพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และแชร์ผังทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยจำเลยเบิกความต่อศาลว่าถูกขวดแก้วทุบระหว่างควบคุมตัวในค่ายทหาร

เวลา 10.45 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 21 ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษา คดีที่ฐนกร (สงวนนามสกุล) ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ฐนกรถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2558 เนื่องจากต้องสงสัยว่าแชร์ผังทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เขาถูกควบคุมตัวในค่ายทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นเวลา 7 วัน ถูกยึดโทรศัพท์มือถือไปตรวจสอบ และไม่ได้รับโอกาสติดต่อญาติหรือทนายความ กระทั่งทหารนำตัวเขาไปส่งพนักงานสอบสวน จึงถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 เพิ่ม จากข้อมูลในโทรศัพท์มือถือที่ถูกยึดขณะอยู่ในค่ายทหาร คดีนี้ถูกฟ้องโดยอัยการทหารที่ศาลทหารกรุงเทพ ก่อนโอนมายังศาลจังหวัดสมุทรปราการ หลัง คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ให้โอนคดีพลเรือนที่พิจารณาในศาลทหารไปยังศาลยุติธรรม

ข้อหากดไลค์เพจที่มีภาพและข้อความไม่เหมาะสม

หลังต่อสู้คดีมากว่า 5 ปี ศาลอ่านคำพิพากษาว่า จำเลยกดปุ่มไลค์เพจชื่อ “ยืนหยัดปรัชญา” โดยไม่ปรากฏว่าทำอะไรอย่างอื่น คำว่าไลค์แปลว่า ชื่นชอบ การกดไลค์จึงเป็นการกดเพื่อแสดงความชื่นชอบเนื้อหาในเพจ แต่การกระทำของจำเลยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เบิกความว่า เดิมเฟซบุ๊กมีแต่ปุ่มกดไลค์ ไม่มีปุ่มให้กดติดตาม เพิ่งมีปุ่มติดตามภายหลังการกระทำของจำเลย ส่วนจำเลยเบิกความว่า ต้องการติดตามเนื้อหาจากเพจนี้ ขณะที่โจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นมาแสดง จึงจะยืนยันว่า จำเลยกดไลค์เพราะความชื่นชอบอย่างเดียวไม่ได้ เพจนี้มีเนื้อหาทำนองโจมตีรัฐบาล และมีเนื้อหาอื่นมากมาย แม้มีภาพปกเป็นภาพตัดต่อ พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่เหมาะสม แต่ไม่ได้แปลว่าจำเลยชอบหรือติดตามแค่ภาพปก เพราะจำเลยไม่ได้กดไลค์ภาพนั้น และการกดไลค์เพจไม่ได้หมายความว่าชื่นชอบภาพปกดังกล่าว

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังเบิกความว่า ภาพปกและภาพประจำตัวของเฟซบุ๊กนั้น เจ้าของเพจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จากการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของจำเลยพบว่าจำเลยกดไลค์เพจดังกล่าวจนถึงวันที่ 8 ธ.ค. 2558 แต่ไม่ปรากฏว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพปกมาตั้งแต่เมื่อใด จึงน่าสงสัยว่า ขณะจำเลยกดไลค์เพจดังกล่าว เพจนั้นใช้ภาพที่นำมาฟ้องเป็นภาพปกหรือยัง จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112

ส่วนข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้การกดไลค์จะทำให้เพื่อนบนเฟซบุ๊กเห็นสิ่งที่กดไลค์ได้ แต่ก็เป็นการดำเนินการของเฟซบุ๊กโดยสุ่ม อาจจะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ได้ การกดไลค์จึงไม่ใช่ผลโดยตรงทำให้เพจที่จำเลยกดไลค์ไปแสดงยังหน้าเพจของบุคคลอื่น ต่างจากการกดแชร์ ถ้าจำเลยมีเจตนาให้เพื่อนบนเฟซบุ๊กเห็น จำเลยน่าจะกดแชร์ มากกว่ากดไลค์ จึงไม่เป็นความผิดตาม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ข้อหาเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง

สำหรับข้อกล่าวหาที่สอง ที่จำเลยแคปภาพมาโพสต์เฟซบุ๊ก แล้วใช้ข้อความว่า “อ่านคอมเม้นต์แล้วซาบซึ้งจังครับ” ศาลเห็นว่า คำว่า “ซาบซึ้ง” ที่จำเลยใช้อาจตีความได้สองประการ คือ ซาบซึ้งและชื่นชมกับข้อความนั้น หรือประชด เมื่อดูข้อความคอมเม้นต์ในภาพที่จำเลยแคปมาก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน คอมเม้นต์แรกไม่มีข้อความแสดงความดูหมิ่นหรือเกลียดชัง ส่วนคอมเม้นต์ที่สองแม้จะมีการประชด ก็เป็นการประชดบุคคลทั่วไปที่มาชื่นชมคุณทองแดง จึงไม่ชัดว่าคำว่า "ซาบซึ้ง" มีเจตนาชื่นชมหรือประชด ส่วนคอมเม้นต์ที่จำเลยแคปภาพมาโพสต์ทั้งหมดก็ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112

ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื้อหาในคอมเม้นต์ที่จำเลยแคปมาเป็นการแสดงความคิดเห็น ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง แม้ข้อความตามภาพจะระบุว่า รู้หรือไม่ว่า คุณทองแดง สุวรณชาด เป็นสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 9 แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไป แม้จะไม่มีประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการก็ตาม จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ข้อหาแชร์แผนผังทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

จำเลยโพสต์ภาพแผนผัง มีเนื้อหาข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่ดำเนินการโดยกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อใช้งบประมาณจำนวนมากและเกิดข้อสงสัย ประชาชนย่อมสนใจ แสดงความคิดเห็น จำเลยเบิกความว่า แชร์ภาพดังกล่าวเข้าไปในกลุ่มเพื่อติดตามตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้ โจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า การโพสต์ของจำเลยเป็นการปลุกระดม ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง จึงเป็นการติชมโดยสุจริต ไม่ผิดมาตรา 116

นอกจากนี้ โจทก์มี พล.ท.บุรินทร์ ทองประไพ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุสื่อก็นำเสนอเรื่องดังกล่าว รวมถึงมีกลุ่มนักกิจกรรมที่นั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริต และ พล.อ.ธีระชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ก็แถลงว่าตรวจสอบแล้วไม่พบการกระทำความผิด แต่ไม่ปรากฏว่าตรวจสอบโดยหน่วยงานใด และไม่มีรายงานการตรวจสอบมานำส่งต่อศาล ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เคยให้สัมภาษณ์ว่า มีการทุจริตในโครงการดังกล่าว

พล.ต.วิจารณ์ จดแตง พยานโจทก์ เบิกความยืนยันว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เคยให้สัมภาษณ์ว่า มีการหักหัวคิวในการก่อสร้าง เมื่อยังไม่อาจยืนยันได้ว่า แผนผังดังกล่าวเป็นความเท็จ จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

ศาลยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

จำเลยอยู่ในความกลัวจะถูกนำตัวกลับไปขังในค่ายทหาร

นอกจากที่ศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว ฐนกรซึ่งปัจจุบันบวชเป็นพระ ให้การต่อศาลในฐานะพยานจำเลย เมื่อ 1 ต.ค. 2563 ว่า ขณะเกิดเหตุอยู่ที่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ วันที่ 8 ธ.ค. 2558 ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบพาตัวจากที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ไปที่ สภ.บางปู จากนั้นไปที่ สภ.เมืองสมุทรปราการ มีทหารสั่งให้เข้ารหัสโทรศัพท์มือถือเพื่อตรวจสอบเรื่องผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ฐนกรเปิดโทรศัพท์ให้ทหารคนดังกล่าวดูและรับว่าเป็นคนโพสต์เอง โดยคัดลอกมาจากในเฟซบุ๊ก

ขณะเกิดเหตุมีข่าวการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการกก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ทหารเป็นผู้จัดสร้าง ที่จำเลยโพสต์เพื่อให้มีการตรวจสอบว่า โครงการดำเนินการโดยถูกต้องหรือไม่ ไม่มีเจตนาให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องหรือทำผิดกฎหมาย

หลังจากนั้นฐนกรถูกทหารพาตัวไปค่ายทหารบริเวณ ถ.ร่มเกล้า โดยทหารไม่ให้พบทนายความหรือครอบครัว   4 วันแรกถูกกักขังอย่างเดียว ไม่ได้ถูกกระทำรุนแรง วันที่ 5 ถูกพาตัวไปที่ มทบ.11 เพื่อซักถามเกี่ยวกับแผนผังอุทยานราชภักดิ์ ทหารถามว่า เป็นคนทำแผนผังใช่หรือไม่ ฐนกรตอบว่า ก็อปปี้มาอีกที

ขณะอยู่ที่ มทบ.11 คืนแรก ฐนกรเบิกความต่อศาลว่า ทหารนำขวดแก้วใส่น้ำเกลือแร่ทุบที่ท้ายทอยของเขา ขวดไม่แตกแต่รู้สึกเจ็บ และในค่ายทหารไม่มีโอกาสติดต่อญาติหรือทนายความ ขณะนั้นรู้สึกเป็นห่วงคนในครอบครัว หลังครบระยะเวลาควบคุมตัว 7 วัน ถูกนำตัวส่งกองบังคับการปราบปราม ในชั้นสอบสวนไม่ได้รับสิทธิในการพบญาติ แต่ตำรวจตั้งทนายความมาร่วมฟังการสอบสวนให้ ในชั้นสอบสวนให้การไปด้วยความไม่เต็มใจ เพราะกลัวถูกนำกลับไปคุมขังที่ค่ายทหาร

ขณะอยู่ที่ มทบ.11 มีคนนำภาพเพจ “ยืนหยัดปรัชญา” มาให้ดู พยานยืนยันว่า กดไลค์เพจนี้ เพื่อติดตามข่าวสารในเพจ แต่ไม่ได้ถูกใจภาพปก โดยกดไลค์เพจเดือน ก.ย. 2558 ขณะนั้นภาพปกไม่ใช่ภาพที่ทหารนำมาให้ดู ภาพปกถูกโพสเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2558 ส่วนรูปประจำตัวของเพจเปลี่ยนเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2558 เหตุที่ติดตามเพจนี้ไม่มีเจตนาจะดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ส่วนภาพสุนัข ฐนกรรับว่าเป็นคนโพสต์เองแต่แคปภาพมาจากทวิตเตอร์และนำมาโพสต์บนเฟซบุ๊กพร้อมพิมพ์ข้อความประกอบว่า “อ่านคอมเม้นต์แล้วซาบซึ้งจัง” พยานเลือกคอมเม้นต์ที่สุภาพที่สุดมาใส่ ความจริงมีคอมเม้นต์อื่นที่หยาบคาย พยานไม่ได้นำมาใส่ด้วย พยานไม่มีเจตนาดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน ในขณะที่โพสต์รู้สึกซาบซึ้งจริงๆ

ฐนกรยืนยันว่า ตนเป็นผู้จงรักภักดี และอุปสมบทหลังออกจากเรือนจำในปี 2559 หลังรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตจึงตั้งใจบวชอุทิศให้จนถึงปัจจุบัน

ฐนกรตอบคำถามค้านว่า ในปี 2558 พยานใช้งานทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จำไม่ได้ว่าเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อใด พยานไม่ได้สังเกตว่าในแผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ มีภาพพระมหากษัตริย์ รูป พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร แต่สนใจในเนื้อหาจึงนำมาโพสต์ต่อ ขณะเกิดเหตุพยานติดตามข่าว แต่เนื่องจากเป็นประชาชนจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดว่าเรื่องใดทุจริตจริงหรือไม่

นอกจากนี้ ฐนกรยังตอบคำถามค้านของอัยการว่า ไม่ทราบว่า การกดไลค์เพจจะทำให้เพื่อนบนเฟซบุ๊กเห็น แต่กดไลค์เพื่อติดตามข่าวสารเท่านั้น ตามบันทึกคำให้การชั้นตำรวจแม้จะมีถ้อยคำว่า "ให้การโดยสมัครใจ" แต่ขอยืนยันว่าให้การไปด้วยความกลัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net