ฆ่า? ตรวจ COVID-19 ของแรงงานข้ามชาติ

รายงานสะท้อนปัญหามาตรการตรวจ COVID-19 ของแรงงานข้ามชาติ ผ่านการพูดคุยกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่เชียงใหม่และคนทำงานด้านนี้

  • นโยบายรัฐหลังแรงานข้ามชาติตกเป็นเป้าหมายในการควบคุมโรคระบาด
  • ใครไม่ตรวจ ต่อวีซ่าไม่ได้ ใครไม่ตรวจ ต่อใบอนุญาตทำงานไม่ได้ ใครไม่ตรวจ ขึ้นทะเบียนแรงงานไม่ได้
  • การเก็บค่าตรวจ COVID-19 ที่สูงและก่อนเวลา จะส่งผลอย่างไรต่อชีวิตแรงงานข้ามชาติ
  • ความกังวลของคนทำงานด้านแรงงานข้ามชาติต่อการเก็บค่าตรวจ COVID-19 ที่เกิดขึ้น

หลังการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายใหม่ในการควบคุมโรคของรัฐบาลทันที เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อจำนวนมากมาจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในพื้นที่

นโยบายรัฐหลังแรงานข้ามชาติตกเป็นเป้าหมายในการควบคุมโรคระบาด

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2563 รัฐบาลไทยจึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาตรการผ่อนผันให้แรงงานชาติ 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า ที่หลุดจากระบบการขึ้นทะเบียนหรือเป็นแรงงานใต้ดินที่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมายสามารถกลับขึ้นมาเป็นแรงงานบนดินและอยู่ในประเทศไทยต่อได้อีก 2 ปีจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วยการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติออนไลน์เป็นกรณีพิเศษในช่วง COVID-19[1] เพื่อทำให้ทราบจำนวนแรงงานข้ามชาติที่แท้จริงในประเทศไทย และง่ายต่อการควบคุมการโรคระบาดของรัฐอีกด้วย

แต่มาตรการนี้มาพร้อมกับโจทย์ที่มากขึ้นของแรงงานข้ามชาติ

แรงงานข้ามชาติทุกคนจะต้องถูกตรวจ COVID-19 เนื่องจากมีการกำหนดให้ COVID-19 เป็นหนึ่งในโรคต้องห้ามที่คนต่างด้าวในราชอาณาจักรไทยต้องตรวจเพิ่มจากโรคเรื้อน วัณโรคระยะอันตราย เท้าช้าง ยาเสพติด พิษสุราเรื้อรัง และซิฟิลิสระยะ 3 ตามกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563[2] มีผลให้

  • แรงงานใต้ดินที่กำลังจะผุดขึ้นมาตามมาตรการผันผ่อน
  • แรงงานบนดินที่อยู่ในฤดูกาลต่อบัตร (ใบอนุญาตทำงานและวีซ่า)
  • ผู้ติดตามที่เป็นลูกของแรงงาน

ทุกคนต้องเสียค่าตรวจ COVID-19 จำนวน 3,000 บาท

ใครไม่ตรวจ ต่อวีซ่าไม่ได้

ใครไม่ตรวจ ต่อใบอนุญาตทำงานไม่ได้

ใครไม่ตรวจ ขึ้นทะเบียนแรงงานไม่ได้

เมื่อรวมกับค่าต่อใบอนุญาตทำงาน ค่าตรวจสุขภาพ ค่าประกันสุขภาพ ค่าทำทะเบียนประวัติ และค่าบัตรสีชมพูแล้ว เท่ากับปีนี้ว่าแรงงานข้ามชาติแต่ละคนต้องเสียเงินค่าขึ้นทะเบียนครั้งนี้มากถึง 9,180 บาท และหากมีลูกก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของผู้ติดตามอีก 3,800 – 7,300 บาทขึ้นอยู่กับอายุ เนื่องจากเด็กก็ต้องเสียค่าตรวจ COVID-19 ในราคา 3,000 บาทเท่ากับผู้ใหญ่ การเก็บค่าตรวจ COVID-19 ในอัตราที่สูงเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับแรงงานข้ามชาติในนาทีนี้ แรงงานบางคนตกงานมาตั้งแต่ COVID-19 ระบาดรอบแรก ตอนนี้หลายครอบครัวแทบไม่หลงเหลืองานและรายได้

ข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา Human Rights and Development Foundation (HRDF)

การเก็บค่าตรวจ COVID-19 ที่สูงและก่อนเวลา จะส่งผลอย่างไรต่อชีวิตแรงงานข้ามชาติ

โดยหลักกฎกระทรวงที่กำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศในราชกิจนุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 จะต้องมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 ม.ค. 2564 หรือ 30 วันหลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แต่ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากถูกโรงพยาบาลรัฐและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เรียกตรวจ COVID-19 3,000 บาทแล้ว ทั้งที่ราชกิจจานุเบกษายังไม่มีผลบังคับใช้ แนวปฎิบัติเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติที่ต้องการขึ้นทะเบียนแรงงาน และแรงงานข้ามชาติบนดินที่อยู่อย่างถูกกฎหมายซึ่งต้องต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ หลังรู้ข่าวว่ารัฐบาลจะมีการเรียกเก็บค่าตรวจ COVID-19 3,000 บาท ในวันที่ 25 ม.ค. 2564 แรงงานหลายคนรีบไป ตม. เพื่อขอต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของตนเองก่อนวันที่ 25 ม.ค.นี้ ไม่ใช่เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจ COVID-19 แต่พวกเขาไม่ได้เตรียมเงินเตรียมใจสำหรับค่าต่อบัตรที่เพิ่มขึ้นกะทันหันในปีนี้

หลัง COVID-19 มาคนไทยตกงานไปค่อยประเทศ แล้วแรงงานข้ามชาติจะเป็นใครถึงจะรอดพ้นเงื้อมมือ COVID-19 ไปได้ พวกเขาก็ตกงานเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าแม้จะพยายามไปยื่นเรื่องก่อนวันที่ 25 แต่แรงงานข้ามชาติหลายคนก็ถูก ตม. ไล่ไปตรวจ COVID-19 ใจ (นามสมมติ) แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่เล่าให้เราฟังว่า

“หนูไปหา ตม. ขอต่อวีซ่า ตม. บอกว่าต่อได้ แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์ COVID-19 มาด้วย ไม่ใช้ไม่ได้ หนูไม่มีใบตรวจ COVID-19 หนูก็ต้องกลับมา…นายหน้าบอกว่าไม่ต้องตรวจ เสีย 3,500 เดี๋ยวเราไปต่อให้ หนูยอมที่จะให้เขา 3,500”

เหตุผลที่ใจยอมเสียเงิน 3,500 บาท ให้นายหน้า แต่ไม่เสียค่าตรวจ COVID-19 3,000 บาท ให้ ตม. และโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจาก 3,500 บาทของนายหน้ารวมค่าต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน 1,900 บาทไปแล้ว หากใจทำเรื่องเองเธอจะต้องเสียทั้งค่าต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน 1,900 บาท ค่าตรวจ COVID-19 3,000 บาท และค่าธรรมเนียมอีก 100 บาท รวมเป็นเงิน 5,000 บาท

แล้วคุณว่าในช่วงตกงานกันระเนนระนาดเช่นนี้ แรงงานจะเลือกใครระหว่าง ตม. กับ นายหน้า

ใจพูดอย่างไม่ลังเลว่า “ให้ตรวจ COVID-19 3,000 ตอนนี้นะไปไกลๆ เลย ตอนนี้เราแทบจะวิ่งไปหานายหน้ากันแล้ว” ทั้งที่เธอก็ไม่รู้ว่านายหน้าจะไปเสกใบ COVID-19 จากไหนมาให้เธอ

“หนูไม่รู้หรอกว่าเขาจะเอาใบ COVID-19 มาจากไหนให้หนู หรือว่าจะไม่ต้องใช้ รู้เห็นเป็นใจกัน อันนั้นมันก็เรื่องของเขา เราตรวจสอบเขาไม่ได้อยู่แล้ว…แค่เราเอาพาสปอร์ตไปยื่นให้เขา ไม่รู้ว่าเขาทำงานอย่างไงร่วมกับ ตม. กลับมาหาเราอีกทีก็ตอนวีซ่าเรียบร้อย” ใจ กล่าว

มิน (นามสมมติ) แรงงานหญิงในเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่ายังมีคนชายขอบของชายขอบในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่รู้จะทำอย่างไรกับการต่อวีซ่าและการตรวจ COVID-19 3,000 บาท

“คนนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียงถูกรถชน ไม่มีเงินที่จะไปจ้างนายหน้า เมียเขาก็ไม่ได้ทำงาน มีลูกเล็กอีก 2 คน ยังหาวิธีที่จะไปต่อวีซ่าให้ไม่ได้ เพราะว่าต้องไปเอาใบตรวจ COVID-19 ที่โรงพยาบาล ตัวเขาก็ไม่มีเงิน” แรงงานหญิงในเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงใหม่ กล่าว

ตอนนี้แรงงานข้ามชาติบางคนต้องยอมไปกู้เงินนอกระบบ เพื่อมาจ่ายค่าต่อบัตร “เราเจอครอบครัวหนึ่งมี 4 คน เป็นแรงงานหมด ไปจ้างนายหน้า เสียเกือบ 20,000 บาท เงินก็ไม่มี ต้องไปกู้เงินนอกระบบมา” ส่วนใจที่มีประสบการณ์กู้เงินมาต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงานหลัง COVID-19 มาปีที่แล้ว ถึงกับโอดครวญว่า  “อันเก่าหนูยังไม่ได้ใช้หนี้เขาเลย อันใหม่จะมาอีกแล้ว”

ใจเป็นแม่บ้านในบ้านนายจ้างชาวจีน ช่วง COVID-19 มารอบแรกนายจ้างของเธอกลับจีนก่อน COVID-19 มา และติด COVID-19 เขาไม่ได้กลับมาเมืองไทยอีก ทำให้ขาดการติดต่อกัน จนใบอนุญาตทำงานเธอหมดอายุอัตโนมัติหลังไม่มีนายจ้างติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และในเดือนมีนาคมรัฐบาลประกาศให้คนต่างชาติในประเทศไทยอยู่ต่อได้ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 โดยไม่ต้องไปรายงานตัวทุก 90 วัน เธอจึงไม่ได้ไปทำเรื่องต่อวีซ่าและไม่ไปรายงานตัว สุดท้ายพอไปทำเรื่อง ตม. บอกต้องถูกผลักดันกลับ เนื่องจากบัตรหมดอายุ ตอนนั้นใจรีบวิ่งไปหานายหน้าเลย

เธอกลับพม่าไม่ได้

สามีเธอเป็นคนไทย ลูกเธออยู่ที่นี่ ใจไม่ต่างจากแรงงานข้ามชาติอีกหลายคนที่มีชีวิตอยู่ในเมืองไทย บางคนแต่งงานกับคนไทย บางคนเกิดในไทย พูดได้แต่ภาษาไทยและภาษาไทใหญ่ ฟังพม่าไม่รู้เรื่องพูดไม่ได้ พวกเขาใช้ชีวิตที่พม่าไม่เป็นแล้ว ครอบครัวและชีวิตเขาอยู่ที่นี่

นายหน้าให้ใจไปหาคนมาเป็นนายจ้างใหม่ก่อน

“หนูก็ตายแล้ว นายจ้างเก่าก็ไม่ได้เซ็นออกให้ จะทำไง หนูจำเป็นต้องไปจ้างคนไทยคนอื่นให้มาเป็นนายจ้างหนู ให้เงินเขาไป 1,000 บาท พอหานายหน้าว่ามีคนมาเป็นนายจ้างแล้ว นายหน้าบอก เขาจะคิดค่านายจ้างหนูที่ชื่อมันไม่ตรงกันอีก 2,000 บาท เบ็ดเสร็จเขาคิด 12,000 บาท หนูยอมจ่ายเลย หนูไม่มีบัตรแล้ว กลัวถูกส่งกลับ

เขาเอาวีซ่าเก่าของหนูไป ตม. กลับมาเขาบอกว่า หนูไม่ได้รายงานตัว ถึงวีซ่าหนูหมดอายุแล้วก็ต้องรายงานตัวทุก 90 วัน เขาบอกว่ากรณีแบบนี้เสียค่าปรับที่ ตม. อีก 1,200 บาท ถึงวีซ่าหนูหมดอายุช่วง COVID-19 ก็ต้องรายงานตัวทุก 90 วัน ต่อให้เขาผ่อนผันให้ให้อยู่ต่อ” ใจ กล่าว

หมดไป 13,200 บาท สำหรับสิทธิอยู่อาศัยและทำงานแบบถูกกฎหมายในประเทศไทย 1 ปี และหนี้เต็มจำนวนนี้ก็ยังไม่ได้คืนให้เจ้าหนี้สักบาท การต่อบัตรรอบใหม่มาถึงอีกแล้ว ในช่วง COVID-19 แรงงานหลายคนได้ใช้แต่สิทธิอยู่อาศัย ใบอนุญาตทำงานพวกเขาแทบได้แตะ ในเมื่อไม่มีงานให้ทำ

เจมส์ (Sai Tip Awan) ชาวพม่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เชียงใหม่

เจมส์ (Sai Tip Awan) ชาวพม่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เชียงใหม่ ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างทางนโยบายรัฐและแนวปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อแรงงานข้ามชาติกับคนต่างชาติในเมืองไทยในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา คุณเจมส์จัดอยู่ในกลุ่มคนต่างที่ถือวีซ่า Non-O ซึ่งต่างจากแรงงาน 3 สัญชาติที่ถือวีซ่า Non L-A ในช่วง COVID-19

“ตอนเราเจอสถานการณ์ COVID-19 รัฐบาลประกาศให้คนต่างชาติอยู่ฟรี ไม่ต้องต่อวีซ่า ไม่ต้องรายงานตัว ผมไม่ต้องไปรายงานตัวทุก 90 วัน รัฐบาลประกาศให้ต่างชาติอยู่ได้จนถึง 30 กรกฎาคม 2563 ผมขาดการรายงานตัวทุก 90 วันมา 4 เดือน เลยกำหนดมา 20 วันด้วย พอไป ตม. เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ใครที่เป็นวีซ่าท่องเที่ยว Non-O Non-B วีซ่าหมดอายุในช่วงนั้น ไม่ต้องต่อวีซ่าด้วย มองกลับมาที่แรงงานถ้าคุณขาด คุณก็จะโดนปรับ” เจมส์ กล่าว

การรายงานตัวของเจมส์กับแรงงานก็มีขั้นตอนที่ต่างกัน เขาสามารถขับรถไปเทียบและยื่นพาสปอร์ตให้ ตม. เสร็จภายใน 5 นาทีได้ แต่แรงงานต้องไปรอตั้งแต่เช้า เอาเอกสารบัตรประจำตัวนายจ้าง สำเนา work permi ถ่ายเอกสารไปทุกอย่าง แต่คนต่างชาติใช้แค่พาสปอร์ตเล่มเดียว เหมือนกับเวลาที่แรงงานไปหานายหน้าใช้แค่พาสปอร์ตเล่มเดียวก็จัดการทุกอย่างได้ ไม่ต้องเตรียมเอกสารเป็นปึก ขณะที่การต่อวีซ่ามูลนิธิเตรียมเอกสารให้เขา เขาก็สามารถไปยื่นเองได้ แต่แรงงานบางทีนายจ้างเตรียมเอกสารให้ไปยื่น ตม. เอง ตม. ยังร้องให้จูงมือนายจ้างมาด้วย หรือการตรวจเลือดตรวจสุขภาพของวีซ่า Non-O ที่ไม่บังคับว่าเป็นโรงพยาบาลรัฐเท่านั้นเหมือนกับแรงงาน เขาไปโรงพยาบาลเอกชนเสียเงิน 200 บาท รอ 20 นาทีก็เรียบร้อย ขณะที่แรงงานต้องไปโรงพยาบาลรัฐจ่ายเงิน 500 บาท และใช้เวลาทั้งวัน

“ผมคิดว่านโยบายของรัฐบาลมองว่าแรงงานเหมือนตัวปัญหา ต้องออกระเบียบขึ้นมาบังคับและให้ปฏิบัติตาม พอมาเทียบกับชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยว หรือชาวต่างที่ถือวีซ่า Non-O Non-B แล้ว แรงงานต้องจ่ายมากกว่าคนเหล่านั้นเป็น 2 เท่าตัว 3 เท่าตัว วีซ่า Non-O Non-B ที่เข้ามาทำงานมูลนิธิ มาเป็นล่าม เป็นอาจารย์สอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย เสียค่าวีซ่า 1,900 บาทต่อปี และไม่ได้บังคับว่าต้องปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลรัฐ ทั้งที่เป็นกฎหมายภายใต้กระทรวงแรงงานที่กำหนดโรคเหมือนกัน เป็นกฎหมายในการขอ work permit เหมือนกับในกรณีของคนงาน โรคต้องห้ามก็เป็นโรคที่เหมือนกัน…ขั้นตอนการต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงานทำให้ชีวิตของคนงานยากลำบากขึ้น พวกเขาถึงหันไปพึ่งนายหน้าที่ไม่ต้องพูดอะไรมากมาย ยื่นเอกสารทุกอย่างก็จบ” เจมส์ กล่าว

ความกังวลของคนทำงานด้านแรงงานข้ามชาติต่อการเก็บค่าตรวจ COVID-19 ที่เกิดขึ้น

ค่าตรวจ COVID-19 3,000 บาท และการกำหนดให้ COVID-19 เป็นโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างชาติในประเทศไทย สร้างความกังวลใจให้คนทำงานด้านแรงงานข้ามชาติหลายคน

ปสุตา ชื้นขจร เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

ปสุตา ชื้นขจร เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ระบุว่า “พอ COVID-19 ถูกผลักดันกลายเป็นโรคต้องห้าม และถ้าแรงงานเป็น แล้วเขาจะถูกส่งกลับเพราะขาดคุณสมบัติในการอยู่ต่อหรือเปล่า เพราะดันเป็นโรคต้องห้ามไปแล้ว 1 โรค ถ้าส่งกลับในระหว่างที่ด่านยังไม่เปิดจะให้เขาไปอยู่ที่ไหน แล้วครอบครัวของเขาที่นี่คุณจะทำอย่างไร”

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

ขณะที่ ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ตั้งคำถามต่อตัวเลข 3,000 บาท ของค่าตรวจ COVID-19 ที่แรงงานข้ามชาติต้องจ่าย กระทรวงสาธารณสุขสามารถทำให้ค่าตรวจ COVID-19 ของแรงงานถูกลงมากว่านี้ได้

“ระดับการ COVID-19 ของสาธารณสุขมี 3 ระดับ ระดับแรก คือการตรวจให้รู้ผลว่าเป็นบวก เป็นลบ 1,000 บาท ระดับที่ 2 ตรวจละเอียดขึ้นมาอีกนิด 2,000 บาท และระดับที่ 3 ตรวจละเอียดสุด 3,000 บาท แทนที่จะตรวจให้รู้ผลเป็นบวกเป็นลบก่อน สั่งให้ตรวจเขาแบบ 3,000 บาทละเอียดเลย โรงพยาบาลก็เลยเก็บเงินค่าตรวจคนงานก่อนราชกิจจาเบกษาบังคับ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คุณจะเอาออกไปได้เมื่อไหร่ ถ้าหมด COVID-19 แล้ว แรงงานยังต้องตรวจอยู่ไหม บทบาทของประกันสังคมกับประกันสุขภาพอยู่ไหน ทำไมถึงไม่เอื้อมมือเข้ามาช่วย คุณเก็บเงินเขาไป ทำไมไม่รับผิดชอบในเมื่อคุณดูแลด้านสุขภาพ ถ้ามีโรคอุบัติใหม่ขึ้นมาอีก แรงงานก็มีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มไปเรื่อยๆ”

ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลไทยเคยมีการจัดตั้งกองทุนเงินส่งกลับของแรงงานต่างด้าวที่เก็บเงินแรงงานข้ามชาติคนละ 2,000 บาท ตอนขึ้นทะเบียนอยู่ 1 ปี แต่เมื่อแรงงานจะไปขอรับเงินส่วนนี้คืนเมื่อพวกเขาเดินทางกลับประเทศต้นทาง ตม. ที่ชายแดนกลับไม่ให้โยนให้ไปขอที่จัดหางาน โยนกันไปโยนกันมา สรุปแรงงานไม่ได้เงินส่งกลับของตัวเอง รัฐบาลจึงได้หยุดเก็บและโอนเงินส่วนนี้เข้าไปในกองทุนบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะมีอยู่กว่า 2,000 ล้านบาท หากคิดตามจำนวนแรงงานข้ามในไทยที่มีอยู่เกิน 1,000,000 คนในปีที่จัดเก็บ

เงินจำนวนนี้เป็นเงินของแรงงานข้ามชาติโดยแท้ ไม่ใช่ภาษีของคนไทย และมีมากพอที่จะนำมาบริหารจัดการ เพื่อช่วยเหลือแรงงานในช่วงเวลาที่จำเป็นในตอนนี้ได้ ศุกาญจน์ตาเสนอว่า “เอาเงินกองทุนบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวออกมา ให้แรงงานข้ามชาติตรวจ COVID-19 คนละ 1,000 บาท ปูพรมตรวจไปเลย ให้รู้ผลว่าเป็นบวกเป็นลบก่อน ถ้าอยากระงับการแพร่ระบาดจริงๆ เพราะถ้าเขากลับลงดินอีกเมื่อไหร่ จำนวนแรงงานข้ามชาติลดลงเมื่อนั้น แล้วคุณจะไปโทษใครล่ะ ในเมื่อนโยบายมันขัดต่อความเป็นจริง”

แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่ถูกละเลยความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลไทยนับตั้งแต่ COVID-19 ระบาดรอบแรก และในการระบาดรอบสองนี้นอกจากรัฐบาลจะไม่ช่วยลดค่าต่อวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานให้แล้ว พวกเขายังถูกซ้ำเติมด้วยการเก็บค่าตรวจ COVID-19 ในอัตราที่แพงเกินกว่าที่แรงงานแต่ละคนจะแบกรับไหวในช่วงภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรทบทวนอัตราค่าตรวจ COVID-19 ที่กำลังสร้างปัญหาให้แก่แรงงานอยู่ในขณะนี้ การดำเนินนโยบายที่ขัดแย้งต่อสภาพความเป็นจริงย่อมส่งผลกระทบการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติและยิ่งทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยยากยิ่งขึ้นไปอีก หากผลักคนกลุ่มหนึ่งต้องกลายเป็นคนที่อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ 

เอกสารอ้างอิง : 

 

[1] ราชกิจจานุเบกษา “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 ธันวาคม 2563” แหล่งที่มา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/305/T_0012.PDF

[2] ราชกิจจานุเบกษา “กฎกระทรวง กำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๖๓” แหล่งที่มา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/105/T_0012.PDF

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท