COVID-19 : 21 ม.ค.64 พบป่วยใหม่ 142 ราย - ‘พิธา’ สับรัฐบาลไร้ความสามารถแก้ ‘วิกฤติเศรษฐกิจ’

COVID-19 : 21 ม.ค.64

  • พบป่วยใหม่ 142 ราย
  • อาการผู้ว่าฯสมุทรสาครยังทรง สธ.แนะคนใกล้ 'ดีเจมะตูม' 17-19 ม.ค. สังเกตอาการ
  • ‘พิธา’ สับละเอียด รายงาน พ.ร.ก. เงินกู้โควิด ชี้ เป็น 11 หน้า ที่ยืนยันความไร้ความสามารถของรัฐบาลในการแก้ ‘วิกฤติเศรษฐกิจ’
  • กทม.ประกาศผ่อนปรน 13 สถานที่ กลับมาเปิดให้บริการตั้งแต่พรุ่งนี้

 

21 ม.ค.2564 สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทย วันนี้ (21 ม.ค.64) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 142 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 12,795 ราย รักษาหายเพิ่ม 221 ราย รวมหายป่วยแล้ว 9,842 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,882 ราย เสียชีวิตสะสม 71 ราย 

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 142 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 88 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 37 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 17 ราย

อาการผู้ว่าฯสมุทรสาครยังทรง

สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความคืบหน้าอาการของ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ว่า จาการติดตามอาการในรอบ 24 ชั่วโมง ว่า ภาพรวมอาการดีขึ้นเล็กน้อย กว่าเมื่อวานนี้ เนื่องจากไม่ต้องให้ความดันโลหิตและยากระตุ้นหัวใจ และพบว่าการทำงานของอวัยวะอื่น ทั้งหัวใจ หลอดเลือดต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพียงแต่การติดเชื้อปอดอักเสบยังไม่ดีขึ้น ต้องให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง อาการทางคลินิกถือว่า ยาคุมเชื้อได้ดี ไม่มีการดื้อยาเพิ่ม เพียงแต่ต้องจัดการติดเชื้อให้เร็ว เพื่อไม่ให้เกิดการดื้อยาเพิ่ม และยังต้องให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับ ให้ผู้ว่าฯไม่ต้านเครื่องช่วยหายใจ และเดินเครื่องช่วยหายใจเต็มที่และต้องให้สารอาหารเพิ่มทางเส้นเลือด เนื่องจาก การใส่ท่อช่วยหายใจมีผลกับทางเดินอาหารบางส่วน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มดีขึ้น พบผู้ป่วยต่อเนื่องในระดับหลักสิบรายต่อวัน แต่ข้อดีคือ มีการค้นหาในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเร็วๆ นี้มีโอกาสร่วมกับ กทม. ลงพื้นที่ตรวจค้นหาเชิงรุกที่ชุมชนวัดสิงห์ เขตบางบอน ได้มีโอกาสพบกับเจ้าอาวาสและประชาชน ซึ่งให้ความร่วมมืออย่างดีในการตรวจเชิงรุก ซึ่งหากทุกที่ประชาชนให้ความร่วมมือในการตรวจเชิงรุกเช่นนี้ เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป

สธ.แนะคนใกล้ 'ดีเจมะตูม' 17-19 ม.ค. สังเกตอาการ

ส่วนกรณี “ดีเจมะตูม” เตชินท์ พลอยเพชร ติดเชื้อโควิด-19 นั้น อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า จากการสอบถามทราบว่า จุดที่มีการติดเชื้อ พบว่าไปรับประทานอาหารกับเพื่อนคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา จากนั้นไม่มีอาการอะไรเลย แต่เนื่องจากทราบว่าเพื่อนที่ร่วมรับประทานอาหาร มีประวัติเดินทางไปสถานบันเทิงชื่อดัง จ.เชียงใหม่ และเกิดการติดเชื้อ จึงได้ไปรับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา และหากพิจารณาจากความเสี่ยงระยะฟักตัวของโรค สั้นที่สุดคือ 2 วัน ดังนั้น เมื่อมีการรับเชื้อวันที่ 9 มกราคม ตามหลักการวันที่ 10 มกราคม จะไม่ค่อยเสี่ยง และนับวันที่ 11 มกราคม คือวันที่เริ่มต้น ส่วนวันที่เสี่ยงสูงสุด คือ วันที่ 17-19 มกราคม จะต้องมีการสอบสวนโรคต่อไป ดังนั้น ใครที่อยู่ในไทม์ไลน์มีความสงสัยให้ไปที่โรงพยาบาล รับการปรึกษาและรับการตรวจ แต่โชคดีที่ดีเจมะตูมมีการให้รายละเอียดไทม์ไลน์อย่างดี

 

‘พิธา’ สับละเอียด รายงาน พ.ร.ก. เงินกู้โควิด ชี้ เป็น 11 หน้า ที่ยืนยันความไร้ความสามารถของรัฐบาลในการแก้ ‘วิกฤติเศรษฐกิจ’

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปราย “รายงานผลการใช้งบ พ.ร.ก. เงินกู้โควิด” ที่จัดทำโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง โดยระบุว่า รายงานฉบับนี้มีอยู่สั้นๆ 11 หน้า แต่เป็น 11 หน้าที่ยืนยันถึงความไร้สามารถของรัฐบาลในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

“ในสถานการณ์เช่นนี้สำหรับประชาชนคนทำมาหากินเวลา 1 นาที 1 วินาทีมีค่ามหาศาล การทำงานที่รวดเร็วของรัฐบาลจะช่วยต่อลมหายใจให้ประชาชนยังพอมีแรงสู้ต่อได้ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่า ขณะนี้ประเทศของเรากำลังเจอวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะถ้าดูในเชิงมหภาค ในปีที่ผ่านมา GDP ของเราติดลบ 8% หรือติดลบ 1.3 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลอนุมัติเงินเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจแค่ 5 แสนล้านบาท และในรายงานเล่มนี้บอกว่ามีการเบิกจ่ายจริงแค่เพียง 3 แสนล้านบาท หรือแค่ 37% ของวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก. ดังนั้น การอนุมัติเงินน้อยจึงแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทำงานเชิงรุกเพื่อพยุงเศรษฐกิจ และการเบิกจ่ายล่าช้าก็แสดงให้เห็นถึงการแก้วิกฤติแบบชามเย็นชาม”

พิธา ยกตัวอย่างจาก โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง หรือโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับเงิน 5,000 บาท เป็นเวลาสามเดือน ซึ่งในรายงานระบุว่า ปัญหาและอุปสรรคของโครงการคือ การที่ไม่สามารถโอนเงินให้ผู้มีสิทธิได้ 1 แสนคน โดยสาเหตุที่ยกมาเป็นเรื่องทางเทคนิคทั้งหมด แม้ว่าต่อมาจะได้แก้ปัญหาจนสามารถโอนเงินให้เกือบครบทุกคนแล้ว แต่รัฐบาลก็จงใจเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง 

“ผมเคยอภิปรายในสภาแห่งนี้ว่า ผมได้เจอแม่ค้าสองคนอาชีพเดียวกันนั่งขายของแผงข้างๆ กัน คนหนึ่งได้สิทธิอีกคนหนึ่งไม่ได้ ท่านจำได้ไหมว่ามีคนไปกินยาฆ่าตัวตายหน้ากระทรวงการคลัง ท่านจำได้ไหมว่ามีคนฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน นี่คือปัญหาแต่รายงานฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงว่ามันเกิดจากอะไร ถึงตอนนี้ รัฐบาลก็ยังทำผิดซ้ำซาก ทั้งที่มีเวลาเตรียมตัวหลายเดือน อย่างโครงการล่าสุด “เราชนะ” ที่จะแจกเงินที่ให้ประชาชน 3,500 บาท จำนวน 31 ล้านคน เป็นเวลา 2 เดือน ก็ยังคงใช้วิธีเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน ทั้งที่รัฐบาลสามารถโอนเงินให้ประชาชนได้โดยตรง เพราะเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลก็เพิ่งโอนเงินให้ประชาชนมากกว่า 25 ล้านคนในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” และรัฐบาลเองก็มีข้อมูลประชาชนจากบัตรคนจน และจาก App “เป๋าตังค์” อีกกว่า 14 ล้านคน แต่ดูเหมือนรัฐบาลก็ไม่เคยเรียนรู้จากความผิดพลาด ยังทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี บังคับให้ประชาชนใช้เงินผ่าน App เป๋าตังค์เท่านั้น ไม่ยอมให้เบิกเป็นเงินสด เพราะกลัวว่า ประชาชนจะไปใช้จ่ายสิ่งฟุ่มเฟือย”

พิธา ยังแนะนำว่า รัฐบาลต้องลงมาจากหอคอยงาช้างเพื่อมาฟังเสียงของพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น ต้องรู้ว่ามีประชาชนหลายคนที่เขาไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ มีประชาชนหลายคนที่เขาไม่มีเงินเติมอินเทอร์เน็ต ถ้าเป็นเช่นนี้รัฐบาลกำลังทอดทิ้งประชาชนกลุ่มนี้อยู่ เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดโศกนาฏกรรมอีกครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากน้ำมือของรัฐ
สำหรับข้อเสนอ พิธา ระบุว่า ยังคงมีประชาชนกำลังเดือดร้อนแสนสาหัส ขณะที่เรายังเหลือเงินกู้อีกประมาณ 6 แสนล้านบาท ถ้ารัฐบาลยังคิดไม่ออกว่าจะใช้ใช้อย่างไร ตนมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ

  • หนึ่ง  เงิน 3,500 บาท ที่รัฐบาลจะให้เกือบถ้วนหน้าอยู่แล้ว ให้มีมาตรการ On-top ลงไปตามระดับความรุนแรงของคำสั่งพื้นที่ควบคุม โซนสีแดงเข้มให้เพิ่มเงินเข้าไปอีก 1,500 บาท โซนสีแดงให้เพิ่มเงินเข้าไปอีก 1,000 บาท โซนสีส้มให้เพิ่มเงินเข้าไปอีก 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ทั้งหมดนี้จะใช้งบประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
  • สอง สำหรับแรงงานที่อยู่ในประกันสังคม ให้รัฐบาลเข้ามาช่วยพยุงการจ้างงาน 75% ของรายได้ อยู่ที่ 7,500 บาท ในกรณีที่นายจ้างยอดขายตกมากกว่า 30% ในช่วงที่มีการควบคุมพื้นที่ แม้จะไม่มีคำสั่งปิดธุรกิจนั้นก็ตาม มาตรการนี้ถ้าทำใน 5 จังหวัดแดงเข้ม และกรุงเทพฯ 2 เดือน จะใช้เงินไม่เกิน 2-3 หมื่นล้านบาท
  • สาม เพิ่มเงินประกันสังคมของธุรกิจที่ถูกสั่งปิดจาก 50% เป็น 75% ให้เท่ากับในมาตรา 75 ของการจ่ายเงินให้ลูกจ้างที่ธุรกิจปิดชั่วคราว 

“ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมาชี้แจงกับสภาแห่งนี้บ่อยครั้งว่า การคลังของรัฐบาลยังเข้มแข็ง ผมก็อยากจะเชื่อท่านเช่นนั้น แต่รัฐบาลต้องกล้าใช้เงิน ใช้อย่างตรงจุด ช่วยประชาชนในเชิงรุก ประเทศของเราจึงจะรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ต้องเลิกคิดนโยบายบนหอคอยงาช้าง เลิกมองความเดือดร้อนของประชาชนว่าเป็นปัญหาส่วนบุคคล และต้องสะกดคำว่าทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนให้เป็น และหันมาดูว่าชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาของพี่น้องประชาชนจริงๆเกิดจากอะไร และจะเยียวยาและแก้ไขความเดือดร้อนเขาได้อย่างไร” พิธา กล่าว

กทม.ประกาศผ่อนปรน 13 สถานที่ กลับมาเปิดให้บริการตั้งแต่พรุ่งนี้

ข่าวสดออนไลน์และสื่ออื่นๆ รายงานตรงกันว่า ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ถึงมาตรการผ่อนปรนมาตรการ หลังการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ว่า วันนี้คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ได้พิจารณาผ่อนปรน 13 สถานที่ให้กลับมาเปิดได้ เริ่มเปิดได้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.เป็นต้นไป 

ประกอบด้วย 1.ตู้เกม แต่ต้องทำความสะอาดและสวมหน้ากาก 2.ร้านเกม ต้องทำความสะอาดและสวมหน้ากาก 3.สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ แต่ต้องมีมาตรการป้องกัน 4.สนามแข่งขัน ยกเว้นสนามมวยและสนามม้า 5.ห้องจัดเลี้ยง แต่ต้องมีมาตรการป้องกัน ถ้ามีผู้ร่วมงานมากกว่า 300 คนต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ 6. สนามพระเครื่อง สามารถเปิดได้ แต่ต้องไม่แออัด 7.สถานเสริมความงาม และสถานที่เจาะและสักผิวหนัง 8.ฟิตเนส และสถานที่ออกกำลังกาย ยกเว้นอบตัว 9.สปาและนวดแผนไทย แต่ต้องใส่หน้ากาก ไม่รวมอาบอบนวด 10.โรงยิม ค่ายมวย แต่ต้องไม่มีคู่ชกและแข่งขัน 11.สนามโบว์ลิ่งและสเก็ต แต่ห้ามแข่งขัน 12.สถาบันสอนลีลาศ แต่ห้ามแข่งขัน และ 13.โรงเรียนสอนการต่อสู้ แต่ห้ามแข่งขัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท