กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเรียกร้องตรวจสอบทรัพย์สินพื้นที่ บ.ทุ่งคำ ตีตราและยึดขายทอดตลาดเพิ่มเติม

นักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลยพร้อมทนายเดินทางเข้าประชุมร่วมกับกรมบังคับคดีและ คกก.เจ้าหนี้ พร้อมเรียกร้องให้ จนท.เข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินภายในบริเวณพื้นที่ของบริษัททุ่งคำและให้ทำการตีตราและยึดขายทอดตลาดเพิ่มเติม หลังพบกองสินแร่จำนวนมากยังไม่ถูกตีตราและนำยึด ชี้เป็นเหตุให้นายทุนเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพื่อซื้อสินทรัพย์นอกบัญชีแบบผิดกฎหมายจนเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง ขณะที่ทนายความย้ำ รัฐสามารถเดินหน้าฟื้นฟูควบคู่ไปกับขั้นตอนการขายทอดตลาดทรัพย์ได้

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2564 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการเจ้าหนี้ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด พร้อมด้วยทนายความ  เดินทางไปที่กรมบังคับคดีเพื่อเข้าร่วมประชุมกรรมการเจ้าหนี้ ครั้งที่ 3 เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินการยึดกองสินแร่และกองทรัพย์สินอื่น ภายในบริเวณพื้นที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และให้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินภายในบริเวณพื้นที่ของบริษัทว่ายังมีทรัพย์รายการใดที่ควรจะต้องดำเนินการยึดหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา ที่คาดว่าเกิดจากการที่หลายกลุ่มต้องการมาซื้อสินทรัพย์นอกบัญชีที่อยู่ในบริเวณเหมืองทองคำ

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยังขอให้มีการพิจารณาขอเพิ่มจำนวนผู้ดูแลรักษาทรัพย์ที่ยึด ตั้งแต่วันที่ยึดจนถึงวันที่ขาย จากเดิมที่จ้างคนมาเฝ้าระวังสินทรัพย์ในเหมืองทั้งกลางวันและกลางคืนจำนวน 4 คน ขอให้เพิ่มคนเฝ้าระวังอีกจำนวน 4 คน รวมทั้งหมดเป็นจำนวน 8 คน

นอกจากนี้ ในการประชุม ยังมีวาระให้คณะกรรมการเจ้าหนี้พิจารณาวิธีการขายเครื่องจักร อาคารโรงงาน และทรัพย์สินต่างๆ ว่าควรขายรวมไปพร้อมกับให้ผู้ซื้อดำเนินการกำจัดบำบัดของเสีย หรือแยกออกจากกัน  โดยการประชุมวันนี้นอกจากตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดแล้ว ยังมีตัวแทนจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ธนาคารดอยซ์แบงก์ จากบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน)  และยังมีตัวแทนจากบริษัททุ่งคำจำกัด ในฐานะลูกหนี้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

นายทิตศาสตร์  สุดแสน ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่าในประเด็นของการนำยึดกองสินแร่และกองทรัพย์สินอื่นภายในบริเวณพื้นที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และให้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินภายในบริเวณพื้นที่ของบริษัทว่ายังมีทรัพย์รายการใดที่ควรจะต้องดำเนินการยึดหรือไม่นั้นที่ประชุมได้มีมติจะนำยึดและทำการตรวจสอบทรัพย์สินในบริษัทเพิ่มเติม โดยหน่วยงานที่จะเป็นผู้ประเมินคือ กพร.ซึ่งจะมีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ เป็นผู้นำชี้ว่ามีกองสินแร่ตรงไหนที่จะต้องนำยึดบ้าง และเจ้าหน้าที่จาก กพร.จะชักตัวอย่างแร่เพื่อนำไปตรวจสอบว่าคือแร่อะไรและมีมูลค่าเท่าไหร่เพื่อที่จะนำมาขายอีกครั้ง วาระการประชุมได้มีการถามในที่ประชุมว่าการซื้อทรัพย์สินที่เหลือในส่วนของโรงงานอาคารต่างๆเราจะมีวิธีการบำบัดสารพิษต่างๆอย่างไร เพราะมันเป็นทรัพย์สินที่มีสารพิษตกค้างอยู่ด้วย ดังนั้นไม่ใช่ว่าผู้ซื้อมาซื้อแล้วจบไปเพราะจะเป็นการทิ้งภาระไว้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งได้มีการพูดคุยกันว่าจะให้ผู้ซื้อมีหน้าที่ในการบำบัดสารพิษสารตกค้างต่างๆเลย หรือจะแยกให้ผู้ซื้อวางเงินแล้วไปจ้างผู้อื่นมาบำบัดซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรเป็นภาระของผู้ซื้อที่ต้องบำบัดสารพิษสารตกค้างและคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้กลับมาด้วย ซึ่งวิธีการขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการพูดคุยกันรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องของการวางเงินประกันในเรื่องของการบำบัดด้วย  

นายทิตศาสตร์กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทำให้ชาวบ้านต้องการเพิ่มเวรยามในการเฝ้าระวังทรัพย์สินจาก 4 คนเป็น 8 คน ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่มีความน่ากังวลหลายส่วน จึงทำให้การแบ่งเวรยามการเฝ้าระวัง 4 คนต่อวัน ไม่เพียงพอต่อการเฝ้าระวังทรัพย์สินและเฝ้าระวังกับสถานการณ์ในพื้นที่  ซึ่งในกรณีนี้ที่ประชุมไม่เห็นด้วยทำให้ชาวบ้านได้แพ้โหวตในประเด็นนี้ไป โดยที่ประชุมเห็นว่าชาวบ้านรักษาเพียงประตูทางเข้าก็น่าจะเพียงพอแล้ว ทั้งนี้สร้างความแปลกใจกับนักปกป้องสิทธิฯ เพราะการไม่มีคนเพิ่มยิ่งทำให้นักปกป้องสิทธิฯ ไม่ปลอดภัยและการคัดค้านการเพิ่มมากจากหน่วยงานรัฐด้วย   สำหรับการพูดคุยเรื่องจำนวนเงินที่ได้มาจากกองเจ้าหนี้นั้นจะต้องนำไปจ่ายให้กับใครก่อน ตามกฎหมายแล้วเงินที่ได้มาจากกองเจ้าหนี้จะต้องให้กับเจ้าหนี้แรงงานก่อน  มีค่าใช้จ่ายอื่นๆและหลังจากนั้นจะนำเงินที่เหลือมาแบ่งเปอร์เซ็นต์ตามสัดส่วนของการเป็นหนี้ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่ก็จะได้รับการชำระหนี้ที่มากกว่าตามลำดับ   ยังมีแร่บางส่วนที่เจ้าหนี้ได้นำยึดไว้เพื่อไปขายทอดตลาดต่อไป ทั้งนี้มุมของชาวบ้านจะกังวลในส่วนของเรื่องความปลอดภัยและเรื่องของการฟื้นฟู ซึ่งกระบวนการพวกนี้ส่วนหนึ่งจะต้องใช้เวลา แต่เราอยากให้มันดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายซึ่งหมายความว่าเรื่องสินแร่ต่างๆที่ยังไม่ถูกนำยึดมันก็จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการให้ถูกต้องเพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะมีคนติดต่อมาขอซื้อจากข้างนอกไม่ผ่านกระบวนการขายทอดตลาดก็จะยิ่งทำให้ชาวบ้านมีความเสี่ยงมากขึ้น

สำหรับกระบวนการในการฟื้นฟูนั้นทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนนี้กพร.สามารถดำเนินการฟื้นฟูควบคู่ไปกับการบังคับคดีได้ เพราะที่จริงแล้วเรื่องการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมแบ่งออกเป็น 2 ทาง คือการบังคับคดีในคดีสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านฟ้องบริษัทฐานละเมิดและซึ่งศาลได้สั่งให้บริษัทต้องทำการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องบังคับตามคำพิพากษา และอีกทางคือหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องทำตามกฎหมายอย่างเช่น กพร.ก็จะต้องทำการฟื้นฟูบริเวณในเหมืองและนอกเหมืองตามท้ายประทานบัตร ทางสปก.ก็มีกฎหมายบังคับไว้อย่างชัดเจนว่าหลังจากที่นำพื้นที่คืนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่แล้วจะต้องมีการพื้นฟูอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้กพร.ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาร่างแผนการฟื้นฟูแล้ว ทั้งนี้ ทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้จัดทำแผนการฟื้นฟูฉบับภาคประชาชนที่เน้นเรื่องการฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และผลักดันให้มีการนำแผนดังกล่าวเป็นแผนปฏิบัติการหลักในการฟื้นฟู

ขณะที่นางพรทิพย์ หงชัย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วยกล่าวว่า ที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัยก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับรัฐ แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์และต้องดูแลช่วยเหลือชาวบ้านกลับไม่กระตือรือร้นในการดูแลช่วยเหลือชาวบ้านเลย ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการในวันนี้คือต้องการให้เจ้าหน้าที่รีบในการเข้าไปตีตราทรัพย์สินเพิ่ม เพื่อให้ทรัพย์สินนอกบัญชีได้เข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดที่ถูกกฎหมาย ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากนายทุนที่จะเข้ามาติดต่อขอซื้อสินทรัพย์นอกกฎหมายอีก และอยากให้กระบวนการฟื้นฟูเกิดขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านอย่างแท้จริงโดยไวที่สุดด้วย  

สำหรับบรรยากาศในการประชุม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ลูกหนี้ซึ่งคือบริษัททุ่งคำเข้ามาร่วมประชุมด้วย หลังจากที่ทนายความและกลุ่มรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ่านแถลงต่อที่ประชุมกรณีที่มีชายฉกรรจ์ 5-6 คน อ้างตัวว่ามาจากบริษัททุ่งคำขอเข้าไปข้างในเหมือง ซึ่งตัวแทนจากบริษัททุ่งคำได้ปฏิเสธในที่ประชุมทันทีว่าไม่ใช่คนของบริษัท

และเมื่อถึงประเด็นการหารือกรณีที่จะให้เจ้าหน้าที่มีการพิสูจน์สินแร่และขอให้มีการตีตราเพิ่ม ทางบริษัททุ่งคำก็ได้มีความเห็นในที่ประชุมว่า กองหินต่างๆนั้นเป็นหินที่ระเบิดมาธรรมดา ถ้าจะสกัดแร่ก็จะยุ่งยากเช่นกองสินแร่หน้าโรงงานก็ต้องเอาไปเข้าโรงโม่บดอัดและสกัดเป็นแร่ยากมาก  

ทั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างหนัก จนเมื่อปี พ.ศ. 2561 ศาลจังหวัดเลยได้ตัดสินให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต้องชดเชยค่าเสียหายให้กับสมาชิกชุมชนทั้งหมด 149 ครัวเรือน เป็นเงิน 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 และให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจนกว่าจะกลับสู่สภาพเดิมตามมาตรฐานทางราชการ และในการจัดทำแผนฟื้นฟูให้โจทก์เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัททุ่งคำถูกศาลสั่งให้ล้มละลาย กรมบังคับคดีจึงต้องยึดทรัพย์สินของบริษัทเพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของบริษัททั้งหมด โดยทางคณะกรรมการเจ้าหนี้ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้มอบหมายให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ เป็นผู้ดูแลรักษาทรัพย์ในบริเวณเหมืองทองคำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท