Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เปิดอ่านหนังสือ “ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ” ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต, ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์”) หน้า 49 เขียนว่า

“...การที่ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จึงเท่ากับเป็นการยกหลักการแห่งเสรีภาพในการนับถือศาสนาขึ้นมาสถาปนาไว้ ซึ่งเป็นฐานที่ค้ำจุนช่วยให้ไม่มีการเบียดเบียนกันทางศาสนา...”

ในหน้า 64 ยังเน้นอีกว่า “พระพุทธศาสนานั้นเรียกได้ว่าเป็นศาสนาแห่งอิสรภาพ จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาเรียกชื่ออย่างหนึ่งว่า ‘วิมุตติ’ แปลว่าความหลุดพ้น ความปลอดพ้นจากสิ่งผูกรัดบีบคั้นครอบงำจำกัดขัดข้อง ไม่ต้องขึ้นต่ออะไรหรือต่อใครๆ...” 

คำถามคือ พุทธศาสนาจะเป็นศาสนาประจำชาติพร้อมๆ กับเป็นศาสนาแห่งอิสรภาพที่ปลอดพ้นจากสิ่งผูกรัดบีบคั้นครอบงำจำกัดขัดข้องในเวลาเดียวกันได้อย่างไร เพราะการเป็นศาสนาประจำชาติที่มี “ศาสนจักรของรัฐ” (มหาเถรสมาคม) ที่ขึ้นต่อ “พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี” อันเป็นรูปแบบศาสนจักรที่ตกทอดมาจากยุคก่อนสมัยใหม่ ภายใต้ระบบอำนาจศาสนจักรเช่นนี้ แม้แต่นักบวชเองก็ไม่มีเสรีภาพทางศาสนาได้จริง

เวลาเราพูดถึง “เสรีภาพทางศาสนา” (freedom of religion) ในสังคมสมัยใหม่ ย่อมหมายถึงเสรีภาพในการเลือกนับถือหรือไม่นับถือศาสนา เสรีภาพในการเปลี่ยนศาสนา รวมถึงเสรีภาพในการศึกษาตีความคำสอนศาสนา เสรีภาพที่กลุ่มองค์กรศาสนาต่างๆ จะปกครองกันเอง หรือจัดองค์กรศาสนาตามหลักความเชื่อทางศาสนานั้นๆ โดยไม่ถูกแทรกแซงขัดขวางจากอำนาจรัฐ ตราบที่ไม่มีการละเมิดสิทธิพลเมือง แต่ภายใต้ระบบศาสนจักรของรัฐ นักพุทธพุทธกลับไม่มีเสรีภาพทางศาสนาในความหมายนี้เลย

ทั้งนี้เพราะศาสนจักรขึ้นต่อพระราชอำนาจ กษัตริย์คือผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการแต่งตั้งประมุขสงฆ์ และผู้บริหารระดับสูงของคณะสงฆ์ มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนสมณศักดิ์ เป็นต้น ทำให้นักบวชพุทธไม่มีเสรีภาพทางศาสนาในความหมายของการมีอิสรภาพจัดองค์กรปกครองกันเองตามธรรมวินัยเพื่อเดินตาม “ครรลองของศาสนาแห่งอิสรภาพ” ที่ไม่ขึ้นต่ออำนาจบงการใดๆ นอกเหนือจากฉันทานุมัติของสังฆะได้จริง 

นอกจากนี้ นักบวชพุทธยังไม่มีเสรีภาพทางศาสนาในความหมายของ “การมีอิสรภาพในการตีความพุทธธรรม” อย่างมีนัยสำคัญด้วย เช่น นักบวชพุทธไม่มีเสรีภาพตีความพุทธธรรมสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน เพราะขัดคำสั่งของศาสนจักร และศาสนจักรยังออกคำสั่งให้พระสงฆ์ทั่วประเทศสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ด้วย

ถ้านักบวชมีเสรีภาพตีความพุทธธรรมจริง “เสรีภาพ” ย่อมหมายถึง “เลือกได้” นักบวชก็ต้องมีเสรีภาพเลือกตีความพุทธธรรมสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือตีความและรวมทั้งเคลื่อนไหวในนามพุทธธรรมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประรชาธิปไตยของประชาชนได้ด้วย 

ยิ่งกว่านั้น หากนักบวชมีเสรีภาพตีความพุทธธรรมจริง พระสงฆ์ต้องมีเสรีภาพตีความพุทธธรรมสรรเสริญกษัตริย์ได้ และอ้างอิงหลักพุทธธรรมวิพากษ์วิจารณ์การปกครองโดยธรรมของกษัตริย์ได้ด้วย แต่นักบวชพุทธไทยหาได้มีเสรีภาพในเรื่องพื้นฐานสำคัญมากเช่นนี้แต่อย่างใด

ดังนั้น การกล่าวว่า หากพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติจะเป็นการสถาปนาหลักการเสรีภาพทางศาสนาให้มั่นคงจึงไม่จริง ด้วยข้อโต้แย้งที่มีหลักฐานชัดแจ้งดังที่ว่ามา 

ที่น่าเศร้าคือ นอกจากนักบวชจะไม่ตระหนักว่าตนเองไม่เคยมีเสรีภาพทางศาสนาอย่างแท้จริงแล้ว ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ก็ไม่เคยตระหนักว่า การบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาชาติคือการละเมิดเสรีภาพทางศาสนา เพราะการมีเสรีภาพทางศาสนานั้นย่อมหมายความหว่า ปัจเจกบุคคลจะต้องไม่ถูกบังคับยัดเยียดให้เรียนเพื่อปลูกฝังศีลธรรมของศาสนาใดๆ 

ที่ย้อนแย้งอีกอย่างคือ เมื่อมีผู้เสนอว่า “นักบวชควรจ่ายภาษี” บรรดานักบวชและชาวพุทธบางส่วนกลับต่อต้าน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็แทบไม่นึกถึงความจริงว่าตนเองได้จ่าย “ภาษีศาสนา” สนับสนุนกิจการของพวกนักบวชให้กรมการศาสนาและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดยเฉพาะงบประมาณของ พศ.ปีหนึ่งๆ ก็ใกล้เชียงกับงบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรมเลยทีเดียว ขณะที่มีเงินทำบุญบริจาคหมุนเวียนในวัดต่างๆ ทั่วประเทศเฉลี่ยปีละ 1-2 แสนล้านบาท

ประชาชนจ่ายภาษีศาสนาสนับสนุนนักบวชผู้ไม่เสียภาษีไปทำไม จ่ายสนับสนุนศาสนจักรที่เป็นกลไกสนับสนุนอุดการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเป็นศาสนจักรที่มีอำนาจขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาในการปกครองตนเองตามธรรมวินัย และขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาในการตีความพุทธธรรมของนักบวชที่มียศศักดิ์ฐานนันดรเช่นนั้นหรือ 

ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย คือผู้จ่ายภาษีให้นักบวชที่ถูกศาสนจักรห้ามตีความพุทธธรรมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อให้ประเทศนี้มีเสรีภาพและประชาธิปไตย ช่างเป็นอะไรที่ “ย้อนแย้ง” ยิ่งนัก ศาสนาแห่งอิสรภาพ คือศาสนาประจำชาติที่มีศาสนจักรของรัฐมีอำนาจละเมิดเสรีภาพทางศาสนาของนักบวช และเป็นที่มาของการละเมิดเสรีภาพทางศาสนาของประชาชน ช่างย้อนแย้งและซับซ้อนเหลือประมาณ! 
 

 

ที่มาภาพ: https://pantip.com/topic/40311999

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net