'ไผ่ ดาวดิน' 'แอมมี่' รับทราบข้อกล่าวหาผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 'ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร'

'ไผ่ ดาวดิน' 'แอมมี่' รับทราบข้อกล่าวหาผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 'ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร' เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 63 ที่ห้าแยกลาดพร้าว 'ไผ่' ระบุจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยสถิติตั้งแต่ชุมนุมมีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 84 ราย ใน 55 คดี ที่โดนคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ


แฟ้มภาพ

3 ก.พ. 2564 วันนี้ สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ที่ สน.พหลโยธิน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ 'ไผ่ ดาวดิน' และไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอตทอมบูลส์ เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมปราศรัย “ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร” เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 ที่ห้าแยกลาดพร้าว โดยบรรยากาศที่ สน.พหลโยธิน มีการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน บก.น.2 มาวางกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยหน้าโรงพัก พร้อมประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจคัดกรองโรค

จตุภัทร์ กล่าวว่า ได้รับหมายเรียกจากตำรวจจากการจัดกิจกรรมชุมนุมซ้อมต้านรัฐประหาร ซึ่งจะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายในกรอบเวลาที่กำหนดอีกครั้งเพราะคดีนี้เป็นคดียุทธศาสตร์ จึงต้องต่อสู้ด้วยยุทธศาสตร์ ด้วยหลักคิดหลักกฎหมายต่างๆ ตอนนี้ตนมีคดีความเยอะมากจนไม่ทราบว่าคดีไหนเป็นคดีไหน แต่ก็ไม่มีความกังวล ในเมื่อเราโดนคดีเป็นกลุ่มก็สู้กันเป็นกลุ่ม

ไผ่ ดาวดิน กล่าวอีกว่า มองว่าการเคลื่อนไหวของราษฎรไม่ควรมาพบกับการใช้กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกในสิ่งที่เราพูดถึงปัญหาที่อยู่ใต้พรมมาตลอด ซึ่งคือเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ

ด้าน ไชยอมร กล่าวว่า ตนยังได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาจาก สน.ชนะสงคราม กรณีการชุมนุมที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ซึ่งได้ประสานเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาพบที่ สน.พหลโยธิน เนื่องจากเกรงว่าจะเดินทางไปไม่ทัน

สำหรับสถิติคดีในภาพรวม จากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 64 รวมเวลา 6 เดือนเศษ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 291 คน ในจำนวน 183 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 9 ราย

หากพิจารณาสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 55 ราย ในจำนวน 42 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 64 ราย ในจำนวน 20 คดี

3. ข้อหา “ประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 มีผู้ถูกกล่าวหา 5 ราย ใน 1 คดี

4. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 99 ราย ใน 14 คดี

5. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 222 ราย ในจำนวน 86 คดี แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 63 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 84 ราย ในจำนวน 55 คดี

 

++ คดีชุมนุม/แสดงออกทางการเมืองพุ่งไปกว่า 183 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 291 คน ++ . ในเดือนมกราคม 2564 สถานการณ์การใช้...

โพสต์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021

 

อ้างอิง: ไทยรัฐ, วอยซ์ทีวี, มติชน, ไทยพีบีเอส 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท