Skip to main content
sharethis
  • เวทีเสวนามีการยกปัญหาเรื่องพื้นที่ห้ามชุมนุมตามกฎหมายที่เป็นปัญหาอย่างมาก และการกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุมบางพื้นที่ก็ไม่เป็นไปตามหลักสากลที่ต้องทำให้การสื่อสารของการชุมนุมใดๆ ก็ตามได้ส่งสารถึงผู้มีอำนาจหรือสังคม
  • 5 ปี 7 เดือน ที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกประกาศใช้ออกมา ส่วนใหญ่ถูกใช้ควบคู่กับกฎหมายพิเศษอย่างเช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. กฎอัยการศึก หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตลอด จึงถูกตั้งคำถามว่าที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าไม่มีเครื่องมือในการจัดการชุมนุมนั้นเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งช่วงเวลาที่มีการใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จริงๆ ก็มีเพียง 9 เดือนเท่านั้น นอกจากนั้นยังเกิดกรณีการคุกคามติดตามถึงตัวผู้ชุมนุมทั้งก่อนและหลังการชุมนุมที่ไม่ใช่เพียงแต่การดำเนินคดีอีกด้วย
  • ประเด็นการใช้กำลังสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ถูกชี้ว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งไม่มีการแจ้งเตือนอย่างทั่วถึง และการเริ่มปฏิบัติการก็มักจะเริ่มปฏิบัติการทันทีเมื่อแจ้งเตือนเสร็จสิ้น อีกทั้งระดับการใช้ความรุนแรงของตำรวจก็เกินกว่ามาตรการในคู่มือของตำรวจเองและมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการยิงกระสุนยางที่ยิงในระดับบนของร่างกายและไม่เลือกเป้าหมาย การใช้กำลังซ้ำเติมผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปแล้ว เป็นต้น
  • นอกจากนั้นยังมีการสะท้อนปัญหาความซ้ำซ้อนของกฎหมายและขั้นตอนในการจัดแจ้งชุมนุมที่สร้างภาระให้แก่ผู้จัด เช่น การแยกขั้นตอนการแจ้งจัดชุมนุมออกจากการแจ้งขอใช้เครื่องขยายเสียง หรือแม้กระทั่งการแจ้งจัดที่กฎหมายระบุให้แจ้งผ่านช่องทางการส่งอีเมลก็มักไม่ถึงมือตำรวจที่มีหน้าที่รับแจ้ง

24 มี.ค.2564 ที่โรงแรมไอบิส สไตล์ รัชดาภิเษก ในเวที “บทเรียนและสภาพปัญหาจากพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และบทบาทของฝ่ายตุลาการในการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม" ที่จัดโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการเสวนาแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้การใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะที่ออกมาเมื่อปี 2558 และสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมภายใต้การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่รัฐบาลประยุทธ์ใช้เป็นฐานอำนาจทางกฎหมายในการจัดการชุมนุมตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่มีนาคม 2563 เป็นต้นมา

สมชาย นิติ มช. ชี้ปัญหาพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และองค์กรตุลาการต้องมีบทบาทตรวจสอบ ตร.และกฎหมาย

รัฐเลือกใช้กฎหมายขัดขวางแค่คนกลุ่มเดียว

ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด นักกิจกรรมจากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) กล่าวถึงบทบาทของรัฐไทยที่ควรจะมีต่อเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ เธอเริ่มจากการชี้ให้เห็นถึงหลักสากลที่รัฐมีหน้าที่ 3 ประการคือการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ เคารพสิทธิของประชาชนโดยรัฐต้องไม่เป็นผู้ละเมิดสิทธิการชุมนุมเสียเอง และรัฐต้องคุ้มครองและประกันสิทธิของผู้ชุมนุม เช่น การป้องกันการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม

ชลธิชา แจ้งเร็ว

ชลธิชาระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เสรีภาพการชุมนุมในไทยที่สืบเนื่องจากตัวพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็คือความไม่ชัดเจนของนิยามและเนื้อหาของกฎหมาย ทั้งปัญหาการนิยามว่ากิจกรรมใดบ้างเป็นการชุมนุมและการนิยามว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุม จากที่ตัวเธอเองโดนคดีจากกฎหมายฉบับนี้เป็นจำนวนหลายคดี เกิดขึ้นจากปัญหาของการนิยามว่าใครเข้าข่ายเป็น “ผู้จัดการชุมนุม” บ้างตามมาตรา 4

“หลายครั้งไปร่วมชุมนุมในฐานะผู้ร่วมชุมนุมไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม แต่เมื่อพวกเจ้าหน้าที่รัฐหรือสายสืบเห็นเราปุ๊ปก็จะถ่ายรูป แล้วก็บอกว่าลูกเกดไม่ว่าเธอจะมาม็อบด้วยสถานะอะไรก็แล้วแต่ แต่ฉันจะให้เธอเป็นผู้จัดการชุมนุม ซึ่งหลายๆ ครั้งการชุมนุมเราไม่รู้รายละเอียดด้วยซ้ำ” ชลธิชายกตัวอย่างสิ่งที่เธอต้องเผชิญและยังกล่าวต่อไปว่านอกจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดเพราะแค่ไปร่วมชุมนุมแล้ว เธอยังถูกดำเนินคดีจากการแชร์โปสเตอร์ของการชุมนุมในเฟซบุ๊กด้วยทั้งที่ก็มีคนแชร์ไปเหมือนกับเธอ

ชลธิชายังชี้ปัญหาในการรับแจ้งจัดชุมนุมของตำรวจด้วยว่า จากการที่เธอต้องเป็นคนไปแจ้งจัดชุมนุมหรือให้คำปรึกษาในการแจ้งจัดการชุมนุมก็พบว่าตำรวจในหลายสถานีก็ไม่ได้ทราบขั้นตอนการรับแจ้งจัดการชุมนุมด้วยจนทำให้เธอต้องเป็นคนให้คำแนะนำขั้นตอนกับตำรวจเสียเอง ซึ่งทำให้เห็นว่าตัวโครงสร้างของตำรวจเองก็ไม่พร้อมในการดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งขั้นตอนการแจ้งที่ตามกฎหมายก็ระบุว่าให้แจ้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นส่งอีเมล แต่เมื่อทำการส่งไปตามอีเมลแอดเดรสที่มีการแจ้งในหน้าเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งก็หาได้ยากแล้วก็ยังส่งไปไม่ถึงมือเจ้าหน้าที่อีก ทำให้ต้องไปแจ้งจัดชุมนุมถึงสถานีตำรวจด้วยตัวเองและยังต้องไปเซ็นรับหนังสือรับทราบของตำรวจอีก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สร้างภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางกับประชาชนด้วย

นอกจากนั้นการจะใช้เครื่องขยายเสียงก็ต้องเดินทางไปขอกับสำนักงานเขตแยกต่างหาก ทั้งที่ในแบบฟอร์มการแจ้งจัดการชุมนุมก็ให้ระบุรายละเอียดของเครื่องขยายเสียงที่จะใช้อย่างละเอียดแล้วแต่ก็ไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากตำรวจในเรื่องนี้อีกเช่นกัน และในประเด็นการอำนวยความสะดวกตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในเรื่องการจัดจราจรก็ไม่ได้มีการดำเนินการและยังนำมาเป็นข้ออ้างว่าการชุมนุมละเมิดสิทธิในการเดินทางของคนอื่นด้วย

ชลธิชายังชี้อีกปัญหาหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ตำรวจมักใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมเนื้อหาสาระสำคัญหรือข้อเรียกร้องของการชุมนุมด้วย โดยเธอยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องในประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหรือเรื่องแรงงานก็มักจะไม่ถูกขัดขวาง แต่เมื่อยกระดับเป็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แล้วการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ก็ต่างออกไป

“เมื่อปี 63 ที่เราพูดถึงข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การชุมนุมในลักษณะดังกล่าวถูกห้ามโดยตลอดโดยที่คุณไม่ได้คำนึงเลยว่าการชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มันเองก็เป็นการชุมนุมโดยสงบโดยปราศจากอาวุธถูกต้องหรือไม่ โดยเนื้อหาของการเรียกร้องมันไม่ใช่เครื่องมือในการกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

ชลธิชามองว่าปัญหานี้ยังสร้างปัญหาตามมาอีกประเด็นคือการเลือกบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ จะถูกขัดขวางตลอดทั้งไม่ให้ชุมนุม ขัดขวางระหว่างชุมนุม และการดำเนินคดีและคุกคามถึงบ้านตามหลัง แต่เมื่อเป็นการชุมนุมของกลุ่มคนสนับสนุนรัฐบาลกลับสามารถชุมนุมได้

“เราไม่ได้บอกว่าเขาไม่ควรจะได้รับสิทธิการชุมนุม แต่กำลังพูดถึงว่าทำไมถึงเกิดปัญหาในการเลือกปฏิบัติขนาดนี้โดยใช้ตัวเนื้อหาเป็นเครื่องมือในการกำหนดไม่ใช่ตัวรูปแบบของการชุมนุม”

ชลธิชายังสะท้อนปัญหาความล้มเหลวในการป้องกันการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมของกลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกัน โดยเธอยกตัวอย่างของการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกายเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ที่ตำรวจได้ถอยร่นออกไปทั้งที่มีม็อบของผู้ชุมนุมที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งตำรวจเองก็ประเมินได้อยู่แล้วว่าจะเกิดการปะทะกัน ซึ่งทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย

ชลธิชาชี้ประเด็นปัญหาเรื่องการขาดพื้นที่สาธารณะในการชุมนุมว่าชุมนุมบนถนนก็ไม่ได้แล้ว แต่จะไปชุมนุมในสวนสาธารณะก็ทำได้ยากทั้งต้องขออนุญาตด้วยหรือชุมนุมได้ก็ยังมีการดำเนินคดีตามมาเช่นกรณีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในสวนรถไฟ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการชุมนุมในบางพื้นที่เช่นสนามหลวงที่ไปเข้าประเด็นปัญหาเรื่องเขตพระราชฐาน หรือห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวังและวังของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป ที่เป็นปัญหาจากมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่เธอคิดว่าเป็นมาตราที่ต้องยกเลิกไป

“ปัญหาคือว่า ช่วงที่ผ่านมามีการประกาศเขตพื้นที่ที่เรียกว่าเขตพระราชฐานโดยที่เราไม่สามารถทราบได้เลยว่า เขตพระราชฐานมันเข้ามาตรา 7 จริงๆ หรือเปล่าเพราะไม่ใช่เขตพระราชฐานทุกเขตที่มันจะเป็นพระบรมมหาราชวัง หรือราชวัง” ชลธิชาเห็นว่าต้องมีการนิยาม “เขตพระราชฐาน” ให้ชัดเจน

แนวคอนเทนเนอร์ที่ปิดกั้นบริเวณทางเข้ากรมทหาราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 โดยภายในค่ายทหารมีการประกาศห้ามรุกล้ำเขตพระราชฐาน

ชลธิชายังได้ยกประเด็นเรื่องการสลายการชุมนุมว่า ตามมาตรฐานสากลแล้วรัฐควรหลีกเลี่ยงการใช้กำลังสลายการชุมนุม และในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 (General Comment No. 37) ของสหประชาชาติที่ระบุว่ารัฐควรเน้นการเจรจาก่อนที่จะใช้กำลังสลายการชุมนุม แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากที่เธอเองมีฐานะเป็นผู้เจรจาพบว่าตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมาไม่เคยมีครั้งไหนที่ตำรวจพยายามเจรจาด้วยก่อนที่จะใช้กำลังสลายการชุมนุม

“ในมาตรฐานสากลพูดอย่างชัดเจนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยผู้ชุมนุมกลุ่มเล็กในพื้นที่การชุมนุมไม่ควรจะเป็นข้ออ้างในการให้รัฐใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมหรือใช้กำลังกับผู้ชุมนุมคนอื่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจเรื่องนี้มันจะไม่มีภาพปรากฏว่าตำรวจใช้กำลังเข้าไปปะทะหรือจับกุม ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง กับพยาบาลอาสา มันจะไม่มีภาพเหล่านี้เกิดขึ้น หรือต่อให้เป็นกลุ่มคนที่รัฐมองว่าเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเมื่อคุณจับมาแล้วไม่มีสิทธิที่จะใช้กำลังกระทืบเขา”

นอกจากนั้นชลธิชายังระบุอีกว่ารัฐต้องมีการประกาศขั้นตอนปฏิบัติหรือขั้นตอนการรับมือการชุมนุมอย่างชัดเจนที่ประชาชนเข้าถึงได้ด้วย แต่กลับไม่มีใครทราบว่าแผนกรกฏ 52 ที่เปลี่ยนมาเป็นแผนกรกฏ 63 แล้วนั้นมีเนื้อหาว่าอย่างไรกันแน่ ทั้งที่ประชาชนต้องเข้าใจได้ว่ารัฐมีวิธีการรับมือการชุมนุมอย่างไรเพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้

ชลธิชามีข้อเสนอว่าให้เจ้าหน้าที่ต้องเปิดเผยตัวให้ชัดเจนว่าอยู่ในสังกัดของรัฐ เพราะที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ไม่ทราบสังกัดชัดเจนกลับมีบทบาทในพื้นที่การชุมนุมและบางกรณีก็เป็นผู้ใช้กำลังฉุดกระชากจับกุมผู้ชุมนุมด้วยซ้ำ เพราะอาจมีบุคคลที่สามที่ต้องการสร้างสถานการณ์แล้วแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้ ซึ่งต้องหาวิธีจัดการร่วมกัน และเสริมประเด็นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่เจรจาและทำหน้าที่ควบคุมฝูงชนต้องมีการฝึกและทำความเข้าใจในประเด็นเรื่องเพศสภาพ (Gender) หรือเรื่องเด็ก ผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่าหลายครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการใช้คำพูดแทะโลมทางเพศหรือเหยียดเพศกับผู้ชุมนุม หรือแม้กระทั่งตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวนมากเข้าไปรุมจับกุมผู้ชุมนุมหญิงเพียงคนเดียวแล้วก็ฉุดกระชากมา

ชลธิชายังเสนออีกว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุมต้องทำให้สอดคล้องกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ไม่มีใครไปแจ้งการชุมนุม นอกจากการทำให้ไม่เป็นความผิดและต้องไม่เป็นเหตุให้สลายการชุมนุมแล้ว การไม่แจ้งจัดชุมนุมก็ไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องทำหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมทั้งการจัดการและปกป้องการชุมนุมตามความสามารถของตนได้ซึ่งประเด็นนี้ก็อยู่ในในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ของสหประชาชาติด้วย

รัฐและสังคมไม่เข้าใจความจำเป็นของการชุมนุม

สมบูรณ์ คำแหง จากองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ พูดในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายการชุมนุมถึง 2 คดี ว่า ที่ชาวบ้านต้องออกมาชุมนุมเพราะเป็นหนทางสุดท้ายแล้วในการออกมาพูดเรื่องของตัวเอง โดยเฉพาะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมากลไกที่จัดการปัญหาของชาวบ้านก็ไม่สามารถใช้ได้ และที่ต้องมาชุมนุมในกรุงเทพฯ ก็เพราะการรวมศูนย์อำนาจอยู่พื้นที่ส่วนกลางหมดด้วยซึ่งก็เป็นประเด็นเรื่องสถานที่ที่ถ้าจะให้ไปชุมนุมในพื้นที่อับเช่นสวนสาธารณะหรือสนามฟุตบอลก็ไม่ใช่ถ้าในต่างจังหวัดก็ต้องไปที่ศาลากลางจังหวัดหรือถ้าเป็นในกรุงเทพก็ต้องไปที่ทำเนียบ

สมบูรณ์ คำแหง

สมบูรณ์กล่าวว่าเป็นปัญหาทัศนคติและท่าทีของผู้มีอำนาจต่อการชุมนุมของประชาชนที่สะท้อนให้เห็นจากปัญหาในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ไม่ตอบโจทย์เรื่องสิทธิเสรีภาพจริงๆ และยังเป็นกฎหมายที่ผ่านออกมาในยุคของรัฐบาลคณะรัฐประหารที่ต้องการกุมอำนาจ ซึ่งการมีกฎหมายฉบับนี้ก็ยิ่งไปกดทับจากบทลงโทษต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนยิ่งหวาดกลัวที่แต่เดิมก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้วที่ประชาชนจะออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองต่อผู้มีอำนาจในพื้นที่ของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งคนออกกฎหมายก็คงจะมองในมุมของความมั่นคงแบบทหารที่มองว่าการชุมนุมประท้วงเป็นเรื่องการสร้างความแตกแยก

“ถ้าไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย เรื่องของการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้เห็นความทุกข์ยากของตัวเองของประชาชนที่อยู่ในระบบการปกครอง ผมคิดว่าเราก็ไม่รู้จะอยู่ภายใต้การปกครองในระบบประชาธิปไตยนี้อย่างไร”

สมบูรณ์สะท้อนสิ่งที่ต้องเผชิญอีกว่า การชุมนุมแต่ในพื้นที่ของตัวเองแทบไม่มีผลอะไรถ้าหากไม่มาที่ศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพ และการมาชุมนุมในกรุงเทพแค่ท่าทีของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับท่าทีของคนในเมืองที่มีต่อคนชนบทเวลามาชุมนุมในกรุงเทพที่มองว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนทำให้รถติดสร้างความรำคาญอีกด้วยก็เป็นความเจ็บช้ำของคนชนบท ซึ่งการไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐก็เป็นปัญหาอย่างเช่นการจัดหาห้องน้ำให้กับผู้มาชุมนุม การถูกห้ามชุมนุมตามพื้นที่ต่างๆ

สมบูรณ์เสนอให้ยกเลิกพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ก็เห็นว่าเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าจะปรับก็ต้องทำให้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือของประชาชนและต้องยอมรับว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย และปัญหาตัวบทบัญญัติของกฎหมายที่ทำให้ทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายและประชาชนต่างก็ไม่เข้าใจขั้นตอนตามกฎหมาย และอยากให้สังคมได้เรียนรู้ว่าการชุมนุมเป็นสิทธิแล้วก็ต้องมองเห็นว่าการที่คนออกมาชุมนุมเพราะมีปัญหาไม่ได้ต้องการมาสร้างความเดือดร้อนหรือทำให้รถติด และการอำนวยความสะดวกโดยเจ้าหน้าที่เขียนอยู่ในกฎหมายก็อยากให้เกิดขึ้นได้จริงๆ เช่นการจัดหาห้องน้ำหรือทำให้ขั้นตอนการแจ้งจัดชุมนุมหรือการใช้เครื่องขยายเสียง ลดความยุ่งยากลง

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ สร้างกรอบการปฏิบัติให้ตำรวจ

พ.ต.อ.อรรถพล อนุสิทธิ์ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล มาในฐานะตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวถึงว่าตนเองเป็นทั้งผู้ฝึกอบรมเรื่องพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้กับเจ้าหน้าที่และยังเป็นคนเขียนคู่มือปรับปรุงการใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ปี 63 ทั้งนี้เขาเห็นว่าพ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ศ.2558 นี้ยังมีส่วนที่ไม่สมบูรณ์มีหลายเรื่องที่จะต้องปรับปรุงและเป็นปัญหาในการการสันนิษฐานบังคับใช้ข้อกฎหมายด้วย อย่างเช่นนิยามการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 3 ที่ครอบคลุมไปถึงการจัดมหรสพ

พ.ต.อ.อรรถพล อนุสิทธิ์

พ.ต.อ.อรรถพล ยกตัวอย่างกรณีมาตรา 4 ที่นิยามว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุมที่ไปเกี่ยวโยงกับมาตรา 10 ที่พนักงานสอบสวนก็ไปตีความอย่างกว้างนอกจากผู้ประสงค์ขอจัดการชุมนุมแล้วยังรวมไปถึงผู้ขอใช้สถานที่ใช้เครื่องขยายเสียงก็สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมหมด ซึ่งมาตรา 4 ต้องตีความอย่างแคบที่ผู้จัดการชุมนุมคือผู้ที่แสดงออกชัดเจนว่าจะจัดการชุมนุมหรือร่วมจัดการชุมนุม

พ.ต.อ.อรรถพลกล่าวอีกว่าหลังตำรวจได้รับแจ้งจัดชุมนุมแล้ว จะมีหน้าที่สองอย่างคือการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องไม่ให้ผลกระทบจากการชุมนุมไปกระทบกับสิทธิของผู้อื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 เช่นกัน หลายเรื่องที่ตำรวจจะต้องก้าวล่วงว่าวัตถุประสงค์หรือมีเนื้อหาเป็นอย่างไรและเขาได้อธิบาย

“ถ้าท่านไปจัดในท้องที่หนึ่งท่านคิดว่าท่านจะเรียกร้องอย่างนี้ได้ แต่คนทั่วไปที่เขาได้ฟังเขาอาจจะไม่ชอบก็ได้อาจจะเกิดเหตุแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดผลร้ายต่อผู้ชุมนุมก็ได้ ก็ขอให้มองในมิติของผู้รักษากฎหมายด้วย”

พ.ต.อ.อรรถพลกล่าวว่าลักษณะของกฎหมายพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกึ่งกฎหมายปกครอง ตำรวจจะมีคำสั่งโดยไม่มีหนังสือแจ้งไม่ได้ต้องเปิดโอกาสให้อุทธรณ์ คำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะไม่ใช่คำสั่งเด็ดขาด การจะใช้บังคับก่อนไปถึงการสลายชุมนุมจะต้องไปร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด แต่การชุมนุมที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ทำในช่วงที่ศาลเปิดทำการจึงไม่สามารถทำหนังสือคำร้องถึงศาลได้หรือศาลก็ให้รับทราบคำสั่งศาลในวันจันทร์ ซึ่งเลิกการชุมนุมไปแล้ว ซึ่งตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามแผนการชุมนุมสาธารณะที่อนุมัติตามคณะรัฐมนตรี ภาระหน้าที่อยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะทันทีตามกฎหมายฉบับนี้

พ.ต.อ.อรรถพลอธิบายถึงที่มาของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ว่าก่อนที่จะมีการใช้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตำรวจใช้แผนกรกฏ 48 แล้วก็พัฒนามาเป็นกรกฏ 52 หลังเกิดเหตุการณ์การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 51 ซึ่งแผนกรกฏเป็นแผนรองรับการก่อการร้ายและนำมาใช้รับมือการชุมนุมบ้าง แต่เมื่อออกมาเป็นกฎหมายแล้ว พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องมือและยังมีการวางกรอบให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ซึ่งไม่เกิดผลบังคับจริงอย่างเช่น มาตรา 21-22 ก็ไม่เกิดขึ้นเลยจนเป็นปัญหา

นอกจากนั้นตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7-8 ที่เป็นปัญหาเรื่องระยะ 150 เมตร ตอนนี้ก็มีการปักป้ายหมดแล้วว่าตรงจุดใด ซึ่งการจัดการชุมนุมก็ต้องประสานหรือแจ้ง แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันว่า 150 เมตรต้องนับจากกำแพงวังหรือศูนย์กลางของวัง แต่หากนับจากศูนย์กลางวังบางทีก็ยังระยะยังไม่ถึงกำแพงวังก็เลยต้องนับจากกำแพง และตามมาตรา 7 ก็ไม่มีคำว่าเขตพระราชฐาน

ป้ายเขตพระราชฐานที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และแนวลวดหนามที่ถูกนำมาติดตั้งหลังกลุ่ม "ราษฎร" ประกาศชุมนุมที่หน้าสำนักงานเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2663 ซึ่งภายหลังมีการวางแนวคอนเทนเนอร์ปิดกั้นเส้นทางที่จะเข้าไปในบริเวณดังกล่าวด้วย

พ.ต.อ.อรรถพลเสนอว่าก็ต้องจัดสถานที่ที่จัดการชุมนุมสาธารณะได้ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ใน มาตรา 7 อนุ 2 ทำเนียบ รัฐสภา ศาล กำหนดให้มีพื้นที่ชุมนุมได้ หรือตามมาตรา 9 ที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐอื่นสามารถกำหนดสถานที่ให้เป็นที่ชุมนุมสาธารณะได้แต่ความต้องการอาจจะไม่ตรงกันกับผู้ชุมนุม เพราะผู้ชุมนุมก็อาจจะเห็นว่าการชุมนุมก็ต้องทำให้คนอื่นเห็นว่าเขาเดือดร้อนอย่างไรเลยต้องมายึดถนนบ้างแต่เจ้าหน้าที่ก็อาจจะมองว่าถ้าจัดเป็นสัดส่วนก็จะดูแลและอำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัยได้ง่ายอาจจะดีกว่า แต่ตอนนี้พื้นที่ตามมาตรา 9 ก็ยังไม่ได้กำหนด

5 ปีกว่า รัฐใช้กฎหมายพิเศษมากกว่าพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มจากการเสนอปัญหาของการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ออกมาจริงๆ หรือไม่ เพราะต่างก็เห็นว่ามันมีปัญหาของนิยามที่เปิดโอกาสให้เกิดการตีความอย่างกว้างขวาง และเจ้าหน้าที่ก็บังคับใช้อย่างกว้างขวาง แต่เอาจริงๆ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ไปตามจับทุกการชุมนุมสาธารณะ บางการชุมนุมไม่ได้แจ้งจัดการชุมนุมด้วยซ้ำแต่เมื่อไม่เป็นประเด็นที่ขัดกับผู้มีอำนาจก็จะถูกปล่อยไป แต่การชุมนุมที่ถูกบังคับใช้อย่างเข้มข้นคือการชุมนุมที่เป็นประเด็นที่ขัดเคืองผู้มีอำนาจ

พูนสุข พูนสุขเจริญ

ประเด็นก็คือ พ.ร.บ.ชุมนุม ถูกพัฒนามาความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรศ 2540 จนเกือบจะผ่านวาระสามตอนปี 2553 แต่ก็มีการยุบสภาก่อนจนมาผ่านในปี 2558 แต่ก่อนจะมีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็มีรัฐธรรมนูญ 50 ที่รับรองเสรีภาพการชุมนุม ซึ่งให้จำกัดได้เฉพาะประเด็นเรื่องพื้นที่สาธารณะและช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หรือว่ามีการเลือกตั้งหรือมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฉบับนี้ก็เลยออกแบบมาเพื่อจำกัดการใช้พื้นที่สาธารณะและบางช่วงเวลา ทำให้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฉบับนี้ควบคุมเนื้อหาไม่ได้ แต่พอนำมาใช้จริงกลับมีการบังคับใช้ในลักษณะที่ควบคุมเนื้อหามาด้วย

ความพยายามผลักดันและข้อโต้แย้งของ สตช. ที่มีมาก่อนปี 58 ก็คือข้ออ้างว่าไม่มีกฎหมายที่จะบังคับใช้กับการชุมนุม แต่ปรากฏว่าเมื่อกฎหมายออกมาแล้ว 5 ปี 7 เดือน แต่มีการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างเดียวช่วงสั้นๆ เพียงแค่ 9 เดือนเท่านั้นคือตั้งแต่ 9ก.ค.62 – 25 มี.ค.2563 เพราะตั้งแต่ออกมาถูกบังคับใช้ควบคู่กับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปแล้วก็ยกเลิกไปเมื่อ 9 ก.ค.62 หลังจากรัฐบาล คสช.เปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลประยุทธ์ที่ขึ้นมาหลังเลือกตั้ง แต่เมื่อเกิดกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และเมื่อโควิด-19 ระบาดก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2563

“ที่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีเครื่องมือเป็นไปจริงๆ หรือเปล่า แล้วมันถูกใช้ตามเจตนารมณ์ที่ออก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาหรือเปล่า ประเด็นก็คือว่าเจ้าหน้าที่มีเครื่องมือพิเศษ ไม่ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ว่าจะกฎอัยการศึก ไม่ว่าจะพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใดๆ ก็ตาม บวกพ.ร.บ.ชุมนุมเข้าไปอีกซึ่งมันเป็นปัญหา” พูนสุขเห็นว่าที่ตำรวจบอกว่าไม่มีเครื่องมือก็ไม่ได้เป็นจริงแล้วที่ผ่านมาก็ไม่ได้ใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้วยซ้ำ

พูนสุขกล่าวต่อถึงการนำพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาควบคุมในเชิงพื้นที่ชุมนุมสาธารณะก็เป็นปัญหาเพราะว่า แม้ในกฎหมายจะไม่ได้รองรับเรื่องสถานที่ที่ผู้ชุมนุมต้องการจะให้คนที่เขาเห็นว่าเป็นปัญหาได้ยินสิ่งที่เขาจะพูดหรือสื่อสาร (Sight and Sound) แต่ก็ยังมีการรับรองไว้ใน ICCPR ซึ่งไทยเป็นภาคีอีกทั้งยังมีการระบุเอาไว้ในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ของสหประชาชาติด้วย

แล้วศาลก็ไม่เปิดเสาร์ อาทิตย์ ก็เห็นด้วยเพราะที่ผ่านมาก็ได้พยายามใช้กลไกศาล เช่นกรณี We Walk ที่ไปยื่นคำร้องให้คุ้มครองการชุมนุมที่ศาลในวันเสาร์ก็คือพอต้องการไปยื่นศาลวันเสาร์ไม่ได้เพราะศาลปิดก็ต้องยื่นวันจันทร์แต่กว่าศาลจะเรียกไต่สวนฉุกเฉินแล้วก็มีคำสั่งวันศุกร์ซึ่งผ่านไปแล้วเจ็ดวันโดยที่ระหว่างการเดินใน 7 วันนี้ก็มีการคุกคามตลอดเพื่อจะสกัด แต่เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วสถานการณ์การคุกคามก็ดีขึ้นแต่ก็ยังมีอยู่ ซึ่งประเด็นของเรื่องนี้ก็คือกลไกตามกฎหมายใช้ไม่ได้จริงในสถานการณ์การชุมนุมปัจจุบันที่เกิดขึ้นแล้วก็จบในวันเดียว

ทั้งนี้ก็ยังมีกรณีที่ตำรวจไม่ได้รอคำสั่งศาลด้วยเช่นกัน เช่น กรณีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ตำรวจไปยื่นคำร้องตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต่อศาลในวันศุกร์ศาลก็นัดไต่สวนวันจันทร์ แต่ตำรวจก็ไม่รอการไต่สวน เจ้าหน้าที่เปลี่ยนไปใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. แทนในการควบคุมตัวผู้ชุมนุมไป ซึ่งจะเห็นว่าในระหว่างที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. อยู่เจ้าหน้าที่ก็เลือกได้ว่าจะใช้เครื่องมือไหน

“สรุปแล้วพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 5 ปี 7 เดือนที่ผ่านมามันตอบโจทย์ใครกันแน่ มันควบคุมการชุมนุมขนาดใหญ่ได้หรือเปล่า หรือเป็นแค่เครื่องมือที่ตำรวจจะเลือกใช้ดูแลการชุมนุมขนาดเล็กๆ แต่การชุมนุมที่เป็นขนาดใหญ่ขึ้นมาคุณเลือกใช้กฎหมายพิเศษแทน”

พูนสุขยกสถิติ 18 ก.ค.63-28 ก.พ.64 มีคนที่ถูกดำเนินคดี 300 กว่ารายเฉพาะ ช่วงฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 301 ราย มีคดี 101 คดี เป็นคดีที่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินร่วมกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ 32 คดี ทั้งที่ในมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เชียนชัดเจนเลยว่าไม่ใช้ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็พบว่า 26 มี.ค.63-1 ส.ค.63 ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเดียว แต่หลังจาก 1 ส.ค.63 มีการออกข้อกำหนดมาใหม่คือเกณฑ์การชุมนุมให้กลับไปใช้ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

พูนสุขเน้นให้เห็นว่ามีประเด็นว่าถ้าใช้อำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนดให้ใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้จะใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้แค่ไหนบ้างไม่ว่าจะเป็นเรื่องขั้นตอนการแจ้งไปจนถึงขั้นตอนการสลายการชุมนุมเลยหรือไม่ แต่กลับปรากฏว่ามีคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินร่วมกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้วย

การสลายการชุมนุมที่บริเวณสยามสแควร์เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 ในขณะที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

บันทึกภาคสนาม: การทำข่าววันสลายการชุมนุม 16 ต.ค. 2563

“ที่น่าตลกกว่านั้นคือมีเหตุแทรกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในช่วง 15-22 ตุลาคม ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงซ้อนทับขึ้นมาอีกฉบับ จริงๆ ณ ช่วงเวลานั้นก็ต้องกลับไปใช้เพราะคุณออกกำหนดว่าห้ามชุมนุมทางการเมืองเลย คือห้ามเด็ดขาดซึ่งแปลพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต้องไม่ถูกใช้ในช่วงนั้นแต่ก็ปรากฏว่ามีเคสที่เจ้าหน้าที่แจ้งทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แจ้งทั้ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อยู่ดี นี่คือความสับสนวุ่นวายที่รัฐแล้วก็สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องอธิบายด้วยว่ายังไง หลังจากนั้นก็คือกลับมาใช้ห้ามชุมนุมที่เสี่ยงกับการแพร่เชื้อโรคที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน”

พูนสุขยังกล่าวด้วยว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบัน คนถูกคุกคามไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงที่มีการชุมนุม แต่หลังจาก คสช.เข้ามามีอำนาจก็ได้เปลี่ยนแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นับแต่นั้นมา คือมีการถูกคุกคามก่อนและหลังการชุมนุมด้วย ทำให้เส้นของเสรีภาพก็ต่ำลงมาตั้งแต่นั้นและก็ยังคงอยู่จนปัจจุบัน และไม่ได้มีเพียงแค่การดำเนินคดีตามหลังเท่านั้นเพราะยังมีกรณีที่ผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วก็ยังมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไปติดตามถึงบ้านอีก

“เสรีภาพการชุมนุมของไทยจึงไม่ใช่แค่คุ้มครองตอนการชุมนุมแล้ว” และพูนสุขยังกล่าวต่ออีกว่าเมื่อไม่มีการใช้พ.ร.บ.ชุมนุมแล้วหรือมีการใช้กฎหมายพิเศษอื่นๆ จะคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมอย่างไร ซึ่งก็เห็นว่าก็ต้องกลับไปจุดที่ประเทศไทยเป็นภาคี ICCPR

พูนสุขกล่าวว่ายังมีข้อท้าทายอีกในประเด็นเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นในการชุมนุม ตามแนวความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคือ

“ถ้าจะบอกว่าการชุมนุมครั้งนั้นรุนแรง ความรุนแรงต้องมาจากผู้ชุมนุมไม่ใช่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ การที่รัฐใช้ความรุนแรงไม่ได้เรียกว่าการชุมนุมครั้งนั้นรุนแรง และในกรณีที่ถ้าคนที่ใช้ความรุนแรงจริงร่วมอยู่ในการชุมนุมด้วย รัฐก็มีหน้าที่ที่จะต้องจัดการเฉพาะบุคคลนั้น รัฐไม่สามารถไปละเมิดเสรีภาพการชุมนุมของคนอื่นๆ ที่ยังคงชุมนุมโดยสงบได้อันนี้เป็นเส้นที่สำคัญและเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุมก็ต้องเรียนรู้กัน แต่ไม่ใช่เรียนรู้ผ่านการชุมนุมแล้วใช้ความรุนแรงแน่นอน”

พูนสุขกล่าวต่อว่าต่อให้ไม่มีการใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯเพราะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ก็ตาม การจะใช้กำลังหรืออาวุธในการสลายการชุมนุมตำรวจก็ต้องทำไปตามแผนคือต้องมีการเจรจาก่อนแต่ที่ผ่านมาก็อาจจะมีการเจรจาหรือประกาศเตือน แต่ประกาศเตือนเพียง 5 นาทีแล้วเริ่มปฏิบัติการถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมจริงหรือไม่

พูนสุขยังตั้งคำถามต่อไปว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามแผนของตัวเองหรือเพราะยังมีประเด็นการใช้กระสุนยางที่เกิดขึ้นพบว่ายิงถูกบริเวณชายโครงของนักข่าวในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งตามแผนก็ระบุว่าต้องยิงกับเฉพาะเป้าหมายที่มีลักษณะการคุกคามต่อบุคคลอื่นเท่านั้น และต้องไม่ยิงโดยไม่แยกแยะเป้าหมายและไม่ยิงอัตโนมัติ จะต้องยิงในส่วนล่างของร่างกายแต่ก็ปรากฏว่ายิงโดนด้านหลัง ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเป็นการยิงจากด้านหลังของนักข่าวและนักข่าวคนนั้นทั้งถือกล้องและมีปลอกแขนนักข่าวอยู่

ตำรวจใช้กระสุนยางท่ามกลางประชาชนที่บริเวณสนามหลวง เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2564 ภาพจากทวิตเตอร์ของ วศินี พบูประภาพ

พูนสุขเสนอว่านอกจากจะทำให้การไม่แจ้งจัดชุมนุมเป็นความผิดอาญาแล้ว ยังต้องไม่ใช่เหตุทำให้การชุมนุมนั้นผิดกฎหมายด้วยเพราะทำให้กลายเป็นเงื่อนไขในการสลายการชุมนุมได้ และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต้องมีกลไกในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่และสามารถใช้มาตรการนั้นได้จริงมากกว่าการไปร้องขอต่อศาลแล้วก็ไม่ทันเวลา นอกจากนั้นต้องทำให้การแจ้งจัดชุมนุมแล้วตำรวจไม่ให้จัด แล้วยังคงมีการชุมนุมไม่กลายเป็นความผิดซึ่งหน้าแล้วก็มีมาตรการจับกุมผู้จัดเหมือนสลายการชุมนุมตามมา เพราะจะทำให้ขั้นตอนที่ตำรวจต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลไม่เกิดขึ้นได้จริง นอกจากนั้นยังเสนอให้มีมาตรการป้องกันการคุกคามทั้งก่อนและหลังการชุมนุมอยู่ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ประเด็นเกณฑ์การใช้กำลังหรืออาวุธที่อยู่ในแผนของตำรวจซึ่งก็มีความใกล้เคียงกับมาตรฐานสากลอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ในทางปฏิบัติแผนถูกนำบังคับใช้ได้จริง แม้จะไม่มีการใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อยู่ก็ตาม

พูนสุขยังเสนอให้มีการเปิดเผยรายงานการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่และการใช้อาวุธต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ต่อสาธารณะด้วยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบ เพราะก็มีปัญหาว่าหากฟ้องที่ศาลปกครองศาลยังเรียกรายละเอียดเหล่านี้ให้ได้ แต่การต้องไปฟ้องศาลแพ่งภาระก็จะตกอยู่กับประชาชนที่ต้องหาหลักฐานเหล่านี้เอง

ศาลต้องตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจ

พัชร์ นิยมศิลป์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายการชุมนุม นำเสนอว่าเสรีภาพการชุมนุมเป็นอาวุธของผู้อ่อนแอที่จะใช้ต่อรองกับผู้มีอำนาจเมื่อไม่มีทางออกในระบบและไม่สามารถเล่นไปตามกติกาของระบบได้ สุดท้ายแล้วจะมองหาเสรีภาพการชุมนุมเพื่อใช้ในการต่อรอง มารวมตัวกันเพื่อทำให้เสียงดังขึ้นมากขึ้น และสิ่งที่ระบอบประชาธิปไตยกลัวคือคนจะใช้อำนาจอย่างอำเภอใจ จึงสร้างหลักนิติรัฐ รัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดอำนาจสูงสุดและเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม มันไม่มีการใช้อำนาจในสังคมที่ประชาธิปไตยที่ตรวจสอบไม่ได้

พัชร์ นิยมศิลป์

พัชร์กล่าวต่อว่าสิ่งที่เป็นหลักใหญ่คือพันธกรณีที่ประเทศต้องทำตาม 2 หลักคือ การกระทำเชิงลบที่จะเป็นการไม่แทรกแซงเสรีภาพ และในเชิงบวกที่จะเป็นการป้องกันคนในการใช้เสรีภาพการชุมนุม ซึ่งในส่วนที่เป็นเชิงบวกนี้ก็ยังมีทั้งสองแง่คือเป็นทั้งการควบคุมรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมแล้วเข้าไปสร้างสมดุลกับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการชุมนุมแล้วจะไม่ไปกระทบกับบุคคลอื่นแล้วก็เป็นการยากมากด้วยที่จะไปชุมนุมสาธารณะแล้วไม่ขัดต่อกฎหมายอะไรเลย เช่น กฎหมายจราจรทางบก

พัชร์เห็นว่าประเด็นเรื่องสถานที่การชุมนุมนี้เป็นสิ่งที่ผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะจะต้องนำมาพิจารณาในการสร้างสมดุลย์กันระหว่างประโยชน์สาธารณะกับเสรีภาพของการชุมนุม

“คือถ้าไปหากฎหมายอะไรก็ได้มาแล้วบอกผู้ชุมนุมว่าห้ามขัด ก็ไม่ต้องชุมนุมกันแล้วครับ เพราะการชุมนุมต้องเลือกสถานที่ได้ อันนี้สำคัญมาก ผู้ชุมนุมต้องมีสิทธิในการเลือกสถานที่ชุมนุมได้ มันจะแตกต่างกันอย่างไรกับการชุมนุมกลางทุ่งกับหน้าห้างสรรพสินค้า แตกต่างครับเพราะสารที่ส่งไปส่งไปหาใคร แล้วมันทำให้เกิดการกระจายของสารนั้นหรือเปล่า หรือข้อความที่ผู้ชุมนุมป่าวร้องได้กระจายไปหากลุ่มเป้าหมายของเขาหรือเปล่า สร้างแรงสนับสนุนให้เขาหรือเปล่า”

พัชร์กล่าวถึงขั้นตอนในการทดสอบเรื่องเสรีภาพการชุมนุมในทางสากลก็จะมีหลักที่ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) ด้านเสรีภาพการชุมนุม ก็ใช้หลักทดสอบ 3 ขั้นว่ามีการละเมิดเสรีภาพการชุมนุมหรือไม่ ขั้นแรกคือดูว่ามีกฎหมายให้อำนาจในการจำกัดสิทธิหรือไม่ ขั้นที่สอง มาตรการที่ใช้ต้องมีจุดประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายและได้ใช้มาตรการตรงตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่และมีการเลือกใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ เช่นเรื่องการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้เครื่องขยายเสียง เป็นต้น ขั้นที่สามคือหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน มาตรการที่ลงไปใช้ต้องตอบให้ได้ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ และการใช้ระดับความแรงหรือกำลังที่ใช้ต้องเพียงแค่ทำให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการเท่านั้น ทั้งนี้ความจำเป็นและความได้สัดส่วนผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบก็ต้องเป็นศาล

พัชร์ยกตัวอย่างกรณีที่มีการวางรั้วลวดหนามหรือบังเกอร์ ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมถึงมีการใช้มาตรการคล้ายกับการรบในเมือง ซึ่งเขาพบว่าตามคู่มือของตำรวจเองต่อให้ดำเนินการไปตามคู่มือก็ขัดต่อหลักสากลอยู่ดี เพราะคู่มือดังกล่าวเป็นการใช้ประสบการณ์ในอดีตเอามาใช้ในการเขียน แต่ไม่ได้นำหลักสากลมาปรับใช้ ทำให้คู่มือของตำรวจเองไม่สอดคล้องกับหลักสากลจึงกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่แม้ตำรวจพยายามจะทำให้ดีก็ออกมาไม่ดี

พัชร์ยกตัวอย่างของการใช้บังเกอร์ว่า ตามคู่มือคือเมื่อผู้ชุมนุมไม่แจ้งจัดการชุมนุมก็ทำให้การชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งคู่มือก็ให้ใช้กำลังในการขัดขวางได้ ซึ่งในคู่มือก็ยังระบุอีกว่าพื้นที่มี 4 ประเภท คือพื้นที่ชุมนุม พื้นที่เจรจา พื้นที่เจรจาเฉพาะ และพื้นที่ห้ามชุมนุม และจริงๆ ก็ยังมีพื้นที่อีกประเภทคือพื้นที่ควบคุมซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องและห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาดคือเขตพระราชฐาน ซึ่งก็มีปัญหาอีกว่าพื้นที่เหล่านี้ถูกวางออกไปนอกจากที่กฎหมายกำหนดเพราะว่าระยะ 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง แต่พื้นที่เจรจา เฉพาะเลยออกมาจากระยะ 150 เมตรอีก แต่ในสายผู้ชุมนุมก็เห็นว่าที่ชุมนุมได้คือตั้งแต่พื้นที่ติดกับระยะ 150 เมตร ซึ่งตำรวจก็จะบอกว่าเข้ามาไม่ได้แล้วตั้งแต่ระยะประมาณ 200 เมตรเพราะมีการสร้างพื้นที่เจรจาไว้สามชั้นล่วงหน้า ถ้าหากมีผู้ชุมนุมฝ่าฝืนเข้าไปในพื้นที่เจรจาเฉพาะก็จะถูกใช้กำลัง และเมื่อฝ่าฝืนเข้าไปในพื้นที่ห้ามชุมนุมก็จะถูกใช้มาตรการการใช้กำลังเด็ดขาด ซึ่งพื้นที่ห้ามชุมนุมและเจรจาเฉพาะนี้อยู่ที่ขอบของ 150 เมตรจากเขตวัง

แนวกั้นระหว่างพื้นที่ท้องสนามหลวงกับวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2564

พัชร์เสนอว่ากฎหมายชุมนุมน่าจะต้องเป็นกฎหมายปกครองมากกว่ากฎหมายอาญา และศาลที่จะใช้ดุลพินิจก็เป็นศาลปกครองเพราะเป็นเรื่องคำสั่งทางปกครองและเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพ และการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาทำให้กลายเป็นศาลยุติธรรม เพราะปัญหาตอนร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาส่วนหนึ่งก็คือศาลปกครองมีแค่บางที่แต่ศาลยุติธรรมมีทุกจังหวัดดังนั้นเพื่อความสะดวกของตำรวจเองในการขอหมายต่างๆ ก็เลยไปที่ศาลยุติธรรมด้วย แต่ ณ สถานการณ์ปัจจุบันการไปศาลปกครองไม่ได้ยากไปกว่ากัน และที่อ้างเรื่องการไปยื่นคำร้องต่อศาลในวันหยุดก็ไม่น่าเป็นเหตุผลเพราะการขอหมายจับหรือหมายค้นก็ยังสามารถไปทำที่ศาลในวันหยุดได้ ซึ่งเขาคิดว่าการขอคำสั่งสลายการชุมนุมก็น่าจะทำได้เหมือนหมายจับหมายค้น

พัชร์ยังมีข้อเสนอต่อผู้ชุมนุมด้วยว่าต้องเข้าใจว่าการชุมนุม “โดยสงบและปราศจากอาวุธ” ไม่ใช่สิ่งเดียวกับสันติวิธี ต้องชัดเจนในเรื่องนี้ ส่วนทางด้านตำรวจที่เข้ามาดูแลการชุมนุมก็ควรได้รับการอบรมเรื่องหลักสากลต่างๆ มากขึ้นเพราะเท่าที่มีอยู่ใช้เวลาเพียงแค่สามชั่วโมงในการอบรมประเด็นนี้ยังไม่เพียงพอในการตัดสินใจใช้กำลัง และสำหรับตำรวจควบคุมฝูงชนก็ไม่มีการเรียนเรื่องนี้ในขั้นตอนการอบรมควบคุมฝูงชนเลยจึงไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้เลย

นอกจากนั้นพัชร์ยังมีข้อเสนอต่อศาลอีกเช่นกันว่า ศาลเองก็ต้องมีฐานเรื่องเสรีภาพการชุมนุมในการวินิจฉัยพิพากษาคดีด้วยเหมือนกัน ดังนั้นความรู้เรื่องกฎหมายการชุมนุมก็จำเป็นและการขยายฐานออกไปเรื่อยๆ ก็เป็นฐานงานวิชาการที่ศาลจะหยิบไปใช้ในการคุ้มครองการชุมนุมได้

“เราต้องคาดหวังกับศาลในระบบประชาธิปไตยว่าเขาจะคุ้มครองเรา ถ้าเขาไม่คุ้มครองเรา เราก็ต้องเรียกร้องให้ศาลคุ้มครองเราไม่งั้นเราจะทำตัวเป็นศาลเสียเองแล้วก็กลายเป็นศาลเตี้ย ดังนั้นเราต้องยึดมั่นในระบบของนิติรัฐ เรายังต้องเรียกร้องตรงนี้กันอยู่”

ทัศนคติของรัฐยังมองว่าการชุมนุมมีคนอยู่เบื้องหลัง

วรภพ วิริยะโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ก็มีการยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อยู่ซึ่งก็เห็นว่าปัญหาแนวคิดนโยบายของผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันซึ่งสะท้อนให้เห็นตั้งแต่คำนำของตัวคู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ(ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) ที่มองว่าการชุมนุมยังมีกลุ่มบุคคลหรือองค์กรจากภายนอกประเทศสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จึงต้องมีการจัดการกับการชุมนุมในประเทศ

วรภพ วิริยะโรจน์

เมื่อแนวคิดของรัฐเป็นลักษณะดังกล่าวซึ่งอาจจะเป็นสาระสำคัญที่ใหญ่กว่าตัวกฎหมายชุมนุมเอง ก็ทำให้เห็นการรับมือการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตามที่ปรากฏให้เห็นทั้งตำรวจใช้กำลังรุนแรงกับผู้ที่ถูกจับกุมแล้ว หรือการใช้กระสุนยาง ไปจนการเลือกใช้มาตรการที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่ม และรัฐยังเห็นประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

วรภพกล่าวว่าจากการศึกษาเรื่องกฎหมายชุมนุมก็เห็นว่าการชุมนุมเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเรียกร้องและต่อรองกับผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่รัฐทำให้ประชาชนกลัวการชุมนุมทำให้มองว่าการชุมนุมคือความวุ่นวายเป็นเรื่องอันตราย

“เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่การชุมนุมอ่อนพลังลง หรือว่าไม่ควรมีสิ่งที่เรียกว่าการชุมนุมอยู่ อันนี้ก็คือใบอนุญาตให้รัฐทำอะไรก็ได้ ใช้อำนาจทำอะไรก็ได้เพราะไม่มีใครมาคัดค้าน ไม่มีใครต่อต้านรัฐอันนี้เป็นปัญหาใหญ่” วรพจน์กล่าวต่อไปว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการชุมนุมยังเป็นการคุ้มครองเสรีภาพของสังคมโดยรวมด้วย

วรพจน์กล่าวว่าในการประชุมของกรรมาธิการก็เห็นว่าจะต้องนิยามการชุมนุมอย่างไร เพราะปัจจุบันการชูกระดาษก็ยังถูกนับเข้ามาเป็นการชุมนุมแล้ว แต่เมื่อคิดว่าหากเป็นการไปชุมนุมบนทางเท้าที่ไม่ได้มีการปิดถนนหรือการชุมนุมที่ไม่ได้กระทบสิทธิใครก็ควรจะทำได้อย่างไร้ข้อจำกัดก็จะทำให้ง่ายขึ้นในเรื่องของการแจ้งการชุมนุมซึ่งการไม่แจ้งการชุมนุมเองก็ไม่ควรจะมีโทษด้วยซ้ำ แต่การแจ้งก็ยังต้องมีไว้เพื่อให้ได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างเช่นการจัดหารถห้องน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง รถพยาบาล และการได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยและการจัดเส้นทางจราจรให้เหมาะสมกับลักษณะและจำนวนของผู้มาชุมนุม แต่การไม่แจ้งก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถปิดถนนได้เพราะก็ยังมีเรื่องกฎหมายจราจรอยู่ และเขายังชี้ถึงปัญหาใหญ่ในส่วนของการแจ้งจัดชุมนุมอีกประเด็นก็คือการไม่แจ้งจัดชุมนุมทำให้การชุมนุมครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งทำให้ตำรวจสามารถขอให้ศาลออกคำสั่งยุติการชุมนุมได้

วรพจน์กล่าวถึงกรณีการสลายการชุมนุมอีกว่า ตั้งแต่ตอนที่มีการพิจารณาร่างกฎหมายก็เห็นว่าที่ต้องให้ศาลเข้ามาตรวจสอบและไม่ให้ตำรวจใช้ดุลพินิจในการสลายการชุมนุมโดยไม่พลการ เพราะหากจะสลายการชุมนุมต้องมีความรุนแรง แต่ถ้าดูชุมนุมที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าหากไม่มีการสลายการชุมนุมก็จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น เมื่อชุมนุมจบก็แยกย้ายกันกลับ ดังนั้นความรุนแรงทุกครั้งก็มาพร้อมกับการสลายการชุมนุม ก็จะเห็นว่าแม้กระทั่งสภาที่มาจากการแต่งตั้งก็ยังกำหนดสลายการชุมนุมหรือยุติการชุมนุมก็ต้องไปขอคำสั่งศาล และเขายังคิดว่าคำสั่งศาลนั้นก็ควรจะเป็นคำสั่งของศาลปกครองด้วยซ้ำ

วรพจน์กล่าวว่าเขาเองก็เห็นด้วยกับการเอาโทษจำคุกออกจากกฎหมายชุมนุมสาธารณะเนื่องจากไม่ควรมีใครถูกจำคุกจากการชุมนุมโดยสงบ แต่ก็อาจจะมีกรณีที่มีการพกพาอาวุธก็มีกฎหมายอาญาอยู่แล้วก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำให้ซ้ำซ้อนเพื่อลิดรอนเสรีภาพการชุมนุม

วรพจน์กล่าวว่าพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยังมีประเด็นถกเถียงกันเกี่ยวกับมาตรา 8 เรื่องการชุมนุมปิดทางเข้าออกหรือรบกวนการทำหน้าที่ของราชการ ซึ่งเขาเห็นว่าทำให้เกิดการตีความอย่างกว้างบางคนก็บอกว่าต้องห้ามชุมนุมเพราะรบกวนการทำหน้าที่ของราชการ แต่เจตนาของมาตรานี้ควรจะเป็นว่ามีการปิดสถานที่จนไม่สามารถปฏิบัติงานมากกว่า แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันว่าจะชุมนุมปิดหน่วยงานราชการได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวของวรพจน์เองก็ไม่เห็นด้วยเพราะก็จะไปกระทบสิทธิของผู้อื่น แต่ก็น่าจะยังชุมนุมบริเวณรอบหน่วยงานราชการได้แน่นอนซึ่งรวมถึงทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาด้วยตราบใดที่ไม่ได้ปิดทางเข้าออกจนไปกระทบสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเขาคิดว่าประเด็นนี้ก็ควรเขียนให้ชัดเจน

ช่วงท้ายของการเสวนา ผู้สื่อข่าวได้ตั้งคำถามต่อพ.ต.อ.อรรถพลในสองประเด็นคือ ตำรวจเองได้มีมาตรการป้องกันการเผชิญหน้าและจัดการอย่างไรกับเหตุที่ประชาชนทำร้ายร่างกายประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง และตำรวจมีการใช้วิจารณญาณอย่างไรในการใช้อาวุธปืนกระสุนยางในกรณีที่มีความเสี่ยงที่จะโดนผู้ที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุมอย่างเช่น ประชาชนทั่วไปหรือนักข่าว

พ.ต.อ.อรรถพลได้ตอบประเด็นเรื่องนักข่าวที่ถูกยิงก่อนว่า ก่อนมีการปฏิบัติตำรวจจะมีการประกาศก่อนทุกครั้ง เช่นในกรณีของวันที่ 13 ก.พ.2564 ที่ชุมนุมกันด้านหน้าศาลฎีกา ตำรวจก็มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมกลับภายใน 30 นาที แต่เมื่อผู้ชุมนุมบางส่วนใช้อาวุธปาใส่เจ้าหน้าที่ ตำรวจก็ได้ประกาศให้สื่อมวลชนถอยเข้าแนวหลังของตำรวจสื่อทั้งหมดก็ถอยเข้าไปที่หลังแนวตำรวจก็จะไม่มีปัญหาอะไร

ภาพบาดแผลจากการถูกกระสุนยางของ ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ที่มาภาพ Noppakow Kongsuwan  

“แต่ก็มีสื่อมวลชนหลายส่วนอาจจะได้ยินหรือไม่ได้ยินบ้าง ก็อยู่ในพื้นที่ปะปนกับผู้ชุมนุม ก็ต้องสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ด้วยถึงการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ถ้าไปดูภาพในเหตุการณ์ก็ต้องยอมรับว่า หนึ่งคือ มืดด้วย ผู้ชุมนุมก็อาจจะมีจำนวนมากด้วย ก็อาจจะมีปัญหาในการปฏิบัติ”

ส่วนประเด็นการเผชิญหน้าของมวลชนสองฝั่ง ถ้ากลับไปดูที่เหตุการณ์ที่หน้ารัฐสภา ก็จะเห็นว่ามีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนอยู่ แต่ตำรวจเองก็เป็นคนที่ถูกทำร้ายก่อนจนอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีอาวุธอะไร มีแต่โล่ พอตำรวจออกจากแนวก็โดนทั้งสองฝั่งก็เลยทำให้เกิดการปะทะ ตอนนั้นตำรวจก็พยายามจะนำกำลังเข้าไปหยุดแต่ก็มีมวลชนจำนวนมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net